จับตา: ร่างเอกสาร 17 ฉบับ ที่ไทยจะลงนามประชุม รมว.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2995 ครั้ง


ครม. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 17 ฉบับ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสาร ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม.พิจารณาอีก

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 17 ฉบับ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสาร ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามในเอกสารข้อ 2.1 และ 2.2 โดยให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ว่า รัฐบาลไทยให้ความยินยอมให้เลขาธิการอาเซียนลงนามในเอกสารข้อ 2.3 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างเอกสารจำนวน 17 ฉบับ ซึ่งจะมีการเสนอให้ที่ประชุมรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. เอกสารผลลัพธ์ที่จะรับรอง จำนวน 14 ฉบับ ได้แก่

1.1 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 (Draft Joint Communique of the 53rd ASEAN Foreign Ministers’ Meeting) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะสานต่อความร่วมมือในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนในระยะยาวในภูมิภาค ความมั่นคงของมนุษย์ การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก การส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงในภูมิภาค การรักษาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนต่าง ๆ ของอาเซียนในการส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค การขยายความร่วมมือในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

1.2 ร่างแผนปฏิบัติการฉบับครอบคลุมเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Comprehensive Plan of Action (CPA) to Implement the ASEAN and the Russian Federation Strategic Partnership (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและรัสเซียจะดำเนินการร่วมกัน โดยมีสาขาความร่วมมือที่เด่นชัด ได้แก่ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน อุตสาหกรรม พลังงาน การเงิน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งความร่วมมือรายสาขาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี การเตือนภัยล่วงหน้าและการบรรเทาภัยพิบัติ การจัดการ การฟื้นฟูและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น

1.3 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the ASEAN-China Strategic Partnership for Peace and Prosperity (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและจีนจะดำเนินการร่วมกันเพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030 ซึ่งผู้นำอาเซียนและจีนได้ให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 21 ในปี 2561 โดยครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อริเริ่มเพื่อการบูรณาการอาเซียนและลดช่องว่างด้านการพัฒนาความร่วมมืออนุภูมิภาค ความร่วมมือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ในภูมิภาค และการติดตามและการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปปฏิบัติ

1.4 ร่างแผนปฏิบัติการระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อดำเนินการตามถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน (ค.ศ. 2021-2025) (Draft ASEAN-Republic of Korea Plan of Action to Implement the Joint Vision Statement for Peace, Prosperity and Partnership (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีจะดำเนินการร่วมกัน เพื่อต่อยอดถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งผู้นำอาเวียนและสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ในปี 2562 โดยครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านสังคม และวัฒนธรรม ความร่วมมือในประเด็นคาบเกี่ยว ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนและวิธีการปฏิบัติ

1.5 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the ASEAN-New Zealand Strategic Partnership (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและนิวซีแลนด์จะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้มีความลึกซึ้งและเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาเซียนและนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญและมีความสนใจร่วมกัน ทั้งในมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างเสา โดยสอดคล้องกับ 3 เสาหลักของประชาคมอาเวียน และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนและการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025

1.6 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา (ค.ศ.2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the Joint Declaration on ASEAN-Canada Enhanced Partnership (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและแคนาดาจะดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางการเมือง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือในทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียนและประเด็นคาบเกี่ยว อาทิ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ การคมนาคม การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างอาเวียนกับแคนาดา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย โดยผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างกัน

1.7 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับอินเดียเพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the ASEAN-India Partnership for Peace, Progress and Shared Prosperity (2021-2025)) ระบุมาตรการ ต่าง ๆ ที่อาเซียนและอินเดียจะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในทุกสาขา เพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและกระบวนการบูรณาการของอาเซียน ยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันในประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ เพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยผ่านความร่วมมือในทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียนและประเด็นคาบเกี่ยว อาทิ ความร่วมมือทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย พลังงาน คมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ความเชื่อมโยง เมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

1.8 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the ASEAN-United States Strategic Partnership (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและสหรัฐฯ จะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในทุกเสา เพื่อให้อาเซียนมีเอกภาพทางการเมือง เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยึดมั่นในกฎกติกาอย่างแท้จริง ผ่านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ กับอาเซียนในเวทีโลกและกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยผ่านความร่วมมือในทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียนและประเด็นคาบเกี่ยว อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย หลักธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการภัยพิบัติ สาธารณสุข การพัฒนาทุนมนุษย์ ความเชื่อมโยง และเมืองอัจฉริยะ

1.9 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ (ค.ศ. 2021-2025) (Draft Plan of Action to Implement the Joint Declaration on Comprehensive Partnership between ASEAN and the United Nations (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่อาเซียนและสหประชาชาติจะดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และการปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยสานต่อและเพิ่มพูนความร่วมมือในทุกเสาของประชาคมอาเซียน รวมทั้งวัฒนธรรมการป้องกัน การบูรณาการด้านเพศสภาวะสิ่งแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย การดำเนินการด้านสภาพอากาศ และทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Decade of Action for the implementation of the Sustainable Development Goals)

1.10 ร่างแผนปฏิบัติการฮานอย 2 ของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) (ค.ศ. 2021-2025) (Draft ASEAN Regional Forum (ARF) Ha Noi Plan of Action II (2021-2025)) ระบุมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศเออาร์เอฟจะดำเนินการร่วมกัน โดยต่อยอดจากแผนงานเดิม ซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ดังนี้ ความมั่นคงทางทะเล การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การบรรเทาภัยพิบัติ และความมั่นคงในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความร่วมมือด้านการทหาร และปฏิบัติการด้านการรักษาสันติภาพ

1.11 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกเกณฑ์และเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้ายและกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (Draft ASEAN Regional Forum (ARF) Statement on the Treatment of Children Recruited and Associated with Terrorist and Violent Extremist Group) มีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศเออาร์เอฟในการพัฒนามาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกชักจูงและเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้าย และกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม โดยเน้นการกลับสู่สังคมและการฟื้นฟู การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพจิต และโครงการด้านการศึกษา โดยสอดคล้องกับเงื่อนไขกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ

1.12 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ว่าด้วยการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Draft ASEAN Regional Forum (ARF) Statement on Countering Money-Laundering and the Financing of Terrorism) มีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศเออาร์เอฟในการเสริมสร้างมาตรการในการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ผ่านการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐกับเอกชน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการกำกับดูแลและสอดส่องความผิดปกติ

1.13 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ว่าด้วยการรักษาความมั่งคงในเศรษฐกิจดิจิทัล (Draft ASEAN Regional Forum (ARF) Statement on Maintaining Security in the Digital Economy) มีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศเออาร์เอฟในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เน้นการมีส่วนร่วมและมีความเสมอภาคต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนการทำงานร่วมกัน (synergy) ของข้อริเริ่มในระดับชาติของประเทศสมาชิกอาเวียนกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025

1.14 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ (Draft ASEAN Regional Forum (ARF) Statement on Enhancing Cooperation to Prevent and Respond to Infectious Disease Outbreaks) มีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศเออาร์เอฟในการร่วมมือเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี การส่งเสริมการเสริมสร้างศักยภาพการสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยา การผลิตวัคซีนและยาต้านไวรัส การประสานงานด้านการควบคุมชายแดน การต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และการต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์และข่าวปลอม

2. ร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะลงนาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

2.1 ร่างตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสาธารณรัฐคิวบา

2.2 ร่างตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

โดยร่างเอกสารตามข้อ 2.1 และ 2.2 ข้างต้นเป็นตราสารที่จัดทำขึ้นเพื่อรับรองการเข้าร่วมเป็นอัครภาคีอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาดังกล่าวของสาธารณรัฐคิวบาและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นชอบให้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาฯ แล้ว ทั้งนี้ เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2563 ประสงค์จะจัดพิธีลงนามตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญาฯ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

2.3 ร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาในภูมิภาคระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยสำนักเลขาธิการอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอด) (Draft Regional Development Cooperation Agreement between the Association of Southeast Asia Nations (ASEAN) as Represented by the Agency for International Development (USAID)) เป็นการลงนามระหว่างอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development - USAID) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับโครงการด้านการพัฒนาในกรอบอาเซียน ได้แก่ (1) การรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคและโลก (2) การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน (3) การส่งเสริมสถาปัตยกรรมที่อยู่บนหลักนิติธรรม และ (4) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน มีระยะเวลา 5 ปี (ค.ศ. 2021-2025) โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: