เปิดรายงาน 'การติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบนภายใต้สภาพทางธรรมชาติ (โดยไร้การกีดขวาง)' พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำจากมาตรวัดกับน้ำที่ไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง ถดถอยลงหลังจากปี 2555 เมื่อมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลักขึ้นอีก 2-3 แห่ง ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณและช่วงเวลาการปล่อยน้ำจากต้นน้ำอย่างมาก แม้รัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะใช้เขื่อนเหล่านี้ควบคุมการไหลของน้ำเพื่อปันน้ำให้เท่าเทียมกันมากขึ้นในช่วงน้ำมากและช่วงน้ำน้อย | ที่มาภาพประกอบ: Mekong Water Data Initiative (MWDI)
ช่วงเดือน เม.ย. 2563 มีการเปิดเผยรายงาน 'การติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบนภายใต้สภาพทางธรรมชาติ (โดยไร้การกีดขวาง)' โดย Basist, A. and Williams, C. (2020); Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Mekong Basin Through Natural (Unimpeded) Conditions, Sustainable Infrastructure Partnership, Bangkok. ข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลได้รับความอนุเคราะห์จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และได้รับอนุญาตให้ทำซ้ำ
ทั้งนี้โครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure Partnership) โครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (SIP) เป็นโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและความร่วมมือซึ่งบริหารจัดการโดย Pact Thailand เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โครงการ SIP สนับสนุนการฝึกอบรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างระบบน้ำ ระบบพลังงาน และระบบอาหาร ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำผ่านโครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง (Mekong Water Data Initiative) ทั้งนี้ โครงการ SIP ทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative)
รายงานฉบับนี้ได้สร้างแบบจำลองที่มีความน่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายเพื่อคาดการณ์การไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงตอนบน และใช้การคาดการณ์ดังกล่าวประเมินวิถีทางที่ชุดเขื่อนแบบขั้นบันได (cascade of dams) ตามลำน้ำโขงตอนบนเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติ การศึกษานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลดาวเทียมระหว่างปี 2535 ถึง 2562 และข้อมูลรายวันจากมาตรวัดระดับน้ำในแม่น้ำจากสถานีเชียงแสนประเทศไทย Eyes on Earth, Inc. และ Global Environmental Satellite Observations, Inc. ได้พัฒนาซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ขึ้นมาโดยใช้อัลกอริทึมแปลงสัญญาณไมโครเวฟที่วัดได้จากเครื่องตรวจวัด Special Sensor Microwave Imager/Sounder (SSMI/S) มาเป็นดัชนีค่าความชื้นของพื้นผิวดิน เมื่อใช้แบบจำลองคาดการณ์การไหลของน้ำตามธรรมชาติ ผู้จัดทำรายงานได้คำนวณปริมาณน้ำที่น่าจะไหลมาตามธรรมชาติเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากมาตรวัดระดับน้ำที่สถานีเชียงแสน จากนั้นจึงสรุปผลต่างจากการเปรียบเทียบในช่วงเวลาต่าง ๆ ของข้อมูลที่บันทึกไว้ในระยะเวลา 28 ปีเพื่อหาปริมาณน้ำที่อ่างเก็บน้ำกักเก็บไว้หรือถูกผันออกจากต้นน้ำเหนือเชียงแสนด้วยวิธีการอื่นใด
ระดับน้ำในแม่น้ำ 126.44 เมตรหายไปจากมาตรวัดสถานีเชียงแสนในช่วงเวลา 28 ปีที่มีการบันทึกข้อมูล ในช่วงเวลาดังกล่าว Huaneng Hydrolancang ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนสร้างเขื่อนขึ้นหลายแห่งในลำน้ำโขงสายประธาน ข้อมูลจากมาตรวัดและข้อมูลประมาณการจากดาวเทียมโดยทั่วไปแสดงความสอดคล้องกันดีในช่วงปีแรก ๆ โดยระดับน้ำในแม่น้ำลดลงในช่วงที่มีการปล่อยน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมั่นวัน (Manwan) และเขื่อนต้าเฉาซาน (Dachaoshan) ความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำจากมาตรวัดกับน้ำที่ไหลตามธรรมชาติถดถอยลงหลังจากปี 2555 เมื่อมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลักขึ้นอีก 2-3 แห่ง ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณและช่วงเวลาการปล่อยน้ำจากต้นน้ำอย่างมาก ทั้งนี้ รัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะใช้เขื่อนเหล่านี้ควบคุมการไหลของน้ำเพื่อปันน้ำให้เท่าเทียมกันมากขึ้นในช่วงน้ำมากและช่วงน้ำน้อย การดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับความต้องการของจีนที่จะกระจายการผลิตพลังงานในรอบปีเพื่อให้สามารถใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างสมดุลมากขึ้นตลอดทั้งปี การควบคุมการไหลของน้ำเช่นนี้ส่งผลให้น้ำที่ปกติไหลมาในฤดูฝนถูกปล่อยมาในฤดูแล้ง
ผลที่ตามมานี้เห็นได้ชัดเจนจากระดับน้ำส่วนต่างในแต่ละรอบปีซึ่งมีค่าเป็นลบในฤดูฝนและมีค่าเป็นบวกในฤดูแล้ง เมื่อเขื่อนนั่วจาตู้ (Nuozhadu) ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสร้างแล้วเสร็จ การขาดแคลนน้ำในฤดูฝนปรากฏชัดเจนที่สุดหลังจากที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดต่างเริ่มทำงาน
เขื่อนเหล่านี้ขยายขีดความสามารถของหน่วยงานบริหารจัดการในการควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำอย่างมาก ยังผลกระทบต่อท้ายน้ำซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีแบบองค์รวม เขื่อนทั้ง 6 แห่งที่สร้างขึ้นนับตั้งแต่เปิดใช้เขื่อนนั่วจาตู้เมื่อปี 2555 ยิ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำตามธรรมชาติจากการกักเก็บและการปล่อยระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ หนึ่งในผลกระทบที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 2562 เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงอยู่ในช่วงระดับน้ำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้งเกือบตลอดทั้งปี เมื่อใช้ดัชนีค่าความชื้นคาดการณ์การไหลของน้ำตามธรรมชาติ ผลปรากฏชัดเจนว่าน้ำตามธรรมชาติที่ไหลจากแม่น้ำโขงตอนบนมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ย ค่าระดับน้ำส่วนต่างแสดงให้เห็นว่ามีน้ำไหลส่วนเกินในฤดูแล้งซึ่งคาดว่าใช้รองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2562 ในขณะที่น้ำที่ไหลในฤดูฝนถูกจำกัดอย่างมากประกอบกับแม่น้ำโขงตอนล่างมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าระดับต่ำสุดที่เคยบันทึกไว้ การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในแม่น้ำโขงตอนล่างช่วงฤดูฝนปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากการจำกัดการไหลของน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในช่วงดังกล่าว หากจีนและประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้ร่วมมือกันจำลองรูปแบบวัฏจักรการไหลตามธรรมชาติของน้ำในแม่น้ำโขง อาจช่วยคลี่คลายภาวะน้ำไหลน้อยช่วงปลายน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2562 ได้ หากนำดัชนีค่าความชื้นไปใช้เป็นแนวทางจำลองรูปแบบการไหลของน้ำตามธรรมชาติแล้ว ทุกชุมชนตลอดลุ่มน้ำโขงย่อมได้ประโยชน์จากการรักษาไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งลำน้ำโขง
อ่านรายงานฉบับเต็มและเอกสารประกอบได้ที่นี่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ