12 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 33 คน สะสม 2,551 คน เสียชีวิต 3 คน สะสม 38 คน รักษาหายสะสม 1,218 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1628 ครั้ง

12 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 33 คน สะสม 2,551 คน เสียชีวิต 3 คน สะสม 38 คน รักษาหายสะสม 1,218 คน

12 เม.ย. 2563 โฆษก ศบค.แถลงไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 33 คนลดลงต่อเนื่อง รวมสะสม 2,551 คน หายป่วยกลับบ้าน 1,218 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คนรวมเสียชีวิตสะสม 38 คน หายดีแล้ว 1,218 คน ชี้ 7 วันอันตรายสงกรานต์ ห้ามเด็ดขาด งดเล่นน้ำ ฉีดพ่นน้ำทุกกรณีแม้แต่ในบ้าน หากพ่นฉีดน้ำในบ้านเสี่ยงแพร่ COVID-19

12 เม.ย. 2563 Thai PBS นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าวันนี้พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 33 คนยอดสะสม 2,551 คน หายดีแล้ว 1,218 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน รวมเสียชีวิตสะสม 38 คน โดยตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และรู้สึกดีใจ และเป็นข่าวดีรับปีใหม่ไทยที่ตัวเลขผู้ป่วยในไทยลดลง

“แต่ก็ยังไม่อยากให้การ์ดตก เพราะแนวโน้มสถานการณ์ระดับโลก ยังน่าเป็นห่วง ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 1,780,314 คน เสียชีวิต 108,827คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศอันดับต้นๆมีผู้ป่วยกว่า 532,875 คน”

ขณะที่ 5 ประเทศในอาเซียนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นจนเส้นกราฟพุ่งขึ้นอันดับ 1 คือ มาเลเซีย ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ ซึ่งไทยมีแนวโน้มคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ เป็นกราฟที่พึงประสงค์ เพื่อคุมการระบาดในประเทศ แต่รอบข้างของเรายังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง อาจต้องมีการพิจารณาเรื่องการเปิดสนามบิน หรือมาตรการคัดกรองเพิ่มขึ้นด้วย

“ดังนั้นจะทำอย่างไรถ้าไทยคุมการระบาดได้แต่ประเทศรอบไทยยังมีแนวโน้มตัวเลขที่น่ากังวลแบบนี้”

ข่าวดีสัปดาห์ที่ 15 ตัวเลขติดเชื้อเหลือแค่ 383 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมกระจายใน 68 จังหวัด สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 33 คนพบมากสุดในกทม. 14 คน ยะลา 5 คน ภูเก็ต 4 คน ปัตตานี 3คน นราธิวาสและสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 คน ส่วนเลย ชลบุรี และนคศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน เมื่อรวมตัวเลขผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศมากที่สุดสุดอยู่ใน กทม. 1,294 คน รองลงมาคือ จ.ภูเก็ต 176 คน ส่วนอัตราป่วยต่อแสนประชากร ภูเก็ตยังเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 42.57 คนต่อแสนประชากร รองลงมาคือ กทม. คิดเป็น 22.82 คนต่อแสนประชากร และยังมี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 33 คน พบอยู่ในระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 31 คน เป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า และเกี่ยวข้องสถานที่เสี่ยง 17 คน ในจำนวนนี้เชื่อมโยง 3 จังหวัดใต้ 7 คน และเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 2 คนส่วนกลุ่มผู้ป่วยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 10 คน เป็นบุคลากรการแพทย์ 7 คน และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 4 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มอยู่ในพื้นที่กักตัวของรัฐพบ 3 คน เดินทางมาจากอินโดนีเซีย

จากการทำข้อมูลในรายสัปดาห์ พบว่าในสัปดาห์ที่ 15 ระหว่างวันที่ 5-11 เม.ย.นี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยลดลงอย่างชัดเจนคือ 383 คน เทียบกับสัปดาห์ที่ 14 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีตัวเลขสุงสุด 744 คน ส่วนสัปดาห์ที่ 13 ระหว่างวันที่ 22-28 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 625 คน และสัปดาห์ที่ 12 ระหว่างวันที่ 15-21 มี.ค.นี้ จำนวน 315 คน

อะไรห้ามเด็ดขาดช่วงสงกรานต์ปลอด COVID-19

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลง เมื่อลองเทียบสถิติจะพบว่า ตัวเลขจาก 3 หลักลดเหลือ 2 หลักเริ่มมาหลังการประกาศเคอร์ฟิว แต่มีบางวันที่มีตัวเลขเป็นหลักร้อย เพราะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มก้อนคนอยู่ในสนามมวยลดลงต่อเนื่อง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นศูนย์แล้ว เพราะรัฐควบคุมได้ดี และประชาชนให้ความร่วมมือทั้งการเดินทาง การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีทั้ง 72 จังหวัดแล้ว

ทั้งนี้มีคำถามว่าในช่วงสงกรานต์ วันพรุ่งนี้ (13 เม.ย.) อะไรที่ทำได้หรือทำได้บ้าง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือ งดเล่นน้ำ รดน้ำและแม้แต่ในบ้านก็ห้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในบ้านที่มีแค่เด็กๆ พ่อแม่ ก็ห้ามเพราะสารคัดหลั่งที่จะไปกับละอองฝอยของน้ำมีโอกาสแพร่เชื่้อ COVID-19 ไปยังคนใกล้ชิด หากมีการไอจามไปไกลเกิน 2 เมตรกระจายผ่านละอองน้ำที่เป็นตัวพาหะ

นอกจากนี้การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ก็ไม่ควรทำยังคงเว้นระยะห่าง 2 เมตร ส่วนการสรงน้ำพระ ทำได้แต่แนะนำว่าทีละคน และใช้แก้ว ขันส่วนตัว รวมทั้งงดการเดินทางกลับภูมิลำเนา

“สงกรานต์ปีนี้จึงจะเป็นช่วง 7 วันอันตราย ของการระบาดของ COVID-19 ด้วยเช่นกัน ถ้าวันนี้ผู้ป่วยลดลงแล้ว ก็อย่าประมาทจนทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น”

โฆษก ศบค.กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับโลก วันนี้หลายประเทศเห็นภาพความร่วมมือ เราประทับใจกับจีนที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤต และนำเอาความรู้ไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆ

ส่วนในไทยเรารวมพลังจนก้าวผ่านตัวเลขเริ่มลดลง เราเห็นความเก่งในระดับจังหวัด ต่อไปจะเป็นตำบล ชุมชน และครอบครัวและบุคคล ถึงแม้จะห่างร่างกาย นอกเหนือจาก Social Distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) อยากเห็น Social Cohesion คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในสังคม ศัตรูเราคือเชื้อโควิดเท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: