ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยยังเดินหน้าควบรวม 'ทีโอที-กสท' ชี้ยังไม่สรุปหน่วยงานใหม่ พ่วง 'มหาชน' หรือไม่
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 ว่านางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความคืบหน้าในการควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที ว่า ได้มอบนโยบายถึงรายละเอียดและกรอบการทำงานให้คณะทำงานควบรวมแล้วก่อนที่คณะทำงานควบรวมประชุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการควบรวมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในการควบรวมรัฐวิสาหกิจ จึงต้องมีขั้นตอนการควบรวมตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพิ่มเติมเข้ามาอยู่ในกระบวนการด้วย จึงต้องมีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงแรงงานเข้ามาอยู่ในคณะทำงานควบรวมด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องชื่อบริษัทว่าจะใส่คำว่า มหาชน ในชื่อบริษัทใหม่หรือไม่นั้น เรื่องนี้กำลังดำเนินการเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเติมชื่อเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตามชื่อของ 2 บริษัทแม่ คาดว่าไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงชื่อ เพราะจริงๆแล้วในการเสนอชื่อต่อครม.นั้นระบุแค่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ไม่มีคำว่า จำกัด หรือ มหาชน และยังไม่ได้จดทะเบียนแต่อย่างใด แต่เพื่อความชัดเจนจำเป็นต้องเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเรื่องของทรัพย์สินทั้ง 2 บริษัท ไม่จำเป็นต้องตีมูลค่าทรัพย์สินว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่เพราะการควบรวมครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนชื่อของทั้ง 2 บริษัท ทรัพย์สินทั้ง 2 บริษัท เพียงแค่ทำการเปลี่ยนชื่อเจ้าของทรัพย์สินได้เพียงแต่ต้องมีการจดรายการทรัพย์สินให้ละเอียดว่าทั้ง 2 บริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง
ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 มีการประชุมคณะทำงานควบรวมกิจการชุดใหญ่ครั้งแรก ประกอบด้วยคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านบุคลากร และด้านการเงินโดยมีการมอบนโยบายแก่คณะทำงานชุดย่อย 13 คณะ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการควบรวมกิจการ โดยจะรายงานต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และครม. ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 กำหนดให้ดำเนินการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
การประชุมดังกล่าวได้ให้นโยบายร่วมกัน ในการพิจารณาภาพรวมและรูปแบบธุรกิจ โดยเริ่มจากรูปแบบธุรกิจที่ทั้งสองบริษัทมีเหมือนกัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ก่อนโดยไม่ต้องรอการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น เช่น ธุรกิจโมบายล์จะพิจารณาเรื่องการถือครองคลื่นความถี่ เป็นต้น ซึ่งนอกจากนี้ยังมีธุรกิจไฟเบอร์ออฟติก, ธุรกิจเคเบิลใต้น้ำ และธุรกิจคลาวด์ รวมทั้งการให้บริการด้านดิจิทัลในภาคสังคม ตามที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสได้เสนอแนวทางไว้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นระยะ เพื่อให้รูปแบบธุรกิจหลังควบรวมกิจการตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
“การควบรวมกิจการคืองานหลักของปี 2563 และด้วยขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้การจัดทำแผนก่อนหน้านี้ประเมินว่าการควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จใน 8 เดือน แต่เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก็จะพยายามเร่งดำเนินการตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันจะชี้แจงต่อ ครม. เพื่อทราบถึงเหตุผลต่อไป” พ.อ.สรรพชัย กล่าว
ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวกระทรวงดีอีเอส ระบุว่าบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที ยังไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ เนื่องจากชื่อใหม่ที่ ครม. มีมติเห็นชอบขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เนื่องจากทั้ง กสท โทรคมนาคม และทีโอที ต่างจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่บริษัทใหม่ภายหลังควบรวมกิจการกลับไม่ใช่บริษัทมหาชนจำกัด มีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ 2 แนวทาง คือ 1.จดทะเบียนเอ็นที เป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือ 2.ถอดบริษัทมหาชนจำกัด ออกจาก กสท โทรคมนาคม และทีโอที ซึ่งทั้ง 2 แนวทางกระทรวงดีอีเอสต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อให้มีมติว่าจะเลือกใช้แนวทางใด หากที่ประชุม คนร. มีมติใช้แนวทางแรก กระทรวงดีอีเอสจะต้องจัดทำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีมติเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นจึงจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้เอ็นทีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่หากเลือกแนวทางที่ 2 ทั้ง กสท โทคมนาคม และทีโอที จะต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าใหม่ โดยถอดบริษัทมหาชนจำกัดออก เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. ดังนั้น แนวทางนี้จึงไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม. อีก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ