สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 14 ก.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1514 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 14 ก.ค. 2563

14 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 โดยปรับปรุงอัตราภาษีป้ายที่มีอักษรไทยล้วน หรือป้ายที่มีตัวอักษรภาษาไทยปนกับอักษรต่างประเทศและปนกับภาพหรือเครื่องหมายอื่น หรือป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ และกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่สำหรับป้ายที่ใช้เครื่องจักรกล ป้ายอักษรวิ่ง และป้ายจออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการโฆษณามากกว่าหนึ่งภาพในหกสิบวินาที โดยกำหนดให้อัตราภาษีป้ายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีป้ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย  พ.ศ. 2510
                   2. กำหนดอัตราภาษีป้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนี้

ประเภทป้าย อัตราตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 อัตราปัจจุบัน อัตราตามร่างกฎกระทรวง
1. ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน 10 บาท/500 ตร.ซม. 3 บาท/500 ตร.ซม. 5 บาท/500 ตร.ซม.
2. ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและหรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น 100 บาท/500 ตร.ซม. 20 บาท/500 ตร.ซม. 26 บาท/500 ตร.ซม.
3. ป้ายดังต่อไปนี้
(ก) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่
(ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
 
200 บาท/500 ตร.ซม.
 
200 บาท/500 ตร.ซม.
 
40 บาท/500 ตร.ซม.
 
40 บาท/500 ตร.ซม.
 
50 บาท/500 ตร.ซม.
 
40 บาท/500 ตร.ซม.
4. ป้ายตามข้อ 1-3 ต่อไปนี้
(ก) มีข้อความ เครื่องหมายหรือภาพปรากฏอยู่ในป้ายไม่เกิน 3 เดือน
(ข) มีข้อความ เครื่องหมายหรือภาพปรากฏอยู่ในป้ายเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน   6 เดือน
(ค) มีข้อความ เครื่องหมายหรือภาพปรากฏอยู่ในป้าย
 เกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน  9 เดือน
(ง) มีข้อความ เครื่องหมายหรือภาพปรากฏอยู่ในป้ายเกิน 9  เดือนขึ้นไป
-
 
 
-
 
 
 
-
 
 
  -
 -
 
 
-
 
 
 
-
 
 
  -
1,010 บาท/1 ตร.ม.
 
 
1,020 บาท/1 ตร.ม.
 
 
 
1,030 บาท/1 ตร.ม.
 
 
  1,040 บาท/1 ตร.ม.

หมายเหตุ เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีเศษเกินครึ่งตารางเมตรให้นับเป็นหนึ่งตารางเมตร ถ้าไม่เกินครึ่งตารางเมตร ให้ปัดทิ้ง ทั้งนี้ ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 1,010 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 1,010 บาท
                   3. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ถ้ายังไม่ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่ ให้คิดอัตราภาษีป้ายต่อไปจนกว่าจะมีการกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. เปลี่ยนชื่อส่วนราชการระดับกองบังคับการ “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว เช่น ต่อต้านการก่อการร้าย สนับสนุนการป้องกันและปราบปราม การระงับเหตุฉุกเฉิน ปราบปรามการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมทั่วราชอาณาจักร และรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการก่อจลาจล การควบคุมฝูงชน ที่มีผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยรอบเขตพระราชฐาน  
                   2. เปลี่ยนชื่อส่วนราชการภายในระดับกองกำกับการ ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จาก “กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ” เป็น “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย”
                   ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นใน ตช. พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เป็นส่วนราชการระดับกองบังคับการ โดยมีส่วนราชการในสังกัด ดังนี้ 
                   1) ส่วนราชการระดับกองบังคับการ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904
                   2) ส่วนราชการระดับกองกำกับการ ได้แก่ (1) ฝ่ายอำนวยการ (2) – (7) กองกำกับการ 1 – 6 (8) กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ (9) กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ และ (10) กองกำกับการสายตรวจ 
                   โดยที่ภารกิจการถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะเป็นภารกิจที่สำคัญสูงสุดของ ตช. ซึ่งกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 มีอำนาจหน้าที่ด้านการถวายความปลอดภัยดังกล่าว และได้รับมอบหมายการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกด้านยุทธวิธีเฉพาะทาง เพื่อฝึกข้าราชการตำรวจที่มีทัศนคติที่ดีต่อสถาบัน สำหรับเตรียมความพร้อมในการถวายงาน แต่เนื่องจากชื่อหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย ถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงเป็นไปตามพระราชประสงค์และตามราชประเพณี ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่และเห็นควรเปลี่ยนชื่อส่วนราชการะดับกองบังคับการ จากเดิม “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” และเปลี่ยนชื่อส่วนราชการระดับกองกำกับการ จากเดิม “กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ” ในกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย” ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
                   การเปลี่ยนชื่อกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้าราชการตำรวจมีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมรับมือกับอาชญากรรมพิเศษ ภัยคุกคามและภัยพิบัติต่าง ๆ สามารถที่จะรองรับวิกฤตการณ์ได้ทุกรูปแบบ และทันต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าวจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดความสูญเสีย สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ ตช.
                   ตช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว รายงานว่า การเปลี่ยนชื่อและแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการภายใน ตช. ดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้สอดคล้องกับภารกิจที่รับผิดชอบ โดยคำนึงถึงโครงสร้างส่วนราชการ ลักษณะงาน ปริมาณงาน คุณภาพงาน ความมีประสิทธิภาพและความประหยัด โดยการวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้กับกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ใช้วิธีการปรับเกลี่ยตำแหน่งและกำลังพลภายในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ จึงส่งผลให้ ตช. มีค่าใช้จ่ายงบบุคลากรเพิ่มขึ้นในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ แต่สามารถถัวจ่ายจากงบประมาณประจำปีที่ ตช. ได้รับการจัดสรร (งบบุคลากร) ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของ ตช. และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ พน. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   2. รับทราบรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี  นับแต่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1) สัญญาจ้างสำรวจและผลิตให้เป็นไปตามแบบ ชธ/ป13 รวม 23 ข้อ ประกอบด้วย บททั่วไป กำหนดระยะเวลาและการคืนพื้นที่ แผนงานและงบประมาณสำหรับกิจการปิโตรเลียม การควบคุมดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ค่าภาคหลวง ค่าจ้างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการจ่ายค่าจ้าง การจัดการผลผลิตน้ำมันดิบเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ การจัดการผลผลิตก๊าซธรรมชาติเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ การชำระเงินของผู้รับสัญญา การจัดหาสินค้าและบริการ ผลประโยชน์พิเศษ การเคารพต่อข้อกำหนดขั้นมูลฐาน การระงับ ข้อพิพาท การกำหนดค่าปรับ การบอกเลิกสัญญาโดยผู้ให้สัญญา การบอกเลิกสัญญาโดยผู้รับสัญญา การสิ้นสุดของสัญญา สัญญาร่วมประกอบกิจการ การประกันภัย เหตุที่มิใช่ความผิดของคู่สัญญา ความคุ้มครองจากการเรียกร้องโดยบุคคลอื่น การปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่ง แถลงการณ์ต่อสาธารณะ และการแจ้งให้ทราบ 
                   2) สัญญาจ้างสำรวจและผลิตเพิ่มเติมที่ทำขึ้นภายหลัง ให้เป็นไปตามแบบ ชธ/ป13/1 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมและโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
                   ทั้งนี้ พน. ยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. ....   ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป [สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างบริการ (สัญญาจ้างสำรวจและผลิต) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเมื่อ 1 พฤษภาคม 2561 ซึ่ง สคก. มีการแก้ไขชื่อร่างเป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. ....”]
                   พน. เสนอรายงานเหตุผลกรณีที่ไม่อาจดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. .... ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับได้ เนื่องจากในปี 2560 – 2561 มีการดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงที่จะสิ้นอายุสัมปทานในทะเลอ่าวไทยตามประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ โดยได้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 เพื่อให้ทันเวลาต่อการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ดังนั้น พน. จึงมุ่งเน้นดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อน
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต พ.ศ. .... และรายงานเหตุผลในเรื่องนี้มาเพื่อดำเนินการ
 
4. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2533 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย การจำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน้ำตาลทราย และการใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2533 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย การจำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน้ำตาลทราย และการใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ อก. เสนอ เป็นการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2533 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย การจำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน้ำตาลทราย และการใช้จ่ายเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามระเบียบดังกล่าวไปกำหนดไว้รวมกันในร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุน ว่าด้วยการเก็บรักษา การหาผลประโยชน์ และการใช้จ่ายเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของ อก. และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเห็นชอบด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ 
                   1. ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2533 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย การจำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน้ำตาลทราย และการใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 
                   2. กำหนดให้การใช้จ่ายเงินกองทุนที่ได้รับอนุมัติค่าใช้จ่ายจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2533 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย การจำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน้ำตาลทราย และการใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายเงินกองทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดตามมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
 
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ กษ. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560) และ สคก. ได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถจัดซื้อที่ดินและนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มีมติอนุมัติให้เขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว
 
6. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี
                   1. กำหนดลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานประกันสังคมซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน 
                   2. กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษข้าราชการสำนักงานประกันสังคมชาย ประกอบด้วย หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีดำแกมน้ำเงิน ตราหน้าหมวกเป็นเครื่องหมายราชการกระทรวงแรงงาน การสวมหมวกให้สวมในโอกาสอันควร เสื้อคอพับสีขาวหรือสีดำแกมน้ำเงินแขนสั้นเหนือข้อศอกเล็กน้อย กางเกงขายาวสีดำแกมน้ำเงิน ทรงกระบอก เป็นต้น 
                   3. กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษข้าราชการสำนักงานประกันสังคมหญิง ประกอบด้วย หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีดำแกมน้ำเงิน ตราหน้าหมวกเป็นเครื่องหมายราชการกระทรวงแรงงาน การสวมหมวกให้สวมในโอกาสอันควร เสื้อคอพับสีขาวแขนสั้นหรือเสื้อคอแบะปล่อยเอวสีดำแกมน้ำเงินแขนสั้นเหนือข้อศอกเล็กน้อย กางเกงขายาวสีดำแกมน้ำเงิน ทรงกระบอก หรือกระโปรงสีดำแกมน้ำเงิน เป็นต้น
                   4. กำหนดอินทรธนู มีลักษณะแข็ง ทำด้วยผ้าสักหลาดสีดำแกมน้ำเงิน เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายตัดเป็นมุมแหลม ที่ตอนปลายปักด้วยดิ้นทองเครื่องหมายราชการกระทรวงแรงงาน มีเครื่องหมายตำแหน่งติดบนอินทรธนูแยกตามประเภทตำแหน่งและระดับของข้าราชการ 
                   5. เครื่องแบบพิเศษจะแต่งในโอกาสใด ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนด และให้ประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถหรือเข็มแสดงวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาของทางราชการได้
                   ทั้งนี้ รง. เสนอว่า ข้าราชการสำนักงานประกันสังคมซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนมีภารกิจต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ ติดตาม สอดส่อง ตรวจสอบสถานประกอบการ การยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สิน และทำการตรวจสอบสืบสวน ตลอดจนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ ภารกิจของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง หรือในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายนอกที่ตั้งที่ทำการ หรือปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่น ข้าราชการดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีเครื่องแบบพิเศษในการปฏิบัติงาน รง. จึงได้ยกร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานประกันสังคมซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ.ศ. .... เพื่อกำหนดเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับภารกิจงานและพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  
                   คณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ รง. เสนอ โดยให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็น ซึ่ง รง. ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
                   ร่างกฎกระทรวงที่ สธ. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ (มติคณะรัฐมนตรี 21 พฤศจิกายน 2560) และ สคก. ได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ทางที่ผิด เช่น อะโมบาร์บิตาล (Amobarbital) และบิวตาลบิตาล (Butalbital) หรือประเภท 4 ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ทางที่ผิดน้อยกว่าประเภท 3 เช่น อัลโลบาร์บิตาล (Allobarbital) และ บาร์บิตาล (Barbital) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้เห็นชอบด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต การยื่นคำขอรับใบอนุญาต การขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต และการยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 และกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานตามที่กำหนดไว้ 
                   2. กำหนดวิธีปฏิบัติให้กับผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 
                   3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานตามที่        กำหนดไว้
                   4. กำหนดวิธีปฏิบัติและข้อยกเว้นเกี่ยวกับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
                   5. กำหนดให้แบบต่าง ๆ เช่น คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาต เป็นไปตามแบบที่เลขาธิการฯ กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  
                   6. กำหนดบทเฉพาะกาล 
                             6.1 กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ใช้บังคับจนถึงในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน 
                             6.2 กำหนดให้บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2520)  ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาต ให้ถือว่าเป็นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ และหากคำขอดังกล่าวมีข้อความแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมหรือ                 ให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
  
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ตอนกรุงเทพมหานคร – เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี และ ตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 29 กรกฎาคม 2563
                   ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเสนอว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้วันที่ 27 กรกฎาคม 2563 เป็นวันหยุดราชการ ชดเชยวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2563 ทำให้มีวันหยุดราชการต่อเนื่อง 4 วัน ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ช่วงเวลาดังกล่าวคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเพื่อไปท่องเที่ยว พักผ่อน และทำกิจกรรมอื่น ๆ ในต่างจังหวัดการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้การจราจรมีความคล่องตัวประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นรวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัดหน้าด่าน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จึงเห็นสมควรให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต้องออกเป็นกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497
 

เศรษฐกิจ - สังคม

9. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า และลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ราย กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขอขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า (ผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า) และลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ราย กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก ทราบและปฏิบัติตามเงื่อนไขเสนอการลงทุน (ตามหนังสือกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 0305/3651 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563) โดยต้องชำระค่าเช่า จำนวน 38,753,163 บาท (เนื้อที่ 1076 – 1 - 90.7 ไร่ ในอัตราไร่ละ 36,000 บาท/ปีแรก) ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า จำนวน 323,678,342.73 บาท (ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าตามที่เสนอ จำนวน 321,000,000 บาท และค่าธรรมเนียมในส่วนเนื้อที่ที่จัดให้เช่าเพิ่ม จำนวน 2,678,342.73 บาท) และวางหลักประกันการเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเงินหนึ่งเท่าของค่าเช่าหนึ่งปี จำนวน 38,753,163 บาท พร้อมทั้งลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง (ครบกำหนด วันที่ 3 เมษายน 2563)
                   2. กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก ได้มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ (ตามหนังสือกิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เลขที่ tak 990/2563 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563) แจ้งขอขยายระยะเวลาการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เป็นระยะเวลา 30 วัน (ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563) เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการด้านการเงินและเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การทำงาน การติดต่อสื่อสาร และการเดินทางเพื่อจัดเตรียมเอกสารทางการเงินเป็นไปด้วยความยากลำบาก และจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่าปกติ
                   กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า
                   1. ปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชดเชยรายได้ให้กับผู้ว่างงาน             ตามหลักเกณฑ์ อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานรายชั่วโมง แบ่งเบาภาระประชาชนด้วยการลดค่าน้ำ ค้าไฟฟ้า เป็นต้น และเพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
                   2. จากผลกระทบข้างต้นหากกรมธนารักษ์ต้องเปิดประมูลใหม่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อาจจะไม่มีผู้ยื่นเสนอโครงการ หรือหากมีผู้ยื่นเสนอโครงการ ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ได้รับอาจไม่สูงเท่าที่กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก เสนอ อีกทั้งจะทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากกระบวนการสรรหา คัดเลือกตามขั้นตอนกรอบระยะเวลาสรรหาผู้ลงทุนต้องใช้ระยะเวลา 151 วัน จะทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประกอบกับกรณีที่กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าและลงนามในสัญญาเช่าดังกล่าว ออกไปอีก 30 วัน ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 (ซึ่งเดิมครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 3 เมษายน 2563) เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินของบริษัท สามัคคีที่ดินและเคหะ จำกัด (ผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาในการประมูลครั้งแรกแต่ไม่ได้มารับเงื่อนไขภายในกำหนด) เนื่องจากการขอขยายระยะเวลาของบริษัท สามัคคีที่ดินและเคหะ จำกัด อยู่ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤตที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอในการพิจารณาให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า และลงนามในสัญญาเช่าให้บริษัท สามัคคีที่ดินและเคหะ จำกัด ในขณะนั้น
                   3. เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อรองรับการลงทุนและการจ้างแรงงานหลังพ้นวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เห็นควรมีมาตรการช่วยเหลือ กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก กรณีการขอขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า และลงนามในสัญญาเช่า แต่การขยายระยะเวลาดังกล่าวอยู่นอกเหนือเงื่อนไขเสนอการลงทุนฯ ในการเปิดประมูล ลงวันที่ 1 มีนาคม 2562 จึงต้องนำเสนอต่อ กนพ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 สั่ง ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ข้อ 6 แต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ที่ 9/2562 สั่ง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ซึ่งรวมถึงคำสั่งที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบกับตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 สั่ง ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้หมายถึงคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น จึงเห็นควรขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ การขอขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า และลงนามในสัญญาเช่า ราย กิจการร่วมค้า ไอซีบีแอนด์จี ตาก อินดัสเทรียล พาร์ก ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา
 
10. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่อง แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนของการไฟฟ้านครหลวง
                    คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่อง แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนของการไฟฟ้านครหลวง
ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นชอบการขอทบทวนแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน พื้นที่ดำเนินการกลุ่มที่ 3 (พื้นที่เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางสุขุมวิท (ฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ ช่วงสถานีย่อยบางปิ้ง – ถนนเทศบาลบางปู 77) (2) เส้นทางถนนเพชรบุรี (ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) – ถนนรามคำแหง) และถนนรามคำแหง (ถนนเพชรบุรี – ถนนศรีนครินทร์ ช่วงถนนเพชรบุรี – ถนนพระราม 9) (3) เส้นทางถนนอรุณอัมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8 – ถนนประชาธิปก) (4) เส้นทางถนนบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนอรุณอัมรินทร์) และ (5) เส้นทางถนนพรานนก (จรัญสนิทวงศ์ – ถนนอรุณอัมรินทร์) โดยอยู่ในกรอบวงเงินลงทุนเดิม เนื่องจากโครงการของสาธารณูปโภคอื่นมีการปรับเปลี่ยน หรือชะลอแผนงาน/โครงการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นได้ แต่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการขยายระบบสายไฟฟ้าอากาศมีข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าจากการเชื่อมแหล่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ตั้งแต่ต้นสายจนถึงปลายสายให้เป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเส้นทางการก่อสร้างระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เคยให้ความเห็นชอบตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                  
11. เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงรายการเครื่องเฮลิคอปเตอร์ (จำนวนที่นั่งไม่น้อยกว่า 14 ที่นั่ง) ขนาด 2 เครื่องยนต์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 1 ลำ ไปเป็นรายการเครื่องบินขนาดกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 1 ลำ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวง
                   คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงรายการเครื่องเฮลิคอปเตอร์ (จำนวนที่นั่งไม่น้อยกว่า 14 ที่นั่ง) ขนาด 2 เครื่องยนต์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 1 ลำ ไปเป็นรายการเครื่องบินขนาดกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 1 ลำ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วมีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นรายการเครื่องบินขนาดกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 1 ลำ ภายในวงเงิน 567.50 ล้านบาท ตามผลการจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลางที่ได้จัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแล้ว จำนวน 74.25 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 493.25 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 รวมทั้งพิจารณายกเว้นไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีแรกต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น ตามที่ กษ. เสนอ ทั้งนี้ ขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนและต่อรองราคาจนถึงที่สุด โดยการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
           
12.  เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ                ครั้งที่ 1/2563  ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เสนอ ดังนี้
                    1. การกำหนดราคาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ตลอดห่วงโซ่การผลิต
                              1.1 เห็นชอบให้นำโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ตามมติคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม  เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และมติคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชบริโภค เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 เป็นเกณฑ์คำนวณราคาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ตลอดห่วงโซ่การผลิต จนกว่าจะมีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการต่อไป
                              1.2 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ กนป. ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อจัดทำกรอบและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
                    2. แนวทางขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มระดับจังหวัด
                              2.1 เห็นชอบในหลักการร่างแนวทางขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มระดับจังหวัด
                             2.2 เห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ (จังหวัดชุมพร  สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช)
                              2.3 ให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด
                    3. มาตรการด้านพลังงาน
                              3.1 การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า
                                        3.1.1 เห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ จำนวน 37,550 ตัน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
                                        3.1.2 มอบหมายให้ พน. โดย กฟผ. พิจารณาจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ส่วนที่สำรองอีก 100,000 ตัน เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและดูดซับสต็อกส่วนเกินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 [ที่เห็นชอบตามมติ กนป. ครั้งที่ 4/2562 เกี่ยวกับการให้ กฟผ. จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบว่า หากยังไม่สามารถดูดซับระดับสต็อกส่วนเกิน (ระดับที่เหมาะสม) ได้ หรือสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันยังไม่ดีขึ้น เห็นชอบให้ กฟผ. จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบสำรองอีก จำนวน 100,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงงานไฟฟ้า               บางปะกง] ทั้งนี้ ให้ พน. พิจารณาความคุ้มค่าในการดำเนินการและภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น โดยหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อหาแนวทางต่อไป
                              3.2 การชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. มอบหมายให้ พน. หารือร่วมกับ สงป. เพื่อให้การดำเนินการชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. กรอบวงเงิน 2,029               ล้านบาท มีความรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                              3.3 การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
                              เห็นชอบให้ พน. เร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10  ให้เป็นไป              ตามเป้าหมายที่กำหนด  รวมทั้งเร่งรัดในการรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และสถานีบริการเพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้
                              3.4 โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์ม ให้ สงป. พิจารณาจัดสรรงบประมาณ จำนวน 372.516 ล้านบาท ให้กรมการค้าภายใน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณ น้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์ม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 (ที่อนุมัติงบประมาณ จำนวน 372.516 ล้านบาท              เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มและ            ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
 
13. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2562 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562)
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2562 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562) (คณะรัฐมนตรีมีมติ 31 มกราคม 2560 กำหนดให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ) สรุปได้ ดังนี้
                    1. สาระสำคัญของแผนงานฯ
                              กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางรวม 215.6 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผน  ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร  ได้แก่ 1) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า  ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 7 (โครงการถนนสีลม ปทุมงัน และจิตรลดา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร 2) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 (โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร และ 3) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) ในโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร และในส่วนของโครงการนนทรี ระยะทาง 2 กิโลเมตร
                    2. ผลการดำเนินการตามแผนงานฯ ณ เดือนธันวาคม 2562 ดังนี้ 
                              2.1 แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร
                                        2.1.1 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน  ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนด             แล้วเสร็จ ปี 2563 ประกอบด้วย
                             

แผนงาน/โครงการ เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) สถานะ/ผลการดำเนินการ
1) โครงการนนทรี 6.3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 59.22             จาก แผนงานฯ ร้อยละ 60.22 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 1)
2) โครงการพระราม 3 10.9

 
                                      2.1.2 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก  รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2564 ประกอบด้วย
 

แผนงาน/โครงการ เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) สถานะ/ผลการดำเนินการ
1) โครงการรัชดาภิเษก-อโศก 8.2 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.27                   จาก แผนงานฯ ร้อยละ 20.00 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.3)
2) โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 14.3

                                        2.1.3 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2564 อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.27 จากแผนงานที่กำหนด ร้อยละ 22.48 (ช้ากว่าแผนงานร้อยละ 1.21) ประกอบด้วย
 

แผนงาน/โครงการ เป้าหมายระยะทาง (กิโลเมตร) สถานะ/ผลการดำเนินการ
1) โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน 12.6 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 ถนนอังรีดูนังต์ ถนนชิดลม และถนนสาทร ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ ถนนหลังสวน ถนนสารสิน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร
2) โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง 7.4 อยู่ระหว่างก่อสร้าง : ถนนเจริญราษฎร์ ถนนเพชรบุรี และถนนดินแดง
3) โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น 107.3 โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า (87.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่  สายสีชมพู 17.6  กิโลเมตร สายสีเหลือง 15.8 กิโลเมตร สายสีน้ำเงิน 11.4 กิโลเมตร สายสีเขียวเหนือ 5.5 กิโลเมตร และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-บางปิ้ง) 12.5 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ สายสีม่วง 7.6 กิโลเมตร สายสีส้ม 10.1 กิโลเมตร และสายสีเขียว         ส่วนต่อขยาย 6.6 กิโลเมตร
โครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร (13.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ได้แก่ ถนนนประชาราษฎร์สาย 1 ถนนทหาร ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนบรมราชชนี และถนนพรานนก
โครงการในพื้นที่การประปานครหลวง (7.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 
                              2.2 การเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2562 จำนวนเงิน 2,519.744 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 1,773.615 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.39 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุด
หน่วย:ล้านบาท

แผนงาน งบประมาณลงทุน การเบิกจ่ายเงิน ปี 2562
แผนการเบิกจ่าย ผลการจ่าย
1) แผนงานฯ ปี 2551-2556
(ฉบับปรับปรุง)
9,088.80 692.155 383.672
2) แผนงานฯ รัชดาภิเษก 8,899.58 536.357 236.248
3) แผนงานฯ รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 48,717.21 1,291.232 1,153.695
รวม 66,705.59 2,519.744
(ร้อยละ 100)
1,773.615
(ร้อยละ 70.39)

                    3. แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป
                    กฟน. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และผู้รับจ้างเพื่อปรับแผนการดำเนินการ โดยเน้นให้เร่งรัดระยะเวลาในการก่อสร้างให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้งปัจจุบัน กฟน. ได้พิจารณาพื้นที่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติม โดย กฟน. ได้นำเสนอแผนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว  เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร  มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนกาญจนาภิเษก และช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรีถึงถนนติวานนท์ และพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท  81 – ซอยแบริ่ง
 
14. เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และในปีงบประมาณปีต่อ ๆ ไป ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คสช. รายงานว่า ในคราวประชุม คสช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 รวม 4 มติ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปได้ ดังนี้
 

มติ 1 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้ใยหิน
สาระสำคัญของมติ แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการขาดนโยบายและมาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหินและขาดการสนับสนุนการใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหิน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ
การเกิดโรคร้ายแรง ส่งผลให้สูญเสียทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ - ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี 2565 ได้แก่ กระเบื้องแผ่นเรียบ และกระเบื้องยางปูพื้น รวมทั้งยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์
เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี 2568 ได้แก่ ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหิน
ไครโซไทล์ได้อย่างเหมาะสมเพียงพอแล้ว
- กำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทน
แร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง
- กำหนดมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
- พัฒนาแนวทางและมาตรการทางกฎหมายในการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร
ทิ้ง และกำจัดขยะซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหิน
- จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแก่นักเรียน นักศึกษา นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน การป้องกันอันตรายที่ครอบคลุมตลอดวงจรของการมี
ใช้รื้อถอน ทำลายวัสดุที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งวัสดุทดแทนแร่ใยหิน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
สำนักงานประกันสังคม และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
มติ 2 วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว
สาระสำคัญของมติ วิถีเพศภาวะ หมายถึง การดำเนินงานต่าง ๆ ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความ
เป็นธรรมระหว่างบุคคลเพศต่าง ๆ ดังนั้น จึงควรนำกรอบวิถีเพศภาวะมาใช้เสริมพลังครอบครัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิก การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคม การพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้และกฎหมาย รวมทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐให้มีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะที่ครอบคลุมทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ
ผู้หลากหลายทางเพศ
การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ - จัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติ และทักษะของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ในเรื่องเพศภาวะกับสุขภาวะของสมาชิกในครอบครัว
- ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมทางเพศที่มีต่อ
สุขภาวะครอบครัว โดยดำเนินโครงการส่งเสริมให้ชุมชนสร้างสรรค์กิจกรรมที่สนับสนุนครอบครัว ให้คุณค่ากับทุกเพศอย่างเสมอภาค
- จัดการศึกษาเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในทุกระดับการศึกษา บูรณาการความรู้
- เสริมความเข้มแข็งในการสื่อสารและการสร้างสื่อสาธารณะที่เน้นความเสมอภาคและเป็นธรรมทางเพศ ผลักดันการผลิตสื่ออย่างมีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ
- พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และการจัดการความรู้ โดยให้มีข้อมูลแยกเพศผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ และข้อมูลประเภทครอบครัวไทยที่หลากหลาย
- พัฒนาบุคลากรให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องเพศภาวะ มีทักษะในการวิเคราะห์ และบูรณาการมิติเพศภาวะไว้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สธ. ศธ. อว. มท. ยธ. วธ. สสส. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นร.
มติ 3 รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง
สาระสำคัญของมติ โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่
ยังจำกัดอยู่เพียงในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และการป้องกันโรคมะเร็งแบบ
สานพลังในพื้นที่โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนยังมีน้อย
การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ - ให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้งบประมาณของกองทุนของหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กองทุนอื่น ๆ และงบประมาณหรือทรัพยากรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สนับสนุนให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เข้าถึงการคัดกรองโรคมะเร็งตาม
สิทธิประโยชน์ที่กำหนดในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
- เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามข้อมูลขจ่าวสารที่ไม่ถูกต้อง (Fake news) ที่ส่งผล
ต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง จัดการและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน ในเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
ที่มีผลต่อโรคมะเร็ง
 
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สธ. สปสช. ดศ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
มติ 4 การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
สาระสำคัญของมติ การใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้าน
ยาของประเทศสูงถึงร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ จากสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมีความก้าวหน้า แต่ยังขาดการบูรณาการและการดำเนินการอย่างเป็นระบบระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน
การแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการ - ออกแบบระบบสุขภาพชุมชน และสร้างความตระหนัก สร้างความรู้เพื่อขับเคลื่อน
การใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้กลไกชุมชน
- สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณแก่ชุมชนต้นแบบให้มีระบบการเฝ้าระวัง
เตือนภัย รอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและมีความสามารถในการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สมุนไพร และแพทย์แผนไทย
- พัฒนาและเผยแพร่ชุดความรู้ที่เข้าถึง เข้าใจ และปฏิบัติได้ง่าย และสนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรการใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
- ดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในทุกกลุ่มประชากร และพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม
- พัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน รวมทั้งเร่งพัฒนากลไกการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สธ. อว. กค. รง. (สำนักงานประกันสังคม) นร.

 
15. เรื่อง การทบทวนภารกิจการรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (การรายงานผลการออกใบอนุญาต)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทั้ง 2 ข้อ ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอดังนี้
                   1. เปลี่ยนหน่วยงานที่รับรายงานผลการออกใบอนุญาต การตรวจสอบและการรับรองมาตรฐาน
ต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นสำนักงาน ก.พ.ร.
                   2. เปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาการรายงาน โดยในระยะแรกให้จัดเก็บข้อมูลเป็นรายเดือนและรายงานเป็นรายไตรมาส และในระยะต่อไปเมื่อได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการรายงานผลการออกใบอนุญาตฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้รายงานตามรอบระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะกำหนดต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สำนักงาน ป.ย.ป. รายงานว่า
                   1. การดำเนินการที่ผ่านมามีส่วนราชการรายงานผลการออกใบอนุญาต การตรวจสอบ และ                การรับรองมาตรฐานต่าง ๆ แล้ว จำนวน 8 หน่วยงาน สรุปได้ดังนี้

ส่วนราชการ/หน่วยงาน ระยะเวลาการติดตาม การดำเนินการ
ขอใบอนุญาต/ขอรับบริการ ดำเนินการแล้วเสร็จ
1) กระทรวงการคลัง
(กรมสรรพสามิต)
26 มิถุนายน 2562 – 25 มกราคม 2563 737,848 ราย 737,848 ราย
(ร้อยละ 100)
2) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 
 
1 ตุลาคม 2561 –
31 สิงหาคม 2562
20,524 ราย 20,524 ราย
(ร้อยละ 100)
3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) 26 มิถุนายน 2562 – 25 มกราคม 2563 160 ราย 160 ราย
(ร้อยละ 100)
4) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) 1 กรกฎาคม –
31 ธันวาคม 2562
923 ฉบับ 1,014 ฉบับ1
5) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง
กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
แห่งประเทศไทย)
พฤษภาคม –
มิถุนายน 2562
11,612 ฉบับ 532,454 ฉบับ2
6) กระทรวงพลังงาน (สำนักงานปลัดฯ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เมษายน –
ธันวาคม 2562
26,835 ฉบับ 23,452 ฉบับ
(ร้อยละ 87)
7) กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
 
1 กันยายน –
31 ธันวาคม 2562
547,067 ฉบับ 535,330 ฉบับ
(ร้อยละ 98)
8) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) 1 ตุลาคม 2561 –
31 กันยายน 2562
458,636 ฉบับ 369,561 ฉบับ
(ร้อยละ 81)

หมายเหตุ         1 มีการออกใบอนุญาต/ให้บริการที่คงค้างที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้า
                                2 การออกใบอนุญาต/ให้บริการส่วนใหญ่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก (นับเฉพาะใบอนุญาต/บริการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ) ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกไม่ไดรายงานจำนวนคำขอใบอนุญาต/ขอรับบริการ จึงทำให้ตัวเลขการดำเนินการเสร็จแล้วมีมากกว่าคำขอใบอนุญาต/ขอรับบริการ
                   ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลการออกใบอนุญาตฯ สำนักงาน ป.ย.ป. มีข้อสังเกตได้แก่ 1) มีหน่วยงานที่ใช้ระยะเวลาเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน 2) มีหน่วยงานภายใต้สังกัดอีกหลาย
แห่งที่ยังไม่รายงานตามกำหนดเวลา 3) บางหน่วยงานยังมีข้อจำกัดในการรายงานผลทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ครบถ้วน และ 4) ช่วงระยะเวลาในการรายงานผลและการแสดงผล  ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ยากต่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบและสรุปผลข้อมูลเป็นภาพรวม
                   2. สำนักงาน ป.ย.ป. ได้หารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. เกี่ยวกับการนำข้อมูลการออกใบอนุญาตฯ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานของภาครัฐ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับสำนักงาน ก.พ.ร.    ในการกำกับมาตรฐานการออกใบอนุญาต การตรวจสอบ และการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ของส่วนราชการ จึงเห็นพ้องกันว่า ควรให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรวบรวมผลการออกใบอนุญาตฯ
ซึ่งสำนักงาน ป.ย.ป. ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้รวบรวมและติดตามการรายงานผลการออกใบอนุญาตฯ ด้วยแล้ว
                   3. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ยืนยันเห็นชอบการรับโอนภารกิจดังกล่าว (ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร.
ที่ นร 1222/85 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563) และมีความเห็นว่า ควรนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการรายงานผลการออกใบอนุญาตฯ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยในระยะแรก สำนักงาน ก.พ.ร. จะขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดเก็บข้อมูลเป็นรายเดือนและรายงานผลการออกใบอนุญาตฯ มายังสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นรายไตรมาสก่อน และเมื่อพัฒนาระบบได้สมบูรณ์แล้ว ให้ส่วนราชการรายงานข้อมูลตามรอบระยะเวลาที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด โดยให้รายงานในระบบได้โดยตรงต่อไป      
 
16. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 9
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 9 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 147 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (148 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                    1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                             1.1 ส่วนราชการร้อยละ 76 (111 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 29 (43 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 54 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 37) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 13 (19 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 21 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 14) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ วันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
                             1.2 ส่วนราชการร้อยละ 24 (36 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 25 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 17)
                    2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                             2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 44 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. ส่วนราชการร้อยละ 12 (17 ส่วนราชการ) กำหนดให้เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 3 ช่วงเวลา
                             2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานระดับนโยบาย งานให้บริการประชาชน งานพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต เป็นต้น
                    3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                             3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 56 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
                             3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 67 Microsoft Team ร้อยละ 35 และ Cisco Webex ร้อยละ 27 ตามลำดับ
 
17. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 24 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยมีรัฐวิสาหกิจ 31 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 15 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 22 – 26 มิถุนายน 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,558 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 18,455 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (การปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา)
                   รัฐวิสาหกิจ 26 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีรัฐวิสาหกิจยกเลิกนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 6 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 22 – 26 มิถุนายน 2563) โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น.
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 

ต่างประเทศ

18. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon) ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ทั้งจำนวน วงเงินกู้ จำนวน 1,458.248 ล้านบาท
                   2.อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2566 รวมระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงินที่จะขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 729.124 ล้านบาท ดังนี้

ปีงบประมาณ พ.ศ. การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (ล้านบาท)
2564 145.000
2565 401.000
2566 183.124
รวม 792.124
 

                   3. มอบหมาย สพพ. ดำเนินการกู้เงิน จำนวน 729.124 ล้านบาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด
                   4. กรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. ตามจำนวนที่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อน และเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ในการประชุม คพพ. ครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 และครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง ภายในวงเงิน 1,458.248 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งในเขต North Okkalapa ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ทั้งจำนวน ซึ่งใช้แหล่งเงินจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ขอรับจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี จำนวน 3 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2566) โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) จะเสนอขอให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นรายปี วงเงิน 729.124 ล้านบาท และส่วนที่ 2 สพพ. จะกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ วงเงิน 729.124 ล้านบาท  ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ในกรณีที่เมียนมาผิดชำระหนี้ ขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. ตามจำนวนที่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อน และเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป ซึ่ง สงป. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วไม่ขัดข้องที่ สพพ. จะเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะถดถอยและมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สงครามการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น สพพ. จึงควรตระหนักถึงความสำคัญและกำหนดแนวทางและวิธีการบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสี่ยงในทุกปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบ
                   2. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาสำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้งดังกล่าวส่งผลดีต่อทั้งเมียนมาและไทย สำหรับเมียนมา โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายไฟฟ้า สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมียนมา อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ สำหรับไทย การให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการผลิต การค้า และบริการของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศไทย อีกทั้งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวไทยให้เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น เนื่องจาก สพพ. ได้กำหนดเงื่อนไขให้เมียนมาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมทั้งกำหนดให้ใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรควบคุมงานจากประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ อีกทั้งสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาผ่าน สพพ. มาแล้ว 1 ครั้ง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (24 ธันวาคม 2562) อนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (เงินกู้) แก่เมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในลักษณะเงินให้เปล่าด้วย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มิถุนายน 2558) อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่เมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (กรมทางหลวง)
                    3. ในประเด็นที่ สพพ. จะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. ตามจำนวนที่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อนในกรณีที่เมียนมาผิดนัดชำระหนี้ นั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (24 ธันวาคม 2562) เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี โดยในกรณีที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ ให้ กระทรวงการคลัง โดย สพพ. พิจารณาใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้เป็นลำดับแรก ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเห็นควรให้ สพพ. ใช้เงินสะสมของหน่วยงานในการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแหล่งเงินกู้เป็นลำดับแรก และกำหนดแนวทางและวิธีการบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 
 
19. เรื่อง หนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก สำหรับโครงการลดและเลิกใช้ สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 (HCFC Phase Out Project State 2)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก สำหรับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 (ร่างหนังสือข้อตกลงฯ) (HCFC Phase Out Project Stage 2) พร้อมอนุมัติให้ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเงื่อนไขมาตรฐานสำหรับกองทุนให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของธนาคารโลกจากกองทุนต่าง ๆ (Standard Conditions) ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดย มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้กระทรวงการคลัง (กค.) โดยรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นผู้ลงนามในหนังสือข้อตกลงฯ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย              ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
(กค. จะลงนามรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลกสำหรับโครงการดังกล่าวภายในเดือนกรกฎาคม 2563)
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ธนาคารโลกได้แจ้งอนุมัติความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย สำหรับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 (HCFC Phase Out Project Stage 2) วงเงินรวม 5,083,929 ดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนอนุรักษ์โอโซนที่มีธนาคารโลกเป็นผู้บริหารกองทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFC) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสเปรย์โฟมและตู้แช่เย็น โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ และมีระยะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ต่อมาธนาคารโลกได้ส่งร่างหนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) เพื่อให้กระทรวงการคลังในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยลงนามยืนยันรับความช่วยเหลือ โดยร่างหนังสือข้อตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับประเทศไทยในการรับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลกเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินโครงการฯ และได้กำหนดหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติ เช่น ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างและการประเมินผล เป็นต้น ทั้งนี้ การขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการในระยะที่ 1 ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557
                   2. โดยที่ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์มาตรฐานของการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก (Standard Conditions) ใน Article V Section 5.03 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า หากเกิดกรณีพิพาทที่คู่สัญญาไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้มีการจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อเป็นผู้พิจารณาระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารโลกที่ใช้บังคับกับทุกประเทศ กระทรวงการคลังจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการด้วย
 
20. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19
                   คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ราบรื่นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง  โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารฉบับดังกล่าวต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. แถลงการณ์ร่วมเป็นเอกสารว่าด้วยความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันระหว่างอาเซียนและจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การเดินทางและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การคมนาคม และการบริการด้านอื่น ๆ รวมทั้งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและตลาดการเงิน โดยดำเนินมาตรการตอบสนองด้านการขนส่งที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผล โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในขณะเดียวกันด้วย
                   2. การขนส่งและโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญและเป็นแถวหน้าของโลกมาอย่างต่อเนื่องในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการทำให้การจัดหาสินค้าและบริการจำเป็น รวมถึงอาหาร เวชภัณฑ์ และผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เป็นไปอย่างราบรื่นและตรงต่อเวลา โดยอาเซียนและจีนจะร่วมมือกันอย่างยั่งยืนและเป็นหนึ่งเดียวกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อการตอบสนองต่อการแพร่ระบาด ดังนี้
                             (1) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าที่จำเป็นข้ามพรมแดน รวมถึงอาหาร ยาและเวชภัณฑ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าและบริการอื่น ๆ
                             (2) ดำเนินมาตรการอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การขนส่งวัสดุและสินค้าจำเป็น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการเข้า ออก และผ่าน ของวัสดุและสินค้า โดยหลีกเลี่ยงการหยุดชะงัก
                             (3) ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกับองค์การต่าง ๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออื่น อาทิ องค์การการค้าโลก ในขณะเดียวกันเน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในการตรวจปล่อยสินค้าและการอำนวยความสะดวกในการขนส่งและหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในการขนส่งจราจร โดยมั่นใจว่าจะมีการเปิดท่าเรือเพื่อให้โลจิสติกส์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น
                             (4) สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการขยายระยะเวลาใบอนุญาตเรือและคนประจำเรือ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญต่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
                             (5) ยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อร่วมกันยกระดับขีดความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด ณ ด่านพรมแดนทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เสริมสร้างการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดและการป้องกันให้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนามในเครือข่ายการขนส่ง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้ามพรมแดน และลดความเสี่ยงของกลุ่มที่นำเชื้อโรคเข้าประเทศ
                             (6) ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องระหว่างอาเซียนและจีนผ่านเครือข่ายและเวทีที่มีอยู่ ภายใต้กรอบรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน แสวงหาความเป็นไปได้ในการอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเดินทาง โดยค่อย ๆ ลดข้อจำกัดด้านการเดินทางลง แต่ยังคงเคารพซึ่งการป้องกันสุขภาพ แสวงหานโยบายร่วมที่เป็นไปได้ เพื่อรองรับและสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ห่วงโซ่อุปทานโลก ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่คุณค่าของโลกได้
                             (7) ดำเนินการพิจารณาการนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมระดับสูงสุดตามความเหมาะสม
                   ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ด้วยระบบการประชุมทางไกล จะมีขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 นี้
 
21.  เรื่อง ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2020
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2020 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ในสวนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุม HLPF ประจำปี ค.ศ. 2020 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ มีเนื้อหาแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติโควิด-19 ในระดับโลก โดยยึดมั่นในความร่วมมือระหว่างประเทศและระบบพหุภาคี โดยครอบคลุมประเด็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การขจัดความยากจน การเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก การเสริมสร้างสันติภาพ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคน ระบบสาธารณสุขและการคุ้มครองทางสังคม ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การดำเนินการตามวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa Action Agenda) การสร้างขีดความสามารถด้านสถิติ การใช้ประโยชน์จากรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริทบใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 
 

แต่งตั้ง

22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายธำรงค์ ทองตัน ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค กรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 36 ราย ดังนี้
                   1. ให้นายชยาวุธ จันทร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง  
                    2. ให้นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุดรธานี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   3. ให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตาก สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง    
                   4. ให้นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับทรงคุณวุฒิ) กรมที่ดิน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                   5. ให้นายเสถียร เจริญเหรียญ พ้นจากตำแหน่งวิศวกรใหญ่ (วิศวกรโยธา ระดับทรงคุณวุฒิ)  กรมโยธาธิการและผังเมือง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                   6. ให้นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
                   7. ให้นายพรพจน์ เพ็ญพาส พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง)    สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมโยธาธิการและผังเมือง
                   8. ให้นายทรงพล ใจกริ่ม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)  จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
                   9. ให้นายสุธี ทองแย้ม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)    จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดจันทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
                   10. ให้นายไมตรี ไตรติลานันท์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)     จังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานปลัดกระทรวง
                   11. ให้นายสมบูรณ์ ศิริเวช พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท สำนักงานปลัดกระทรวง
                   12. ให้นายภิญโญ ประกอบผล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดตราด สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   13. ให้นายอำพล อังคภากรณ์กุล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครนายก สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   14. ให้นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดระยอง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครปฐม สำนักงานปลัดกระทรวง  
                   15. ให้นายไกรสร กองฉลาด พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)  จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม สำนักงานปลัดกระทรวง
                   16. ให้นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)    จังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปลัดกระทรวง
                   17. ให้นายสิริรัฐ ชุมอุปการ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง
                   18. ให้นายนิพัทธ์ บุญหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดน่าน สำนักงานปลัดกระทรวง  
                   19. ให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี สำนักงานปลัดกระทรวง
                   20. ให้นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสระแก้ว สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
                   21. ให้นายราชิต สุดพุ่ม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง   
                   22. ให้นายรังสรรค์ ตันเจริญ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง    
                   23. ให้นายรณชัย จิตรวิเศษ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง
                   24. ให้นายกฤษณ์ คงเมือง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง    
                   25. ให้นายชยันต์ ศิริมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง
                   26. ให้นายชาญนะ เอี่ยมแสง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครปฐม สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดระยอง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   27. ให้นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
                   28. ให้นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดลพบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง     
                   29. ให้นายชัยธวัช เนียมศิริ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง
                   30. ให้นายวันชัย คงเกษม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)    จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง
                   31. ให้นายเกียรติศักดิ์ จันทรา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)   จังหวัดมหาสารคาม สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสระแก้ว สำนักงานปลัดกระทรวง
                   32. ให้นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง     
                   33. ให้นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวง
                   34. ให้นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง
                   35. ให้นายทวีป บุตรโพธิ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง)     จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง      
                   36. ให้นายสยาม ศิริมงคล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุดรธานี สำนักงานปลัดกระทรวง
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
24. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและ  จังหวัดชลบุรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้นายวิเชียร จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต่อไปอีก เป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และให้นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชลบุรี ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต่อไปอีก เป็นเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
 
25. เรื่อง แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ การแต่งตั้ง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท เป็นผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 140,000 บาท  ตามมติคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 และครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้นายณกรณ์ ตรรกวิพัท ลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย  
 
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสามปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
                   1. นายนรินทร์ กัลยาณมิตร                            ประธานกรรมการ
                   2. นายสรัญ รังคสิริ                                     กรรมการ
                   3. นายก้อง รุ่งสว่าง                                     กรรมการ
                   4. พลโท กานต์ กลัมพสุต                               กรรมการ
                   5. นางสิรินทร์ แดงไชยวัฒน์                            กรรมการ
                   6. นายณกฤศพรรชธ์ ธนัตถ์อนนตชัย                  กรรมการ
                   7. พลตำรวจตรี เทียนชัย คามะปะโส                  กรรมการ
                   8. นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว                             กรรมการ
                   9. นายเดชา จาตุธนานันท์                             กรรมการ
                   10. นายสรศักดิ์ มีนะโตรี ผู้แทนกระทรวงการคลัง   กรรมการ
                   ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: