จาก 'สู้วัวกระทิง' สู่ 'ลิงเก็บมะพร้าว' วัฒนธรรมพื้นถิ่นภายใต้กระแส 'สิทธิสัตว์'

ทีมข่าว TCIJ | 12 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5278 ครั้ง

กระแสโลกยุคใหม่คนใส่ใจประเด็น ‘สิทธิสัตว์’ มากขึ้น กระทบต่อกลุ่มคนหรือสังคมที่ยังไม่มีการปรับตัว โดยเฉพาะที่ยังพึ่งพิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นสูง กรณีศึกษาที่ประเทศสเปน พบ ‘กีฬาสู้วัวกระทิง’ วัฒนธรรมประจำชาติมานานหลายร้อยปี สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจถึง 1% ของ GDP ประเทศ เริ่มเสื่อมความนิยมลงหลังมีผู้คัดค้านเรื่องนี้มากขึ้น โดยเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์ ส่วนที่ประเทศไทย PETA เผยลิงถูกบังคับให้กลายเป็น ‘เครื่องจักรเก็บมะพร้าว’ หลายฝ่ายออกมาโต้ ชี้เป็น 'เป็นวิถีชุมชน' ไม่ใช่การ 'ทรมานสัตว์' ด้านผู้ประกอบการระบุไม่มีการใช้ลิงในอุตสาหกรรมส่งออก สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยเตรียมเสนอคุ้มครองสวัสดิภาพลิง | ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons และ ไทยรัฐออนไลน์

ปัจจุบันประเด็นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสิทธิสัตว์ ได้เข้ามามีบทบาทในสังคม การเมือง เศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของประชาชนในแต่ละประเทศ

ในประเด็น ‘สิทธิสัตว์’ นั้น พบว่าทั่วโลกมีการคุ้มครองผ่านกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ผ่านการกดดันทั้งระดับภายในประเทศ หรือแม้แต่ในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนหรือสังคมที่ยังไม่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่คำนึงถึงประเด็นสิทธิสัตว์นี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนและสังคมที่ยังพึ่งพิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นสูง

ในรายงานพิเศษชิ้นนี้ TCIJ ขอนำเสนอตัวอย่าง 2 กรณี คือ ‘กีฬาสู้วัวกระทิงในประเทศสเปน’ และการใช้ ‘ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทย’

กีฬาสู้วัวกระทิงในสเปนกำลังมีปัญหาจากทั้งกระแส สิทธิสัตว์ และ ‘COVID-19’

คนสเปนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ห้ามกิจกรรมการสู้วัวกระทิงโดยสิ้นเชิง โดยมองว่าวัฒนธรรมนี้คือการทรมานสัตว์ ในปัจจุบันการสู้วัวกระทิงถูกห้ามในอย่างน้อย 100 เมืองในสเปนแล้ว | ที่มาภาพ: Lisa Markkula/PETA

สำนักข่าว VOA นำเสนอรายงานพิเศษเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2020 เปิดเผยถึงกีฬาสู้วัวกระทิงในสเปน ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติของสเปนมานานหลายร้อยปี กำลังถูกภัยคุกคามจาก COVID-19  ทำให้กิจกรรมนี้กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก

แต่กระนั้น พบว่าก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ความนิยมเรื่องการสู้วัวกระทิงในสเปนเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2008 หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งตัดงบประมาณที่เคยสนับสนุนกิจกรรมสู้วัวกระทิง รัฐบาลในระดับภูมิภาคของสเปนหลายแห่งก็พยายามห้ามการสู้วัว หลังจากที่มีผู้คัดค้านเรื่องนี้มากขึ้นโดยเห็นว่าเป็นการทารุณสัตว์

ส่วนข้อมูลจาก PETA ระบุว่าในปัจจุบันการสู้วัวกระทิงถูกห้ามในอย่างน้อย 100 เมืองในสเปน ในแคว้นคาตาลันห้ามเรียกการสู้วัวกระทิงนี้ว่า "กีฬา" หลังประชาชนในแคว้นคาตาลันกว่า 180,000 คน ได้ลงชื่อเรียกร้องให้มีการยุติกิจรรมสู้วัวกระทิง

ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้แสดงว่าขณะนี้ร้อยละ 47 ของชาวสเปนสนับสนุนให้ห้ามกิจกรรมการสู้วัวกระทิงโดยสิ้นเชิง ขณะที่ร้อยละ 38 ถึงจะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงของการสู้วัวก็ตามแต่ก็ไม่ถึงกับอยากให้ห้าม และมีเพียงราวร้อยละ 19 เท่านั้นที่อยากให้มีการสืบทอดวัฒนธรรมนี้ต่อไป สถิติการจัดการแข่งขันสู้วัวกระทิงในสเปนก็ได้ลดลงจาก 3,650 ครั้งต่อปีเมื่อปี 2007 เหลือเพียง 1,520 ครั้งในปี 2018

ถึงแม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนับสนุนกิจกรรมการสู้วัวจะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยโอบอุ้มประเพณีที่สำคัญนี้เพียงใด แต่โลกที่เปลี่ยนไปที่มีการคำนึงถึงสิทธิสัตว์มากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้เห็นว่าการสู้วัวกระทิงในสเปนอาจจะกำลังเลือนหายไป

ข้อมูลจากสมาคมกีฬาสู้วัวกระทิงของสเปน กีฬาการสู้วัวกระทิงช่วยจ้างงานในสเปนถึงราว 54,000 ตำแหน่ง และสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้เกือบ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหรือประมาณ 1% ของผลผลิต GDP ของสเปนแต่ภายในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และมาตรการล็อคดาวน์ทำให้อุตสาหกรรมสู้วัวกระทิงในประเทศต้องขาดทุนไปแล้วราว 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเจ้าของฟาร์มเลี้ยงวัวบางแห่งก็พลอยได้รับความเสียหายถึงขั้นต้องฆ่าวัวกระทิงที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้ต่อสู้ถึง 400 ตัวด้วยกัน

ด้านนักสู้วัวกระทิงระดับแนวหน้าคนหนึ่งของสเปน กล่าวกับ VOA ว่าวัฒนธรรมประจำชาตินี้กำลังถูกคุกคาม โดยเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เห็นว่ารัฐบาลสเปนเข้าช่วยเหลือกีฬาสู้วัวกระทิงน้อยไป เมื่อเทียบกับกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ เช่น ดนตรีหรือการแสดง และว่าการสู้วัวกระทิงนั้นควรได้รับความสนใจมากกว่านี้ เพราะนอกจากจะสะท้อนถึงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของสเปนแล้ว กีฬาดังกล่าวยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย [1] [2]

 

PETA เปิดข้อมูลผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย เกี่ยวโยงการบังคับใช้แรงงานลิง

PETA ทำรณรงค์เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรยกเลิกขายสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวนำเข้าจากไทย โดยระบุว่ามีการบังคับใช้แรงงานลิง | ที่มาภาพ: PETA Asia

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2020 องค์กร People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA ได้เปิดเผยข้อมูล การรณรงค์เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรยกเลิกขายสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวนำเข้าจากไทย เนื่องจากมีการบังคับใช้แรงงานลิง (ณ วันที่ 10 ก.ค. 2020 เวลา 17.49 น. มีผู้ร่วมลงชื่อรณรงค์แล้ว 71,207 รายชื่อ)

ข้อมูลจาก PETA ระบุว่าจากการสืบสวนของ PETA เอเชีย พบว่ามีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในสวน 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงสวนมะพร้าวที่เป็นวัตถุดิบให้กับ 2 แบรนด์ดังของไทยที่มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในสหราชอาณาจักร โดยชี้ว่าลิงที่เก็บมะพร้าวนั้น "ถูกบังคับให้กลายเป็นเครื่องจักรเก็บมะพร้าว" 

คลิปวีดีโอประกอบการรณรงค์ของ PETA

โดยรายละเอียดการทารุณลิงเก็บมะพร้าวนั้น PETA ระบุไว้ว่าเริ่มตั้งแต่มีการขโมยลูกลิงมาจากครอบครัวลิงอย่างผิดกฎหมาย, มีการล่ามลิงไว้เวลานานทำให้ลิงไม่มีเสรีภาพจะไปไหนได้ ไม่สามารถเข้าสังคมฝูงลิงอื่นได้ ทำให้ลิงขาดความสามารถในการทำกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตได้เอง โดยในการล่ามหรือกักขังลิงนั้น ได้ทำให้ลิงซึ่งเป็นสัตว์ที่ฉลาด กลับสูญเสียสัญชาติญาณและทำให้พฤติกรรมของลิงแย่ลง เช่น เดินวนเวียนไปมาไม่รู้จบ ขว้างปาสิ่งของในขณะที่พวกมันถูกล่ามไว้ ลิงบางตัวที่ถูกขังอยู่ในกรงก็จะเขย่ากรงอย่างลนลาน บางตัวกรีดร้องเสียงดังและพยายามจะหนีให้ห่างจากคนฝึกลิง

ลิงที่ถูกฝึกมานี้จะถูกใช้แรงงานให้เก็บมะพร้าว 1,000 ลูกต่อวัน เมื่อเทียบกับแรงงานคนแล้วคนจะสามารถเก็บได้ 80 ลูกต่อวัน ในโรงเรียนฝึกลิงนั้นนอกจากการฝึกให้เก็บมะพร้าวแล้ว ลิงบางตัวยังถูกฝึกให้แสดงโชว์ต่าง ๆ เพื่อให้ความบันเทิงกับนักท่องเที่ยว และมีบางกรณีที่มีการถอนเขี้ยวของลิงออก

PETA ยังระบุว่าร้านค้ามากกว่า 15,000 แห่ง ทำการระงับไม่ขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมมาจากการใช้แรงงานและการทารุณกรรมลิงเช่นนี้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้แรงงานลิงในไทยด้วย โดยหลังจากที่ PETA ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร 4 แห่ง ได้ประกาศยุติการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวที่ถูกกล่าวหาว่าทรมานและใช้แรงงานลิง [3] [4]

ไทยชี้เป็น 'เป็นวิถีชุมชน' ไม่ได้เป็นการ 'ทรมานสัตว์'

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้จะเกี่ยวข้องกับการตลาดจะเร่งติดตามดูแล อยากให้หน่วยงานที่วิเคราะห์วิจัยดูถึงข้อเท็จจริง การที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเก็บมะพร้าวก็ไม่ได้หมายความว่าทารุณกรรมสัตว์ เพราะสัตว์ที่ชาวบ้านนำมาเก็บมะพร้าวถือว่าอยู่ในวิถีชีวิต และเป็นการเลี้ยงแบบฝึกเก็บมะพร้าวเฉพาะไม่ใช่การทรมานหรือทารุณสัตว์ตามที่กลุ่มพีต้าออกมาระบุ โดยกระทรวงพาณิชย์มีความพร้อมอาจจะเชิญทูตหลายประเทศให้เข้ามาดูวิธีการเก็บมะพร้าว เพื่อให้รู้วิถีชีวิตของคนไทยและสัตว์เลี้ยงว่าไม่ใช่เป็นการทรมาน ลิงถือว่าได้รับการฝึกฝน ดังนั้นหากนำคณะทูตมาดูวิถีชีวิตในพื้นที่ เชื่อว่าจะทำให้หลายประเทศเข้าใจว่าไม่ใช่การทรมานสัตว์

ทั้งนี้ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญจากข่าวดังกล่าวทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ไทยได้มีการออกแถลงการณ์และนำวิถีชีวิตการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเผยแพร่ออกไปแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จะให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศไปทำความเข้าใจห้างต่าง ๆ ถึงวิธีการของไทย [5]

ด้านนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าเมื่อปี 2562 อนุ กมธ.ได้แจ้งให้ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานกะทิส่งออก ชี้แจงข้อเท็จจริงให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศที่ทำการทักท้วงให้รับทราบ หลังจากเกรงว่าจะมีปัญหาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปไปสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ อนุ กมธ.ยังได้แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือในฐานะหน่วยงานราชการชี้แจงปัญหาจากการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่อดีตของชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์ตามที่มีการทักท้วง

ด้าน พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม ผู้มีอาชีพเสริมโดยการปลูกสวนมะพร้าว 16 ไร่ ที่ ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่าการเก็บผลมะพร้าวจะจ้างผู้ที่เลี้ยงลิงกังในพื้นที่มาเก็บทุก 45 วัน โดยลิงกังที่ผ่านการฝึกอย่างดีจะไปเก็บมะพร้าว ในช่วงเช้าและช่วงเย็น และเก็บมะพร้าวเฉพาะผลแก่เท่านั้น โดยเจ้าของลิงกังคิดค่าเก็บร้อยละ 10-12 จากราคาขายผลผลิตปัจจุบัน ยืนยันว่าเจ้าของสวนมะพร้าวที่ อ.บางสะพาน ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เนื่องจากการจ้างคนสอยจะคิดค่าตอบแทนคงที่ผลละ 1 บาท ไม่ได้คำนึงถึงราคาผลผลิตในบางฤดูกาล และบางครั้งมีความผิดพลาดจากการสอยมะพร้าวทะลายอ่อน

"ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวไม่ได้เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากเจ้าของจะเลี้ยงกระทั่งลิงกังเชื่อง เชื่อฟังคำสั่ง และไม่ได้ใช้งานทั้งวัน โดยให้กินข้าวตามปกติ" เจ้าของสวนมะพร้าว ระบุ [6]

ไทยส่งออกกะทิมูลค่ารวมกว่า 12,300 ล้านบาท รมว.พาณิชย์ ระบุยังไม่ถึงขั้นกีดกันการค้า

ปี 2563 ไทยมียอดการส่องออกกะทิ ประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 18% คิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านบาท ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: Marco Verch (CC BY 2.0)

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว เช่น ผู้แปรรูปกะทิแบรนด์ชาวเกาะ แบรนด์สุรีย์ และแบรนด์อร่อยดี รวมถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์ ในการประเมินผลกระทบ และหาแนวทางการรับมือถึงการชี้แจงกับประเทศคู่ค้า กรณีองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า (PETA) ระบุว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ห้างในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลายแห่ง แบนสินค้าในกลุ่มมะพร้าวจากไทย ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปให้โรงงานผลิต เพิ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่เพิ่มมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีระบบควบคุมคุณภาพที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องระบุผลผลิตที่ได้มาจากสวนไหน มีการใช้แรงงานอะไร ที่จะต้องใส่รหัสบนแพ็กเกจของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน รวมทั้งในกระบวนการผลิตจะต้องตรวจสอบได้เช่นกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเร่งมอบทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ นัดพบผู้นำเข้าเพื่อชี้แจง ขณะเดียวกัน เตรียมเชิญเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำไทย สื่อมวลชน และองค์กรพิทักษ์สัตว์ เข้าร่วมตรวจสอบถึงแหล่งเพาะปลูกและโรงงานผลิต

ตนมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นการกีดกันทางการค้า เพราะเป็นปัญหาระดับของภาคเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน แต่ทางภาครัฐจะพยายามเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบต่อสินค้าของไทย โดยผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยผลผลิตในปี 2562 ตกประมาณ 788,000 ตันและมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตันร้อยละ 70 บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออกมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะว่าไม่เช่นนั้นก็จะไม่พอการส่งออก เช่น นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก็มี 2 ชนิด 1.กะทิ 2.มะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่อยู่ขณะนี้คือเรื่องของกะทิ ซึ่งกะทินั้นยอดการส่งออกเมื่อปี 2563 ประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านบาทและในสหภาพยุโรปเป็นประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรร้อยละ 8 มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น [7]

ผู้ประกอบการระบุไม่มีการใช้ลิงในอุตสาหกรรมส่งออก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2563 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยว่าในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากมะพร้าวของไทยในปัจจุบันปลูกมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกไม่ได้ใช้แรงงานลิงเก็บ จะมีพื้นที่เฉพาะ มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีต้นเตี้ย เก็บง่าย มีกระบวนการผลิตที่ควบคุมทั้งจากเกษตรกร และผู้ประกอบการที่รับซื้อไปใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ในขั้นการส่งออกจะมีมาตรฐานสินค้า กระบวนการผลิต ซึ่งสินค้าไทยผ่านมาตรฐานจึงส่งไปขายได้ มีกระทรวงพาณิชย์ดูแลมาตรฐานอีกทาง

“คาดว่าภาพการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในไทยน่าจะมาจากภาคการท่องเที่ยว ละครลิง การโชว์เก็บมะพร้าวในชุมชน ทำให้ต่างชาติเกิดภาพจำแบบนั้น และคิดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นเช่นนั้นด้วย ขอยืนยันไม่มีแน่นอน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาด้วยภาพจำในอดีตว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ทำให้ไทยถูกตั้งคำถามจากองค์กรที่ดูแลสัตว์ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการก็มีการชี้แจง ทั้งทางตรง ทั้งผ่านกระทรวงพาณิชย์ มีคลิปวีดิโอกระบวนการผลิตยืนยัน แต่ปัจจุบันมีสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มักแชร์เหตุการณ์ในอดีตจนทำให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนคงจะชี้แจงต่อไป และจะประสานกับหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง และเป็นภาพบวกกับประเทศไทย” นายวิศิษฐ์ระบุ [8]

ต่อมา นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานกะทิชาวเกาะ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ยอมรับว่าตั้งแต่กระแสข่าวไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิชาวเกาะที่ประเทศอังกฤษ และถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างขนาดใหญ่ 2-3 ห้าง กระทบยอดขายหายไปร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ากระทบมาก เนื่องจากในรายงานของ PETA ได้ระบุชื่อแบรนด์กะทิชาวเกาะชัดเจน และลูกค้าที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการสอบถามแต่ยังไม่กระทบยอดขาย ซึ่งทางบริษัทมีการชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่ามีการใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหม่ ไม่มีการใช้แรงงานลิงอย่างแน่นอน และที่สำคัญบริษัทมีการทำ MOU กับชาวสวน ซัพพลายเออร์การเก็บมะพร้าวป้อนโรงงานจะต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น

ทั้งนี้ เท่าที่ได้มีการสอบถามโรงงานผลิตกระทิต่าง ๆ ของไทยที่มีอยู่ 15 ราย โดยใน 9 รายใหญ่ที่มีสัดส่วนผลิตมากกว่าร้อยละ 80-90 ยืนยันการผลิตกะทิในทางอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนทั้งสิ้น ส่วนโรงงานผลิตที่เหลือแม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนมากกว่าที่จะใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวอย่างแน่นอน [9]

สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยเตรียมเสนอคุ้มครองสวัสดิภาพของลิง

สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ระบุว่าภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว ช้าง แต่ยังไม่รวมสวัสดิภาพของลิง | ที่มาภาพประกอบ: Adam Baker (CC BY 2.0)

นายโรเจอร์ โลหะนันท์ ประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ระบุว่าเตรียมจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งออกกฎหมายการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในส่วนของลิง เข้าไปภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว ช้าง แต่ยังไม่รวมสวัสดิภาพของลิง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยมีการใช้แรงงานลิงอยู่จริง ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมมะพร้าว การท่องเที่ยว การแสดงละครสัตว์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีขององค์กรด้านพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ เพราะเชื่อว่าจะมีการนำประเด็นการทารุณสัตว์ออกมาเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงต้องเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่คนนำมาใช้แรงงาน และประกาศให้ทั่วโลกได้เข้าใจว่าไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่นำมาใช้แรงงานตามมาตรฐานที่สากลยอมรับกันต่อไป [10]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] COVID Threatens Spain’s Centuries-Old Bullfighting Tradition (Graham Keeley, VOA, 27 May 2020)
[2] Bullfighting (PETA, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 July 2020)
[3] Breaking: Monkeys Chained, Abused for Coconut Milk (PETA, July 2020)
[4] Supermarkets snub coconut goods picked by monkeys, (BBC, 3 July 2020)
[5] พณ.ออกโรงยันไม่ได้ทรมานลิงเก็บมะพร้าว หลังห้างอังกฤษแบนกะทิไทย ดึงเยี่ยมชมลบข้อครหา (สยามรัฐ, 5 ก.ค. 2563)
[6] ยืนยันใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม-ไม่ได้ทารุณสัตว์ (สำนักข่าวไทย, 5 ก.ค. 2563)
[7] พาณิชย์นัดถกแนวทางรับมืออุตสาหกรรมมะพร้าวไทย (สำนักข่าวไทย, 8 ก.ค. 2563)
[8] เอกชนยันไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว หลังห้างอังกฤษอ้างทารุณลิง (ประชาชาติธุรกิจ, 4 ก.ค. 2563)
[9] พาณิชย์นัดถกแนวทางรับมืออุตสาหกรรมมะพร้าวไทย (สำนักข่าวไทย, 8 ก.ค. 2563)
[10] เพิ่งอ้าง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: