กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุหลังจากฟื้นฟูมาหลายปี ขณะนี้บางพื้นที่ของกรุงเทพและปริมณฑลสามารถเจาะ-ใช้ 'น้ำบาดาล' อย่างปลอดภัยได้แล้ว วันละ 2 แสนคิว ส่งช่วยชาวสวนได้ทันที | ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2563 ว่านายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้น้ำดิบที่ใช้สำหรับทำน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค มีรสเค็ม ซึ่งปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะยังมีการใช้น้ำผิวดินทำเป็นน้ำดิบอยู่ ซึ่งในต่างประเทศหลายๆประเทศจะไม่ใช้น้ำดิบน้ำน้ำประปา แต่จะใช้น้ำบาดาลแทน สำหรับประเทศไทยนั้นสามารถดึงน้ำดิบจากน้ำบาดาลมาทำน้ำประปาได้ และหากทำกันอย่างจริงจัง จะไม่เกิดปัญหาน้ำประปาเค็มอีกเลยตลอดไป ไม่ว่าน้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาสูงแค่ไหนก็ตาม
"วิธีการที่ว่าคือ การเจาะบ่อบาดาลใกล้กับแม่น้ำในระยะ 1-2 กิโลเมตรขึ้นไป โดยขุดเป็นบ่อขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 เมตร ขุดลึกลงไป 20-25 เมตร ขึ้นไปบริเวณก้นบ่อ จะมีการขุดแบบแนวนอน ความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับความต้องการน้ำที่ต้องการ น้ำจะไหลเข้าบ่อขนาดใหญ่ ผ่านบ่อบาดาลแนวนอน น้ำที่ได้มานั้น จะเป็นน้ำผสมระหว่างน้ำผิวดินที่ผ่านการกรองจากชั้นกรวดหินดินทราย และน้ำบาดาล เรียกวิธีการดังกล่าวนี้ว่า ริเวอร์ แบงค์ ฟิวเตชัน (Riverbank Filtration) หรือ RBF ปริมาณของน้ำที่ได้ ขึ้นอยู่กับน้ำในแม่น้ำหลัก นั่นหมายถึง ถ้าน้ำในแม่น้ำไม่แห้ง น้ำตรงนี้ก็มีให้ใช้ได้เรื่อยๆตลอดไป" นายศักดิ์ดา กล่าว
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่าสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้นเหมาะสมสมที่สุดคือ ใช้วิธี RBF บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนของกรุงเทพ คือ บริเวณ จ.ชัยนาท ไปถึง จ.นครสวรรค์ แม้ว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครเวลานี้สามารถเจาะน้ำบาดาลได้แล้ว แต่ทำในพื้นที่ จ.ชัยนาท ขึ้นไปนั้นเหมาะสมที่สุด เนื่องจาก โดยทั่วไปแล้ว กรุงเทพฯมีชั้นดินเหนียวประมาณ 25 เมตร หลังจากนั้นจะเป็นชั้นทรายชายหาด และชั้นกรวดทราย ซึ่งต้องเจาะลึกถึงประมาณ 350-400 เมตร แต่พื้นที่เหนือกรุงเทพขึ้นไป จะมีชั้นดินเหนียวน้อยกว่า และจะมีชั้นกรวดทรายเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้น้ำขึ้นมาแล้ว สามารถต่อท่อกับระบบการประปาที่มีอยู่แต่เดิม ส่งน้ำเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เลย งบประมาณการขุดบ่ออาจจะสูงในระยะแรกคือ บ่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว จะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับในระยะยาว ที่จะไม่มีปัญหาน้ำเค็ม และน้ำขาดแคลนถือว่าคุ้มค่าที่สุด
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า การเอาน้ำบาดาลใกล้แม่น้ำมาใช้นั้นปัจจุบันนี้บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม โรงงานกระดาษ โรงงานฟอกย้อม ในประเทศไทยก็ใช้ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเอาตัวเองไปเสี่ยงกับน้ำผิวดินที่อาจจะขาดแคลน หรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปในบางฤดูกาลได้ ซึ่งจะทำให้คุณภาพสินค้าเปลี่ยนไปด้วย
"น้ำบาดาลถือเป็นน้ำต้นทุนที่ผมพูดได้เลยว่าจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งกับน้ำเค็มที่เกิดขึ้นในเวลานี้ และอาจจะรุนแรงได้ในอีก 1-2 เดือนต่อจากนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า น้ำขวดที่เราดื่มกันทุกวันนี้ หาดเป็นบ่อบาดาลในกรุงเทพนั้น เป็นน้ำที่มีอายุมากกว่า 1 พันปี เพราะบ่อบาดาลในกรุงเทพนั้น เป็นน้ำที่ไหลมาจากนครสวรรค์ ชัยนาทผ่านชั้นกรวด หินดินทราย หากเป็นกรวดหินดินทรายที่ละเอียดมาก ก็จะเดินทางช้าหน่อย แต่เฉลี่ยแล้ว น้ำพวกนี้จะเคลื่อนที่ได้วันละประมาณ 5 เซนติเมตร กว่าจะมารวมตัวกันในแอ่งบาดาลกรุงเทพได้กินเวลานับพันๆปี ถือว่าน้ำบาดาลในกรุงเทพฯเป็นแหล่งบาดาลที่มีคุณภาพดีที่สุด" นายศักดิ์ดา กล่าว
นายบรรจง พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟู กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่าเวลานี้ที่เกิดปรากฏการณ์น้ำเค็มแทรกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลเข้าไปในท้องร่อง คูคลองในจังหวัดปริมณฑลหลายแห่ง เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ทำให้ชาวสวน ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น สวนกล้วยไม้ สวนทุเรียน โดยเวลานี้เกษตรกร หรือแม้แต่หน่วยงานราชการหลายแห่งยังไม่ทราบว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถเข้าไปช่วยได้ แต่พื้นที่ ที่มีปัญหาจะต้องร้องขอมาก่อน
"ถึงเวลานี้ หลายคนยังคิดว่า กรุงเทพและปริมณฑล ยังไม่สามารถขุดบ่อบาดาลได้ เพราะมีปัญหาแผ่นดินทรุด แต่ขอเรียนว่า หลังจากพื้นที่ฟื้นฟูมาหลายปี จนถึงขณะนี้ บางพื้นที่สามารถเจาะบ่อบาดาลได้แล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถยอมรับให้สูบน้ำได้อย่าง ปลอดภัย (Safe Yield) ในปริมาณ 1,246,609 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งการใช้น้้ำบาดาลในปัจจุบัน ในปี สรุปการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามปริมาณน้ำที่ใช้จริง 283,120 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน ทำให้คำนวณปริมาณน้ำคงเหลือได้ 963,489 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แม้ว่าในภาพรวม จะยังคงมีปริมาณ น้ำคงเหลือให้ใช้ถึง 963,489 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผมคิดว่า การเจาะบ่อบาดาลมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มให้เกษตรกรเวลานี้เพียงชั่วขณะในฤดูแล้ง ไม่น่าจะมีปัญหาทำให้ดินทรุด เพราะเมื่อหมดฤดูแล้งก็หยุดสูบน้ำแล้ว พื้นที่จะมีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ไหนต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อมาที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นพื้นที่ไป" นายบรรจง กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ