สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 พ.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1519 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 พ.ค. 2563

เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

 

12 พ.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก)  ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน)
2.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) 
4.       เรื่อง     ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือน ดีเด่น พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
 5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัญชีและหลักเกณฑ์การรายงานเกี่ยวกับชนิดปริมาณและการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธ  ที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดสารประกอบหรือสารผสมของยูเรเนียมหรือทอเรียม เพื่อให้สารประกอบหรือสารผสมนั้นเป็นวัสดุต้นกำลัง พ.ศ. ....
7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการหักเงินงบประมาณรายได้ประจำปีสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนด    อัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
8.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ - สังคม

9.       เรื่อง     โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563       
10.      เรื่อง     การขอขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม 
11.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563
12.      เรื่อง     การกำหนดวันสำคัญของชาติ (วันรู้รักสามัคคี)
13.      เรื่อง     ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต 
14.      เรื่อง     รายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
15.      เรื่อง     รายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน – นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
16.      เรื่อง     รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
17.      เรื่อง     กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ
18.      เรื่อง     ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
19.      เรื่อง     การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564   เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(COVID - 19) และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ   พ.ศ. 2564

ต่างประเทศ

20.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ การค้า    และการพัฒนาแห่งประเทศแคนาดากับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
21.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน
22.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการจัดทำโครงการและลงนามหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการ กับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)
23.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามร่างความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า”
 

แต่งตั้ง

24.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (กระทรวงยุติธรรม)
26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง   (กระทรวงศึกษาธิการ)
27.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา แทนตำแหน่งที่ว่าง
28.      เรื่อง     การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
  

*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 
 
 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย และให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   กค. เสนอว่า
                   1. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ประกอบกับที่ผ่านมา กค. ได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และบรรเทาภาระภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชนฯ อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน รวม 5 ฉบับ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชนฯ สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2562  
                   2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่วิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกันประกอบกิจการในลักษณะคณะบุคคล และเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชน สมควรขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีดังกล่าวออกไป โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้ปีละไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
                   3. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการทางภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ของวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 
                             3.1 บรรเทาภาษีให้วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน 
                             3.2 เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการของชุมชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต 
                             3.3 สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  
 
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ   
                   3. ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขานุการที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ  
                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยกำหนดเกี่ยวกับการขอคืน หรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้ครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน จากเดิมคุ้มครองเฉพาะความเสียหายทางทรัพย์สิน และการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานให้มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตลอดจนการให้ริบทรัพย์สินอื่นทดแทน หรือริบทรัพย์สินตามมูลค่าของทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินซึ่งสูญหายหรือเสียหาย โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
                   1. กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 เพื่อให้การขอคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน 
                   2. กำหนดให้ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน  
                   3. กำหนดให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่จะมีสิทธิที่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องเป็นผู้ที่แสดงให้ศาลเห็นว่า มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดมูลฐานหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดมูลฐาน ให้ตนได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือตนเป็นผู้เสียหายในมูลฐานความผิดและได้ร้องทุกข์ไว้หรือมีการดำเนินคดี เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้ว  
                   4. กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าผู้ร้องมิใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือมิใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต เว้นแต่ตนเป็นผู้เสียหายตามข้อ 3. ให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามข้อ 3. แทนการสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ และหากมีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน 
                   5. กำหนดให้กรณีที่ทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย ไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ มีการนำไปรวมกับทรัพย์สินอื่น มีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือติดตามเอาคืนได้ยากเกินสมควร ศาลอาจกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และสั่งให้ผู้มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นชำระเงินแทนตามมูลค่า โดยคำนึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกัน หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้น และการชำระเงินแทนจะชำระทั้งหมดในคราวเดียวหรือจะให้ผ่อนก็ได้ ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัด และสามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลนั้นได้ แต่ต้องดำเนินการภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุด  
                   6. กำหนดให้กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน ถ้าศาลเห็นว่าผู้ร้องเป็นผู้รับประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งประโยชน์หรือส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามศีลธรรมอันดี หรือกุศลสาธารณะ ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องได้ แต่ถ้าผู้ร้องดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานว่าเป็นผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียได้มาโดยไม่สุจริต 
                   7. กำหนดให้กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน ถ้าศาลเห็นว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นผู้รับประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสียโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งประโยชน์หรือส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามศีลธรรมอันดีหรือกุศลสาธารณะ ให้ศาลคืนทรัพย์สินนั้นหรือกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองสิทธิ หรือให้ใช้ราคาหรือค่าเสียหายแทน 
                   8. กำหนดให้กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน ถ้ามีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มอีก ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน  
                   9. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาลรับรองสิทธิของผู้เสียหายที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
 
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   สกพอ. เสนอว่า  
                   1. สกพอ. มิได้มีฐานะเป็น กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หากแต่ได้รับการจัดตั้งให้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ     ภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และปัจจุบัน สกพอ. ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  
                   2. โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย ซึ่งการกำหนดให้ สกพอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐเป็น “หน่วยงานของรัฐ” จึงต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  
                   3. ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สกพอ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สมควรกำหนดให้ สกพอ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สกพอ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้ สกพอ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สกพอ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
 
4. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   2. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                   1. ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 
                             กำหนดแนวทางการประดับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น โดยให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นใช้ประกอบกับเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้ทุกชนิด และประดับที่ใบปกกระเป๋าเสื้อเบื้องขวาชิดกับขอบกระเป๋าด้านบนใกล้แนวรังดุม กรณีไม่มีกระเป๋าเสื้อให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวาในระดับเดียวกัน   
                   2. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ. .... 
                             2.1 กำหนดนิยามของคำว่า “เกียรติบัตร” “เข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น” “ข้าราชการ” และ “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น  
                             2.2 กำหนดรูปแบบของเกียรติบัตร และเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น โดยให้เป็นไปตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้   
                             2.3 กำหนดผู้มีสิทธิได้รับเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น และประดับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อตามประกาศผลการคัดเลือกให้เป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปีของคณะกรรมการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน  
                             2.4 กำหนดแนวทางปฏิบัติการประดับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น ได้แก่ การประดับกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนทุกชนิด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การประดับกับชุดสากล ให้ประดับที่ปกเสื้อเบื้องซ้าย เป็นต้น กรณีประดับเครื่องหมายเข็มพระราชทานด้วย จะต้องไม่ประดับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนในระดับเดียวกัน หรือสูงกว่าเครื่องหมายเข็มพระราชทาน  
                             2.5 กำหนดให้ผู้ที่ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับมีสิทธิประดับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นได้ตามระเบียบนี้ 
                             2.6 กำหนดให้กรณีข้าราชการพลเรือนดีเด่นถูกลงโทษทางวินัย หรือคณะกรรมการจัดงานวันข้าราชการพลเรือนเห็นว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และไม่สามารถดำรงเกียรติของข้าราชการพลเรือนดีเด่นได้ ให้สถานะข้าราชการพลเรือนดีเด่นของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง และให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการเรียกคืนเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นของผู้นั้นโดยพลัน และส่งให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการต่อไป
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัญชีและหลักเกณฑ์การรายงานเกี่ยวกับชนิด ปริมาณและการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัญชีและหลักเกณฑ์การรายงานเกี่ยวกับชนิด ปริมาณและการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   กห. เสนอว่า
                   1. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐนำระบบเทคโนโลยีมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันและกับภาคเอกชน  
                   2. ภารกิจของ กห. ด้านการอุตสาหกรรมทหารตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 นั้น ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตอาวุธเอกชน จะต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดแบบบัญชีและหลักเกณฑ์การรายงานเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น พ.ศ. 2560 โดยต้องนำรายงานดังกล่าวมายื่น ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กห. 
                   3. กห. เห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ลดระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามข้อ 2. โดยให้เพิ่มการรายงานเกี่ยวกับชนิดและปริมาณดังกล่าวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัญชีและหลักเกณฑ์การรายงานเกี่ยวกับชนิด ปริมาณและการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องส่งรายงานและสำเนาบัญชีเกี่ยวกับชนิด ปริมาณ และการรับจ่ายประจำวันของวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กห. หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันที่จัดให้มีการทำบัญชี
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดสารประกอบหรือสารผสมของยูเรเนียมหรือทอเรียม เพื่อให้สารประกอบหรือสารผสมนั้นเป็นวัสดุต้นกำลัง พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดสารประกอบหรือสารผสมของยูเรเนียมหรือทอเรียม เพื่อให้สารประกอบหรือสารผสมนั้นเป็นวัสดุต้นกำลัง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้สารประกอบหรือสารผสมดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะทางกายภาพใดเป็นวัสดุต้นกำลัง ได้แก่ สารประกอบยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะหรือสารประกอบทอเรียม และสารผสมที่มียูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ทอเรียม สารประกอบของยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ หรือสารประกอบของทอเรียม 
                   2. กำหนดให้สารประกอบหรือสารผสมตาม 1. ไม่รวมถึงสารประกอบหรือสารผสมที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องอุปโภคหรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และไม่อยู่ในสภาพที่สามารถนำกลับมาใช้ในทางนิวเคลียร์ได้ 
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการหักเงินงบประมาณรายได้ประจำปีสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้ 
                   1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการหักเงินงบประมาณรายได้ประจำปีสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นรูปแบบของร่างกฎกระทรวงตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วดำเนินการต่อไปได้  
                   2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นการกำหนดอัตราบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นไปพิจารณา โดยคำนึงถึงภาระทางงบประมาณของราชการส่วนท้องถิ่นและความสามารถในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น แล้วแจ้งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาต่อไป 
                   3. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ
                   1. ร่างกฎกระทรวงการหักเงินงบประมาณรายได้ประจำปีสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... 
                             1.1 กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500  
                             1.2 กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นหักเงินจากประมาณการรายรับในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 2 เว้นแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและเมืองพัทยาให้หักในอัตราร้อยละ 3  
                   2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. .... 
                             2.1 กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552   
                             2.2 บำเหน็จดำรงชีพให้จ่ายในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ตามวิธีการดังต่อไปนี้  
                                       2.2.1 ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 200,000 บาท 
                                      2.2.2 ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 70 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 400,000 บาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.2.1 ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท  
                                      2.2.3 ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.2.1 หรือข้อ 2.2.2 ไปแล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
 
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สำนักงาน กกต. เสนอว่า
                   ด้วยนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคเพื่อไทย ได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 จึงเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (2)
                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน 
                   ดังนั้น เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง 
 

เศรษฐกิจ - สังคม

 
9. เรื่อง โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 (โครงการฯ)   ตามสาระสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีมติให้ความเห็นชอบไว้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวน 313.98 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 48.21 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 265.77 ล้านบาท
                   2. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 265.77 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 321.52 ล้านบาท
                   3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 ให้ได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดเวลาการเอาประกันภัยของเกษตรกรทั้งในส่วนที่ 1 (Tier 1) และส่วนที่ 2 (Tier 2) พร้อมทั้งให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัยและร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมประกันฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของการประกันภัย
                   4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และสมาคมประกันฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกรแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร  (แบบ กษ 02 เพื่อการประกันภัย) ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย และรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
                   5. มอบหมายให้สมาคมประกันฯ พิจารณากำหนดรูปแบบการประเมินความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ร่วมกับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
                   6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถ เริ่มรับประกันภัย ในปีการผลิต 2563 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2563 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2563 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                   และให้ กค. รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กษ. สำนักงาน คปภ. ธ.ก.ส. และสมาคมประกันฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ดังนี้ (1) กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไปได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) (การใช้ข้อมูลจากสถิติในอดีตเพื่อคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 (2) ปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) และอัตราค่าเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจในส่วนที่ 2 (Tier 2) ให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลสถิติอัตราส่วนความเสียหาย (Damage Ratio) ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ และอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของการรับประกันภัย โดยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอัตราเดียวสำหรับการรับประกันภัยในส่วนของ Tier 1 และคงรูปแบบการรับประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนของ Tier 2 โดยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยตามระดับพื้นที่ความเสี่ยงภัยในระดับอำเภอเพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยโดยสามารถขอเอาประกันภัยเพื่อรับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากส่วนที่ภาครัฐให้การอุดหนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย (3) กำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในทุกพื้นที่ [ผู้เอาประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2563/2564] จากเดิม ในปีการผลิต 2562 ที่กำหนดให้รับประกันภัยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์
                   2. เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน) ของเกษตรกรซึ่งได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างทั่วถึงและได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งฤดูการผลิต (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝนและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง) เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับจำนวนเงินทุนของเกษตรกรที่มีไม่เพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูกในปีการผลิตถัดไป กค. จึงได้นำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 เสนอต่อ นบขพ. พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ตามที่ กค. เสนอ โดยรายละเอียดของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 สามารถกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้ 
 

หัวข้อ รายละเอียด
1. วัตถุประสงค์ · เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
 
2. พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัย
(รวม Tier 1
และTier 2
ไม่เกิน 3 ล้านไร่) และอัตราค่าเบี้ยประกันภัย
การประกันภัย พื้นที่รับประกันภัย อัตราค่าเบี้ยประกันภัย
(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
และอากรแสตมป์)
การรับประกันภัย
พื้นฐาน
(Tier 1)
 
 
 
 
พื้นที่รวมไม่เกิน 2.9 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็น
(1) พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย) ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่ (ประกันภัยกลุ่ม) 172.27 บาทต่อไร่
เท่ากันทุกพื้นที่
(2) พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ไม่เกิน 1 แสนไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)
· รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกรายในอัตรา 108.27 บาทต่อไร่ จำนวนรวม 2.9 ล้านไร่
· ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 64 บาทต่อไร่ เฉพาะกลุ่มที่ (1) จำนวน 2.8 ล้านไร่
การรับประกันภัย
ร่วมจ่ายโดยสมัครใจ
(Tier 2)
พื้นที่ไม่เกิน 1 แสนไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่* ซึ่งเกษตรกรสามารถขอจ่ายเพิ่มได้เมื่อเอาประกันภัยจาก Tier 1 แล้ว แบ่งเป็น
ไม่เกิน 1 แสนไร่
(ประกันภัยรายบุคคล)
(1) พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ
97.37 บาทต่อไร่
(2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง
108.07 บาทต่อไร่
(3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง
118.77 บาทต่อไร่
เกษตรกรจ่ายเองทั้งหมด
  หมายเหตุ : *พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 685 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 110 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 133 อำเภอ
3. ระยะเวลา
การขายประกัน
(1) สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบที่ 1 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน) นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
(2) สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบที่ 2 (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 15 มกราคม 2564
4. วงเงิน
ความคุ้มครอง
พื้นที่ ภัยธรรมชาติ 7 ภัย
(น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง
ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้
และภัยช้างป่า)
ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
Tier 1 1,500 บาทต่อไร่ 750 บาทต่อไร่
Tier 2 240 บาทต่อไร่ 120 บาทต่อไร่
รวมไม่เกิน 1,740 บาทต่อไร่ 870 บาทต่อไร่
5. ภาระ
งบประมาณ
(เงินอุดหนุน
ค่าเบี้ย
ประกันภัย)
· ภายในวงเงิน 313.98 ล้านบาท (คิดจากพื้นที่เป้าหมาย 2.9 ล้านไร่)
โดยแบ่งเป็น
(1) ใช้จ่ายจากงบประมาณคงเหลือจากการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 48.21 ล้านบาท
(2) ให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล จำนวน 265.77 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไป
6. การพิจารณา
ค่าสินไหม
ทดแทน
· จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประกาศภัยตามที่ราชการกำหนด โดยการดำเนินการของสมาคมประกันฯ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7. วันเริ่ม
ความคุ้มครอง
(1) เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. (กลุ่ม Tier 1) ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อทั้งหมด ในการเพาะปลูกเริ่มตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หากประสงค์เอาประกันภัยเพิ่มในส่วน Tier 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย
(2) เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อบางส่วนและประสงค์จะเอาประกันภัยเพิ่มเติมและเกษตรกรทั่วไป โดยรับภาระค่าเบี้ยประกันเองทั้งในส่วน Tier 1 และ Tier 2 เริ่มตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย
(3) กลุ่มเกษตรกรทั่วไป เริ่มตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย

อัตราส่วนระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้
         
10. เรื่อง การขอขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า 
                   1. ประเทศไทยมีความต้องการใช้มันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 200,000 ตัน/ปี ในขณะที่ภายในประเทศสามารถผลิตได้เฉลี่ย 100,000 - 120,000 ตัน/ปี (คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการใช้) ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2562) ความต้องการใช้มันฝรั่งโรงงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.32 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.45 ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้มาก ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น อุณหภูมิสูง ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ และเกษตกรประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ส่งเข้าโรงงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายของโรงงาน ประกอบกับโรงงานอุตสาหกรรมมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดขนมขบเคี้ยวที่เติบโตขึ้น จึงจำเป็นต้องนำเข้าผลผลิตบางส่วนจากต่างประเทศ  
                   2. จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บริษัทนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เป๊ปซี่ – โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ได้แจ้งความประสงค์ขอขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปสำหรับปี 2563 เพิ่มเติมอีก จำนวน 6,400 ตัน [บริษัท เป๊ปซี่ – โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 5,400 ตัน และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด จำนวน 1,000 ตัน]
                   3. คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบการขอขยายปริมาณโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2563 เพิ่มเติม จำนวน 6,400 ตัน กำหนดการบริหารการนำเข้าภายใต้เงื่อนไขของคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ทั้งนี้ การขยายปริมาณโควตาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในช่วงการปลูกมันฝรั่งนอกฤดู (เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม) ซึ่งผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตระหว่างผู้ประกอบการนำเข้ากับเกษตรกร โดยกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำตามที่คณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง กำหนด [ราคารับซื้อขั้นต่ำในฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท และในฤดูแล้ง (เดือนมกราคม – มิถุนายน) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท]
 
11. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ และให้ สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบแผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค และก่อสร้างทดแทนในพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ท่าอากาศยานดอนเมือง – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) และกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการดังกล่าว จำนวน 4,103.608 ล้านบาท เฉพาะส่วนที่หน่วยงานของรัฐเจ้าของสาธารณูปโภคต้องดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค) จำนวน 4,069.408 ล้านบาท หน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ) จำนวน 31.2 ล้านบาท และหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ค่ายลูกเสือวชิราวุธ) จำนวน 3 ล้านบาท 
                   ในส่วนแผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคและก่อสร้างทดแทนสาธารณูปโภคที่กีดขวางการก่อสร้างโครงการฯ ของหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงาน [บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย] และของเอกชนอื่น ๆ นั้น หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคและเอกชนเจ้าของสาธารณูปโภคจะดำเนินการรื้อย้ายและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง และเมื่อดำเนินการรื้อย้าย และ/หรือก่อสร้างทดแทนสาธารณูปโภคในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญา เพื่อเข้าดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป  
                   ทั้งนี้ สศช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการบริหารความเสี่ยงในขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการดำเนินโครงการ และควรกำกับและติดตามการดำเนินงาน และการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน นอกจากนี้ ในระหว่างขั้นตอนการรื้อย้าย และก่อสร้างสาธารณูปโภคทดแทนกลับ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนทั้งในด้านความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการดำเนินงานในบริเวณพื้นที่ และ สงป. มีความเห็นว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายฯ ในกรอบวงเงิน 4,103.608 ล้านบาท สงป. ได้เสนอตั้งงบฯ 64  ของ กรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง  และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเงิน 997.42 ล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวควรเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการรื้อย้ายฯ ให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบพื้นที่ฯ ด้วย
 
12.  เรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติ (วันรู้รักสามัคคี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สปน. เสนอรายงานว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติได้เคยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดให้วันที่ 2 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี (เป็นวันที่พบนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน) ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้มีวันสำคัญของชาติ คือ “วันรู้รักสามัคคี” และมีข้อสังเกตในการกำหนดวันใดเป็นวันสำคัญของชาติ ซึ่งควรจะต้องเป็นวันที่มีศูนย์รวมจิตใจของประชาชน และสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งในการประชุมฯ ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเป็นวันใด 
                   ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ กอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น) พิจารณากำหนดวันรู้รักสามัคคีให้เหมาะสมและได้ข้อยุติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
                   จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กอช. จึงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 1/2563  เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 โดยที่ประชุม กอช. มีความเห็นและมติที่ประชุมสรุปได้ ดังนี้
                   1. ความเห็นของ กอช. 
                   วันที่ 2 กรกฎาคม วันที่ 4 กรกฎาคม และวันที่ 10 กรกฎาคม 
                   - เป็นเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคี แต่ที่ผ่านมายังมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคี และในภายหน้าก็ย่อมจะมีเหตุการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคีเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้น การอ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีความหลากหลาย และยังไม่มีข้อยุติว่าสมควรเสนอวันใดเป็นวันรู้รักสามัคคี  
                    วันที่ 4 ธันวาคม
                   - เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณและน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่มีความตอนหนึ่งว่า “อีก 2 ปีข้างหน้าอาจจะมีวันของ “ความสามัคคี” หรือ “รู้รักสามัคคี” อีก 2 ปี ก็ไม่สายเกินไป ให้เป็น “วันรู้รักสามัคคี” แต่ระหว่างนี้ก็ต้องสามัคคีต่อไป เพื่อให้มีวันนั้นขึ้นได้ คือถ้าไม่ปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่มีวันข้างหน้า” ซึ่งเป็นแนวทางกำหนดให้มีวันรู้รักสามัคคีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสามัคคี รู้จักหน้าที่ และประสานส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติ   
                   - หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีคาถาที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงผูกขึ้นประจำตราแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความหมายว่า ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จ มีนัยสำคัญว่าความเป็นชาติต้องมีความสามัคคี ซึ่งวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ การกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี ก็จะสามารถลำดับและดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องให้ตระหนักถึงความสามัคคีนำไปสู่ความเป็นชาติ  
                   2. มติ กอช.
                   เห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
 
13. เรื่อง ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า) ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้  
                   1. ผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562)   
                             1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 
                             โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 5 โครงการ 
                                      1) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ได้เปิดให้บริการตลอดเส้นทางอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 
                                      2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ได้เปิดให้บริการแล้ว 5 สถานี ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562  คาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดทั้งสายภายในปีงบประมาณ 2564 
                                      3) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ ร้อยละ 46.88 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567
                                      4) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถแล้วเสร็จ ร้อยละ 40.72 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 
                                      5) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถแล้วเสร็จ ร้อยละ 40.34 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
                             โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 1 โครงการ 
                                       รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ ร้อยละ 15.35 (ตามแผน) ศึกษาและวิเคราะห์โครงการแล้วเสร็จ ร้อยละ 57.50 (ตามแผน) สถานะล่าสุด : อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดสายทางในรูปแบบ PPP Net Cost และศึกษาแนวทางการปรับเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2569  
                             โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 5 โครงการ 
                                      1) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 แล้วเสร็จ ร้อยละ 97.50 (ล่าช้ากว่าแผน) คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในเดือนพฤศจิกายน 2563  
                                      2) รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568
                                      3) รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ ร้อยละ 40 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570
                                      4) รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ ร้อยละ 32 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2568
                                      5) รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก การดำเนินกิจการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ ร้อยละ 50 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2569 
                             1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เฉลี่ย 324,706 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.66 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5) รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม เฉลี่ย 53,416 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14.77 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5) ทั้งนี้ ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 76.54 (เป้าหมายร้อยละ 69.35) และสายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 70.86 (เป้าหมายร้อยละ 63.50) 
                             1.3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,171.22 ล้านบาท โดยมีรายได้ 12,362.87 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวม 11,191.65 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุน ร้อยละ 99.99 (คณะรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 95) 
                             1.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงานร้อยละ 96.19 มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมายร้อยละ 95.83) เช่น มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรในระบบราง มีการพัฒนากระบวนการการบริหารอาคาร/ลานจอดรถผ่านนวัตกรรม และมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการก่อสร้าง การบริหารโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้างระบบรถไฟฟ้าและระบบราง 
                             1.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กร โดยมีผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เท่ากับ 88.96 คะแนน โดยผลประเมินอยู่ในลำดับที่ 3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค. 
                   2. นโยบายของคณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการ รฟม. ได้กำหนดนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานและเพื่อการกำกับดูแล จำนวน 9 ข้อ เช่น (1) ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม (2) ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผน และให้ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น (3) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานองค์กร และ (4) ให้สื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การดำเนินงานขององค์กร และให้การสนับสนุนองค์กร ฯลฯ 
                   3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต
                   การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จตามแผน ดังนี้                   
                             - อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ ระยะทางรวม 113.1 กิโลเมตร
                             - อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1 โครงการ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร 
                             - อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 5 โครงการ ระยะทางรวม 91.71 กิโลเมตร 
                   การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาบริการด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการโดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในระดับมาก-มากที่สุดต่อบริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่น ๆ ดังนี้ 
                             - สายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 70.35
                             - สายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 65
                             และมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 
                   การเงิน รฟม. มีแผนหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 202 ล้านบาท แบ่งเป็น
                             - สายเฉลิมรัชมงคล 165.42 ล้านบาท 
                             - สายฉลองรัชธรรม 36.59 ล้านบาท 
                             และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ร้อยละ 0.66 นอกจากนี้มีแผนที่จะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา 
                   การกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กร และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายให้มีผลการประเมิน ITA อยู่ที่ร้อยละ 92
                   4. คค. มีความเห็นว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปี 2562 อยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยสามารถผลักดันให้มีปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรมเป็นไปตามเป้าหมายและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการในปี 2563 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการขนส่งมวลชนทางรางทั้งระบบ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในภาพรวมคาดว่า รฟม. จะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้  
                   อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. ในปี 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) เร่งดำเนินการประกวดราคา/คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว (2) เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ และให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด (3) เร่งดำเนินการพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย ให้สามารถใช้งานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และ (4) การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาคให้ รฟม. ให้ความสำคัญสูงสุดกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
 
14. เรื่อง  รายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ  รายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                   ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 24 มีนาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ กฎระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 (มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) และกฎระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 (มาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมขอรายงานข้อเท็จจริงดังนี้
                   1) จำนวนผู้มายื่นขอใช้สิทธิกรณีว่างงานเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,028,334 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มีการคัดกรองกรณียื่นซ้ำและกรณีที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ออกแล้ว
                   2) กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายไปแล้ว จำนวน 568,604 ราย เป็นเงิน 3,046 ล้านบาท สำหรับผู้ประกันตนที่ยังเหลืออยู่จำนวน 459,730 รายนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ 313,445 ราย  และผู้ประกันตนที่ยังไม่มีหนังสือรับรองการหยุดงาน จำนวน 146,285 ราย ซึ่งได้มีการประสานติดตามนายจ้าง จำนวน 50,862 แห่ง พบว่า
                             (1) นายจ้างยังคงประกอบกิจการ และยังมีการจ่ายค่าจ้างตามปกติ จำนวน 3,029 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 23,129 ราย
                             (2) นายจ้างจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 1,066 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 14,455 ราย 
                             (3) นายจ้างยังไม่ได้รับรอง จำนวน 46,767 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 108,701 ราย  ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมต่าง ๆ ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ติดตามประสานงาน คาดว่าจะติดตามได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563
                   สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยส่วนที่เหลือ จำนวน 313,445 ราย ได้เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่วินิจฉัย เดิมมีจำนวน 600 คน เพิ่มเป็น 1,200 คน และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งวันหยุดเสาร์อาทิตย์และนอกเวลาราชการทุกวัน  ซึ่งได้สั่งการให้วินิจฉัยเพื่อให้มีการจ่ายเงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
                   อย่างไรก็ตาม  สำนักงานประกันสังคมเห็นประโยชน์ของลูกจ้างเป็นสำคัญและจะดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยจะแก้ไขปัญหาในส่วนของผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงินกรณีว่างงาน ให้ได้รับเงินอย่างถูกต้องและครบถ้วนโดยเร็วที่สุด
 
15. เรื่อง  รายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน – นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน – นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   สรุปข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จาก 134 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 94 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ สรุปข้อมูลได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (การปฏิบัติงานที่บ้าน)
    1) ส่วนราชการร้อยละ 100 (134 ส่วนราชการ) ที่รายงาน มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนราชการ ร้อยละ 60 (80 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา
                             2) กลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ปฏิบัติงานที่บ้าน คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีสถานที่พักอาศัยห่างไกลจากสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะในเดินทางไปกลับระหว่างสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ
                   2. การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                            1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานกรณีจำเป็นต้องปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน ช่วงเวลา 07.00 – 15.00 น. และ 07.30 – 15.30 น.
                            2) ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชนงานรักษาพยาบาล งานควบคุมผู้ต้องขัง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ งานควบคุมการจราจรทางน้ำ และลักษณะงานในตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น
                   3.  แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                             1) รูปแบบการลงเวลาปฏิบัติงานผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ Application LINE โปรแกรมระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคลระดับกรม (Departmental Personnel Information System - DPIS) หรือระบบโปรแกรมเฉพาะของส่วนราชการ
                             2) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหาร
ที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมายและให้มั่นใจว่าคุณภาพของการทำงานและการให้บริการไม่ลดลง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานล่วงหน้า และให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงาน
อย่างต่อเนื่องผ่าน Application LINE และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยร้อยละ 55 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายวัน และร้อยละ 45 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่มอบหมาย
                            3) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการส่วนใหญ่ใช้ Application LINE (ร้อยละ 48) Zoom (ร้อยละ 28) Microsoft Team (ร้อยละ 13) และ Cisco Webex (ร้อยละ 11) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ Tablet และ IPAD
                   4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งในระยะแรก ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีและ Application ในการปฏิบัติงาน ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ เป็นต้น
                   5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การพัฒนาระบบโปรแกรมกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เช่น ระบบงานสารบรรณ ระบบการประชุมออนไลน์ เป็นต้น และการจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งในกรณีการให้ข้าราชการปฏิบัติราชการ ในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ส่วนราชการจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การมีจุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การเตรียมหน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
                   6. การดำเนินการในระยะต่อไป
                             1) สำนักงาน ก.พ. ติดตามและรายงานเกี่ยวกับผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า จากการใช้แนวทางการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยอาจกำหนดตัวชี้วัดในเรื่องของ ความสำเร็จของงานตามเป้าหมาย การลดค่าใช้จ่ายสำนักงานเช่นด้านสาธารณูปโภค ความสามารถในการนำระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงาน การเรียนรู้และพัฒนาความสามารถ และความพึงพอใจในคุณภาพงาน คุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมในภาพรวมต่อไป
                             2) ส่วนราชการพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ หากเห็นว่า มีลักษณะงานบางอย่างที่สามารถปรับวิธีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการได้ ก็อาจกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้อย่างต่อเนื่อง  โดยคำนึงถึงมาตรฐานการทำงาน ทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ไม่มีสิ่งรบกวนการทำงาน หรือความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของทั้งข้อมูลการทำงานและตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย
                             สำหรับกรณีที่ลักษณะงานบางอย่างยังคงจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ส่วนราชการควรกำหนดแนวทางดำเนินการที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยตามมาตรการทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญกับ การจัดการจำนวนคนที่มาปฏิบัติงาน การจัดการระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดรูปแบบกิจกรรมหรือระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิสัมพันธ์กัน การจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนหรือทดแทนกำลังคน โดยสำนักงาน ก.พ. จะประสานงานและขอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรฐานแนวทางปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อไป
 
16. เรื่อง รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
                   คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
                   1. รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                   2. ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความสำคัญ ควบคุม กำกับดูแล หน่วยงานภายใต้สังกัดส่งรายงานการเงินของหน่วยงานภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนด หากไม่สามารถส่งรายงานการเงินให้กระทรวงการคลังได้ตามกำหนด ให้หน่วยงานรายงานเหตุผลหรือปัญหาอุปสรรคต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ
                   3. ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดควบคุม กำกับดูแล หน่วยงานภายใต้สังกัดจัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
                   4. ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการและแนวทางในการเร่งรัด ติดตามให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดส่งรายงานการเงินในปีต่อ ๆ ไป ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กค. ได้รวบรวมรายงานการเงินรวมภาครัฐ จำนวน 8,412 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,431 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 99.77 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน ทุนหมุนเวียน ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ จะไม่รวมรายงานการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ให้ กค. แยกรายงานการเงินของ ธปท. ออก เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากหนี้สินของ ธปท. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฐานะการคลังของประเทศ แต่ยังคงกำหนดให้รายงานการเงินของ ธปท. ต้องแสดงไว้ในรายงานการเงินรวมภาครัฐ เพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ  พ.ศ. 2561 โดยภาพรวมของรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สรุปได้ ดังนี้

รายการ จำนวน
(แสนล้านบาท)
รายละเอียด
สินทรัพย์ 296.14 เป็นสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ 89.17 แสนล้านบาท ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ 206.97 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุ 47.06 แสนล้านบาท เงินลงทุนภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) 22.47 แสนล้านบาท
หนี้สิน 205.86 เป็นหนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐ 80.13 แสนล้านบาท และเป็นของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ 125.73 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) 53.54 แสนล้านบาท
รายได้ 80.34 ส่วนใหญ่เป็นรายได้ภาษี 27.55 แสนล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 43.12 แสนล้านบาท (ร้อยละ 91 เป็นของรัฐวิสาหกิจ)
ค่าใช้จ่าย 76.19 เป็นต้นทุนขายสินค้าและบริการ 28.78 แสนล้านบาท (ร้อยละ 98 เป็นของรัฐวิสาหกิจ) รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 13.55 แสนล้านบาท (ร้อยละ 70 เป็นของหน่วยงานของรัฐ)

ทั้งนี้ สามารถจำแนกเป็นรายงานเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ และรายงานการเงินรวมของ อปท. สรุปได้ดังนี้
                             1.1 รายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
 

รายการ จำนวน
(แสนล้านบาท)
รายละเอียด
สินทรัพย์ 156.36 เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 64.24 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ 47.06 แสนล้านบาท) รองลงมาเป็นเงินลงทุนระยะยาว 44.76 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนภายใต้การดูแลของ สคร. 22.47 แสนล้านบาท)
หนี้สิน 81.87 เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 53.57 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สบน. 53.54 แสนล้านบาท) รองลงมาเป็นประมาณการหนี้สินระยะยาว 14.07 แสนล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นประมาณการหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของกองทุนประกันสังคม 13.98 แสนล้านบาท)
รายได้ 35.81 ส่วนใหญ่เป็นรายได้แผ่นดิน 25.19 แสนล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 33.84 เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 9.43 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน 7.52 แสนล้านบาท ค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ สาธารณูปโภค 6.03 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญ 2.94 แสนล้านบาท

                             1.2 รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ

รายการ จำนวน
(แสนล้านบาท)
รายะเอียด
สินทรัพย์ 158.07 รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ
- สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 91.29 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) 28.13 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารออมสิน 26.80 แสนล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 19.07 แสนล้านบาท
- หนี้สินรวมทั้งสิ้น 80.27 แสนล้านบาท ส่วนใหญเป็นของธนาคารกรุงไทยฯ 25.12 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารออมสิน 25.71 แสนล้านบาท และ ธ.ก.ส. 17.73 แสนล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุน 1 แห่ง คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีผลขาดทุน 0.0117 แสนล้านบาท
รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินของรัฐ
- สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 66.78 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) 24.19 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 9.23 แสนล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 6.44 แสนล้านบาท
- หนี้สินรวมทั้งสิ้น 45.77 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นของ ปตท. 11.30 แสนล้านบาท รองลงมาเป็น รฟท. 5.99 แสนล้านบาท และองค์การคลังสินค้า 5.92 แสนล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสูงสุด คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 0.19 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นองค์การคลังสินค้า 0.14 แสนล้านบาท
หนี้สิน 126.04
รายได้ 41.69
ค่าใช้จ่าย 38.57

                             1.3 รายงานการเงินรวมของ อปท.
 
 

รายการ จำนวน
(แสนล้านบาท)
รายละเอียด
สินทรัพย์ 7.51 ส่วนใหญ่เป็นเงินสดและเงินฝากธนาคาร 3.96 แสนล้านบาท เงินลงทุนระยะสั้น 1.95 แสนล้านบาท
หนี้สิน 1.82 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายค้างจ่าย 1.11 แสนล้านบาท โดยมีเงินสะสมของ อปท. 5.69 แสนล้านบาท ประกอบด้วย เงินสะสมที่สามารถนำไปใช้ได้ 2.78 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินสะสมส่วนของกรุงเทพมหานคร)
รายได้ 6.82 ส่วนใหญ่เป็นภาษีจัดสรรจากรัฐบาล 3.31 แสนล้านบาท เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2.82 แสนล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 6.10 ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน 1.60 แสนล้านบาท เป็นค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และครุภัณฑ์ 1.33 แสนล้านบาท

                   2. รายงานการเงินรวมของ ธปท.

รายการ จำนวน
(แสนล้านบาท)
รายละเอียด
สินทรัพย์ 77.13 สินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ 63.19 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นเงินสดและเงินฝาก 6.29 แสนล้านบาท
หนี้สิน 84.25 หนี้สินส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ ธปท. 49.62 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นธนบัตรออกใช้ (บัญชีทุนสำรองเงินตรา) 17.14 แสนล้านบาท
รายได้ 1.58 รายได้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยรับ 1.42 แสนล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 3.01 ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการชดเชยการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ 1.92 แสนล้านบาท

                   3. ผลการวิเคราะห์ที่สำคัญ ประกอบด้วย
                             3.1 หนี้สินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ 81.87 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 53.54 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 65.40) และประมาณการหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของกองทุนประกันสังคม 13.98 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 17.08) ดังนั้น จึงควรบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้กองทุนประกันสังคมเป็นหลักประกันที่มั่นคง
                             3.2 ค่าใช้จ่ายรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ 33.84 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 9.43 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 27.87) ทั้งนี้ ส่วนราชการควรปรับอัตรากำลังให้เหมาะสมและสอดคล้องกับโครงสร้างของส่วนราชการ
                   4. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ส่งข้อมูลรายงานการเงินภายในระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 70 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 67 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ จำนวน 27 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 หน่วยงาน และ อปท. จำนวน 37 หน่วยงาน และหน่วยงานของรัฐที่ไม่ส่งรายงานการเงิน จำนวน 19 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ จำนวน 4 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 หน่วยงาน และ อปท. จำนวน 11 หน่วยงาน
 
17. เรื่อง กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ
ที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2563 ตามที่
คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
                   สาระสำคัญของกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ
                   1. สรุปสถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
                      1.1 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                             ณ เดือนเมษายน 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกอย่างน้อย 3.348 ล้านคน กระจายตัวอยู่ใน 212 ประเทศและเขตปกครองตนเอง โดยการระบาดในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงมีแนวโน้มการระบาดอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการระบาดรุนแรงขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน และการป้องกันหรือห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ แม้ว่าบางประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการไปได้ แต่การเดินทางระหว่างประเทศก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
                      สำหรับประเทศไทย ภายหลังจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การจำกัดการเดินทาง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศและการงดกิจกรรมบางประเภท ทำให้สถานการณ์การระบาดในช่วงเดือนเมษายนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยเริ่มพบผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนได้เป็นลำดับ
                       1.2 ปัจจัยสำคัญที่ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 สรุปได้ดังนี้
                              1) ความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ปัจจัยที่จะยุติการระบาดในขณะนี้มีเพียงปัจจัยเดียว คือ การค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คาดว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไปโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ
                              2) แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก : จากการประมาณการของหน่วยงานระหว่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2563 คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มหดตัวประมาณร้อยละ 2 – 3 ในปี 2563 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้ว่าการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2563 จะขยายตัวในระดับร้อยละ 4.17 ก็ตาม ทำให้ทางเลือกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ของปี 2563 และในระยะถัดไป จึงมีอยู่อย่างจำกัด และจำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ  รวมทั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการลงทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก
                              3) การจ้างงานภายในประเทศ : การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานในสาขาการท่องเที่ยวและกิจการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่มีแรงงานกว่า 4 ล้านตำแหน่ง โดยในกรณีที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด แต่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจะขยายตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการไปสู่ภาคอุตสาหกรรม  
                       1.3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศ และการหดตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น
การหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก (Global Supply Chain Disruption) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย การขาดแคลนสินค้าจำเป็น (เวชภัณฑ์ ยา อาหาร) การเดินทางระหว่างประเทศ และวิถีชีวิตของประชาชนทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงการกลับมาสร้างความมั่นคงและขีดความสามารถในการรองรับวิกฤตของประเทศ ซึ่งจากวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ดังนี้
                              1) การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต จากเดิมที่ประเทศต่าง ๆ ได้ใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคการผลิตกระจายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนของสินค้าขั้นสุดท้าย คาดว่าจะมีการกระจายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตและอุตสาหกรรมบางประเภทที่เป็นความมั่นคงของประเทศ อาทิ ยา เวชภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะกลับไปผลิตภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนในช่วงวิกฤต และอาจมีการกำหนดมาตรการห้ามส่งออกสินค้าบางประเภทที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมากขึ้น และสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและความยืดหยุ่นในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถรองรับผลกระทบในกรณีที่เกิดวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
      2) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลจะเร่งตัวขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ และวิถีชีวิตของประชาชนที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้นทั้งในด้านการซื้อขายสินค้าและบริการ นันทนาการ การศึกษา และแม้กระทั่งรูปแบบการจ้างงานและวิธีการทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการหาความรู้และสร้างรายได้
      3) การเดินทางระหว่างประเทศภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 
คาดว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชน ประกอบกับประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะกำหนดมาตรการด้านสุขภาพของผู้ที่จะเดินทางระหว่างประเทศทั้งในส่วนของประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง เพื่อป้องกันการระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอาจเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ ซึ่งแม้ว่าจะสามารถค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แต่คาดว่าประเทศต่าง ๆ อาจจะไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรภายในประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น
                   1.4 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
                             จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาดและแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก  ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย  และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทำให้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐและความสามารถในการจัดหาทรัพยากรในการพยุงเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อรักษาการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้ จากแนวโน้มความปกติใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยประกอบการอย่างมีเหตุผล  พอประมาณและมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายในอันจะช่วยให้มีความสามารถในการต้านทานผลกระทบ (Resilient) จากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
               2. หลักการ
                   จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและข้อจำกัดของทางเลือกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำนักงานฯ เห็นควรกำหนดหลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ ในระยะต่อไป ดังนี้
                   2.1 มุ่งเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบและมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศในช่วงหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร Bio- Economy การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพและโอกาส 
                   2.2 มุ่งเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพสามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

  1. มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการและการลงทุน

                   2.4 มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ
                3. แนวทางการดำเนินการ
การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นเศรษฐกิจและสังคมภายใต้บัญชีท้ายพระราชกำหนดมีวัตถุประสงค์ในการพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดในประเทศและในระดับโลกยังมีความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาด และยังคงมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจเกิดการระบาดซ้ำ ดังนั้น การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดควรต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
                   3.1 ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน 
                   3.2 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้สามารถรองรับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล  ระบบโลจิสติกส์
                   3.3 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเชิงปริมาณไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น
                   3.4 สร้างระบบการเรียนรู้สำหรับประชาชนในการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
               4. กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท
                   4.1 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชน เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นิสิตนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการเรียนและผู้ที่จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แรงงานในระบบและนอกระบบ และผู้ว่างงาน
                   4.2 หลักเกณฑ์ของโครงการที่เข้าข่ายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
1) โครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ
2) การดำเนินโครงการที่ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ (Effectiveness) ประสิทธิผล (Efficiency) การตอบสนองความต้องการ (Responsiveness) ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งในระดับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย(Equity) ความยั่งยืนของการดำเนินการ (Sustainability) ความโปร่งใส (Transparency) การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นและการตรวจสอบได้ (Accountability) โดยจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง   
                   นอกจากนี้ยังอาจต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
3) โครงการที่สามารถสร้างการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของชุมชนกับตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ
4) โครงการที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในสาขาการผลิต การบริการที่ยังคงมีความได้เปรียบและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีโอกาสในการเติบโตในช่วงหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยพิจารณานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน
5) โครงการที่สามารถกระตุ้นการบริโภค และการผลิตภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2563
6) โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศ
 
                    4.3 ขอบเขตแผนงาน/โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
                        แผนงาน/โครงการที่จะขอรับการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักการในข้อ 2 และแนวทางตามข้อ 3 รวมทั้งส่งผลต่อการปรับโครงสร้างให้สามารถตอบสนองความปกติใหม่ (New Normal) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีขอบเขตแผนงาน/โครงการ ดังนี้
1) แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ :
                              1.1) ภาคเกษตรกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ โดย
          - ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต วางระบบกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและความปลอดภัย
          - ปรับระบบการทำการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีศักยภาพปรับรูปแบบการทำการเกษตรไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะและเชื่อมโยงการผลิตภาคการเกษตรให้สามารถเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำในกระบวนการผลิต เพื่อปรับระบบการผลิตสู่เกษตรสมัยใหม่ ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศเป็นหลัก
          - สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า Premium และความหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถค้าขายออนไลน์ผ่านตลาด e-Commerce ทั้งที่เป็น e-Marketplace หรือ Social Commerce ด้วยต้นทุนการขนส่งและการตลาดที่แข่งขันได้
                              1.2) ภาคอุตสาหกรรม การค้า/การลงทุน :ฟื้นฟูอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ขยายการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ (Testing Center) ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ
                              1.3) ภาคท่องเที่ยวและบริการ : มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Responsible Tourism) อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมาตรฐานด้านสาธารณสุขและด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว  สร้างและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการ และฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการให้บริการให้มีความพร้อมในการให้บริการ
                              ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฯ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อาจกำหนดให้มีรูปแบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 
2) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน : ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชน โดย
                              2.1)  พัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน ได้แก่ การปรับปรุง ส่งเสริมเกษตรกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง/เกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรรายย่อย และพัฒนาสินค้าชุมชน (OTOP) การท่องเที่ยวชุมชน และบริการที่เกี่ยวเนื่องบนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการใช้นวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษา รวมถึงการรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้อย่างยั่งยืน
2.2)   พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่งเสริมพัฒนาการตลาดตามแนวทางความปกติใหม่ (New Normal) ที่มีการรักษาระยะห่าง การรักษาความสะอาด และการป้องกันโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการเปิดตลาดสู่ภายนอกโดยใช้ระบบการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)
2.3)   พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมสาธารณประโยชน์ระดับชุมชน ได้แก่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างแรงงาน
2.4)   ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยให้หน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษาสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและชุมชน
2.5)   เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยดึงดูดคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการที่มีความรู้และศักยภาพกลับคืนถิ่นเพื่อไปประกอบกิจการในท้องถิ่นของตนเอง
ทั้งนี้  การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการที่จะก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพ
ในท้องถิ่นและชุมชนในระยะยาว โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจระดับชุมชนและก่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ชนบทได้อย่างยั่งยืน
                             3) แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน: จัดทำมาตรการด้านภาษีและหรือมิใช่ภาษี  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อย การใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลักและการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงหลังจากสถานการณ์การระบาดยุติแล้ว
                             4) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อ
การพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
 : มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การผลิตและการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้ดำเนินการในข้อ 1) และข้อ 2) ให้เป็นไปอย่างสะดวก ปลอดภัย มีมาตรฐานบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ได้แก่
                                      4.1) การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน โดยการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก น้ำบาดาลที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยภาคการเกษตรให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูกแล้ว ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปในพื้นที่ต่าง ๆ และจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศเพื่อรองรับในกรณีภัยแล้ง และอุทกภัยในอนาคตได้ด้วย
                                      4.2) การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์  โดย
                  - การพัฒนา/ปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมในรูปแบบต่างๆ
ให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชน/ท้องถิ่นสู่ประตูการค้าหรือจุดต้นทางการเดินทาง
ที่สำคัญของประเทศได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีต้นทุนลดลง
                  - การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม
                                      4.3) การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศในลักษณะบูรณาการ ทั้งในส่วนของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนทั้งในระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน  ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงรองรับการประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและภาคบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร  5G  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในอนาคต ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของทุกภาคส่วน ครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ภายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ  เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของชุมชน 
 
18. เรื่อง ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
                   2. เห็นชอบการปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... และข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
                   3. มอบหมายให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปเปิดเผยในเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) และจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... และเอกสารประกอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
โดยการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2563 มีผู้เข้าชมจำนวน 9,150 ครั้ง มีผู้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย จำนวน 123 ความคิดเห็น คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐด้วยแล้ว
                   2. การปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                       2.1 จากผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ 1 ประกอบกับผลการตรวจสอบรายละเอียดการโอนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็น กรณีงบประมาณของหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานในกำกับของรัฐ ทุนหมุนเวียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและได้เบิกจ่ายเงินจากคลังไปเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือเป็นรายได้ของหน่วยรับงบประมาณแล้ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่า ถ้าหน่วยงานดังกล่าวสมัครใจส่งคืนเงินที่ได้เบิกจ่ายจากคลังแล้วภายในปีงบประมาณเดียวกันกับปีงบประมาณที่เบิกจ่ายเงินจากคลังในลักษณะของเงินเบิกเกินส่งคืน ก็อาจนำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย
พ.ศ. .... ได้ ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดไม่สามารถโอนงบประมาณที่มิได้เป็นการคืนเงินในลักษณะของการเบิกเกินส่งคืนได้
                   ในชั้นนี้ สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 11,942.4021 ล้านบาท จากผลการพิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 จำนวน 100,395 ล้านบาท เป็นจำนวน 88,452.5979 ล้นบาท เพื่อไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
                       2.2 การปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบประมาณดังกล่าวมีผลให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ .... จำแนกตามงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ (Function) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน และงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563
                   3. ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....
                       สำนักงบประมาณได้จัดทำข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ให้เป็นไปตามข้อเสนอการโอนงบประมาณที่ปรับปรุงแล้วตามข้อ 2 โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐที่นำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... และงบประมาณที่ได้รับจากการโอนและนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จะมีผลต่อสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ประกอบกับสำนักงบประมาณได้ขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี และได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ให้มีความเหมาะสมตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
 
19. เรื่อง การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
                   2. ให้สำนักงบประมาณนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่ได้ปรับปรุงรายละเอียดแล้ว ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
                   3. เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำขอปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด รวมทั้งสิ้น 51,861.5 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้พิจารณารายละเอียดการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้เป็นไปตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 แล้วเห็นสมควรปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 40,325.6 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวอยู่ภายในวงเงินรวมของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงินทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท โดยมีหน่วยรับงบประมาณที่มีการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณจำนวนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 9,517.5 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม จำนวน 8,112.8 ล้านบาท ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี จำนวน 3,320.1 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2,720.2 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 2,117.9 ล้านบาท
                   จากการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) มีผลให้โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตลอดจนงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามกลุ่มงบประมาณ และจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 และวันที่ 24 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว
                   2. การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   เนื่องจากการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่มีผลกระทบต่อวงเงินรวมของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แต่มีผลกระทบต่อโครงสร้างงบประมาณและวงเงินงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณจากที่เคยได้รับฟังความคิดเห็นไว้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม – 8 เมษายน 2563 ดังนั้น จึงเห็นสมควรนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ได้ปรับปรุงรายละเอียด เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามข้อเสนอดังกล่าว ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ตามนัยมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งจะทำให้สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้เร็วขึ้น
                   ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงเห็นสมควรปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในส่วนที่จะต้องดำเนินการต่อไป ดังนี้
                             2.1 กระบวนการจัดทำงบประมาณ มีขั้นตอนและกิจกรรม ดังนี้
                                      1) การรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ     พ.ศ. 2564 ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2563 และคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563
                                      2) การจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2564 และเอกสารประกอบ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2563 และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเอกสารประกอบงบประมาณ ในวันอังคารที่ 16 มิถุนายน 2563
                             2.2 กระบวนการอนุมัติงบประมาณ มีขั้นตอนและกิจกรรม ดังนี้
                                      1) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2563 (โดยประมาณ)
                                      2) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วาระที่ 2 - 3 ระหว่างวันที่ 16 – 17 กันยายน 2563 (โดยประมาณ)
                                      3) วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่างวันที่ 21 – 22 กันยายน 2563 (โดยประมาณ)
                                      4) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันอังคารที่ 29 กันยายน 2563 (โดยประมาณ) เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 

ต่างประเทศ

20. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ การค้าและการพัฒนาแห่งประเทศแคนาดากับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ การค้าและการพัฒนาแห่งประเทศแคนาดา (ฝ่ายแคนาดา) กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ
กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจจากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ การค้า และการพัฒนาแห่งประเทศแคนาดากับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการให้บริการและฝึกอบรมในแบบการพัฒนาหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีที่ยั่งยืนและได้รับการรับรอง ซึ่งจะเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยของวัตถุนิวเคลียร์และรังสีในสถานประกอบการ เช่น เครื่องฉายรังสีต่าง ๆ ในโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุโจรกรรมวัตถุดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปผลิตอาวุธ เช่น ระเบิดกัมมันตรังสี (Dirty Bomb) ได้ โดยฝ่ายแคนาดาจะจัดหาความเชี่ยวชาญทางวิชาการให้แก่ ปส. เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในการพัฒนาโครงการฝึกอบรมในรูปแบบไม่เป็นตัวเงินและแบบให้เปล่ามูลค่าสูงสุด 1,200,000 ดอลลาร์แคนาดา (27,708,000 บาท) โดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นภายในวันที่  30 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดภายในระยะเวลา 2 ปี
 
21. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for The Changing World of Work)กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558  และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย รับรองร่างปฏิญญาอาเซียน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ร่างปฏิญญาอาเซียน ฯ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยให้ความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกของงานอันมีสาเหตุจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกระแสการส่งเสริมงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อกำลังแรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอนาคตของงานได้ ซึ่งมาตรการสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน
                   1) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย  บ่มเพาะวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างความตระหนักแก่แรงงานเยาวชนและนายจ้างถึงความสำคัญของการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อปรับตัวต่อโลกแห่งการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง รวมถึงการศึกษาและการฝึกอบรม
                   2) การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโอกาสการจ้างงานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ  ปรับปรุงการศึกษาและการจ้างงานที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของการฝึกอบรมทักษะฝีมือ ตลอดจนโอกาสในการมีงานทำสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง
                   3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  สร้างความพยายามที่จะมีกรอบแผนงานเชิงนโยบายที่ชัดเจนในระดับชาติ และ/หรือแผนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงนโยบายที่มีความสอดคล้อง และให้เกิดความตระหนักในประเด็นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คาบเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษา การฝึกอบรม และตลาดแรงงาน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม
                   4) การเพิ่มบทบาทของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการฝึกงาน เพื่อมุ่งสู่โอกาสในการมีงานทำที่ดีกว่า ความสามารถในการทำงาน รายได้ที่สูงขึ้น ความมั่นคงในการทำงาน คุณภาพของงาน และความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องและอยู่ภายใต้กรอบแผนงานของแต่ละประเทศสมาชิก
                   5) การส่งเสริมนโยบายและข้อริเริ่มเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่รวมขั้นตอนหลักของการศึกษาและการฝึกอบรมไว้ด้วยกัน [เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Technical Vocational Education and Training: TVET) อุดมศึกษา] และการพัฒนาทักษะฝีมือในองค์กรต่างๆ เพื่อให้มีทักษะฝีมือที่จำเป็นในปัจจุบันและในอนาคต และมีการเคลื่อนย้ายด้านอาชีพและการพัฒนาสายงานอาชีพ
                   6) การเสริมสร้างความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน   สร้างแรงจูงใจและยอมรับทรัพยากรที่เอกชนได้ลงทุนไปในการฝึกอบรมทักษะฝีมือ การฝึกงาน และการฝึกหัดอาชีพ
                   7) การส่งเสริมการใช้ TVET  อธิบายให้เห็นถึงโอกาสที่ดีและการมีงานทำ การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนไปยังการทำงาน ความก้าวหน้าในสายงานอาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาด้าน TVET  ให้การสนับสนุนผู้หญิง เด็กผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพื่อการเข้าสู่สายงาน TVET ในรูปแบบใหม่ ส่งเสริมมาตรฐานสมรรถนะ TVET  และการรับรองที่สอดคล้องกันในประเทศสมาชิกอาเซียน
                   8) การส่งเสริมอุปสงค์ที่มีสมรรถนะและคุณลักษณะขับเคลื่อนใน TVET และอุดมศึกษา กำหนดหลักสูตรและการประเมิน และการจ้างบุคลากรมีคุณภาพด้านการสอนโดยมีงานวิจัยที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ก้าวไกลที่จะตอบสนองความต้องการด้านตลาดแรงงานซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
                   9) การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดแรงงานและการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวตามความเหมาะสม เพื่อมุ่งสู่ระบบข้อมูลข่าวสารด้านตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและมีการเชื่อมโยงกัน รวมถึงคาดการณ์ล่วงหน้าในเรื่องทักษะฝีมือเพื่อส่งเสริมความสามารถของรัฐบาล สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
                   10) การส่งเสริมการพัฒนาสาธารณูปโภค  เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4
                   การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย
                   11) การเสริมสร้าง/จัดตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสาขาการศึกษาการฝึกอบรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการบริหารด้านแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงความสอดคล้องทางนโยบายในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคาบเกี่ยวกัน
                   12) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการอาชีวศึกษา (ASEAN TVET Council: ATC) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการประสานงาน ศึกษาวิจัย และการพัฒนาด้านวัตกรรม รวมถึงการติดตามแผนงานระดับภูมิภาคที่จะสนับสนุนความก้าวหน้าด้าน TVET ในภูมิภาค
                   13) การสำรวจจัดตั้งกองทุนรวมที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และหุ้นส่วนอื่นๆ  เพื่อสนับสนุนสิ่งที่สำคัญและงานวิจัยเกี่ยวกับทักษะฝีมือที่จำเป็นในอนาคต
                   14) การเสริมสร้าง ร่วมมือ ประสานงานกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ ภาคเอกชน นักวิชาการ หุ้นส่วนไตรภาคี และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อสนับสนุนวิธีการที่สอดคล้องกันและครอบคลุมในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                   15) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนนอกอาเซียน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนต้นแบบ แนวปฏิบัติที่ดี และประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโลกการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง
 
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบการจัดทำโครงการและลงนามหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) ดำเนินโครงการ Application of Industry – urban Symbiosis and Green Chemistry for Low Emission and Persistent Organic Pollutants free Industrial Development in Thailand (โครงการการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน) และเห็นชอบต่อร่างหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการฯ กับ UNIDO โดยเห็นชอบให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนามหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการฯ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมมือกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการ Application of Industry – urban Symbiosis and Green Chemistry for Low Emission and Persistent Organic Pollutants free Industrial Development in Thailand เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) รวมถึงการปล่อยสารมลพิษ ที่ตกค้างยาวนาน (Persistent  Organic  Pollutant : POPs) และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง โดยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันคือ  การใช้ผลิตผลหรือผลพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมหนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอื่นหรือชุมชนใกล้เคียง   โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนามหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้การรับรองข้อเสนอโครงการดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 แล้ว และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกสิ่งแวดล้อมโลกได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ในรูปแบบเงินสด (In cash) จำนวน 8.966 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 273 ล้านบาท โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 30 บาท) โดยรวมเข้ากับงบประมาณสนับสนุน   (Co-Financing ) จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,840 ล้านบาท)
                   สาระสำคัญของโครงการ
                   วัตถุประสงค์    
                   เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย จากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง โดยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (การเอื้อประโยชน์ร่วมกันคือ การใช้ผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอื่น หรือชุมชนใกล้เคียง)
                   ระยะเวลาโครงการ       
                   กำหนดจะเริ่มดำเนินโครงการฯ ในเดือนพฤษภาคม 2563 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2563-2567)
                   หน่วยงานรับผิดชอบ     
                   กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลดำเนินโครงการฯ ในภาพรวม และ UNIDO จะทำหน้าที่หน่วยบริหารโครงการและสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
                   เป้าหมายโครงการฯ      
                   ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และลดสารพิษที่ตกค้างยาวนาน จำนวน 620 ตัน (ภายใน 5 ปี)
                   การดำเนินโครงการ  ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) กรอบนโยบายและกฎหมาย 2) การเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศและ การเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน 3) กิจกรรมสาธิตการประยุกต์ใช้แนวทางการผลิตที่สะอาดการบริหารจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานชนิดใหม่ และการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน 4) การพัฒนากรอบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศและระบบสนับสนุน 5) การติดตามและประเมินผล
                   ตัวชี้วัดและเป้าหมายของโครงการฯ       
                   เช่น 1) จำนวนมาตรการ แนวปฏิบัติด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการบริหารจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานชนิดใหม่ และ 2) เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และลดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน จำนวน 620 ตัน และมีการายงานผลโครงการตามกำหนดเวลา
                   ค่าใช้จ่ายและแหล่งเงิน
                   แหล่งเงิน กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกสนับสนุน 8.966 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 273 ล้านบาท) และฝ่ายไทยร่วมสมทบงบประมาณสนับสนุน (Co-Financing) จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทส. (กรมควบคุมมลพิษ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ (หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการผ่านภารกิจปกติที่มีการตั้งงบประมาณประจำปีของหน่วยงานรองรับไว้แล้ว) 120.000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,655 ล้านบาท)
 
23. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามร่างความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า”
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ASEAN Regional Integration Support from the EU หรือ ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า” กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) และอนุมัติให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ร่างความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ASEAN Regional Integration Support from the EU หรือ ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า” เป็นการระบุวัตถุประสงค์ หลักการและเหตุผลของโครงการ กลไกในการกำกับดูแลโครงการ และหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างคู่ภาคีสัญญา เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ARISE Plus – Thailand ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า ซึ่งเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างการพัฒนาเฉพาะรายประเทศเพิ่มเติมจากโครงการ ARISE Plus เพื่อยกระดับความเข้มแข็งของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านการแข่งขันทางการค้าให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ดีของสากล พัฒนาสมรรถภาพของกรมบัญชีกลางในการบริหารแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรปในไทยและในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ โดยมีงบประมาณในการดำเนินการ 3 ล้านยูโร (ประมาณ 100 ล้านบาท) ซึ่งสหภาพยุโรปมอบหมายให้ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา (International Trade Center – ITC) เป็นผู้ดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าโครงการดังกล่าวจัดเป็นความช่วยเหลือทางวิชาการแบบให้เปล่า
 

แต่งตั้ง

24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายพรเอก อภิพันธุ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม) 

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 2 ราย ดังนี้ 
                   1. นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   2. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้   
                   1. รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศึกษาธิการภาค 2 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ 
                   2. นายนรา เหล่าวิชยา รองศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ 
                   3. นายธนู ขวัญเดช รองศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานศึกษาธิการภาค 2 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศึกษาธิการภาค 10 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 
 
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา แทนตำแหน่งที่ว่าง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายภัทระ คำพิทักษ์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่  129/2563 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                   ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจ ให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ   ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 และคำสั่งที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ
รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นั้น
                   เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ดังนี้
                   1 ให้ยกเลิกข้อ 1.1.5 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562
                   2. ให้ยกเลิกข้อ 2.2.1 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562
                   3. เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ข้อ 1.2.5 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562
                         “1.2.5 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
                             ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
 

.........
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: