การสอบ 'เกาเข่า' ในประเทศจีน: ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

บุชรอ อามีน นักศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | 12 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 7092 ครั้ง


‘เกาเข่า’ นับเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของเด็กจีน เต็มไปด้วยการแบกรับไว้ซึ่งความหวังของครอบครัว เกาเข่าเป็นภาษาจีน เกา แปลว่าสูง เข่า แปลว่าการสอบ พออ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วให้ความรู้สึก คัน (นิธิพันธ์ วิประวิทย์, 2560)

การสอบเกาเข่านั้นไม่มีพื้นที่ให้ผิดพลาด หากในปีนี้สอบไม่ได้ตามที่หวังเอาไว้จะต้องรอสอบใหม่ในปีถัดไป และถ้าใครมีฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดีนัก จะต้องดิ้นรนอย่างหนัก ดังนั้นทุกครอบครัวจึงมีความกดดันอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งหากฐานะทางครอบครัวค่อนข้างดี ความกดดันก็จะมีน้อยกว่า เพราะแม้จะสอบไม่ผ่าน ก็ยังมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ที่ตอนนี้มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกรวมไปถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีนมีความหมายต่อตนเอง ครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมไปถึงเพื่อนบ้าน และคนในหมู่บ้านด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่ชนบทที่ห่างไกล หากสอบได้ถือจะเป็นความภาคภูมิใจเยี่ยงวีรบุรุษและวีรสตรี

เพราะในคติความเชื่อของคนจีน ‘การเรียน’ เป็นหนทางที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนสถานะทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจีน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ในเมืองใหญ่หรือเมืองชนบทห่างไกล ล้วนแต่มีความคิดที่ปลูกฝังให้รักและขวนขวายในการศึกษา

อย่าง เหมาเจ๋อตุง อดีตประธานาธิบดีจีน ผู้เปลี่ยนแปลงและสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ใช้โอกาสขณะที่ประกอบอาชีพบรรณารักษ์ในห้องสมุด เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดการเมืองการปกครอง (เหมาได้มีโอกาสอ่าน Communist manifesto) จนนำมาสู่การปฏิวัติและปฏิรูปประเทศ

จุดเริ่มต้นของเกาเข่านั้น อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นที่ปี 1949 โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดกันเอง และตั้งแต่ปี 1966 ที่เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม นักเรียนมัธยมออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกเกาเข่า ทำให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยถูกยุติ และเปลี่ยนเป็นให้ความสนใจศึกษานอกตำรา จนกระทั่งปี 1977 เติ้งเสี่ยวผิงได้ฟื้นฟูเกาเข่าอีกครั้ง หลังผ่านมานับสิบปีที่จีนไม่มีการเรียนการสอน

เกาเข่าได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนหลายล้านคน อีกทั้งเปลี่ยนแปลงการศึกษาและอนาคตของจีนด้วย ตั้งแต่ปี 1977 จนถึงปี 2003 และจวบจนถึงปัจจุบัน เกาเข่าจะตรงกับวันที่ 7 และ 8 มิถุนายนของแต่ละปี

การสอบเกาเข่าส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างมาก พ่อแม่จะเตรียมตัวเพื่อให้ลูกๆ ของตนเองมีความพร้อมในการสอบเกาเข่า โดยจะเริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่ชั้นอนุบาลปรับสมดุลการเรียนด้วยการสอนภาษาอังกฤษ ดนตรีและการแข่งขันกีฬา ผู้ปกครองจะจ้างติวเตอร์ ส่งลูกไปเรียนส่วนตัวหลังเลิกเรียน หรือติดตามลูกๆ เข้าไปในเมืองหลวงเพื่อเอาใจใส่ในเรื่องการเรียนแก่พวกเขา

ยกตัวอย่างนาง Jiang Wenjun เธอได้เขามาใช้ชีวิตในเมืองพร้อมกับลูกชาย เพราะต้องการให้มีทิศทางในการดำเนินชีวิตที่ดี มีโอกาสมากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในชนบท เจียงเชื่อว่าคะแนนสูงในเกาเข่าจะให้โอกาสในชีวิตแก่ลูกชายเธอ และมันจะต้องต่างกันกับผู้คนในชนบทที่บ้านของเธอ ที่ผู้คนจะไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง

“ฉันไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน ดังนั้นฉันจึงมีปัญหาในการหางานที่ดี” เจียงกล่าว 

“ฉันไม่อยากเห็นลูกชายของฉันมีชะตากรรมแบบเดียวกัน” เธอกล่าวเสริม

มากไปกว่านั้น ไม่ได้มีแค่เพียงครอบครัวของนาง Jiang ที่คิดเช่นนี้ เราจะพบได้อีกจากในที่ทำงานของเธอซึ่งเต็มไปด้วยบรรดาคุณแม่ที่มีอุดมคติเช่นเดียวกันกับเธอ พวกเธอต้องทำงานหนักเพื่อที่จะดำรงชีวิตในเมืองซึ่งค่าเช่าที่มีราคาแพง พวกเธอจะต้องใช้ชีวิตในห้องแคบๆ แต่ถึงกระนั้นลูกๆ ของพวกเธอก็จะยังคงได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้ความกดดันในการทำคะแนนได้ดีในเกาเข่าตกมาอยู่บนลูกชายของเจียง ที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้บรรลุความฝันของแม่ของเขา

ลูกชายของเจียงกล่าวว่า “ถ้าผมล้มเหลวในครั้งนี้ ผมจะใช้เวลาอีกหนึ่งปีในการเตรียมตัวสำหรับเกาเข่าของปีถัดไป” จะเห็นได้ถึงความตั้งใจและความทุ่มเทเพื่อการสอบเกาเข่า อันเนื่องมาความเชื่อที่ว่าการศึกษาเป็นวิธีเดียวที่จะยกระดับชีวิตของพวกเขา ผ่านการถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นก่อนเจียง เจียง และลูกชายของเธอ  (Lu Yunwen, 2017)

การเตรียมตัวสอบเกาเข่าในแต่ละรุ่นจะใช้เวลาเป็นปี มีผู้ปกครองคอยทุ่มเทช่วยเหลือ เริ่มตั้งแต่การหาค่าใช้จ่ายส่งลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน บางกรรมวิธีคล้ายกับเข้าค่ายทหาร บางโรงเรียนจัดหอพักให้เด็กอยู่ ห้ามเด็กพกเครื่องมือสื่อสาร มีการท่องคำขวัญปลุกใจก่อนเข้าติว  (นิธิพันธ์ วิประวิทย์, 2560)

ในปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามเป้าหมาย Made in China 2025 และการบรรลุ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่าง อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ได้เข้ามาควบคุมรูปแบบพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน รวมไปถึงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่ใช้ในสถาบันศึกษา อย่าง เครื่องรัดศีรษะอัจฉริยะ (head band) ได้เข้ามาควบคุมการเรียนของเด็ก ๆ ในชั้นเรียน โดยสามารถวัดความตั้งใจในการเรียนผ่านการแสดงสีไฟบนเครื่องรัดศีรษะ อีกทั้งยังสามารถแสดงผลในรูปแบบเชิงสถิติได้โดยทันทีไปยังครูผู้สอน และผู้ปกครองในรูปแบบของกลุ่มแชทผู้ปกครอง ผู้ปกครองสามารถดูคะแนนของเด็กทุกคนในชั้นเรียน ทำให้พ่อแม่สามารถประเมินระดับขั้นของลูก ๆ ของพวกเขาได้ พ่อแม่จึงสามารถเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เช่น ค่าแสดงผลว่าเด็กคนนี้ไม่ถนัดทางด้านคณิตศาสตร์ ผู้ปกครองก็สามารถแก้ไขเฉพาจุดได้ โดยการส่งเรียนคณิตศาสตร์เพิ่ม

และจากการสอบถามเด็ก ๆ ที่สวมใส่เครื่องรัดศีรษะอัจฉริยะนี้ พวกเขาให้ความเห็นโดยสรุปว่า “มันให้ความรู้สึกเหมือนมีสิ่งที่คอยมาควบคุมพวกเขา และทำให้พวกเขาตื่นตัวมากขึ้น รู้สึกเหมือนมีคนคอยจับจ้อง พวกเขาต้องพยายามมากขึ้นอีก ต้องทำให้ดีกว่าเดิม”

เครื่องรัดศีรษะนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำ A.I. (Artificial Intelligence) ในการเข้ามาจัดระเบียบในชั้นเรียนโดยการเก็บข้อมูล เพื่อที่ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และรัฐจะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้ และเป็นเครื่องมือเตรียมตัวในการสอบเกาเข่า

เครื่องรัดศีรษะดังกล่าวได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ ทั้งในครอบครัวและกับครูผู้สอน ประการแรกผู้ปกครองจะได้รับความกดดันจากผลคะแนนของนักเรียนคนอื่น ๆ เมื่อนำมาเทียบกับลูกตนเอง จะก่อให้เกิดความกดดันต่อเด็ก ๆ ตามมา โดยแต่ละครอบครัวมีวิธีในการจัดการที่แตกต่างกัน ความกดดันเหล่าก็สืบเนื่องมาจากพื้นฐานเดิมที่เชื่อว่า การศึกษาที่ดีจะสามารถยกระดับชีวิตได้ ประการที่สองครูผู้สอนสามารถติดตามผลการเรียนได้ในทัน ไม่มีช่องว่างให้เด็กสามารถปล่อยผ่านความไม่เข้าใจไปได้ ครูผู้สอนจะสามารถรีบตรงเข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที

ยกตัวอย่างความกดดันในครอบครัวจีน ของครอบครัว Zi xu กับลูกชายวัย 11 ปี พวกเขาได้ใช้จ่ายไปกับการเล่าเรียนของลูกชายมากกว่าสี่ล้านบาท ลูกชายของพวกเขาเริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุเพียงหนึ่งขวบ และเมื่ออายุสองขวบเรียนภาษาอังกฤษ อายุสามขวบเรียนเปียโนและศิลปะ เมื่อเข้าชั้นประถมหนึ่งลูกชายของพวกเขาเรียนตรรกะทางคณิตศาสตร์ ทำให้ Wen zi xu ในวัย 11ปี มีความสามารถทางเทคโนโลยี แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็รู้สึกกดดัน โดยเฉพาะแม่ที่จะคอยจัดตารางการเรียนให้เขาเสมอ และนั่นเป็นเหตุผลที่ Wen zi xu ไม่ชอบแม่ตัวเองมาก ๆ เนื่องจากเธอไม่เคยปล่อยให้เขาหยุดพักเลย อาหารเย็นของ Wen zi xu ขึ้นอยู่กับเวลาที่เขาเหลือระหว่างรอเรียนภาคค่ำ หากเหลือ 10 นาที เขาจะได้กินพาย 20 นาที เขาจะได้กินก๋วยเตี๋ยว และหนึ่งชั่วโมง เขาจะได้กินข้าว

Wen xi zu ให้ความสนใจทางด้านเทคโนโลยีอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้เกรดวิชาอื่น ๆ ของเขาแย่ลง พ่อของเขา Wen ju ให้ความสนใจกับความชอบของลูกชายและส่งเสริมเขา กลับกันนาง Feng ji ผู้เป็นแม่ให้ความสำคัญกับเกรดของลูกชายมากกว่าและคิดว่าหากลูกชายเลิกให้ความสนใจทางเทคโนโลยีจะทำให้เกรดของเขาดีขึ้น เป็นเหตุให้เธอคอยจัดการลูกชายให้ใช้เวลาในการเรียนให้มากขึ้น ทำให้เธอกับลูกชายมักจะทะเลาะกัน โดยเธอให้เหตุผลว่า “ฉันไม่คิดว่าลูกของเรา พยายามอย่างหนักเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับลูกคนอื่น ๆ” และนั่นทำให้ Wen zi xu รู้สึกว่าในแต่ละวันของเขาจบไปพร้อมกับความลำบากและยุ่งยากกับการเรียนพิเศษอยู่ตลอดเวลา

ผลกระทบที่รุนแรงจากความกดดันในการสอบเกาเข่า ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาความสัมพันธ์ต่อครอบครัว และสังคม คือการฆ่าตัวตาย เพราะแบกรับความกดดันทางสังคมที่มากเกินปกติ ที่นอกจากความคาดหวังของตัวเองแล้ว ยังต้องแบกรับแรงกดดันจากครอบครัวอีกด้วย ทำให้นักเรียนบางคนไม่สามารถที่จะแบกรับต่อไปอีกได้ พวกเขาจึงฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตาย ได้เกิดขึ้นในครั้งหนึ่งในเช้าวันสอบ ชายหนุ่มจากเมืองเฉาหยาง จังหวัดเหลียวหนิงกระโดดตึกตาย อายุ 21 หรือ 22 ปี เป็นนักเรียนที่เรียนซ้ำชั้น เขาได้ไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมใหม่เพื่อหวังที่จะทำคะแนนเกาเข่าครั้งนี้ให้ดี แต่ต้องผิดหวัง การฆ่าตัวตายของเขาได้การเป็นภาพไวรัลไปทั่วประเทศจีนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในโลกโซเชียลโดยจะได้เห็นความคิดของประชนดังนี้ “ผู้ปกครองโปรดหยุดกดดันเด็ก ๆ ในการสอบเกาเข่า ที่ทำให้ข่าวประเภทนี้เกิดขึ้นทุกปี” ชาวเน็ตคนหนึ่งเขียน

สรุปได้ว่าระบบเกาเข่านั้นสร้างความกดดันแก่ชนชาวจีนอย่างมาก มันทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่พวกเขาเริ่มชั้นอนุบาล ผู้ปกครองของพวกเขาต้องใช้และเงินทองเป็นเวลายาวนานเพื่อเตรียมพร้อมลูก ๆ ของพวกเขาในการสอบเกาเข่า พวกเขาถูกปลูกฝังให้มุ่งมันในการเรียนมากกว่าสิ่งอื่นใด จากความเชื่อที่ว่าการการได้รับการศึกษาที่ดีจะช่วยยกระคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ พวกเขาจึงมุ่งมันในการยกระดับตนเองมากกว่าการแสวงหาความรู้ที่แท้จริง เด็กชาวจีนส่วนใหญ่พลาดโอกาสในการทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกห้องเรียน ที่พวกเขาอาจจะค้นพบหนทางในการต่อยอดไปในทิศทางอื่น ๆ จากมัน พวกเขาถูกทำให้ใช้เวลาในการการเรียนตลอดทั้งวัน และการถูกควบคุมจากพ่อแม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาในครอบครัว ขาดความเข้าใจและอยู่ภายใต้ความกดดันมากกว่าความรัก ความอบอุ่น

 

อ้างอิง

นิธิพันธ์ วิประวิทย์. (2560). “เกาเข่า” วาระแห่งชาติ “เอนทรานซ์จีน”. ใน. มองตะเกียบเห็นป่าไผ่. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์.

Alex Linder. (2018). Stressed-out ‘repeat student’ leaps off building to his death on the first day of China’s gaokao. Retrieved March 20, 2020, from https://shanghaiist.com/2017/06/09/gaokao-suicide/

CAN Insider. (2019). 11-Year-Old's Passion Vs Grades: Do Parents Really Know Best?. Retrieved March 20, 2020, from https://www.youtube.com/watch?v=4L6RKFbQoxs

CRI Online. (2555). "เกาเข่า"ของประเทศจีน. ค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2563, จาก  http://thai.cri.cn/247/2012/07/12/225s200044.htm

Lu Yunwen. (2017). Chinese Cram School Gears Up for the Ultimate Stress Test. Retrieved March 20, 2020, from http://www.sixthtone.com/news/1000288/chinese-cram-school-gears-up-for-the-ultimate-stress-test

Seeta Bhardwa. (2019). What is the ‘Gao kao’ and how can you prepare for it. Retrieved March 20, 2020, from https://www.timeshighereducation.com/student/advice/what-gao-kao-and-how-can-you-prepare-it

THE MATTER. (2562). เมื่อการสอบกำหนดชีวิต : ‘เกาเข่า’ หนึ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดในโลก. ค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2563, จาก  https://thematter.co/thinkers/one-of-hardest-admission-in-the-world/78349

Wall Street Journal. (2019). How China Is Using Artificial Intelligence in Classrooms. Retrieved March 20, 2020, from https://www.youtube.com/watch?v=JMLsHI8aV0g

 


 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: China Daily

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: