กทม. เปิดวงรับฟังความเห็น ‘ผู้ค้า-ภาครัฐ’ จัดทำข้อตกลง ‘หาบเร่แผงลอย’ เพื่ออยู่ร่วมกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4593 ครั้ง

กทม. เปิดวงรับฟังความเห็น ‘ผู้ค้า-ภาครัฐ’ จัดทำข้อตกลง ‘หาบเร่แผงลอย’ เพื่ออยู่ร่วมกัน

กทม. จับมือ สช. และภาคีเครือข่าย จัดวงระดมความคิดเห็น “ผู้ค้า-ภาครัฐ” ต่อประเด็น “หาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะ กทม.” ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ 26 พ.ย.นี้ เพื่อหาข้อตกลง-นโยบาย ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

เมื่อวันที่วันที่ 5 พ.ย. 2563 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่อง “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 พ.ย.นี้

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้าคณะทำงานวิชาการประเด็นฯ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หาบเร่แผงลอยถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายประชากรเข้ามาอาศัยและทำงานใน กทม. รวมถึงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของ กทม. ที่มีจำกัดเพียง 1,500 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของ กทม. และประเทศไทย ซึ่งในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ ยังได้เห็นมุมของการเป็นแหล่งอาหาร และเป็นจุดเชื่อมต่อในห่วงโซ่อาหารที่ส่งเข้ามาสู่เมืองด้วย นอกจากนี้ หาบเร่แผงลอยก็เป็นโอกาสให้คนจำนวนหนึ่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช่วงหลังวิกฤตอีกด้วย “เรื่องหาบเร่แผงลอยมีทั้งสองด้าน มีประโยชน์และมีปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการด้วย ฉะนั้น ในสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ที่จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกปีนี้ จึงมีการหยิบยกประเด็นหาบเร่แผงลอยขึ้นมา เพื่อหาข้อตกลงร่วม หรือนโยบายสาธารณะที่จะเป็นทิศทางในการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน”

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างนโยบายสาธารณะ ที่วางเป้าหมายการจัดการหาบเร่แผงลอย กทม. ภายใน 5 ปี โดยมีแนวทางที่น่าสนใจ เช่น ชะลอการยกเลิกจุดผ่อนผันที่ยังเหลืออยู่ กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาพื้นที่ทำการค้า ประชาพิจารณ์ และคัดเลือกผู้ค้าโดยเร็ว จัดตั้งกลไกระดับพื้นที่เพื่อบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ รวมถึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการดำเนินงาน โดยข้อเสนอเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ

รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ รองประธานกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 กล่าวว่า การจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งแรกนี้ นับเป็นความท้าทาย เพราะ กทม. เป็นมหานครที่มีความหลากหลายในทุกมิติ แต่โจทย์ใหญ่จะสร้างเมืองเพื่อสุขภาวะของทุกคนได้อย่างไร ซึ่งไม่เฉพาะกับผู้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังรวมถึงผู้ที่เดินทางไปมาและมีส่วนเกี่ยวพันทั้งหมดด้วย “กระบวนการสมัชชาสุขภาพได้พิสูจน์คำตอบในหลายเรื่อง ที่เราสามารถพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะเกิดนโยบายจากล่างขึ้นบน เป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นทิศทางการพัฒนาของ กทม.ในเรื่องนี้ และทุกคนเข้ามามีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น”

ขณะที่ นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นนั้น เป็นสิ่งที่เคยมีการทำกันมาอยู่แล้ว แต่กระบวนการสมัชชาสุขภาพนั้นมีแนวทาง มีวิธีการเฉพาะที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสีย มาร่วมกันเรียนรู้ วิเคราะห์ และหาจุดร่วมที่คำนึงถึงทุกฝ่าย สู่การบรรลุในเป้าหมายนั้นร่วมกัน

ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการในวันนี้นอกจากจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปปรับร่างนโยบายให้ดีขึ้น ยังถือเป็นการซักซ้อมก่อนเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ที่ทุกคนจะเข้ามาร่วมกันหาฉันทมติ หรือสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องตรงกัน “แม้จะมีทั้งส่วนที่เห็นตรงหรือเห็นต่างกัน แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเพียงแค่เราเริ่มเดินไปด้วยกัน เปิดใจรับฟัง สุดท้ายก็จะนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้”

อนึ่ง สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 จะมีการจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ย. 2563 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง โดยมีการพิจารณาสองระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร และระเบียบวาระการจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของคนกรุงเทพมหานคร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: