3 ปีหลังปิดเหมืองทอง สารหนูในเด็กลดลง 12 เท่า ความบกพร่องทางการเรียนรู้น้อยลง

ทีมข่าว TCIJ | 11 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 11801 ครั้ง

เปิดงานศึกษา 'ผลการฟื้นฟูสมองด้านทักษะการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่เสี่ยงสารโลหะหนัก 3 ปี หลังหยุดประกอบการเหมืองทอง' ระหว่างปี 2559-2562 พบสารหนูในตัวเด็กลดลงถึง 12 เท่าตัว ความบกพร่องทางการเรียนรู้น้อยลง ภายหลังโปรแกรมการฟื้นฟู พบว่าระดับสติปัญญา ทักษะการเรียนรู้ และความรู้เท่าทันต่อการป้องกันสารพิษจากสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองของเด็กเพิ่มสูงขึ้น

ช่วงเปิดเหมืองพบสารหนูในร่างกายเด็กมีปริมาณสูง กระทบสมอง-ไอคิว

สืบเนื่องจากปี 2558 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด รอบการประกอบกิจการเหมืองทอง ซึ่งต่อมาได้ทำการตรวจพบสารหนูในร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่ในปริมาณสูง ต่อมาในปี 2559 คณะรัฐบาลมีมติให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองทอง และให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ได้ร่วมกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการประเมินภาวะสารหนู ระดับไอคิว และภาวะการบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 ของ 6 โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่รอบ ๆ เหมือง พบว่าร้อยละ 36.1 มีสารหนูในร่างกายสูงกว่าปกติ ร้อยละ 38.4 มีไอคิวต่ำกว่า 90 ในเด็กที่ไอคิวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 38.9 ทั้งนี้มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่าเด็กเมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้มีไอคิวต่ำลงและมีความบกพร่องทางการเรียนได้ ซึ่งในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดนี้ยังมีข้อถกเถียงกันว่าค่าสารหนูนี้สูงมาก่อนนานแล้วก่อนการประกอบกิจการเหมืองหรือไม่?

เผยผลวิจัยสารหนูในเด็กลดลง 12 เท่า หลังปิดเหมือง 3 ปี

งานแถลงข่าว ‘ผลการฟื้นฟูสมองด้านทักษะการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่เสี่ยงสารโลหะหนัก: 3 ปี หลังหยุดประกอบการเหมืองทอง’ เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2563 | ที่มาภาพ: สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2563 ได้มีการแถลงข่าวผลการศึกษา 'ผลการฟื้นฟูสมองด้านทักษะการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่เสี่ยงสารโลหะหนัก 3 ปี หลังหยุดประกอบการเหมืองทอง' (เป็นการศึกษาในปี 2562 หรือ 3 ปีให้หลังจากการตรวจประเมินรอบแรก) ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ติดตามสถานการณ์ระดับสารหนู ไอคิว และความบกพร่องทางการเรียนรู้คิดในเด็กอีกครั้งในบริเวณพื้นที่เดิม โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบจากสารโลหะหนัก และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4-6  ผลพบว่า สัดส่วนของการมีสารหนูสูงกว่าปกติในร่างกายของเด็กของ 6 โรงเรียนเดิม ลดลงจากร้อยละ 36.1 เหลือร้อยละ 4.5 ลดลง 12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 เป็นการลดลงในทุกโรงเรียน ทุกชั้นปี และทุกเพศ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และนักวิจัยของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เราได้รับข้อมูลว่าสารหนูอยู่ในดินชั้นลึกของบริเวณละแวกนี้มานานแล้ว แต่ 3 ปีก่อนที่เราพบสารหนูในร่างกายเด็ก ๆ เราไม่รู้แน่ชัดว่าสารหนูที่สูงในเด็กมาจากการประกอบการใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจนสารหนูสามารถเข้าสู่ตัวเด็ก ๆ หรือจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายเด็ก ๆ ทุกรุ่นทุกสมัยอยู่แล้ว แต่วันนี้เราพบว่าความเสี่ยงต่อการได้รับสารหนูในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายลดลงกว่า 12 เท่าตัว ภายใน 3 ปีหลังจากมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เปลี่ยนแปลง วอนตระหนักทุกฝ่าย หากจะให้มีการประกอบการใดที่อาจทำให้สิ่งแวดล้อมกลับมาที่จุดเดิม ขอให้โปรดทำการประเมินให้ถ้วนถี่ ว่าการประกอบการนั้นจะไม่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารหนูในเด็ก ๆ กลับมาอีก รัฐบาลต้องทบทวนให้ดีว่าจะมีมาตรการที่จะป้องกันสารพิษจากโลหะหนักกับเด็กและชุมชนโดยรอบอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรไม่ให้ผลกระทบหวนกลับมาอีก รวมทั้งมีวิธีการควบคุมที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ส่วนเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษก็ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูกันอยู่ต่อไปในระยะยาว” นอกจากนั้นภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือครอบครัวหลังระงับการประกอบกิจการ ทั้งการจัดหางานให้ครอบครัวให้มีเศรษฐานะที่ดี ที่จะดูแลครอบครัวโดยเฉพาะส่งเสริมลูกให้เติบโตเต็มตามศักยภาพ ส่งผลให้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมอื่น ๆ ตามมา

ความบกพร่องทางการเรียนรู้น้อยลง

ผลการติดตามสถานการณ์สุขภาพ สติปัญญา การเรียนรู้ของเด็ก และการฟื้นฟู พบว่าเด็กมีความรู้เท่าทันในการป้องกันตนเองจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังฟื้นฟู | ที่มาภาพ: ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

ในงานศึกษาชิ้นนี้ยังระบุถึงเด็กที่ไอคิวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้น้อยลงจากร้อยละ 38.9 เป็นร้อยละ 22.22 และโครงการได้ฟื้นฟูเด็กที่พบความบกพร่องด้านสติปัญญาและการเรียนต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา พบว่าเด็กที่ได้รับการฟื้นฟู มีทักษะการอ่านคำ สะกดคำ เข้าใจประโยค และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการประเมินระดับสติปัญญา พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยของระดับสติปัญญาที่ 85.43 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่หลังการฟื้นฟูพบว่า เด็กมีคะแนนเฉลี่ยของระดับสติปัญญาสูงขึ้น ที่ 90.11 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับสติปัญญาปกติ ความสามารถทักษะการคิดเชิงบริหารของเด็กอยู่ในระดับปกติเพิ่มขึ้นทั้งด้านความจำที่ทำได้ถูกต้อง ด้านสมาธิจดจ่อ และตอบสนองในงานที่ทำเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กมีความรู้เท่าทันในการป้องกันตนเองจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังฟื้นฟู จากระดับน้อย เป็น ปานกลางที่ร้อยละ 41.9 อีกด้วย จะเห็นว่าความบกพร่องต่าง ๆ หากเด็กได้รับการฟื้นฟูอย่างทันท่วงที และจริงจัง โดยครูและบุคคลแวดล้อม ย่อมส่งผลให้เด็กมีทักษะด้านการเรียนรู้ คิด และสติปัญญา ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ผลเปรียบเทียบปี 2559 และ 2562

ชี้ชัดพื้นที่เสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและชุมชนต่อเนื่อง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “โครงการวิจัยฯ ดังกล่าวนี้ เป็น 1 ในงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยการปฏิรูปสุขภาวะและการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 และยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติ ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยทุกคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 คือ มีความคิดสร้างสรรค์, ปรับตัวได้ดี, ทำงานร่วมกับคนอื่นได้, มีคุณธรรม และเป็นพลเมืองที่ดี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ลดช่องว่างและป้องกันปัญหาเด็กและเยาวชนที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ความสำคัญของเรื่องนี้จากประเด็นสารพิษหรือโลหะหนักที่ปนเปื้อนไปกับห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อมนั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับทุกเพศทุกวัยและส่งผลต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เมื่อได้รับสารสัมผัสในปริมาณที่สูงหรือเรื้อรัง โดยเฉพาะเด็กจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับมากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า โดยข้อมูลทางวิชาการและการแพทย์พบว่า เด็กที่ได้รับสารโลหะหนักแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเรียนรู้ และระดับความสามารถทางสติปัญญา”

นพ.นพพร กล่าวต่อไปว่า ผลของโครงการแสดงถึงสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะในพื้นที่เสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและชุมชนต่อเนื่อง แต่หากมีการจัดการและลดปัจจัยเสี่ยงด้านการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการจัดทำแนวทางหรือคู่มือการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัย และสื่อสารสาธารณะ ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ จะสามารถช่วยจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์อนามัยและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (2560-2564) กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หวังมีการตรวจสอบระดับสารหนูในสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อาหาร อย่างสม่ำเสมอและรายงานผลแก่สาธารณะ

ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวปิดท้ายว่า การเผยแพร่ขยายผลการวิจัยในวงกว้างให้เกิดเป็นนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ โดย สวรส. จะสนับสนุนการขับเคลื่อนส่งต่อไปยังผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญของข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องนี้คือ การทำงานตรวจสอบระดับสารหนูในสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อาหาร อย่างสม่ำเสมอและรายงานผลแก่สาธารณะ, จัดและปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจากสารพิษต่าง ๆ, จัดหาพื้นที่เล่น/เรียนรู้ในชุมชนแก่เด็กและครอบครัวที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสติปัญญา การเรียนรู้และรู้เท่าทันตนเอง, พัฒนาศักยภาพผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็ก, พัฒนาศักยภาพครู, ดำเนินนโยบายแบบเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การประเมินผลกระทบเพื่อนำไปสู่การดูแลแก้ไขที่ทันท่วงที ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ, เฝ้าระวังและค้นหาแหล่งกำเนิดสารพิษอื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อม และทำการปรับปรุงแก้ไขการกระจายจากแหล่งนั้น ๆ รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาระบบและกลไกการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างครอบครัว ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อสุขภาวะที่ดีของเด็กและชุมชน และการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของเยาวชนไทยต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: