12 ก.ค.ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน สะสม 3,217 คน หายสะสม 3,088 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1874 ครั้ง

12 ก.ค.ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน สะสม 3,217 คน หายสะสม 3,088 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน

12 ก.ค. 2563 ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,217 คน รวมรักษาหายสะสม 3,088 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน - ต.ค.นี้ไทยเตรียมทดสอบวัคซีน COVID-19 เข็มแรกในคน - 'นิด้า-บ้านสมเด็จโพล' เผยคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเข้าไทย หวั่นเกิดโควิดรอบ 2

12 ก.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดคงอยู่ที่ 3,217 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 280 ราย โดยในประเทศไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 48 วันแล้ว

สำหรับวันนี้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,088 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1 ราย เดินทางมาจากญี่ปุ่น และเข้า State Quarantine ที่กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. และตรวจหาเชื้อในวันที่ 10 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

จำนวนผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา ดังนี้ กรุงเทพมหานคร 1,783 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 484 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคใต้ 744 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 12,842,036 ราย อาการรุนแรง 58,832 ราย รักษาหายแล้ว 7,478,180 ราย เสียชีวิต 567,649 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 3,355,646 ราย 2. บราซิล จำนวน 1,840,812 ราย 3. อินเดีย จำนวน 850,358 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 720,547 ราย 5. เปรู จำนวน 322,710 ราย สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 100 จำนวน 3,217 ราย

ต.ค.นี้ไทยเตรียมทดสอบวัคซีน COVID-19 เข็มแรกในคน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์ข้อความ ผ่านเฟสบุ๊ค ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ระบุว่า

ข่าวดีครับ หลังทดสอบวัคซีนเข็มที่สอง สร้างภูมิคุ้มกันต่อ COVID–19 ได้ระดับสูง เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ เปิดรับอาสาสมัคร เดือนส.ค.–ก.ย.นี้ ก่อนทดสอบเข็มแรกเดือน ต.ค.นี้

โดยระบุว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนัก งานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าผลการทดสอบวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทยโดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง หลังจากเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสามารถวัคซีนได้ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ และลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน โดยหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปแล้วสองสัปดาห์

“นักวิจัยได้เจาะเลือดลิงมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีชนิดที่ยับยั้งเชื้อหรือ Neutralizing antibody ถือเป็นข่าวดีมากที่พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ดังนั้นจึงได้ตกลงเดินหน้าต่อไปตามแผนที่จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้”

สำหรับการดำเนินการต่อไปนั้น จะดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกันเพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งจะเริ่มสั่งการผลิตวัคซีนในสัปดาห์หน้าเพื่อจะใช้ในการทดสอบในมนุษย์ โดยจะเริ่มรับอาสาสมัครในเดือน ส.ค.-ก.ย. และจะฉีดเข็มแรกในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้ การทดสอบนั้นจะทำทั้งหมด 3 ระยะ รวมทั้งจะเตรียมการผลิตให้เพียงพอและเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยประสานกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีความพร้อมที่จะผลิตให้พร้อมใช้ รวมทั้งร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีกับต่างประเทศด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนอย่างมากและได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ท่านได้มอบนโยบายเพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรกๆ เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยมอบให้ อว. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมการผลิตให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะนี้ ยังได้เจรจาหารือกับต่างประเทศในการร่วมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิตไว้ด้วยแล้วครับ

สำหรับรายละเอียด การวางแผนในการผลิต เพื่อทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนในการผลิตในประเทศเพื่อใช้ให้เพียงพอในประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะแถลงละเอียดในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.นี้ เวลา 9.00 น ที่ตึกภูมิสิริ ชั้น 12 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รอติดตามข่าวกันนะครับ

ชี้ต้องทดสอบในคน 3 ระยะ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.พัฒนาวัคซีน COVID-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า หลังคณะวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ชนิด mRNA ให้กับลิงทดลองเข็มที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ถึงวันนี้เกิน 14 วันแล้ว โดยผลอย่างเป็นทางการทางการจะออกวันที่ 13 ก.ค.นี้

“โดยผลของวัคซีนเข็มที่ 2 จะเป็นตัวตัดสินว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร หากให้ผลที่ดีพอ ก็จะส่งโรงงานผลิตเพื่อทดลองในคนต่อไป”

แต่หากยังให้ผลที่ไม่ดีพอก็จะต้องมาดูว่าจะมีการปรับอะไร แต่ในการปรับใหม่ไม่ต้องมาทดลองในลิงแล้ว แค่ทดลองกับหนูทดลองก็เพียงพอ เพราะทีมมีองค์ความรู้พอสมควรแล้ว คู่ขนานกัน เพื่อให้ได้วัคซีนรวดเร็ว จะมีการเริ่มสั่งผลิตวัคซีนที่ใช้ในการทดสอบกับมนุษย์ในสัปดาห์หน้า และจะเริ่มรับอาสาสมัครในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จะฉีดเข็มแรกในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งต้องทดสอบทั้งหมด 3 ระยะ

'นิด้าโพล' เผยคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเข้าไทย-หวั่นเกิดโควิดรอบ 2

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 – 8 กรกฎาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด - 19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ (โครงการ Medical and Wellness Program) พบว่า ร้อยละ 23.10 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ร้อยละ 21.58 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประเทศไทยมีมาตรการที่ดีในการควบคุมโรคโควิด – 19 เป็นการแสดงศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ทั่วโลกได้เห็น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 13.91 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ไม่เชื่อว่าปลอดภัย กลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย และสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามา ถึงแม้จะมีใบรับรองก็ตาม และร้อยละ 41.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะคนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็ติดโรคและรักษาตัวอยู่เยอะมากแล้ว และกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดโควิด – 19 รอบ 2 ได้

ด้านการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด – 19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ (โครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่) พบว่า ร้อยละ 24.14 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู การท่องเที่ยวในไทยให้มีรายได้เหมือนเดิม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 23.26 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ มั่นใจการรักษาของแพทย์ในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และมีเงินหมุนเวียนเข้าประเทศทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ร้อยละ 14.55 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวเกิดการแพร่ระบาด โรคโควิด - 19 รอบ 2 ขึ้น เนื่องจากโรคโควิด – 19 มักมาจากต่างชาติ ร้อยละ 37.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้โรคโควิด – 19 หมดไปก่อน 100% ถึงแม้จะมีการกักตัว 14 วัน ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดโรคโควิด – 19 ขึ้น กลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) ที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ พบว่า ร้อยละ 25.90 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ด้านการบินจะได้ไม่หยุดชะงัก และประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ร้อยละ 28.46 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ มีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวที่มาอยากให้จัดเป็นกลุ่มเพื่อการดูแลและควบคุมได้ง่าย, ร้อยละ 14.95 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ กลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น เนื่องจากกว่าจะแสดงอาการค่อนข้างมีเวลานาน และไม่เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวที่มาจะปลอดภัยจากโควิด – 19 จริง ร้อยละ 29.65 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ไม่เชื่อมั่นในตัวนักท่องเที่ยวถึงจะเป็นประเทศปลอดเชื้อก็ตาม กลัวนำโรคเข้ามาในไทย และทำให้เกิดการแพร่ระบาดในไทยรอบ 2 ได้ และร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ภายในประเทศได้ หากมีการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ตามโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ พบว่า ร้อยละ 15.43 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะ มั่นใจการทำการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยได้ และการแพทย์ของไทยมีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 23.90 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ ดูจากผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลว่าสามารถควบคุมได้ และรัฐบาลน่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมไม่ให้โควิด – 19 ระบาดในไทยรอบ 2 ร้อยละ 30.53 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ กลัวคนต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเอง และยังไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดรอบ 2 ในไทยได้ ร้อยละ 29.10 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะ ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในไทยได้ เนื่องจากควบคุมได้ยาก และมาตรการของรัฐบาลยังไม่มีความเข้มงวดที่ดีพอ และร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

บ้านสมเด็จโพลระบุคน กทม. 61 % ไม่เห็นด้วยให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 57.7 % คิดว่า พรก. ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,123 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร มี 6 สถานที่ที่มีการผ่อนปรนเพิ่มเติม ได้แก่โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรณีห้องปรับอากาศให้คิดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ห้อง เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน ในส่วนชองห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติของสถานที่นั้น ๆ ขยายเวลาจากเดิมแต่ต้องไม่เกินเวลา 22.00 น. ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป ภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม สามารถเปิดให้บริการหลังเวลา 24.00 น. ได้ แต่งดบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายใน สถานที่ที่ให้บริการหลังเวลา 24.00 น. และสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด โรงน้ำชา ผ่อนผันให้เปิดดำเนินการได้โดยเปิดทำการตามเวลาปกติที่กฎหมายกำหนดจนถึงเวลา 24.00 น. ของวันเดียวกัน และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้านร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดช่วงเวลาดำเนินการ โดยทุกกิจกรรมที่มีการผ่อนปรนให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ ซึ่งการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากการผ่อนปรน และความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หรือ ศบค. ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะไม่เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 53.1 มีความรู้สึกปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 63.2 และจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองหลังจากการมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ร้อยละ 53.1

โดยเห็นด้วยกับการยกเลิกการห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว) ร้อยละ 74.9 และคิดว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความจำเป็นในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร้อยละ 57.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) พึงพอใจมาก ร้อยละ 41.9 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 53.8 และพึงพอใจน้อย ร้อยละ 4.3

ในส่วนของความพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลในช่วงที่เกิดการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พึงพอใจมาก ร้อยละ 26.4 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 55.4 และพึงพอใจน้อย ร้อยละ 18.2

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 80.6 และไม่เห็นด้วยหรือไม่กับการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ร้อยละ 61

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ [1] [2] | Thai PBS



ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: