เปิดแฟ้มสถานการณ์ NGO ไทย เจอปัญหา 'ความอยู่รอดทางการเงิน'

กองบรรณาธิการ TCIJ: 12 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 14034 ครั้ง

ข้อมูลจากรายงาน 'ดัชนีความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมไทย 2018' พบความยั่งยืนของ ‘องค์กรภาคประชาสังคม’ หรือ ‘NGOs’ ในประเทศไทยปี 2561 เสื่อมลงในทุกมิติ ประสบปัญหาและอุปสรรคในการจดทะเบียน-ความมั่นคงของแหล่งเงินทุนลดลง-คนทำงานลาออก ปี 2561 ผู้บริจาคต่างชาติรายใหญ่ลดความช่วยเหลือ ส่วนเงินบริจาคในประเทศพบคนไทยนิยมบริจาคให้ ‘วัด’ มากกว่าบริจาค NGOs | ที่มาภาพประกอบ: cloob.com

ในรายงาน 'ดัชนีความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมไทย 2018' จัดทำโดย Manushya Foundation ด้วยความร่วมมือกับ USAID, FHI360 และ ICNL เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ที่ได้รายงานถึงโอกาส อุปสรรค และทิศทางการพัฒนาขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยมีตัวชี้วัดใหญ่ 7 มิติ คือ สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย, สมรรถนะองค์กร, ความอยู่รอดทางการเงิน, การรณรงค์, การบริการทางสังคม, โครงสร้างพื้นฐานภาคประชาสังคม และภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ ซึ่งมีการให้คะแนนตัวชี้วัด 7 มิติใหญ่ จาก 1 – 7 (1 คือดีมาก 7 คือไม่ดี : ตัวเลขดัชนียิ่งน้อยยิ่งดี) แล้วนำคะแนนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ยรวม รวมถึงการวิเคราะห์เล่าเรื่องแต่ละมิติเพื่อแสดงสถานการณ์ความยั่งยืน สภาพปัญหาของภาคประชาสังคมในประเทศผ่านคะแนนที่ให้ แล้วเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายเพื่อการรับรู้ต่อไป การจัดทำรายงานจะจัดทำทุกปีเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพการเปลี่ยนแปลงและการถดถอยของภาคประชาสังคม

สำหรับรายงานดัชนีความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมไทย 2018 (พ.ศ. 2561) TCIJ ขอนำเสนอบางประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมโดยรวม, สมรรถนะขององค์กร และความมั่นคงทางการเงิน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมโดยรวมลดลงในทุกมิติ

ความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้เสื่อมลงในปี 2561 ซึ่งพบการลดลงในทุกมิติ ในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกฎหมายนั้นมีข้อท้าทายมากเป็นพิเศษ เพราะพบการล่วงละเมิดของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมากและองค์กรภาคประชาสังคม และยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคในการจดทะเบียน นอกจากนี้องค์กรภาคประชาสังคมเข้าถึงเงินทุนได้น้อยลงซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำงานขององค์กรลดลง โดยองค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่พยายามดิ้นรนเพื่อรักษาพนักงานไว้ ขณะที่การเงินและทรัพยากรมนุษย์ที่ลดลงพร้อมกับการล่วงละเมิดของรัฐที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการขัดขวางกิจกรรมของ 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' (คสช.) นำไปสู่การเสื่อมสภาพในการให้บริการและความสามารถขององค์กร

ทั้งนี้ คสช. ดำเนินการโดยปราศจากความโปร่งใสและขัดขวางการรณรงค์จำนวนมาก ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานอ่อนแอลง เนื่องจากองค์กรสนับสนุนคนกลาง (ISO) และศูนย์ทรัพยากรองค์กรภาคประชาสังคมพยายามที่จะเสนอบริการที่องค์กรภาคประชาสังคมสามารถจ่ายได้ ในท้ายที่สุดความพยายามของรัฐบาลในการตรวจสอบควบคุมสื่อและดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญของรัฐบาล ก็สามารถลดจำนวนสื่อองค์กรภาคประชาสังคม ส่งผลให้มีภาพลักษณ์สาธารณะแย่ลงไปด้วย

องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรหลากหลายประเภททั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน โดย 'มูลนิธิ' เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ สมาคม ชมรม กิจการเพื่อสังคม องค์กรชุมชน และการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า หน่วยงานในลักษณะดังกล่าวจะทำงานในประเด็นที่หลากหลายรวมถึงการถือครองที่ดิน สิทธิชุมชน สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การเพิ่มขีดจำกัดของสตรี และสิทธิแรงงาน นอกจากนี้องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรยังมุ่งหวังที่จะยกระดับสิทธิและสวัสดิการของกลุ่มคนที่เปราะบาง รวมถึงชนเผ่าพื้นเมือง ชาวนาและเกษตรกร แรงงานข้ามชาติ ผู้มีความหลากหลายทางเพศและบุคคลข้ามเพศ (LGBTI) พนักงานบริการทางเพศ คนที่อาศัยร่วมกับเอชไอวี คนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2561 ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับจำนวนองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนหรือยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย โดยจากรายงานของกระทรวงมหาดไทยสามารถบอกได้ว่ามีมูลนิธิและสมาคมประมาณ 27,000 แห่งที่กำลังดำเนินงานอยู่ในประเทศครอบคลุมระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2559 ถึง 31 มี.ค. 2560

สมรรถนะขององค์กรลดลงเล็กน้อย มีไม่กี่องค์กรสามารถพัฒนาแผนกลยุทธ์

สมรรถนะขององค์กรภาคประชาสังคมลดลงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับความยากลำบากที่เพิ่มขึ้น ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากความเข้มงวดของ คสช.ในพื้นที่ชนบท องค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งต้องดิ้นรนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่นในภาคใต้ตอนล่าง รัฐบาลตรวจสอบองค์กรอย่างเข้มงวดทำให้ชุมชนท้องถิ่นหลีกเลี่ยงการร่วมมือกับพวกเขา ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจกับทางเขตเลือกตั้งของพวกเขา ทำให้พวกเขาเข้าใจและตอบสนองความต้องการของเขตเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากเทียบกับองค์กรระดับรากหญ้าและนักปกป้องสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ ที่ทำหน้าที่จัดการกับความต้องการและการเรียกร้องของชาวบ้านในชนบท จะพบว่ามีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่มีความสามารถในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ และองค์กรเหล่านี้มักประสบกับความท้าทายในการนำแผนงานไปปฏิบัติ เนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากร ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมมักจะต้องพึ่งพาการให้ทุนตามโครงการและปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้บริจาค แทนที่จะปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ของตนเอง

นอกจากนี้ในปี 2561 องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย ต่างประสบปัญหาการลาออกของพนักงานเพิ่มขึ้น บวกกับความยากลำบากในการดูแลรักษาบุคลากรเนื่องจากการลดลงของเงินทุน ตัวอย่างเช่น จากความยากลำบากในการระดมทุนทำให้องค์กรภาคประชาสังคมที่มีเครือข่ายกว่า 21 แห่งในภาคใต้ต้องใช้อาสาสมัครถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับร้อยละ 70 -75 ในปีก่อนหน้า (2560 และ 2559) เครือข่ายดังกล่าวเลือกที่จะไม่เปิดเผยชื่อองค์กร เนื่องจากอาสาสมัครมักจะมีความลำบากในการหาเลี้ยงชีพ และการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในภาคใต้นั้นมีความท้าทายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้พวกเขามักจะลาออกเพื่อหารายได้จากที่อื่น การที่สุขภาพจิตของพนักงานแย่ลงและทำให้พนักงานลาออก ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างมาก ที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวได้แพร่หลายในหมู่องค์กรภาคประชาสังคมขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด ซึ่งพนักงานมักจะดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง

อีกหนึ่งปัญหาขององค์กรภาคประชาสังคมทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นคือ องค์กรส่วนใหญ่มักขาดโครงสร้างการจัดการภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรชุมชนและการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าที่ไม่มีทรัพยากรมนุษย์และระบบบัญชี ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้มากขึ้น มีทั้งสำนักงาน และคอมพิวเตอร์ แต่ขณะเดียวกันองค์กรระดับรากหญ้ายังคงใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวเพื่อสื่อสารกับผู้อื่นในเครือข่ายผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น Facebook และ LINE

แต่อย่างไรก็ตามความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อบริษัทเช่น Microsoft และ Oracle เสนอเครื่องมือและบริการฟรีให้กับองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ขององค์กร แต่องค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ จะไม่ทราบถึงการริเริ่มเหล่านี้

ความมั่นคงทางการเงินลดลง ผู้บริจาคต่างชาติรายใหญ่ลดความช่วยเหลือ

องค์กรภาคประชาสังคมยังประสบปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ พบว่าในปี 2561 องค์กรต่างประเทศที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้ประเทศไทยได้ลดความช่วยเหลือลง | ที่มาภาพประกอบ: localgood.org

ในรายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ความมั่นคงทางการเงินขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยลดลงเล็กน้อยในปี 2561 เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น จึงมีทรัพยากรน้อยลง โดยเฉพาะสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชนบทที่มีทรัพยากรจำกัดบวกกับความสามารถของพนักงานในการระดมทุนที่มีจำกัด เนื่องจากประเทศไทยย้ายจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงล่าง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงในปี 2554 ผู้บริจาคจากต่างประเทศจึงเปลี่ยนลำดับความสำคัญในการบริจาคไปยังประเทศที่ยากจนกว่า องค์กรภาคประชาสังคมของไทยจึงต้องพึ่งแหล่งเงินทุนในประเทศซึ่งสามารถเข้าถึงได้ยาก

ในปี 2561 กระทรวงต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนในรูปของเงินทุนแก่องค์กรภาคประชาสังคม ตัวอย่างเช่นกระทรวงวัฒนธรรมที่มอบเงินทุนให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมรวม 10 โครงการด้านวัฒนธรรม เช่น ดนตรีเพื่อคนตาบอด และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลไทยดูเหมือนจะลังเลที่จะให้เงินแก่องค์กรภาคประชาสังคม โดยหลังจากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งเป็นผู้แหล่งทุนรายใหญ่ขององค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งที่ทำงานด้านสุขภาวะ มีปัญหาเรื่องการเงินกับรัฐบาลในปี 2558 ทำให้ทางรัฐบาลระงับเงินกองทุน แต่ทว่ารัฐบาลได้กลับมาระดมทุนสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมอีกครั้งในปี 2561 แต่กำหนดกฎระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินดังกล่าว  นอกจากนี้ในทางตรงกันข้ามกับปีก่อนหน้า (2560) รัฐบาลไม่ได้ให้เงินที่มาจากภาษีร้อยละ 2 สำหรับแอลกอฮอล์และยาสูบในปี 2561 แก่ สสส. และยังไม่มีระบบการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในการดำเนินโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

นอกจากนี้ในปี 2561 รัฐบาลได้คุกคามองค์กรภาคประชาสังคมและผู้สนับสนุนเงินทุนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ตัวอย่างเช่น ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารขู่ว่าจะลดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หากมหาวิทยาลัยเหล่านั้นร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม และยังได้เตือนอาจารย์และนักเรียนไม่ให้มีส่วนร่วมในการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมุมมองของรัฐที่เชื่อว่าการระดมทุนมักจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น การประท้วงโครงการพัฒนาและการเรียกร้องแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

องค์กรภาคประชาสังคมยังประสบปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงเงินทุนต่างประเทศ ในปี 2561 องค์กรต่างประเทศที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้ประเทศไทยได้แก่ USAID, สถานทูตแคนาดาผ่านกองทุนแคนาดาเพื่อการริเริ่มท้องถิ่น (CFLI), สถานทูตอังกฤษผ่านกองทุน Magna Carta และสถานทูตญี่ปุ่นความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นภายใต้โครงการความช่วยเหลือเป็นทุนเพื่อโครงการความมั่นคงของมนุษย์ระดับรากหญ้า (GGP) ทั้งหมดนี้ต่างลดลงอย่างมากในปี 2561 เช่น โครงการ GGP สนับสนุน 4 โครงการรวมมูลค่า 8 ล้านบาท (ประมาณ 255,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2561  แต่ในปี 2560 เคยสนับสนุน 8 โครงการรวมมูลค่า 19 ล้านบาท (ประมาณ 606,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลให้องค์กรชุมชนหลายองค์กรในพื้นที่ชนบทเผชิญกับความท้าทายเป็นพิเศษรวมถึงกำแพงภาษาเนื่องจากผู้บริจาคมักจะพูดภาษาอังกฤษ นอกจากนี้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ละเอียดอ่อน เช่น สุขภาพ การเจริญพันธุ์ และสิทธิ LGBTI ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของการสนับสนุนจากต่างประเทศที่ขึ้นอยู่กับการบริหารที่แตกต่างกัน

จากข้อมูลของ AIDSPAN พบว่าผู้ติดตามอิสระของกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (กองทุนโลก) กองทุนโลกให้เงิน 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิรักษ์ไทยที่ขอทุนสำหรับเอชไอวีในประเทศไทย ระหว่างปี 2561-2563 เงินบางส่วนที่ได้รับจากมูลนิธิรักษ์ไทยจะนำไปจัดสรรให้กับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ แม้ว่าประเทศไทยได้วางแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้เงินทุนภายในประเทศสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีภายในปี 2560 แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายคนแสดงความกังวลว่าการระดมทุนในประเทศนั้นไม่เพียงพอและรัฐบาลพยายามที่จะปฏิเสธการบริการป้องกันเอชไอวีโดยเฉพาะในกลุ่มหลักอย่างในชายรักชาย

คนไทยโดยทั่วไปเลือกที่จะบริจาคเงินให้กับวัดแทนที่จะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม | ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ

ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมยังต้องต่อสู้เพื่อระดมทุนจากสาธารณะ ท่ามกลางความเชื่อทางพุทธศาสนาและภาพลักษณ์เชิงลบขององค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ คนไทยจึงเลือกที่จะบริจาคเงินให้กับวัดแทนที่จะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม โดยบริษัทบางแห่งได้ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) ของบริษัท แต่ความร่วมมือดังกล่าวยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากแนวทางและกลยุทธ์การทำงานมีความขัดแย้งกัน นอกจากนี้หลายๆ บริษัทดูเหมือนจะดำเนินงานด้าน CSR เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงของพวกเขาผ่านโครงการการกุศลมากกว่าที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ผ่านการมีส่วนร่วมที่มีความหมายกับองค์กรภาคประชาสังคม

นอกจากนี้องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยพยายามสร้างทรัพยากรของตนเอง ด้วยการระดมทุน ซึ่งนอกเหนือไปจากการระดมทุนแล้ว องค์กรชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยกลุ่มชนพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบต้องระดมทุนด้วยการขายสินค้า เช่น เสื้อผ้าและสิ่งทอ ในขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในภาคใต้ของประเทศไทยได้จัดตั้งธุรกิจขนาดเล็กเพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ขาดความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ในภาพรวมของปี 2561 องค์กรภาคประชาสังคมมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการเริ่มสร้างกิจการเพื่อสังคม ที่ไม่มีระบบการจัดการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรภาคประชาสังคมขนาดเล็ก องค์กรชุมชน และการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า องค์กรเหล่านี้ล้วนขาดระบบการทำบัญชีที่เป็นสากล โดยส่วนใหญ่ใช้การทำบัญชีขั้นพื้นฐานเท่านั้น และที่สำคัญคือการเก็บรักษาข้อมูลนั้นมักจะถูกเก็บบนกระดาษและสิ่งพิมพ์มากกว่าทางอิเล็กทรอนิกส์

อนึ่ง ในรายงานฉบับนี้ระบุว่าความคิดเห็นที่แสดงในที่นี้เป็นของผู้เข้าร่วมโครงการและนักวิจัย ไม่ใช่การสะท้อนจากมุมมองของ USAID หรือ FHI 360

 

สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มจาก Manushya Foundation ภาษาอังกฤษ | ภาษาไทย 

 

*TCIJ ได้ทำการแก้ไขข้อมูลบางส่วนของรายงานจากคำแนะนำของผู้อ่านเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: