'สงครามปราบปรามยาเสพติด' ในกัมพูชาทำให้เกิดการทรมานและการทุจริตอย่างแพร่หลาย ต้องมีการยกเครื่องครั้งใหญ่

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1831 ครั้ง

'สงครามปราบปรามยาเสพติด' ในกัมพูชาทำให้เกิดการทรมานและการทุจริตอย่างแพร่หลาย ต้องมีการยกเครื่องครั้งใหญ่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผย 'สงครามปราบปรามยาเสพติด' เป็นเวลาสามปีของรัฐบาลกัมพูชา ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ศูนย์บำบัดยาเสพติดแออัดยัดเยียดเสี่ยงอันตราย และทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และไม่สามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้ว่าจะควบคุมยาเสพติดได้ | ที่มาภาพประกอบ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

14 พ.ค. 2563 ตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในรายงานล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ระบุว่า “สงครามปราบปรามยาเสพติด” เป็นเวลาสามปีของรัฐบาลกัมพูชา ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ศูนย์บำบัดยาเสพติดแออัดยัดเยียดเสี่ยงอันตราย และทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่สามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้ว่าจะควบคุมยาเสพติดได้

รายงานเรื่อง “การใช้สารเสพติด: ผลกระทบต่อประชาชนจากการปราบปรามยาเสพติดในกัมพูชา” (Substance abuses: The human cost of Cambodia’s anti-drug campaign)) ให้ข้อมูลว่า ทางการมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนจนและคนชายขอบ มีจับกุมพวกเขาโดยพลการ มักทรมาน และปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับผู้ต้องสงสัย และส่งตัวคนที่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่าประกันตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำที่แออัดยัดเยียดอย่างมาก และเข้าไปอยู่ใน “ศูนย์บําบัดยาเสพติด” แบบกำมะลอ ทำให้ผู้ต้องกักไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ทั้งยังตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบอย่างรุนแรง

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ของกัมพูชาเป็นหายนะที่ไม่รับการบรรเทา เป็นรูปแบบการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีรายได้น้อย สามารถทุจริตได้อย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อการสาธารณะสุขและความปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาได้เริ่มรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการมาเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ โดยผู้นำทั้งสองต่างประกาศความร่วมมือต่อต้านยาเสพติด จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการเสพและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในกัมพูชา ทั้งนี้โดยการจับกุมผู้เสพยาเสพติดจำนวนมาก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซาร์เข่ง รัฐมนตรีมหาดไทยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ “ผู้เสพยาและผู้ค้ายารายย่อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสพและการจำหน่าย” ทุกคน

แต่เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของฟิลิปปินส์ การปราบปรามยาเสพติดของกัมพูชาเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยมีเป้าหมายเป็นคนจนและคนชายขอบ และไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาเป็นผู้เสพยาหรือไม่

“การใช้แนวทางมิชอบเพื่อลงโทษผู้เสพยาไม่เพียงเป็นสิ่งที่ผิด หากยังไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ถึงเวลาแล้วที่ทางการกัมพูชาต้องรับฟังหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอย่างแพร่หลาย ซึ่งต่างชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์โดยใช้กฎหมายในเชิงลงโทษ กลับยิ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมเพิ่มขึ้น” นิโคลัส เบเคลังกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่เว็บไซต์ https://www.amnesty.or.th/latest/news/792/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: