พบ 1 ใน 4 ของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะยากจน ถูกกระทำความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4930 ครั้ง

พบ 1 ใน 4 ของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะยากจน ถูกกระทำความรุนแรง

ผลสำรวจเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ ที่อยู่ในภาวะยากจน 400 คน ใน 4 จังหวัด พบถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ถึง 25% หรือประมาณ 100 คน ส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือมายังศูนย์พักพิง และศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต | ที่มาภาพประกอบ: ryan melaugh (CC BY 2.0)

เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2563 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี เปิดผลสำรวจจำนวนเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ ที่อยู่ในภาวะยากจน 400 คน ใน 4 จังหวัด โดยใช้เกณฑ์เด็กที่ถูกละเลยทางอารมณ์ ละเลยทางร่างกาย ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน พบมีถึงร้อยละ 25 หรือประมาณ 100 คน ส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือมายังศูนย์พักพิง และศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต

ปัญหาความรุนแรงในเด็กปฐมวัย ยังถูกนำมาสะท้อนบนเวทีเสวนา “การเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง” โดย ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ กุมารแพทย์ ด้านการพัฒนาเด็ก เปิดเผยข้อมูลว่า เด็กวัย 0-6 ขวบ ช่วงนี้ เซลล์เชื่อมต่อประสาทกำลังทำงานอย่างเต็มที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองช้า ระบบหัวใจ ติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเทียบกับเด็กปกติ การเยียวยาในช่วงนี้ผู้ปกครองควรดึงเด็กออกจากความขัดแย้ง และให้เวลาในการอยู่กับลูกจนกว่าอาการตื่นกลัวจะค่อย ๆ ลดลง

อีกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต ก็คือระบบห้องเรียนของเด็กปฐมวัย ที่เน้นวิชาการมากกว่าการเพิ่มพูนทักษะที่ไม่สอดคล้องกับวัย เมื่อสอนแล้วเด็กทำตามได้ช้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง และส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ที่รับบการศึกษาอาจจะต้องมีการทบทวนด้วยหลังจากนี้

“การสอนในระดับปฐมวัยในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางวิชาการ คุณครูจะบอกว่าจบจากที่นี่จะไปสอบเข้าที่นั่นที่นี่ได้ เรียนอนุบาลจะต้องบวกเลขได้ เขียนหนังสือได้ แบบนี้จะไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัยเท่าไหร่ ควรจะจัดการศึกษาแบบบูรณาการ คือเน้นการเล่น การลงมือทำ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ร่วมกัน การฝึกในชีวิตประจำวัน เพราะว่าพื้นฐานของสมองเด็กปฐมวัยต้องการการพัฒนาที่เป็นองค์รวม และเด็กที่เตรียมแบบนี้พอไปถึงชั้น ป.1 เขาจะไปได้ไกลกว่า เพราะพื้นฐานของสมองเขามีความแข็งแรง”

สอดคล้องกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี ที่ระบุว่า สังคมกำลังตีค่าของคำว่า “ลงทุนกับการศึกษา” ผิด เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้สมวัย ทั้งกาย ใจ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่ชั้น ป.1

แต่ปัจจุบันผู้ปกครองบางส่วนมองว่า ลงทุนในที่นี้ คือการให้ลูกเรียนในศูนย์เด็กเล็กที่ดีที่สุด มีพื้นฐานทางวิชาการ เพื่อให้สามารถสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงไม่แปลกที่การศึกษาในปัจจุบันจะถูกมองว่าเกี่ยวโยงกับธุรกิจ

“เรากำลังเอาคำว่าความสามารถของเด็กปฐมวัย ไปผูกกับการเขียน อ่าน ท่องสูตรคูณ โรงเรียนอนุบาลที่ดีนักเรียนต้องท่องศัพท์ให้ได้ 10 คำต่อวัน สิ่งเหล่านี้ผิดทั้งสิ้นเพราะไม่ธรรมชาติของเขาแล้วเราก็ไปฝืนธรรมชาติของเด็กโดยที่จะเหนื่อยทั้งครูและเด็ก ดังนั้นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่บอกว่าอ่านออกเขียนได้เร็ว หรือมีค่านิยมทางสังคมก็ตามแต่ผิดทั้งสิ้น ค่าเทอมจะถูกจะแพงไม่มีผลดีต่อเด็ก”

ขณะที่การหาแนวทางป้องกันความรุนแรงในเด็กปฐมวัย เชิงรุก ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เสนอว่า รัฐสามารถให้การสนับสนุนได้ทันที ผ่านโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดทุกเดือนอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องมีการสำรวจเด็กที่เกิดในภาวะครอบครัวยากจนอยู่แล้ว หากมีการบูรณาการข้อมูลความเสี่ยงว่าเด็กอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อส่งอาสาสมัครเข้าไปดูแล เช่น อสม. หรือเจ้าหน้าที่ของ พม. หากพบมีความบกพร่องทางการเลี้ยงดูให้การศึกษา อาจป้องกันความเสี่ยงด้วยการพามาดูแลที่ศูนย์เด็กเล็กของชุมชน ที่มีบุคลากรซึ่งได้รับการรับรองโดยศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต ให้เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง หรือมีความเสี่ยง ได้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันที่ออกแบบอย่างเข้าใจ มีความรัก ความอบอุ่น จะเป็นพื้นฐานป้องกันภาวะเลวร้ายต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการนำร่องดำเนินการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: