คุยกันหลังหนังจบ: Rurouni Kenshin Trilogy ชายผู้ขอหันคมดาบใส่ตนเอง

ธนเวศม์ สัญญานุจิต | 14 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 5817 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

เมื่อครั้งญี่ปุ่นถึงคราวปฏิรูปครั้งใหญ่ หลายร้อยปีก่อน เมื่อเรือดำของต่างชาติจ่อเทียบท่า ภัยคุกคามแห่งยุคสมัยใหม่ปรากฎแก่ญี่ปุ่นยุคที่ยังปกครองกันด้วยโชกุน และระบบฟิวดัล บังคับให้ญี่ปุ่นยกเลิกนโนยายโดดเดี่ยวตัวเอง

ภัยคุกคามนั้นคือจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย ซากาโมโตะ เรียวมะ ซามูไรหัวก้าวหน้าได้ออกมาเป็นจุดเริ่มต้นแห่งขบวนการต่อต้านระบอบโชกุน เพื่อนำอำนาจกลับคืนสู่องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ เพื่อนำญี่ปุ่นสู่ยุคใหม่ กลายเป็นสงครามล้มล้างโชกุน และประสบความสำเร็จ ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเมจิ ผ่านการปฏิวัติเมจิ (Meiji Restoration) สิ้นสุดยุคเอโดะ สิ้นสุดยุคซามูไร และก้าวเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจในเอเชีย

เรื่องราวของภาพยนตร์/มังงะ Rurouni Kenshin มีพื้นเพในช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยนี้ นำมาดัดแปลงใหม่ เรื่องราวของ ฮิมูระ เคนชิน ชายหนุ่มผู้มีรอยแผลเป็นกากบาท หน้าตาเป็นมิตร นอบน้อมถ่อมตน แท้จริงคือ อดีต “มือพิฆาต” (ฮิโตคิริ-ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า manslayer) สมญา มือพิฆาต “บัตโตไซ” ที่สังหารผู้คนมากมายในช่วงสงครามก่อนสิ้นสุดยุคโชกุน รวมถึงเป็นมือสังหารบุคคลสำคัญของฝั่งโชกุน เคนชินเป็นนักดาบฝีมือพระกาฬ ว่องไว แต่ภายหลังความรู้สึกผิดที่กัดกินจิตใจ เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ เคนชินก็หันไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ปิดบังตัวตน

เคนชิน สาบานว่าจะไม่ฆ่าคนอีกต่อไป เขาหันไปใช้ ซาคาบาโตะ (ดาบสลับคม) ด้านหน้ากลายเป็นสันดาบเขาหันคมดาบเข้าหาตนเองทุกครั้งที่ชักดาบออกมาต่อสู้ เขาพบเจอเพื่อนพ้องระหว่างทางมากมาย และพยายามไม่เผยฝีมือและอดีตอันเปื้อนเลือด แต่ทุกครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ เมื่อพบพานศัตรูที่ต้องการสังหาร “บัตโตไซ” และต้องการทำทุกวิถีทาง ให้เคนชินได้กลับไปเป็นมือพิฆาตอีก

เขาชื่นชมวิถีดาบของ คาโอรุ ครูดาบหญิง ที่บอกว่า ดาบมีไว้เพื่อปกป้องผู้คน คนที่เคยเป็นมือสังหารอย่างเขาชื่นชมความเพ้อฝันนี้ แต่เหล่าตัวละครฝั่งศัตรูในทุกภาค ก็กลับมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือยึดถือระเบียบที่ว่า “ผู้แข็งแกร่งอยู่รอด ผู้อ่อนแอต้องตาย” และมีบัตโตไซ เป็นเป้าหมายที่จะต้องเอาชนะ

เคนชิน แม้จะไม่ได้เอ่ยอะไร แต่เขาก็เชื่อเสมอว่า ผู้เข้มแข็งต้องปกป้องผู้อ่อนแอ และหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไม่มีวันสลับด้านดาบเอาคมดาบออกไปหาศัตรู ซึ่งในโลกความเป็นจริง การฆ่าฟัน อาจตัดปัญหาได้ง่ายดาย หรือแม้แต่ในโลกภาพยนตร์ การสังหารตัวร้าย ก็เป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาของเรื่อง แต่เคนชินก็ยึดถือคำสัตย์เสมอ

เคนชิน กลายเป็นเหมือนภาพแทนของญี่ปุ่น เหมือนกัน “ญี่ปุ่นยุคใหม่” ที่เคนชินพูดถึงในหนัง จึงไม่ได้หมายถึง ญี่ปุ่นยุคเมจิ แต่อาจหมายถึงญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้มีรัฐธรรมนูญสันติภาพขึ้นมา เป็นประเทศเดียวในโลก รัฐเดียวในโลก ที่ขอสละสิทธิในการประกาศสงครามไป กลายเป็นภาพทับเคนชินอย่างแนบสนิท ซามูไรหนึ่งเดียว ที่ขอถือดาบสลับคม ใช้อำนาจในมือปกป้องผู้คน

ภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุคสงคราม เปรียบเหมือนเหล่าตัวร้ายใน Rurouni Kenshin ที่เชิดชูบูชาพลังกำลัง ศักยภาพในการฆ่าฟัน ญี่ปุ่นในยุคนั้น เมื่อประเทศไม่มีทรัพยากร จึงออกไล่ล่าครอบครองดินแดนเอเชียแปซิฟิค ไม่ต่างอะไรกับเหล่าตัวร้าย และเคนชินในอดีตที่ฆ่าฟันผู้คนโดยไม่สนใจชีวิตผู้อื่น แต่ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นรัฐที่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหประชาชาติ “ในแนวหลัง” เสียเป็นหลัก รวมถึงสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ภารกิจมนุษยธรรมจำนวนมาก รวมถึงครอบครองศักยภาพทางทหารในเชิงป้องกันเป็นหลัก ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามจึงละทิ้งระเบียบที่ว่า ผู้เข้มแข็งอยู่รอด และผู้อ่อนแอต้องตาย กลายเป็นรัฐที่แสวงหาความร่วมมือ และรักสันติภาพเป็นหลัก เหมือนการที่เคนชิน หันไปใช้ดาบสลับคม ไม่มีคมดาบจะฆ่าฟันใครได้อีก

ภาพนี้เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อผู้ชมได้ชมภาคที่สองและสาม บท “Kyoto Inferno” และ “The Legend Ends” ชิชิโอ มาโคโตะ คือ ผู้ที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลญี่ปุ่นยุคเมจิเพื่อให้ญี่ปุ่นหวนคืนสู่ยุคสงครามกลางเมือง ภารกิจของเคนชินจึงเปลี่ยนจาก การปกป้องผู้คน กลายเป็นการปกป้องประเทศญี่ปุ่น ไม่ให้มอดไหม้ด้วยไฟสงคราม ชิชิโอ เปรียบเสมือนภาพแทนของ ญี่ปุ่นยุคสงคราม ผู้บ้าคลั่ง โหดเหี้ยม แต่ก็เข้มแข็ง มีกำลังทหารของตัวเอง มีเรือรบ พร้อมทำสงครามสังหารผู้คน ที่กลับมาหลอกหลอนสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่

การต่อต้านสงคราม และการปฏิเสธการฆ่า จึงกลายเป็นสองแก่นแกนภารกิจของเคนชิน หรือ “ญี่ปุ่น” ผู้รักสันติ จนสุดท้าย เมื่อการต่อสู้จบลง การที่คนของรัฐบาลประกาศว่า “บัตโตไซ” ได้ตายไปแล้ว แก่เคนชิน ก็นับว่าเป็นเครื่องยืนยันว่า ญี่ปุ่นจะไม่กลับไปสู่ยุคสงครามอีก “บัตโตไซ” ผู้เหี้ยมโหดแห่งยุคเก่า รวมถึงเศษซากแห่งสงคราม ได้ตายไปจากโลก เหลือเพียงยุคใหม่อันเรืองรอง และสงบสุขเท่านั้น

ดาบสลับคมของเคนชินกลายเป็นเครื่องหมายของ สันติวิธี ที่ปฏิเสธการฆ่าฟัน และปัดเป่าไฟสงครามไปจากประเทศ หากเราสังเกตดีๆ จะพบว่า เคนชินมิใช่ตัวเอกของป็อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นเพียงคนเดียว ที่ปฏิเสธการฆ่าฟัน และปฏิเสธสงคราม ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำแนวคิดสันตินิยมของญี่ปุ่นออกมาในช่วงหลายสิบปีในยุคหลังสงครามโลก และก็เป็นแนวนโยบายของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ในการยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี แม้จะมีหลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องเพ้อฝันก็ตามที

“ดาบคืออาวุธ ศิลปะการใช้ดาบ คือการเรียนที่จะฆ่า นั่นคือความจริง สิ่งที่ท่านคาโอรุพูดคือความเพ้อฝันไร้เดียงสา ของผู้ที่มือไม่เคยเปื้อนเลือดมักจะเชื่อเช่นนั้น แต่พูดตามตรง ข้าน้อยชื่นชมความเพ้อฝันไร้เดียงสาของท่านคาโอรุมากกว่าความเป็นจริง” ฮิมูระ เคนชิน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: