14 มิ.ย. ไทยติดเชื้อใหม่ 1 คน สะสม 3,135 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน รักษาหายสะสม 2,987 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1903 ครั้ง

14 มิ.ย. ไทยติดเชื้อใหม่ 1 คน สะสม 3,135 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน รักษาหายสะสม 2,987 คน

14 มิ.ย. 2563 ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,135 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน รวมรักษาหายสะสม 2,987 คน ทั้งนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศติดต่อกัน 20 วัน

14 มิ.ย. 2563 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1 คน เป็นเป็นผู้ป่วยหญิง 25 ปี เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เช้าพพักใน State Quarantine กทม. ตรวจเชื้อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย ส่งผลให้ไทยมีผู้ป่วยสะสมเป็น 3,135 คน ไม่มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มเติม คงที่ 2,987 คน ยังรักษาในโรงพยาบาล 90 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน โดยประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 20 แล้ว

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก พบผู้ป่วย COVID-19 รวม 7,860,752 คน อาการรุนแรง 54,082 คน รักษาหายแล้ว 4,035,791 คน และเสียชีวิต 432,200 คน โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด จำนวน 2,142,224 คน รองลงมา คือ บราซิล จำนวน 850,796 คน รัสเซีย จำนวน 520,129 คน อินเดีย จำนวน 321,626 คน และอังกฤษ จำนวน 294,375 คน โดยไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่อันดับ 88 ของโลก

วช.ชี้ 6 กลุ่มประเทศกับสถานการณ์ระบาด COVID-19

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก พบการระบาดของแต่ละประเทศ ตามระยะของสถานการณ์การระบาด มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ประเทศที่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 กราฟยังชัน ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาดหรือกำลังอยู่ในระยะของการระบาดสูงสุดในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู แอฟริกาใต้ รัสเซีย อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และอาจจะรวมถึงประเทศอิหร่าน และอินโดนีเซีย

2. ประเทศที่ยังใช้แนวทางปล่อยให้คนติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศสวีเดน

3. ประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ แต่ยังไม่พ้นระยะการแพร่ระบาดโรค เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ สเปน ตุรกี อิตาลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย

4. ประเทศที่พ้นการระบาดรอบที่หนึ่งแล้ว เช่น ประเทศจีน ไทย เยอรมนี สโลวีเนีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศไอซ์แลนด์

5. ประเทศที่เกิดการติดเชื้อในระยะที่สองแต่ยังควบคุมได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศ สิงคโปร์

6. ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ไม่เกิดการระบาดใหญ่ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และลาว

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถือว่า ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ดี และผ่านพ้นการแพร่ระบาดในรอบที่หนึ่งแล้ว โดยไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันมากกว่าสองสัปดาห์ โดยได้มีมาตรการในการผ่อนคลายแล้ว 3 ระยะ และจะเริ่มมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในรอบที่ 2 อย่างเข้มงวด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: