นักวิชาการชี้ชุมนุม 14 ต.ค. ไม่กระทบเศรษฐกิจแย่ลงอีก หากไม่มีความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4104 ครั้ง

นักวิชาการชี้ชุมนุม 14 ต.ค. ไม่กระทบเศรษฐกิจแย่ลงอีก หากไม่มีความรุนแรง

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ต.ค. 2563 จะไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจให้แย่ลงอีกตราบเท่าที่ไม่มีความรุนแรง ไม่ยืดเยื้อ ทางการสามารถคุ้มครองความปลอดภัยและไม่ใช้วิธีข่มขู่คุกคามสกัดการชุมนุมอันทำให้เกิดการการเผชิญหน้ามากขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวประชาไท

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม. รังสิต เปิดเผยว่าเศรษฐกิจช่วงสองเดือนสุดท้ายน่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างโดยภาพรวม ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยว ภาคการบริโภคจะขยายตัวเป็นบวกเพิ่มเติมจากไตรมาสสามที่ผ่านมาแต่ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับสองเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว มาตรการกระตุ้นการบริโภคลดภาษีชิม ช้อป ใช้ ในระดับปัจเจกบุคคลจะมีประสิทธิผลกระตุ้นบุคคลให้ใช้จ่ายน้อยกว่าปีที่แล้วเนื่องจากปลายปีนี้คนจำนวนมากไม่รู้สึกว่ามีความมั่นคงในงาน คนจำนวนไม่น้อยถูกลดเงินเดือนและเข้าสู่โครงการเกษียณก่อนกำหนดและถูกออกจากงาน แต่มีประสิทธิภาพในการสร้างการหมุนเวียนของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากกว่าเดิมเนื่องจากมีการออกแบบให้การใช้จ่ายให้มีการกระจุกตัวเฉพาะในเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่น้อยลง เม็ดเงินกระจายไปยังผู้ค้ารายย่อยรายเล็กมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกำลังซื้อในภาคชนบทและภาคเกษตรกรรมอ่อนแอลงจากผลกระทบปัญหาอุทกภัย หากประเทศไทยไม่มีการลงทุนในระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่านี้ ระบบการผลิตในภาคเกษตรกรรมจะมีความผันผวนและเกิดการชะงักงันจากภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการระบาดระลอกสองของโรค Covid-19 ตามแนวชายแดนพม่าเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจและอาจเป็นปัญหาสาธารณสุขในระยะต่อไปได้ ส่วนวิกฤติรัฐธรรมนูญแม้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญแต่สามารถแก้ไขได้หากผู้มีอำนาจรัฐยึดเวทีรัฐสภา ไม่แก้ปัญหานอกวิถีทางประชาธิปไตยและกฎหมาย

ส่วนการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงสองเดือนสุดท้าย ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์เริ่มมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตส่วนเกินยังมีอยู่จำนวนมากและอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในภาคการลงทุนเอกชนในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐจะติดขัดในเรื่องกลไกภาครัฐ เป็นรัฐรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายและมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่าย เห็นด้วยกับการเปิดประเทศบางส่วน เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Long Stay โดยจำกัดจำนวนเน้นคุณภาพ โดยมีการควบคุมตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ควรนำโครงการอิลีท การ์ดที่ถูกยุบไปแล้วนำมาศึกษาและดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง

นายอนุสรณ์ ด้กล่าวทิ้งท้ายถึง การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ต.ค. จะไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจให้แย่ลงอีกตราบเท่าที่ไม่มีความรุนแรง ไม่ยืดเยื้อ ทางการสามารถคุ้มครองความปลอดภัยและไม่ใช้วิธีข่มขู่คุกคามสกัดการชุมนุมอันทำให้เกิดการการเผชิญหน้ามากขึ้น ทางออกตอนนี้ คือ รัฐสภาเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ จัดให้มีการลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที รวมทั้งเปิดการเจรจาหารือสานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดาผลได้ สร้างผลกระทบทางลบต่อพี่น้องชาวไทยทุกคนทุกระดับไปอีกยาวนาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: