จับตา: COVID-19 ฉุดรั้งส่งออกผลไม้ไทยปี 2563 หดตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2874 ครั้ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบ COVID-19 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยทั้งปี 2563 น่าจะหดตัวในช่วง -24 ถึง -21% อยู่ที่ 86,300-88,900 ล้านบาท ไทยจำเป็นต้องพิจารณาแผนการตลาดรองรับผลผลิตที่จะทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแผนการแปรรูปผลไม้หรือจัดหาตลาดอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

จากบทวิเคราะห์ 'โควิด-19 ฉุดรั้งส่งออกผลไม้ไทยปี 2563 หดตัว ... ในขณะที่มาตรการ NTMs ยังคงเป็นความท้าทายในระยะยาว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3087)' โดย 'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' ระบุว่าจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 (Coronavirus Disease: COVID-19) ส่งผลให้ทางการจีนประกาศปิดด่านขนส่งสินค้าสำคัญต่อเนื่องจากการหยุดตามปกติในเทศกาลตรุษจีนจนถึงเดือน ก.พ. 2563 รวมทั้งเส้นทางการค้าผ่านแดนจากเวียดนามไปจีนก็หยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค ทำให้ผู้นำเข้าผลไม้ต้องยกเลิกหรือชะลอคำสั่งซื้อผลไม้ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้สดซึ่งมีระยะเวลาการขนส่งและจัดเก็บจำกัดเป็นหลัก จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย เดือน ม.ค. 2563 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 46.1% (YoY) โดยพิจารณาอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบดังกล่าวอาจฉุดรั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนทั้งปี 2563 ให้อยู่ที่ระดับ 45,500-48,100 ล้านบาท หดตัวในช่วง -30 ถึง -25% (YoY) ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโรคอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ภายใน 3-4 เดือน นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เริ่มมีการระบาดของไวรัส ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยทั้งปี 2563 น่าจะหดตัวในช่วง -24 ถึง -21% (YoY) อยู่ที่ 86,300-88,900 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องพิจารณาแผนการตลาดรองรับผลผลิตที่จะทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแผนการแปรรูปผลไม้หรือจัดหาตลาดอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในระยะสั้น

นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงชั่วคราวที่จีนกำลังเผชิญอยู่จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยแล้ว ที่ผ่านมาจีนได้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Measures: NTMs) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการบังคับใช้มาตรการ NTMS ทั่วโลกที่ผู้นำเข้าในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและตลาดขนาดใหญ่มีแนวโน้มอัตราเร่งของมาตรการ NTMs มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการส่งออกผลไม้ของไทย

​เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนการส่งออกโดยเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกและอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกต่อหน่วยเฉลี่ย ในช่วงปี 2559-2562 ของตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทยควบคู่กับจำนวนสะสมของมาตรการ NTMs ที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศ สามารถสรุปได้ว่า ไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันใน 4 มิติ คือ 1) การวางแผนการตลาดเชิงรุก 2) การกระจายความเสี่ยงการส่งออกจากการพึ่งพิงตลาดขนาดใหญ่ 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และ 4) การขยายโอกาสการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: