ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน .com เริ่มตรวจสอบสถานะแล้ว โดยบางส่วนพบว่าไม่ได้รับสิทธิ์ ด้วยเหตุผลเป็นเกษตรกรทั้งที่ประกอบอาชีพอื่นอยู่ ด้านกระทรวงการคลัง แจงหากครอบครัวเป็นเกษตรกรรัฐใช้ฐานข้อมูลเดิมนับเป็นเกษตรกรหมด - ปมคนทำงานเรียน ป.โท–ป.เอก ไม่ได้เงินเยียวยา เหตุฐานข้อมูลอยู่ในสถาบัน - รับระบบมีปัญหาพร้อมเปิดอุทธรณ์สำหรับคนไม่ได้เงินเยียวยา
Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ว่าจากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่เหตุผลที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาช่วงสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 5,000 บาท ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำวานนี้ หลัง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เปิดให้ตรวจสอบสถานะบนเว็บไซต์ โดยผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์จะมีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมผ่านหน้าเว็บไซต์ด้วย
#ทําไมไม่ได้5พัน กลายเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีผู้กล่าวถึงกว่า 142,000 ทวีต โดยบางส่วนพบว่าเหตุผลที่ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและข้อมูลที่กรอกผ่านเว็บไซต์เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์แต่อย่างใด
ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่มีเหตุผลขึ้นว่าไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากเป็นเกษตรกร โดยระบุว่า ภาครัฐจะได้มีโครงการ/มาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในโอกาสต่อไป จึงใคร่ขอสงวนสิทธิการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยานี้
ขณะที่บางส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิดชั่วคราว แต่ไม่ได้รับสิทธิ์โดยมีเหตุผลว่า เป็นนักเรียน/นักศึกษา ที่มิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก ทั้งนี้ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีมาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่มีหนี้กับ กยศ.แล้ว จึงใคร่ขอสงวนสิทธิการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยานี้
ขั้นตอนลงทะเบียน ต้องใส่รายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพ?
Thai PBS ตรวจสอบขั้นตอนการลงทะเบียน พบว่า ในส่วนการกรอกข้อมูลนั้นต้องมีการกรอกประวัติส่วนตัว ทั้งชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด และเลขบัตรประชาชน และที่อยู่
จากนั้นผู้ลงทะเบียนต้องเลือกระยะเวลาในการประกอบอาชีพ และเลือกคำตอบว่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในเรื่องใด โดยประกอบไปด้วย
- ธุรกิจถูกปิดชั่วคราว
- ถูกสั่งพักงาน เลิกจ้าง
- รายได้ลดลง
- อื่นๆ
พร้อมให้เลือกว่ามีนายจ้าง หรือไม่มีนายจ้าง (ประกอบอาชีพอิสระ) โดยมีหลายอาชีพให้เลือก เช่น ค้าขาย หาบเร่แผงลอย รับจ้างทั่วไป - ก่อสร้าง มัคคุเทศก์ ขับรถรับจ้าง ขายล็อตเตอรี่ และอาชีพอิสระอื่นๆ เป็นต้น โดยในส่วนนี้ หากเลือกอาชีพใดจะมีช่องให้กรอกอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง หรือให้แนบเอกสารในบางอาชีพ
จากข้อมูลที่ให้กรอกในขั้นตอนลงทะเบียน จะพบว่า ผู้ที่ต้องการรับสิทธินั้นต้องกรอกทั้งเหตุผลที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งบางคนเป็นเจ้าของกิจการที่ถูกสั่งปิด หรือเป็นลูกจ้างถูกพักงานหรือเลิกจ้าง ต้องเลือกผลกระทบในข้อที่เป็นธุรกิจถูกปิดชั่วคราว หรือถูกสั่งพักงาน เลิกจ้าง แต่กลับได้รับเหตุผลว่าเป็นเกษตรกรซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากรายได้ลดลง
อีกทั้งในขั้นตอนต่อมาที่ให้เลือกอาชีพในรูปแบบที่ชัดเจน คือ มีชื่ออาชีพ และให้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะกรอกข้อมูลผิดพลาด จนนำไปสู่การประเมินผลคลาดเคลื่อน และกลายเป็นอาชีพเกษตรกรไปได้
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังจากการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่า ในรอบที่ 1 ได้มีการตรวจสอบคัดกรองไปแล้ว 7.99 ล้านราย
สำหรับกลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 4.78 ล้านราย จะทยอยได้รับ SMS แจ้งผลการพิจารณาในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย.นี้ โดยส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากได้รับการดูแลผลกระทบจาก COVID-19 โดยรัฐบาลผ่านช่องทางอื่น เช่น ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิประกันสังคม เกษตรกร เป็นต้น หรือกลุ่มที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งยังคงมิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้รับการดูแลผ่านช่องทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์
ตามที่มีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงการไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็น ที่ถูกระบุว่าเป็น "เกษตรกร" นั้น (จึงไม่ได้รับสิทธินั้น) ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า เกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทุกปีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการขึ้นทะเบียนจะเป็นราย “ครอบครัว”
โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นคนขึ้นทะเบียน และในการกรอกรายละเอียดสมาชิกในครอบครัวจะให้ระบุด้วยว่า มีสมาชิกในครอบครัวกี่คนเป็นใครบ้างและสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรมมีกี่คนคือใครบ้าง
ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรชุดเดียวกันนี้ ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นค่าเพาะปลูก ค่าเก็บเกี่ยว ค่าปัจจัยการผลิตเป็นต้น
“ในการคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนอาชีพเกษตรกรรมและสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรม ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรไม่ผ่านเกณฑ์ และจะมีการดูแลโดยมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะเร็วๆ นี้” นายลวรณ ระบุ
ปมคนทำงานเรียน ป.โท–ป.เอก ไม่ได้เงินเยียวยา เหตุฐานข้อมูลอยู่ในสถาบัน
กรณีผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เนื่องจากระบบแจ้งว่ามีสถานะเป็นนักเรียน นักศึกษา ทำให้หลายคนสงสัยว่าตัวเองทำงานแล้วกำลังเรียนต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก แต่กลับไม่ได้รับเงินเยียวยา บางคนอายุ 50 – 60 ปีแล้ว แต่ระบบก็ยังแจ้งว่าเป็นนักเรียน นักศึกษาด้วย เรื่องนี้ทางกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าเนื่องจากฐานข้อมูลอาจจะอยู่ในสถาบันการศึกษา ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไป
รับระบบมีปัญหาพร้อมเปิดอุทธรณ์สำหรับคนไม่ได้เงินเยียวยา
นายลวรณ ยังระบุว่าอย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง เตรียมเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์เยียวยาดังกล่าว สามารถยื่นอุทรณ์ได้ หลังจากที่ระบบได้ทำการคัดกรองผู้ลงทะเบียนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 27 ล้านราย โดยผู้ที่ผ่านการอุทรณ์จะยังมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือนเช่นเดิม เนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์
ทั้งนี้ การตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะทยอยแจ้งผลการคัดกรองและโอนเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่องทุกวันทำการ ซึ่งรอบที่ 2 จะทยอยส่ง sms แจ้งผลและโอนเงินในวันที่ 13-14 เม.ย. นี้ ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ประมาณ 6 แสนราย
สำหรับข้อมูลล่าสุด กระทรวงการคลังตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนไปแล้ว 7.99 ล้านราย/ผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม 1.53 ล้านราย และไม่ผ่านเกณฑ์ 4.78 ล้านราย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลผ่านช่องทางอื่น
ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS | news.ch7.com | ch3thailandnews.bectero.com
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ