จับตา: สรุปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 - ไทยจับมืออาเซียน+5 ลงนาม RCEP แล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 19448 ครั้ง


สรุปการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล 12-15 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ไทยจับมืออาเซียน+5 ลงนาม RCEP กลุ่มความตกลงหุ้นส่วน ศก.ใหญ่สุดของโลก

15 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีผู้แทนจาก 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมลงนามความตกลงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกลุ่มความตกลงทางการค้า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1 ใน 3 ของโลก และมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก โดยในส่วนของไทยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์เป็นผู้ลงนาม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP คือ จะสามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ 1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น 2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ 3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์ 4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น และ 5.การค้าปลีก

สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP นั้น จะต้องเร่งศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยในการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย

สำหรับประเทศอินเดียเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมลงนามครั้งนี้ แต่ก็ยังหวังว่าอินเดียจะสามารถเข้ามาร่วมได้ต่อไปในอนาคต เมื่ออินเดียได้ประเมินว่าสถานการณ์มีความเหมาะสมกลุ่มประเทศ RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสำหรับ 15 ประเทศนี้ก็ถือว่าใหญ่มากแล้วเพราะครอบคลุม GDP ถึง 1 ใน 3 ของโลกถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

"ได้มีความพยายามตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาจนสามารถประสบความสำเร็จในการเจรจาทั้งหมดในวันนี้ โดยเมื่อปีที่แล้วตอนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผมในฐานะรัฐมนตรีการค้าของไทยเป็นประธานในที่ประชุมซึ่งก่อนหน้านั้นเจรจามา 7 ปีแล้วแต่สามารถเจรจาได้เพียง 7 บท จนไทยสามารถผลักดันการเจรจาได้ครบทั้ง 20 บท"นายจุรินทร์ กล่าว

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปผลการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 ว่า นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ระบุว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

พร้อมเน้นย้ำว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง ในเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 โดยในพิธี นายกรัฐมนตรีเวียดนามจะได้กล่าวถ้อยแถลง และส่งมอบค้อนประธานอาเซียนให้แก่ เอกอัครราชทูตบรูไนประจำเวียดนาม และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ซึ่งจะทรงกล่าวถ้อยแถลงตอบต่อไป

ไทยเสนอ 3 แนวทางสหประชาชาติสนับสนุนอาเซียน ขับเคลื่อนเป้าการพัฒนายั่งยืน

15 พ.ย. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 11 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และ นายอันโตนิอู กูแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมหารือ

ทั้งนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ว่า การประชุมจัดขึ้นเพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 (Plan of Action to Implement the Joint Declaration on Comprehensive Partnership between ASEAN and the United Nations 2016-2020) และรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. 2021-2025

จากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงการต่อสู้กับโควิด-19 การรักษาสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ผู้นำต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 หวังว่าจะเข้าถึงอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดความขัดแย้งในโลก และเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ UN พร้อมเคียงข้างกับอาเซียนในทุกมิติ และขอบคุณอาเซียนที่มุ่งมั่นสนับสนุนการทำงานของ UN

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า สหประชาชาติเป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ และดูแลแก้ไขปัญหานานัปการ พร้อมชื่นชมบทบาทในการปฏิรูปสหประชาชาติให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางเพื่อให้สานต่อและขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ประการ คือ 1. การปรับแนวทางการดำเนินการ ด้วยการจัดลำดับสาขาความร่วมมือระหว่างกันใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ให้อาเซียนสามารถยืนหยัดและรับมือกับภาวะฉุกเฉินและความท้าทายต่าง ๆ 2. การเปิดโอกาสในการส่งเสริมงานอาสาสมัครภายในประชาคมอาเซียน โดยสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือไตรภาคี และ 3. การพัฒนาหุ้นส่วนด้วยการสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและมีความรับผิดชอบร่วมกัน

โดยทั้ง 3 ประการ จะสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบแผนฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุมและข้อเสนอแนะตามรายงานสรุปเชิงนโยบายของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ พร้อมเสนอการร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีย้ำการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม หลักค่านิยมสากล การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และความตั้งใจของไทยที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดและแข็งขันต่อไป

ในช่วงท้าย เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวย้ำถึงสนับสนุนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูของอาเซียน การสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ การยึดมั่นในความร่วมมือในการรักษาสันติภาพ เพื่อความมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจะสนับสนุนในสาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ไทยเสนอ 3 แนวทางยูเอ็นหนุนอาเซียน สานต่อการพัฒนายั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 11 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนายอันโตนิอู กูแตเรซ (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมหารือ

นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี ดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ.2016-2020 (Plan of Action to Implement the Joint Declaration on Comprehensive Partnership between ASEAN and the United Nations 2016-2020) และรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. 2021-2025

จากนั้น เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงการต่อสู้กับโควิด-19 การรักษาสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความท้าทายใหม่ๆ ผู้นำต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 หวังว่าจะเข้าถึงอย่างทั่วถึง ขอเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดความขัดแย้งในโลก ทั้งนี้ เพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ UN พร้อมเคียงข้างกับอาเซียนในทุกมิติ และขอบคุณอาเซียนที่มุ่งมั่นสนับสนุนการทำงานของ UN

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สหประชาชาติเป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ และดูแลแก้ไขปัญหานานัปการ พร้อมชื่นชมบทบาทในการปฏิรูปสหประชาชาติให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางเพื่อให้สานต่อและขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ประการ คือ 1. การปรับแนวทางการดำเนินการ ด้วยการจัดลำดับสาขาความร่วมมือระหว่างกันใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ให้อาเซียนสามารถยืนหยัดและรับมือกับภาวะฉุกเฉินและความท้าทายต่าง ๆ 2. การเปิดโอกาสในการส่งเสริมงานอาสาสมัครภายในประชาคมอาเซียน โดยสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือไตรภาคี และ 3. การพัฒนาหุ้นส่วนด้วยการสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและมีความรับผิดชอบร่วมกัน

โดยทั้ง 3 ประการ จะสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบแผนฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุมและข้อเสนอแนะตามรายงานสรุปเชิงนโยบายของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ พร้อมเสนอการร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก

นายกรัฐมนตรี ย้ำการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม หลักค่านิยมสากล การส่งเสริมความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และความตั้งใจของไทยที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดและแข็งขันต่อไป

ช่วงท้าย เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวย้ำถึงการสนับสนุนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูของอาเซียน การสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ การยึดมั่นในความร่วมมือในการรักษาสันติภาพ เพื่อความมั่นคง ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจะสนับสนุนในสาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ในโอกาสนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวสนับสนุนมาตรการของไทยในด้านความร่วมมือใต้-ใต้ และนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การร่วมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมทั้งการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน

ไทยหนุนการค้าการลงทุนสมาชิกอาเซียน+3 กับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก

14 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 กับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (the East Asia Business Council: EABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 10+3 และผู้แทนสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกของญี่ปุ่น ไทย และจีน ได้แก่ นาย Nobuhiko Sasaki ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นาย Zhang Shaogang รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า เป็นการประชุม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียนบวกสาม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้สนับสนุน ผลักดัน และช่วยสร้างความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 ให้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลไทยเห็นถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ในการช่วยจัดการและแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผลสำรวจของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่ความปกติใหม่ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้าดิจิทัลให้สอดรับกับกระแสการค้าโลกยุคใหม่

สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs ไทยขอชื่นชมที่สภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้เผยแพร่ e-Book เรื่อง พิธีการศุลกากรของเอเชียตะวันออก และอยู่ระหว่างจัดทำ e-Book เรื่อง แนวทางการลงทุนในเอเชียตะวันออก โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ MSMEs สามารถดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคอาเซียนบวกสามได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่เสนอให้ความตกลงสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 ครอบคลุมการสำรองสินค้าเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าว โดยเห็นว่าสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกควรหารือกับรัฐมนตรีอาเซียน+3 ด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ไทยย้ำความสำคัญอาเซียน+3 สร้างความมั่นคง ยั่งยืน เชื่อมโยง

14 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมด้วย

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงการประชุมว่าเป็นการประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศร่วมกัน

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันบนพื้นฐานประสบการณ์ความร่วมมือของ ASEAN+3 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อความเจริญร่วมกัน นอกจากนี้ ได้ย้ำถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ต้องร่วมมือกัน ร่วมพัฒนาวัคซีนให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ และต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ควบคู่กับการดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือของ ASEAN+3 ในอนาคตต่อไป

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวอีกว่า มีความร่วมมือจนเห็นผลการพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ พร้อมร่วมมือกันเพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ญี่ปุ่นย้ำพร้อมให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้านสาธารณสุข เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการฟื้นฟูที่ให้เป็นเงินกู้กับปรเทศสมาชิก ด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนได้บริจาคเงินเข้ากองทุน ASEAN+3 เพื่อรับมือโควิด-19 ด้วย

ด้านนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อปัญหาทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ การประชุมอาเซียน+3 สมัยพิเศษเมื่อต้นปี ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อร่วมรับมือ รักษาห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ กลไก ASEAN+3 มีความเข้มแข็ง ตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ในยามที่เราเดือดร้อน เราต้องช่วยเหลือกัน สะท้อนถึงมิตรภาพที่มีต่อกัน เราจะร่วมมือเดินหน้าหากต้องเผชิญการระบาดรอบ 2 ต้องรักษาห่วงโซ่อุปทานให้มั่นคง จีนยินดีช่วยเหลือและร่วมมือกับอาเซียน ในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ รวมทั้งจะสร้างสันติภาพความมั่นคงด้วยความร่วมมือที่จริงใจต่อกัน

นายกรัฐมนตรีไทยยังได้กล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และประชาคมเอเชียตะวันออกที่แข็งแกร่ง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พร้อมเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้

1. เสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน โดยไทยสนับสนุนให้ประเทศ+3 สนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดหาและจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนและยาที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ไทยยินดีต่อข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนบวกสามสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และไทยเสนอให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนร่วมกับกลไกเหล่านี้ด้วย

2. สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยเร็ว และมีรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตต่อไปในระยะยาว นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนประเทศ+3 ให้ร่วมสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน และที่ประชุมควรทบทวนและพัฒนากลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งควรเร่งต่อยอดกลไกมาตรการ “ริเริ่มเชียงใหม่” ไปสู่การเป็นพหุภาคีผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ควรใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 ซึ่งเป็นแบบอย่างสำคัญของการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ

ทั้งนี้ ไทยยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ให้แก่ MSMEs และ Start-ups เพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และพร้อมรับมือกับความท้าทายในยุค 4IR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สานต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งไทยสนับสนุนความร่วมมือในด้านความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคโดยรวม และส่งเสริมการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

ในช่วงท้าย ไทยเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่จะร่วมกับทุกประเทศในภูมิภาคในการส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี พร้อมสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติ และหวังที่จะเห็นการเจรจามีความคืบหน้า บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เชื่อมั่นว่า การหารือจะนำไปสู่ผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรม สาธารณรัฐเกาหลีจะสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านโควิด-19 อีกทั้งจะให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือกับสถาบันวัคซีนในเกาหลีใต้ ช่วยเหลือด้านการแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งการร่วมช่วยรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางระหว่างกันผ่านระบบ Fast Track ยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังย้ำการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อการเติบโต บนพื้นฐานการค้าเสรี ขอให้มีการดำเนินการอย่างเร็วขึ้นเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มีการพัฒนาบนพื้นฐานความยั่งยืน สนับสนุนให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยา และแก้ไขประเด็นปัญหาขยะทะเล

นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวถึงความร่วมมือ ASEAN+3 เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาของเศรษฐกิจตะวันออก นายกรัฐมนตรีจีนเสนอให้ 1.ร่วมมือเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมโควิด สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ จีนพร้อมร่วมมือด้านวัคซีน 2.ต้องพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจและเขตการค้าเสรี RCEP จะได้มีการลงนามจากทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการฟื้นฟู 3.อำนวยความสะดวกห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงและบูรณาการกัน โดยเชื่อมั่นว่าจะต้องส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัย ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจออนไลน์ ที่มีความทั่วถึง MSMEs ให้เข้ามามีส่วนร่วมควบคู่ไปกับเศรษฐกิจออฟไลน์ ตลอดจนการลดอัตราความยากจน การจัดการขยะทะเล และรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่งคั่งควบคู่ไปกับเสถียรภาพ

เวทีอาเซียน-ออสเตรเลีย เร่งฟื้นฟู ศก.หลังโควิด

14 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี และเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศจาก เวียดนาม ลาว ไทย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และผู้แทนจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวเปิดการประชุมว่า เป็นการหารือเพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในการประสานงานระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ภายใต้แนวคิดการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟู (A Strong Partnership for Recovery) ผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งขอบคุณในการสนับสนุนความช่วยเหลือผ่านกองทุนฟื้นฟูต่าง ๆ ตลอดจนให้ข้อเสนอเเนะที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบรับความท้าทายเเละส่งเสริมศักยภาพในภูมิภาคร่วมกัน

ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ชื่นชมในการรับมือโควิด-19 ของอาเซียนที่ใช้ความเป็นเอกภาพในการเเก้ปัญหา เเละออสเตรเลียจะเป็นหุ้นส่วนในการฟื้นฟูหลังโควิด-19 กับอาเซียน เพราะเป็นความมั่นคงร่วมกัน โดยทางออสเตรเลียได้ร่วมสนับสนุนกองทุนต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนความมั่นคงทางทะเล ความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งเเวดล้อม ความร่วมมือลุ่มเเม่น้ำโขง เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ย้ำถึงความสมดุลและความเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกัน

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า ไทยยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลียรักษาพลวัตของปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลอดระยะเวลา 46 ปี ความสัมพันธ์ของอาเซียน-ออสเตรเลีย เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพที่ครอบคลุมทุกมิติและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูสังคมให้พัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ รวมทั้งคำนึงการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้

นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงการวางรากฐานสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอ 2 สาขาความร่วมมือ ได้แก่

1. ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผ่านข้อริเริ่มมาตรฐานการค้าดิจิทัลอาเซียน-ออสเตรเลีย รวมทั้งพัฒนาเมืองเพื่อรองรับยุคดิจิทัลผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน

2. ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่อาเซียนมีศักยภาพและมีต้นทุน อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

ทั้งนี้ ไทยมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ซี่งใช้ในการส่งเสริมความร่วมมือผ่านการศึกษาและวิจัย โดยดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมระหว่างสมาชิกและภาคีภายนอก รวมทั้งได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือด้าน BCG กับศูนย์อาเซียนฯ ต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวยืนยันว่า อาเซียน-ออสเตรเลีย เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ ออสเตรเลียยืนยันที่จะมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอกับอาเซียน และพร้อมเคียงข้างเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกับอาเซียน รวมถึงการขยายไปยังช่องทางใหม่ๆ ให้มากขึ้น ตลอดจนย้ำที่จะร่วมกับอาเซียนในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ใช้วัคซีนตามมาตรฐานโลก โดยออสเตรเลียยินดีที่จะแบ่งปันในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก

นายกฯ ประชุมทางไกลสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์

14 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ฯ 45 ปี ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เข้าร่วมด้วย

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่า เป็นการหารือกำหนดแนวทางในการพัฒนาและความร่วมมือในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน ในโอกาสครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ พร้อมหารือกับที่ประชุมฯ เรื่องความร่วมมือในมิติต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เน้นย้ำความร่วมมือกับอาเซียน ในฐานะกลุ่มมิตรประเทศที่มีความร่วมมือมายาวนานกว่า 45 ปี และกล่าวถึงการเชื่อมโยงความร่วมมือและเศรษฐกิจนับตั้งแต่อาเซียนและนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนกันมา นิวซีแลนด์สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค พร้อมเน้นย้ำว่ามิตรภาพกับอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือความท้าทายต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทย ยังกล่าวแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ที่ได้รับเลือกตั้งอีกวาระหนึ่ง เชื่อมั่นว่านิวซีแลนด์และอาเซียนจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไป โดยนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน และประสบความสำเร็จในการดำเนินความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มาอย่างดีตลอด 45 ปี และแม้ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไทยเชื่อมั่นว่าอาเซียนและนิวซีแลนด์จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ผ่านความร่วมมือในกรอบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในภาครัฐบาล ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมทั้งจะสามารถร่วมกันฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน และกลไกอื่น ๆ ที่อาเซียนและนิวซีแลนด์มีบทบาทนำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ซึ่งนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเชิญชวนนิวซีแลนด์ร่วมดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนแนวคิดของชนเผ่าเมารีเรื่อง “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ตามที่นิวซีแลนด์ได้เสนอในวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำ ไทยเสนอให้ที่ประชุม สร้างศักยภาพของภูมิภาคให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามความตกลงปารีส การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การกำจัดขยะพลาสติกทางทะเล การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ย้ำว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ จึงให้ความสำคัญกับการแจกจ่ายวัคซีน การเข้าถึงการป้องกัน และรักษา โดยขอให้ประเทศต่างๆ ทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้รับมือกับโควิด-19 นิวซีแลนด์ได้บริจาคเงินเพื่อเข้ากองทุนการพัฒนาวัคซีนและการรักษา การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยจะใช้กลไกห่วงโซ่อุปทานเป็นการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสำคัญ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องปรับให้ทันสมัย เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป้าหมายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องสำคัญ ละทิ้งไม่ได้ สนับสนุนการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค เช่น กรอบ EAS ขอบคุณไทยที่ให้ความสำคัญกับ “ไคติอากิทังก้า” ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นให้ความสำคัญกับประชาชน

นายกฯ ยืนยันสหรัฐเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านของอาเซียน

14 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้นำจาก เวียดนาม ลาว ไทย สิงคโปร์ บรูไน และผู้แทนจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย และนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน (Robert C. O’Brien) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Advisor) เป็นผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ในอนาคต ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐ ให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความร่วมมือเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนทบทวนเพื่อต่อยอดความร่วมมือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ชื่นชมบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และด้วยความท้าทายที่มากขึ้น ประเทศในภูมิภาคต้องร่วมมือกันมากขึ้นตามหัวข้อหลักของการประชุม แน่นแฟ้นและตอบสนอง เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า การประชุมจะดำเนินการหารือไปด้วยดี และเป็นปีสำคัญของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทบการพบเจอเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น การเชื่อมห่วงโซ่อุปทานสำหรับโควิด-19 ยังคงจำเป็น ต้องมีความร่วมมือต่อต้านโรคระบาด การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งความมั่นคงและอาหาร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมสนับสนุนอาชีพ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า สหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้านของอาเซียน บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (new strategic equilibrium) ในอินโด-แปซิฟิก จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาค นายกรัฐมนตรี เสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ กระชับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่มีเสถียรภาพและความยั่งยืนสำหรับประชาชนใน 3 ประเด็น คือ

1. การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข สนับสนุนการวิจัยและการผลิต ตลอดจนการเข้าถึงยาและวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยไทยพร้อมจะเป็นฐานในการผลิตยาและวัคซีน เพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะ และไทยพร้อมสนับสนุนโครงการ “อาเซียน-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต”

2. การส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค โดยสหรัฐฯ และอาเซียน เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และ 5 ของโลก ควรร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีในอาเซียน และพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกัน รวมทั้งเสริมสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนของสหรัฐฯ มาร่วมพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการเพื่อรองรับการเติบโตด้านดิจิทัลที่พร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ อาทิ โครงการ “ASEAN Digital Hub” รวมถึงโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ “Digital Park Thailand”

3. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งอาเซียนและสหรัฐฯ ควรร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงาน ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ควรมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ในสาขาอาชีพใหม่ๆ การพัฒนาทักษะภาษา และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตแรงงานที่ทันสมัย และมีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโลก

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐฯ-อาเซียน ให้ดำเนินต่อไปในปีหน้าและต่อๆ ไป โดยจะแน่นแฟ้นในทุกด้าน ความร่วมมือสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคง และประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งจะมีความร่วมมือๆ เช่น Task Force ด้านสาธารณสุข และโควิด-19 ลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพื่อส่งเสริมแรงงานและบุคลากร ลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ส่งเสริมอินโด-แปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี รวมทั้งปกป้องความเป็นแกนกลางของอาเซียน

ไทย-ออสเตรเลียกระชับสัมพันธ์พัฒนาทุกมิติ

13 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ได้เข้าร่วมพิธีลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย (Joint Declaration on the Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and Australia) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยินดีที่ได้ร่วมลงนามสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์ไทยและออสเตรเลียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อไปสู่มิติใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าจะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แนบแน่นและลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งในด้านความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ ตลอดจนสาขาที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา สาธารณสุข เกษตร และสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ภายหลังการลงนามในปฏิญญาร่วมฯ หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยและออสเตรเลียจะร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อเป็นกรอบแผนงานในการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายกฯ ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น

13 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานร่วมกับญี่ปุ่น กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการประชุมเพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น รวมทั้งหารือทิศทางของความร่วมมือให้สอดคล้องกับ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. แผนแม่บท ACMECS 2. ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และ 3. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคโควิด-19

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค กลไกความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจะช่วยขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของภูมิภาค โดยญี่ปุ่นได้สนับสนุนทั้งเงินทุน ทักษะ โครงการ และการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน นับเป็นเรื่องสำคัญและสามารถร่วมมือกันได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งยังจะมีข้อริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในอนาคต

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะพหุภาคีและความเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค โดยสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการมากที่สุด คือการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้รวดเร็วและยั่งยืนโดยใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับมาตรฐานในทุกด้าน ทั้งด้านความมั่นคงของมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบธุรกิจ โดยเสนอความร่วมมือ 3 ประการ คือ 

1.ความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำให้อนุภูมิภาคบรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) โดยสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความสามารถของไทยในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ความสามารถการเข้าถึงยาและวัคซีนที่เท่าเทียมกัน ในราคาสมเหตุสมผล รวมทั้งสนับสนุนให้ยาและวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก

2.การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ไร้รอยต่อ ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคผ่านโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการสะพานไทย ซึ่งเชื่อมโยง EEC กับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และ โครงการ Land Bridge ซึ่งเชื่อมโยงถนนระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าวได้ รวมทั้ง ความสำคัญของความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมการเชื่อมโยงดังกล่าว

3.การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดเวทีหารือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ด้านระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ไทยใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพราะจะเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระดับประชาชนในช่วงหลังโควิด-19 และจะได้กลับมาพบปะกันอีกครั้งในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 ที่กรุงโตเกียว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ภูมิภาคต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรอบความร่วมมือ ACMECS ที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจว่า กัมพูชาจะจัดการประชุมในวันที่ 9 ธันวาคม นี้ ผ่านระบบวิดีทางไกล และย้ำว่า ACMECS Master Plan จะยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยง 3 ด้าน แต่ในขณะที่โลกยังเผชิญกับโรคโควิด-19 แผนงานจึงจะเน้นด้านสาธารณสุข และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานยินดีรับสมาชิกใหม่ได้แก่ นิวซีแลนด์ และอิสราเอล

ไทยพร้อมร่วมมือด้านสาธารณสุข ภายใต้กองทุน MKCF

13 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า ความร่วมมือ Mekong-ROK มีความก้าวหน้าไปมาก มีปฏิญญาแม่โขง-แม่น้ำฮัน และยกระดับสู่การประชุมสุดยอด เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนผลสำเร็จของการขยายความร่วมมือนี้ รวมทั้งต่อยอดไปถึงความร่วมมือในอนาคต

ด้านประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวถึงการประชุมที่ปูซาน ซึ่งมีการสานต่อในเรื่องต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า การรับรองปฏิญญาแม่โขง-แม่น้ำฮัน เป็นแนวทางการดำเนินการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ความเชื่อมโยง รวมทั้งการรับมือกับโควิด-19 เกาหลีจะบริจาคเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาวัคซีน และส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ ได้ชื่นชมความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ที่มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจสูง มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและอบรมด้านต่าง ๆ เช่น อาชีวะ การสาธารณสุข รวมทั้งความสามารถด้านภาษา ในปี 2021 จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธ์ของประเทศลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ส่งผลให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนตามความต้องการของภูมิภาค การสนับสนุน SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เดินไปด้วยกันได้

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวถึงการประชุมผู้นำครั้งแรกที่นครปูซาน เมื่อปีที่แล้ว ที่ทุกชาติได้ร่วมกันยืนยันเจตนารมณ์ผ่านการรับรองปฏิญญาแม่น้ำฮัน-แม่น้ำโขง ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ภายใต้ 3 เสา 7 สาขา ให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี และการจัดตั้งสภาธุรกิจของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้สนับสนุนกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศสนับสนุนในปีนี้ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในสาขาความร่วมมือเป้าหมาย และจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

นายกรัฐมนตรี มีความยินดี และพร้อมสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus) และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนฯ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้ง 3 เสา และ 7 สาขา ที่ยั่งยืนร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญ 2 เรื่องหลัก สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในการรับมือกับการระบาด ซึ่งไทยเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้กองทุนความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี หรือ MKCF (Mekong Republic of Korea Cooperation Fund) ครั้งที่ 4 การบังคับใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสนับสนุนให้มีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในราคาสมเหตุสมผลสำหรับประชาชนในภูมิภาคอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค เพื่อกลับมาเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักลง เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคขึ้นมาแทน เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และผลักดันการเจรจาช่องทางพิเศษระหว่างกัน เพื่อขยายการลงทุนที่ต่อเนื่อง ไทยพร้อมจะเป็นฐานการผลิตและเป็นโซ่ข้อกลาง เพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคกับห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป

ไทยย้ำหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ญี่ปุ่น

12 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมด้วยนายสึกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วม

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในมิติต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เน้นย้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน ยืนยันพร้อมทำงานร่วมกับอาเซียนในกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้างและเสรี ตลอดจนพร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นในภูมิภาค ในบริบทของโควิด-19 และพร้อมสนับสนุนการทำงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมร่วมมือเพื่อให้พื้นที่อินโด-แปซิฟิก มีความมั่งคั่งและเสรี

นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงความยินดีกับนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 99 ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแด่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เนื่องในพระราชพิธีสถาปนามกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ตลอดทั้งปีนี้ โลกและภูมิภาคได้เผชิญกับวิกฤติการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย ตลอดจนความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ไทยมองวิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสที่อาเซียนและญี่ปุ่นได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งกุญแจสำคัญ คือความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) ไทยจึงสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้เอกสาร AOIP และร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมในเรื่องนี้ พร้อมทั้งเสนอให้อาเซียนและญี่ปุ่นมุ่งเน้นเป้าหมายและสาขาความร่วมมือที่สอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบัน คือ ภูมิภาคที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมที่ยั่งยืน โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งขยายความร่วมมือเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยไทยยินดีต่อการลงนามความตกลง RCEP และมุ่งหวังให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่น และพร้อมร่วมมือในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรับมือกับการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ทั้งนี้ไทยและหลายประเทศในอาเซียนพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ โดยจะสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะหารือกับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

อาเซียน-จีน เสริมสร้างความร่วมมือทุกมิติ

12 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วม

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในมิติต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนและอาเซียนร่วมมือกันในหลายมิติ จีนมีความประสงค์ที่จะพัฒนาอย่างสันติเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และพัฒนาแนวทางความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสามัคคี และก้าวข้ามวิกฤติที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำบทบาทและความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนที่มีมาอย่างแนบแน่นตลอดระยะเวลา 30 ปี เปรียบเสมือนสุภาษิตที่ว่า “มิตรในยามยากคือมิตรแท้” และวิกฤติโควิด-19 ได้พิสูจน์ความเป็นมิตรแท้อีกครั้ง โดยร่วมกันรับมือเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็ง

นายกรัฐมนตรี เสนอ 3 แนวทาง คือ อนาคตทางสาธารณสุข ที่ต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ขอบคุณที่จีนให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้อริเริ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะการสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อการรับมือกับโควิด-19 จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการประกาศให้วัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมทำวิจัย พัฒนา และผลิตยา เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประเทศในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ อนาคตทางเศรษฐกิจ ต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยึดมั่นระบบการค้าพหุภาคี สานต่อบูรณาการทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และ RCEP และอนาคตที่ยั่งยืนที่ต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ และประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความพร้อมที่จะต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย และภัยพิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความร่วมมือเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยขอให้แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และหันมาหารือเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

นายกฯ ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37

12 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล โดยครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งสุดท้ายของปี2563 ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงเลขาธิการอาเซียน และผู้นำของคู่เจรจาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย และรัสเซีย รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และประธานธนาคารโลก โดยนายกฯ จะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมกรอบอาเซียน และการประชุมในกรอบแม่โขง รวมถึงผลักดันประเด็นสำคัญในการประชุมกรอบอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องมี 3 ประเด็น คือ 1.การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 2.การสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 และ 3.การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและการสร้างบรรยากาศความร่วมมือในภูมิภาค

โดยเวียดนามยืนยันความร่วมมือของทุกประเทศในการเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางความท้าทายของโลก โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ต้องจับตาว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะสามารถลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ได้หรือไม่ หลัง 15 ชาติเข้าร่วม ยกเว้นประเทศอินเดีย ที่ยังแสดงท่าทีไม่เต็มใจกับการเปิดตลาด เนื่องจากกังวลว่ายอดขาดดุลการค้ากับจีนอาจขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควทส์ [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12]

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: