สหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนผนึกกำลังจัดงานรำลึก 16 ปีหลังการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร พร้อมจัดแสดงนิทรรศ “ยังอยู่ในความทรงจำ: ทวงความยุติธรรมที่หายไป” ซึ่งเป็นการจัดแสดงสิ่งของส่วนตัวของผู้สูญหาย ขณะที่เวทีเสวนา “ความคืบหน้าของกรอบกฎหมายและกระบวนการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย” ‘อังคณา’ ระบุหากยังไม่ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงไม่มีทางที่รัฐจะคลอดกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหาย เหตุเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานความมั่นคงมีเอี่ยวในเกือบทุกคดี เผยหากจริงใจขอให้ลงนามสัตยาบรรณคุ้มครองบุคคลสูญหายของยูเอ็นก่อน เชื่อพลังของปชช.จะร่วมผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง พร้อมย้ำคดีอุ้มหายต้องไม่มีอายุความ วอนรัฐอย่าทำลายความทรงจำครอบครัวเหยื่อ ขณะที่ผู้แทนอียูย้ำจุดยืนการบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและขอให้ส.ส.และส.ว.เร่งออกกฎหมายเพื่อที่จะทำให้การทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) องค์กร Protection International (PI) องค์กรแอมนาสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงาน 16 ปี หลังจากการบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย-“ยังอยู่ในความทรงจำ : ทวงความยุติธรรมที่หายไป”
ผู้แทนอียูย้ำจุดยืนการบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและขอให้ส.ส.และส.ว.ของไทยเร่งออกกฎหมายเพื่อที่จะทำให้การทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา
นางเจนนี่ ลุนด์มาร์ค ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) ได้กล่าวเปิดงานในครั้งนี้โดยระบุว่า สหภาพยุโรปมีจุดยืนที่ส่งเสริมการป้องกันไม่ให้บุคคลใดถูกบังคับให้สูญหาย เรามองว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ดังนั้นสิ่งที่สหภาพยุโรปยึดมั่นคือมนุษย์ทุกคนไม่ควรที่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายและไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆที่จะก่อให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้ ทั้งนี้ในปีพ.ศ. 2562 การเมืองไทยมีการพัฒนาที่เป็นไปในเชิงบวกคือการกลับเข้าสู่การเมืองแบบรัฐสภาซึ่งทางสหภาพยุโรปได้ดำเนินการไปหลายมาตรการในการทำงานร่วมกับรัฐสภาไทย นอกจากนี้เราก็พยายามใช้ช่องทางของรัฐสภาในการสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและทำงานเพื่อต่อสู้กับการละเมิดสิทธิไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย วันนี้การที่เรามารวมตัวกัน สหภาพยุโรปเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับตัวแทนของประชาชนหรือส.ส.ที่อยู่ในรัฐสภาว่า สิ่งที่สำคัญมากๆคือการออกฎหมายเพื่อที่จะทำให้การทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา
ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายนำสิ่งของในความทรงจำมาจัดแสดงเพื่อระลึกถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ ยังอยู่ในความทรงจำซึ่งเป็นการจัดแสดงสิ่งของส่วนตัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย โดยนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ได้นำชุดครุยของทนายสมชายมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับทนายสมชายว่า งานในวันนี้สิ่งที่เราอยากจะเน้นย้ำคือเรื่องของความทรงจำของครอบครัวและการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นประเด็นหลักและเป็นประเด็นสำคัญ สิ่งที่ตั้งอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งของตั้งโชว์แต่เป็นของที่เราเก็บไว้ แล้วการเก็บรักษาข้าวของของคนหายคือส่วนหนึ่งของการเก็บรักษาความทรงจำ จะทำให้เราไม่ลืมว่ามันเกิดอะไรขึ้นและคนเหล่านั้นเคยอยู่ในสังคมอย่างไร เสื้อครุยตัวนี้เป็นเสื้อครุยที่ทนายสมชายใช้ใส่ว่าความ เสื้อครุยตัวแรกที่ทนายสมชายใส่ได้รับมอบมาจากหัวหน้าสำนักงาน และเสื้อครุยตัวนี้เป็นเสื้อครุยตัวแรกที่เขาเก็บเงินแล้วซื้อด้วยตัวของเขาเอง ทนายสมชายใช้เสื้อครุยตัวนี้มา 20 กว่าปี ก่อนที่เขาจะหายไปทนายสมชายมีกำหนดการที่จะไปที่นราธิวาสเสื้อครุยตัวนี้อยู่ในกระเป๋าเอกสารพร้อมกับสำนวนคดีและตั๋วเครื่องบินซึ่งเขาคงหวังว่าเมื่อเขากลับมา เขาจะได้หยิบกระเป๋าแล้วไปว่าความที่นราธิวาสแต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้กลับมา กระเป๋าเดินทางกระเป๋าเอกสารก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมที่ที่มันเคยอยู่ ที่จริงมีสำนวนคดีที่คุณสมชายได้เคยทำไว้
“คุณสมชายเป็นคนไม่ชอบใช้เครื่องพิมพ์ดีดแต่จะเขียนด้วยลายมือตัวเองในทุกเอกสาร คุณสมชายเป็นคนลายมือสวยเคยไปรับจ้างคัดเอกสารหารายได้ตอนที่เป็นนักเรียน ดิฉันแค่อยากจะบอกว่าทั้งหมดที่เราเก็บรักษาไว้ดิฉันก็เป็นเหมือนครอบครัวคนอื่นๆที่เก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้เพื่อที่จะเตือนความจำของเราเองเพื่อให้เราไม่ลืม เราก็อยากให้สังคมช่วงทวงถามความเป็นธรรมร่วมกันกับเราค่ะ”
ภรรยานายสมชายกล่าว
ขณะที่นายประเสริฐ เหล่าโสภาพันธ์ ซึ่งนำรูปถ่ายของพี่ชายคือนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ถูกอุ้มหายจากโรงพักบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2551 มาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับพี่ชายว่า พี่ชายตนหายเมื่อปีวันที่ 7 ก.พ.พ.ศ. 2551 พี่ชายตนประกอบธุรกิจเป็นพ่อค้าแต่พบเห็นการทุจริตคอรัปชั่นจึงแจ้งความให้เจ้าหน้าทีรัฐคือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแต่ปรากฏว่าตำรวจไม่ดำเนินการและกระทำการอุ้มหายพี่ชายของตนขณะอยู่ในโรงพัก ก่อนหายไปพี่ชายตนขอรับการคุ้มครองพยานแต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งๆที่มีกฎหมายบังคับไว้ ตนอยากจะกราบเรียนให้ทราบว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่ใดมีความปลอดภัย เพราะว่าสถานีตำรวจมีทั้งอาวุธมีทั้งกฎหมายยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนได้ ประชาชนที่พบเห็นและช่วยเหลือราชการพบเห็นโดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนใดๆแต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองไม่ได้รับความปลอดภัยตราบจนปัจจุบันนี้พี่ชายตนหายไป 12 ปีแล้ว และถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอจะได้รับให้คดีของพี่ตนเป็นคดีพิเศษแล้วแต่ในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่รับไปตู้เก็บสำนวนถูกงัด
“ท่านลองคิดดูนะครับว่ามีสิ่งใดที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่ชายผมได้ ผมอยากกราบเรียนว่าทุกๆคดีที่สูญหายไปล้วนมีเรื่องราว ล้วนมีประวัติมีความเป็นมา ที่เรามาเรียกร้องความยุติธรรมก็เพื่อให้รัฐบาลมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองพวกเราทุกๆคนไม่ว่าต่อไปนี้จะเป็นพวกเราคนใดคนหนึ่งก็ได้ถ้าเสียสละช่วยเหลือสังคมแล้วไปขัดแย้งกับผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ผมอยากฝากให้มีการดำเนินการออกฎหมายเพื่อมาคุ้มครองพวกเราทุกๆคนครับ”
นายประเสริฐระบุ
ด้านนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย แซ่ด่าน นำชุดและหมวกดาวแดงรวมถึงผ้าขาวม้าที่นายสุรชัยชอบใช้เป็นประจำรวมถึงนำหนังสือซึ่งเป็นงานเขียนของนายสุรชัยมาจัดแสดงในงานนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าว หนังสือที่นำมาหลายเล่มในวันนี้บอกถึงตัวตนของนายสุรชัยที่ต้องการต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเมื่อตอนที่นายสุรชัยได้รับโทษประหารชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้รับอภัยโทษ 5 ครั้งติดคุกทั้งหมด 16 ปี โดยในหนังสือก็จะมีเรื่องราวของนายสุรชัยและนักโทษในคดีดังๆ และการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งด้านมืดและด้านสว่าง นอกจากนี้ยังมีรูปภาพของบุคลที่สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้าน อาทินายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮที่หายไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ที่หายไปเมื่อปีพ.ศ. 2559 นายสุรชัย พร้อมด้วยคนใกล้ชิดสองคน คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และ นายไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลองที่หายไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 จนป่านนี้ตนก็ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราวของสามียกเว้นบางกระแสที่บอกว่าเขาสุขสบายดีแต่ก็สงสัยว่าถ้าเขาสุขสบายดีทำไมไม่ส่งข่าวถึงครอบครัวและเพื่อนทุกคนไม่เคยได้ยินเสียงเขาอีกเลย
“หลังจากที่คุณสุรชัยหายตัวไป ก็ได้ไปเรียกร้องต่อหน่วยงานต่างๆ ไปแจ้งความต่อพื้นที่ที่มีศพลอยขึ้น แล้วในพื้นที่นั้นมีหายไป 1 ศพ ส่วนอีก 2 ศพก็ตรวจว่าเป็นคุณกาสะลองภูชนะ เราก็ไปแจ้งต่อกรมคุ้มครองสิทธิกรรมการสิทธิมนุษยชน ไปที่ทำเนียบรัฐบาลไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วก็ไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็น รวมถึงได้เดินทางไปเรียกร้องขอให้ลดหรือยกเลิกการเสียค่าปรับคดีพัทยาที่คุณสุรชัยไม่ได้ขึ้นไปบุกและปราศรัยที่โรงแรมรอยัลคลิปบีช ซึ่งเรามีหลักฐานอยู่แต่เราก็ไปแจ้งความกลับไม่ได้เพราะตัวคุณสุรชัยไม่อยู่ ซึ่งทางกฎหมายก็บอกว่าต้องให้เจ้าตัวเป็นคนไปแจ้งความกลับเอง ทางญาติก็เลยต้องรับผิดชอบเสียค่าปรับที่นายประกันคดีพัทยา ตอนนี้เราก็ไปยื่นเรื่องไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหาตัวผู้สั่งการผู้กระทำผิดแต่ก็ยังเงียบหายอยู่”
ภรรยาของนายสุรชัยกล่าว
ด้านนางนาอือ จะโล ภรรยาของนายจะวะ จะโล ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือจับ ในปีพ.ศ. 2546 ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสวนลิ้นจี่ที่จังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทยตามนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในขณะนั้น ได้นำรูปถ่ายจากทะเบียนบ้านของสามีมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่สามีตนหายไปตนก็รอสามีทุกวันและมีความหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาแต่ก็ไม่เคยพบหรือได้ข่าวเขาเลย แม้บ้านที่เคยอยู่ด้วยกันจะทรุดโทรมไปแล้วตนก็ยังจะรอ
สำหรับกรณีของนายจะวะนั้น วันที่นายจะวะถูกจับตัวไปมีชาวบ้านระบุว่าเห็นเหตุการณ์การจับตัวและการซ้อมทรมานนายจะวะและเจ้าหน้าที่ที่จับตัวเขาไปได้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าไม่พบยาเสพติดที่นายจะวะ แต่ก็ตัดสินใจพาเขาไปควบคุมตัวที่ห้องขังในค่ายทหารพรานไม่กี่วันต่อมาลูกสาวของนายจะวะเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานสองครั้งเพื่อตามหาพ่อ ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่บอกว่าได้ปล่อยตัวนายจะวะแล้วและไม่ทราบเรื่องที่นายจะวะหายไปเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองเจ้าหน้าที่บอกว่านายจะวะถูกพาไปที่เชียงใหม่ และจนถึงปัจจุบันนี้นายจะวะ จะโล ยังคงหายสาบสูญ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการสิ่งของของ รูปของนายสยาม ธีรุวุฒิที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม โดยนายสยามได้หายตัวไปในระหว่างที่พยายามจะลี้ภัยไปอยู่ในประเทศลาว และยังมีการจัดแสดงสิ่งของที่เป็นความทรงจำของครอบครัวนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และรูปถ่ายทีเป็นความทรงจจำของครอบครัวนายเด่น คำแหล้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินซึ่งเป็นแกนนำเรียกร้องโฉนดที่ดินทำกินสวนป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่หายตัวไปขณะเข้าไปหาของป่าเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ด้วย
PI จัดแสดงนิทรรศการแด่นักสู้ผู้จากไปโดยเฉพาะผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมระบุทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่คอยตามหาความจริงที่เกิดขึ้นและเรียกร้องความเป็นธรรมให้บุคคลที่สูญหายเหล่านั้น
ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย แด่นักสู้ผู้จากไป ขององค์กร Protection International (PI) และ Luke Duggleby ช่างภาพชาวอังกฤษ ซึ่ง PI พบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย นอกจากกรณีคุณ สมชาย นีละไพจิตร เช่นนิทรรศการวันนี้ก็มีรูป ของ นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รูปถ่ายของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ถูกอุ้มหายจากโรงพักบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2551 ซึ่งผ่านมา 12 ปีแล้วคดีของนายกมลไม่มีความความคืบหน้าแต่อย่างใด รูปถ่ายของนายเด่น คำแหล้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินซึ่งเป็นแกนนำเรียกร้องโฉนดที่ดินทำกินสวนป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่หายตัวไปขณะเข้าไปหาของป่าเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบวัตถุพยาน 14 ชิ้น ที่ญาติยืนยันว่าเป็นของนายเด่น ที่สำคัญพบกะโหลกศีรษะมนุษย์ เมื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอ ตรงกับดีเอ็นเอของน้องสาว ทำให้ญาติเชื่อว่านายเด่นเสียชีวิตแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตได้ รูปถ่ายของนายทนง โพธิอ่าน นำแรงงานแถวหน้า ถูกอุ้มฆ่าหายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 เขาเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุดในขณะนั้น และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU)
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection International กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จากไปและคนที่ยังเรียกร้องความยุติธรรมอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ยังรักษาความทรงจำ ยังคงตามหาความจริงที่เกิดขึ้นและเรียกร้องความเป็นธรรมให้บุคคลที่สูญหายเหล่านั้น และที่สำคัญมากคือรัฐและสังคมต้องให้ความสำคัญกับการตามหาความจริง เยียวยาและคืนความยุติธรรมให้เหยื่อและครอบครัวของทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญหายของความยุติธรรมในสังคมไทย
ขณะที่เวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “ความ คืบหน้าของกรอบกฎหมายและกระบวนการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร น.ส.ทิพย์วิมล ศิรินุพงษ์ ทนายความในคดีของ พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ และ น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด ตัวแทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ
‘อังคณา’หวังปชช.ร่วมผลักดันกฎหมายบังคับสูญหาย ย้ำคดีอุ้มหายต้องไม่มีอายุความ ไม่เชื่อรัฐบาลยอมคลอดกฎหมายง่ายๆ เหตุเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว
โดยนางอังคณา ระบุในเวทีเสวนาว่า ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาคนหายเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 หลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) แล้วก็ประกาศในสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในครั้งนั้นว่า ประเทศไทยจะลงนามและแสดงเจตจำนงที่จะให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ แต่หลังปี 2555 มาประเทศไทยโดยกระทรวงยุติธรรมมีความพยายามในการร่างกฎหมาย โดยในเดือน พ.ค. 2559 ครม. มีมติให้สัตยาบรรณต่ออนุสัญญาฯ และให้มีกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหาย แต่ระหว่างปี 2559 จนถึงวันนี้มันเกิดอะไรขึ้น เราพบว่าก่อนหน้านี้ในคดีทนายสมชายจากคำพิพากษาเป็นการบอกสังคมว่าคดีคนหายไม่มีผู้เสียหาย เพราะหลักการตามกฎหมายไทยก็คือผู้เสียหายจะต้องมาร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง ผู้เสียหายต้องมาฟ้องศาลด้วยตัวเอง นอกเสียจากว่ามีหลักฐานว่าเขาบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ญาติจึงจะสามารถเรียกร้องความยุติธรรมแทนได้
“ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ จนวันนี้ดิฉันไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ดิฉันเคยไปขอพบประธานรัฐสภา ไม่ได้จะไปกดดันอะไร อยากจะอธิบายว่าทำไมมันจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย รัฐบาลพิจารณากฎหมายทำไมมันจึงจำเป็นต้องให้คนที่มีความรู้ ประสบการณ์ เข้าไปอธิบาย ทำไมข้อบทแต่ละมาตราจึงสำคัญ ทำไมร่างที่ออกมาจึงไม่กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้าหากกฎหมายนี้ไม่ได้ระบุเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง หมายความว่าคนที่หายไปก่อนหน้าที่กฎหมายจะมีนั้น จะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเจ๊าไปหมด แล้วค่อยมาเริ่มกันใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้จึงขัดหลักการ และ ขอพูดตรงๆ ว่าไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะยอมให้กฎหมายนี้ผ่าน“
นางอังคณากล่าว
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะครอบครัวเราไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เราถูกปฏิเสธในการเข้าถึงความยุติธรรมมาโดยตลอด ส่วนอุปสรรคสำคัญที่คิดว่าทำให้กฎหมายไม่ผ่านนั้น คิดว่าเป็นเพราะผู้กระทำผิดคือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนจะไปจะมา ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรายังไม่ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ กรณีนายสมชายผู้ต้องหา 5 คนก็ยังได้รับการสนับสนุนให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานอยู่ในขณะนี้ ในหลายกรณีก็ไม่ต่างกันรวมทั้งกรณีนายบิลลี คนที่ต้องสงสัยกับการสูญหายทุกวันนี้ก็ยังอยู่
นางอังคณา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายตนเห็นว่ารัฐต้องแสดงความจริงใจโดยการให้สัตยาบรรณอนุสัญญาฯ ก่อน อย่างน้อยที่สุดการให้สัตยาบรรณต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ จะทำให้รัฐบาลต้องส่งรายงาน และดำเนินการภายในประเทศให้มีกลไกภายในประเทศให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรมได้ เป็นเหมือนหลักประกัน เพราะตนคิดว่ากฎหมายนี้คงอีกยาวนาน หรือหากมีกฎหมายแต่หากไม่สอดคล้องกับอนุสัญญากฎหมายฉบับนี้ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทั้งนี้ถ้ามีกฎหมายนี้ คนที่เอาบิลลีไปมีหน้าที่ต้องเอามาคืน ถ้าเอามาคืนไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบต่อความผิดฐานบังคับสูญหาย คดีนายสมชายก็เช่นกันคน 4-5 คน ที่ผลักนายสมชายขึ้นรถมีหน้าที่ต้องเอานายสมชายมาคืนอันนี้คือหลักการของกฎหมาย เพราะว่าคดีการบังคับสูญหายคือการฆาตกรรมที่ไม่มีศพ ไม่ต้องไปหาเพราะหาไม่เจอ เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ให้กับผู้ที่เอาตัวไป ไม่ใช่ให้ภาระในการพิสูจน์อยู่กับญาติที่ไม่รู้เรื่องอะไร
นางอังคณา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับญาติการรู้ความจริงมีความหมายมาก นำไปสู่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่การไม่รู้ความจริงเป็นสิ่งที่ทรมานมาก สิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะเน้นย้ำก็คืออยากเห็นรัฐบาลช่วยรักษาความทรงจำ ไม่ใช่พยายามที่จะทำให้ลืม ไม่ให้พูด เหตุผลที่ครอบครัวนายสมชายและหลายๆ ครอบครัวพูดมาโดยตลอด เพราะเรากลัวว่าสังคมจะลืม เมื่อไรก็ตามที่สังคมลืมเรื่องแบบนี้มันก็จะแผ่วหายไปและมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำอย่างไรเราจะช่วยกันสนับสนุนเหยื่อยืนขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมได้ด้วยตัวของเขาเอง กฎหมายจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเหยื่อยังไม่กล้าหรือต้องซุกตัวอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้านและไม่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อให้เรามีกฎหมายดีแค่ไหนมันก็อาจจะไม่ได้ใช้
“ไม่ได้มีความหวังกับรัฐ แต่มีความหวังกับภาคประชาชน และเพื่อนมนุษย์ทุกคน ในการผลักดันกฎหมายนี้ รัฐเคยเยียวยาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีสมชายก็ได้รับการเยียวยา แต่ไม่กล้าใช้เงินกลัวเขาเอาคืน ถามตัวเองมาตลอดว่ารัฐให้เพราะอะไร เพราะชดใช้หรือไม่ ถึงแม้ มติ ครม. จะเยียวยา เพื่อให้เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราคิดว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่นายสมชายหายไปใหม่ๆ หรือบิลลี่ เราไม่อยากนึกว่าเขาเอาไปแล้วเกิดอะไรขึ้น เราไม่อยากรับรู้ว่ามนุษย์กระทำต่อมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายนี้จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่บางคนลุแก่อำนาจและใช้อำนาจตามอำเภอใจในการกำจัดคนเห็นต่าง”
นางอังคณา กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ