ผลการวิจัยชี้คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง แนะควรส่งเสริมให้พยาบาลมีสมดุลชีวิตกับการทำงาน และความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ค Thiravat Hemachudha
Nursing Research and Innovation Network of Thailand รายงานเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2563 ว่านายปราโมทย์ ถ่างกระโทก อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ในฐานะเลขานุการเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย (Nursing Research and Innovation Network of Thailand) กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของสมดุลชีวิตกับการทำงาน และความพึงพอใจในงานต่อคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทย" โดยดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จำนวน 400 ตัวอย่าง ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ผลการวิจัยพบว่า
คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลีย 78.90 จาก 130 คะแนน) สมดุลชีวิตกับการทำงานของพยาบาลวิชาชีพไทยอยู่ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.44 จาก 5 คะแนน) ความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพไทยอยู่ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.37 จาก 5 คะแนน) ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานและความพึงพอใจในงานมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
อาจารย์ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากปัจจุบันวิชาชีพพยาบาลประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทำให้พยาบาลมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบภาระงานและอัตรากำลังด้านการพยาบาลพบว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราภาระงานเพิ่มมากขึ้นสูงเกือบร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่อัตรากำลังด้านการพยาบาลเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น
ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพที่มีคะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสได้พักผ่อนคลายเครียดน้อย รวมถึงพยาบาลส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากนี้การศึกษาก่อนหน้านี้ยังพบว่า พยาบาลวิชาชีพมีปัญหาการนอนหลับและมีความชุกของคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีสูงถึงร้อยละ 65.1 ถึง 93.3 ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากลักษณะการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการผลัดเปลี่ยนการขึ้นเวรทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้แบบแผนการนอนหลับและการพักผ่อนเปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับพักผ่อน เช่น เวลาในการนอนไม่เพียงพอ การนอนหลับยาก การนอนหลับไม่สนิท การใช้ยานอนหลับ เป็นต้น
อีกทั้งภาระงานของพยาบาลวิชาชีพที่เพิ่มมากขึ้นจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นและผลจากการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่า พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจต่อการจัดสรรอัตรากำลังในการทำงานของหน่วยงานน้อยที่สุด จึงส่งผลให้พยาบาลมีโอกาสได้พักผ่อนน้อยและมีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ทำให้พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง
นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการที่พยาบาลมีสมดุลชีวิตกับการทำงานส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากสมดุลชีวิตกับการทำงานเป็นการรักษาสมดุลระหว่างแบบแผนการดำเนินชีวิตส่วนตัวและแบบแผนการทำงานให้สามารถดำเนินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาพบว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับน้อย ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่พยาบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการให้ตนเองมีดุลยภาพระหว่างชีวิตกับการทำงานได้ เนื่องจากพยาบาลส่วนใหญ่มีภาระเพิ่มมากขึ้นจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ผลการศึกษายังพบอีกว่า พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในงานอยู่ในระดับน้อย ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่พยาบาลรับรู้ว่าองค์การมีนโยบายหรือมาตรการในการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากร และมีการจัดสวัสดิการในการทำงานและนอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานในระดับน้อย ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจและการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและเพียงพอแก่พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
อาจารย์ปราโมทย์ กล่าวทั้งท้ายว่า พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้นการส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีสมดุลชีวิตกับการทำงานและความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดสรรอัตรากำลังในการทำงานของหน่วยงานให้เพียงพอ มีกระบวนการพิจารณาความดีความชอบบุคลากรในหน่วยงานที่เหมาะสม มีนโยบายหรือมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรที่ดีขึ้น และมีการจัดสวัสดิการในการทำงานและนอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานให้เพียงพอและเหมาะสม จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถธำรงรักษาบุคลากรทางการพยาบาลไว้ในองค์การ ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณค่าในการพยาบาลแก่ประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น
ที่มา: การวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของสมดุลชีวิตกับการทำงานและความพึงพอใจในงานต่อคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทย" โดย อาจารย์ปราโมทย์ ถ่างกระโทก วท.ม. (สาธารณสุขศาสตร์) พย.ม. (การบริหารการพยาบาล) อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สกาชาดไทย อาจารย์ภราดร ยิ่งยวด พย.ม. (การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน) อาจารย์วินัย ไตรนาทถวัลย์ พย.ม. (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี และเอกกมล ไชยโม พย.บ. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี
หมายเหตุ: เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นควรมีการศึกษาระยะยาวเพื่อให้สามารถวัดระดับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ส่งแบบสอบถามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และใช้แบบสอบถามออนไลน์ ดังนั้นการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างอาจยังไม่เป็นตัวแทนของประชากรได้ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผลการศึกษาคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพมีความแตกต่างออกไปจากความเป็นจริงได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ