สรุปมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1-2-3 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10, 24, 31 มี.ค. และ 7 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา - หลายประเทศทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 10% ของ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ‘มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชุดที่ 1’ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า เพื่อให้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสามารถสื่อสารกับสาธารณชนได้อย่างชัดเจนยิ่งชึ้นด้วย จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนชื่อมาตรการ จากเดิม 'มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชุดที่ 1' เป็น 'คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า' และที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอขอปรับถ้อยคำของมาตรการบรรเทาภาระจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ จากเดิม 'คืนค่าประกันมิเตอร์' เป็น 'คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า'
2. รับทราบและเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 ดังนี้
2.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิค 19 เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดเตรียมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 [เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง] ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2.2 มาตรการด้านภาษี
2.2.1 เห็นชอบในหลักการมาตรการด้านภาษี จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ (2) มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (3) มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และ (4) มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2.2.2 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จำนวน 1 ฉบับ (มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ) และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ และมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของดรคติดเชื้อไวรัส COVID-19) รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
2.3 มาตรการด้านการเงิน
2.3.1 เห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินและสำนักงานธนานุเคราะห์ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยต้นเงินทุนแก่ธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรวม 75,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ใหธนาคารออมสินจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบปราณ พ.ศ. 2564 และปีต่อ ๆ ไป ตามผลการดำเนินงานจริง โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 (เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564) และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของธนาคารออมสินด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2.3.2 รับทราบมาตรการด้านการเงิน จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม (2) มาตรการพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ (3) มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2.3.3 ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
2.4 ให้ถอนมาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่ประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ออกไปก่อน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2.5 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน
2.5.1 เห็นชอบในหลักการมาตรกาสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asser Value หรือ NAV) ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกต่างหากจากวงเงินที่ลดหย่อยค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดย่อนรวมของเงินสะสม เงินสมทบหรือค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้จะต้องซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกวา 10 ปี และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2.5.2 ให้กระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) เร่งรัดการจัดทำร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป
2.6 รับทราบมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
2.7 รับทราบการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของกระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
3. ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของสำนักงบประมาณและความเห็นของกระทรวงการคมนาคมและธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อแนวทางการรับมือกับ COVID-19 ว่าจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและตรงจุดโดยเฉพาะแรงงานจำนวนมากที่อาจถูกเลิกจ้างในกรณีที่มีการระบาดต่อเนื่อง เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
4. ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานเจ้าของโครงการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์รายละเอียดการดำเนินการในแต่ละมาตรการให้กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างถูกต้องและทั่วถึงด้วย [1]
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ 'มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2' ดังนี้
1.1 เห็นชอบในหลักการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังกำหนดประเภท กลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม เป็นธรรม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน ครอบคลุมในระดับพื้นที่ และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 ให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไปด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
1.2 ให้ชะลอมาตรการเสริมความรู้ไว้ก่อน โดยหากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเข้าสู่ภาวะปกติ ให้กระทรวงการคลังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการจ้างงาน ให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน และหากมีความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายงบประมาณก็ให้ดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ [เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ว] เป็นลำดับแรกก่อน สำหรับกรณีการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ได้รับผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศ ให้ดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ [เรื่อง การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง] ซึ่งได้อนุมัติหลักการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน ๒,๗๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่งในเรื่องของการจ่ายเงิน และมอบหมายเรื่องการฝึกอบรมให้ทุกหน่วยงานหารือร่วมกันเพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
1.3 มาตรการด้านภาษี
1.3.1 รับทราบและเห็นชอบในหลักการมาตรการด้านภาษี จำนวน 9 มาตรการ ประกอบด้วย (1) มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2) มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี (3) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (4) มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ (5) มาตรกรเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (6) มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (7) มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) (8) มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของสถานบริการที่ประกอบกิจการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ (9) มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมชำระภาษีของสถานบริการที่ประกอบกิจการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และมาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ควรพิจารณาดำเนินการเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น และมาตรการทางทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ควรดำเนินมาตรการในระยะสั้นเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เท่านั้น โดยให้เร่งประเมินเพื่อปรับมาตรการภาษีในระยะต่อไป เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1.3.2 เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 2 ฉบับ (มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และมาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ) ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) จำนวน 1 ฉบับ [มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)] ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จำนวน 2 ฉบับ และการปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 ฉบับ (มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มารวมพิจารณากับร่างกฎหมายที่มีหลักการเช่นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 (มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย) และยังอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
1.4 เห็นชอบในหลักการมาตรการด้านการเงิน จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (2) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (3) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และ (4) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินมาตรการรวมทั้งสิ้น 29,346 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ควรพิจารณาให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจร่วมรับภาระต้นทุนในการดำเนินงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเพื่อคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง นอกจากนี้ อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขให้เข้าร่วมโครงการได้ครัวเรือนละ 1 โครงการ รวมทั้งควรขยายการดำเนินมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงกองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์ต่าง ๆ เพื่อจะได้กระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1.5 การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระยะต่อไป มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทาง พร้อมทั้งแหล่งเงินที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระยะต่อไป เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งในการรับมือกับวิกฤติการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอดังกล่าว เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังสมควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ตลอดจนติดตามประเมินผลสมฤทธิ์และรายงานการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดเวลาดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้กระทรวงการคลังได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี) ในการเสนอเรื่องนี้ [2]
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ 'ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2' โดนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เห็นชอบในหลักการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1.1 การทบทวนมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ จาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน โดยนำเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ในเดือน เม.ย. 2563 ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อ ๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
1.2 การทบทวนโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน ไม่เกิน 800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่กระทบฐานะและผลการดำเนินการ
2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น (1) มาตรการชดเชยรายได้ฯ ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการได้รับความช่วยเหลือที่รัดกุม รวมทั้งตรวจสอบหลักฐานของผู้ลงทะเบียนให้มีความถูกต้องครบถ้วน เพื่อคัดกรองให้ผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีความเดือดร้อนในการดำรงชีพและมีความจำเป็นที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และ (2) โครงการสินเชื่อฯ ควรพิจารณาให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีส่วนร่วมรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานด้วย เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานและร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป [3]
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งออกมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งโดยการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ ลดต้นทุนการระดมทุน รวมถึงการเยียวยาภาคประชาชน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงกระทบไปทั่วโลกและเป็นการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนภายในประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลง และเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลง การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เล็งเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที กระทรวงการคลังจึงได้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศโดยอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนเวลาของการงบประมาณ โดยงบกลางของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเงินทุนสำรองจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต้องสำรองไว้เพื่อใช้จ่ายในเหตุฉุกเฉินอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เหลืออยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ภายในปีงบประมาณ 2563 มาใช้เพิ่มเติม และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 จะใช้เวลานานซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ โดยการกู้เงินด้วยวิธีการออกพระราชกำหนดเป็นการเฉพาะ
กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ต่อระบบเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติจนต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเงินที่มากเกินจำเป็นอันจะเป็นภาระให้กับประเทศในอนาคต และวางรากฐานเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ) รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและควบคุม การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสามารถแบ่งกรอบการใช้เงินได้ดังนี้
1.1 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดจาก COVID-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์และสาธารณสุข
1.2 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยครอบคลุม 1) การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลาดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ในระดับ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Economy) 3) การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ
2.มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันวางแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ในสภาวการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็น ผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของประเทศ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินอาจทำให้บริษัทที่มีคุณภาพ ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมกับการเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการตราร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท) สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก นอกจากนี้ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
2.2 ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดยร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF)และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning) โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน
3.มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้
3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. …เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม
3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน
3.3 การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ทราบการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.23 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน
กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 จะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้เดินต่อไปได้และมาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญ ให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงเมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป [4]
*อนึ่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก. จำนวน 3 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล และหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบด้วย
หลายประเทศทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 10% ของ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19
แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงกว่า 10% ของ GDP แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่อไป โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในระยะข้างหน้า | ที่มาภาพประกอบ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ทั่วโลกยังคงส่อเค้ารุนแรงและมีแนวโน้มที่จะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจึงต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในวงเงินมหาศาล
ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเกิดการชะงักงัน เริ่มจากรายได้ของธุรกิจที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบมายังการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง นอกจากนี้ ตลาดทุนทั่วโลกยังเกิดความผันผวนอย่างมาก จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ของโลกที่ปรับตัวลดลง สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นที่ลดลงอันเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งมีผลกลับมายังรายได้ของครัวเรือนและธุรกิจอีกต่อหนึ่ง
โดยทั่วไปแล้ว มาตรการการคลังจะเน้นไปที่การช่วยลดภาระรายจ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ ตลอดจนการประคองให้ครัวเรือนและธุรกิจยังคงมีรายได้เข้ามา ในขณะที่มาตรการทางการเงินจะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนปรนภาระหนี้สิน ซึ่งในหลายๆ ประเทศจะให้ความสำคัญกับมาตรการทางการคลัง เนื่องจากครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว้างกว่า และสามารถดำเนินการได้เร็วกว่ามาตรการทางการเงิน
มาตรการเงินอุดหนุนค่าจ้าง (Job retention scheme) เป็นหนึ่งในมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างแก่สถานประกอบการ เพื่อไม่ให้ต้องปลดคนงาน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้อย่างตรงจุด โดยประเทศที่ดำเนินมาตรการนี้ ได้แก่ อังกฤษและเดนมาร์ก ซึ่งให้เงินอุดหนุน 75%-80% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็ดำเนินมาตรการนี้เช่นกัน โดยให้เงินอุดหนุน 25% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด เป็นระยะเวลา 9 เดือน
มาตรการให้เงินเปล่า (Cash handout) เป็นมาตรการที่มีการถกเถียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณขนาดใหญ่ และกลุ่มเป้าหมายบางรายอาจจะยังมีความจำเป็นน้อยที่จะต้องได้รับเงิน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่แทบทุกประเทศหยิบยกมาใช้ในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในสหรัฐฯ เป็นการให้พลเมืองชาวอเมริกันที่มีรายได้ในปี 2562 ต่ำกว่า 75,000 เหรียญฯ คนละ 1,200 เหรียญฯ และสำหรับครอบครัวที่มีบุตร จะเพิ่มเงินให้ครอบครัวละ 500 เหรียญ ต่อบุตร 1 คน ในสิงคโปร์ เป็นการให้พลเมืองชาวสิงคโปร์คนละ 300-900 ดอลลาร์สิงคโปร์ (209-627 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
อีกทั้ง ยังให้แรงงานรายได้น้อยอีกคนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมถึงให้แรงงานอาชีพอิสระอีกคนละ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (696 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเวลา 9 เดือน ในเกาหลีใต้ เป็นการให้เงินครอบครัวละ 1 ล้านวอน (820 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยประชาชนจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวทุกครอบครัวยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ สำหรับไทย เป็นการสนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
มาตรการเสริมสภาพคล่อง (Liquidity injection) เป็นมาตรการทางการเงินที่นิยมนำออกมาใช้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดเงินผ่านทางการเข้าซื้อพันธบัตร และสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase agreement: Repo) ของธนาคารกลาง ถือเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้น โดยเกือบทุกประเทศมีการดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นแก่ธนาคารพาณิชย์ผ่านทางการทำ Reverse Repo Operations เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ เฟดยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน รวมถึง Mortgage-backed securities กว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ
ขณะที่ ธนาคารกลางอังกฤษได้ปล่อยสินเชื่อแก่ธนาคารพาณิชย์มูลค่า 3 แสนล้านปอนด์ อีกทั้ง ยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชนอีก 2 แสนล้านปอนด์ สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับธนาคารแห่งประเทศไทย
อนึ่ง ตัวเลขของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเป็นเพียงวงเงินที่ทางการระบุว่าจะนำออกมาใช้ ซึ่งบางมาตรการยังไม่มีการเปิดใช้หรืออัดฉีดจริง และการใช้เงินจริงอาจต่ำกว่าวงเงินที่ระบุไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพียงการรับรองการปล่อยกู้ (Loan guarantees) ซึ่งอาจไม่ได้นำออกมาใช้จริงทั้งหมด ขณะที่ มาตรการทางการเงินมักมีวงเงินค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะฐานสินทรัพย์ทางการในระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เช่นนั้น ทำให้ไม่สามารถตีความผลลัพธ์ของมาตรการกระตุ้นจากเพียงตัวเลขได้
นอกจากนี้ จำนวนวงเงินอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเสมอไป ซึ่งประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในแก้ปัญหาได้ตรงจุดและการนำออกมาใช้ทันเวลา นอกจากนี้ ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงขึ้นอยู่กับความเปราะบางของเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่น่าจะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้ ดังนั้น แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงกว่า 10% ของ GDP แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่อไป โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขนาดของงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในแต่ละประเทศก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ทั้งฐานะการคลัง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลัง เป็นต้น
โดยสรุป การดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนั้น ท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในหลายประเทศพ้นภาวะถดถอย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น มาตรการต่างๆ ที่นำออกมาใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ก็เพื่อช่วยให้กลไกทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ [5] [6]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชุดที่ 1 (มติคณะรัฐมนตรี, 10 มี.ค. 2563)
[2] มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี, 24 มี.ค. 2563)
[3] ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี, 31 มี.ค. 2563)
[4] มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 (ข่าวกระทรวงการคลัง, 7 เม.ย. 2563)
[5] ทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3858) (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 3 เม.ย. 2563)
[6] ทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (เว็บไซต์การเงินการธนาคาร, 3 เม.ย. 2563)
*อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ