สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กไทย พบ 'อ้วน-เตี้ย' เพิ่ม

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 9568 ครั้ง

สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กไทย พบ 'อ้วน-เตี้ย' เพิ่ม

สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กไทยในฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กอ้วนสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือไม่เกินร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2561-2563 จากร้อยละ 11.8, 13.6 และ 12.78 ตามลำดับ และเด็กเตี้ยพบสูงกว่าค่าเป้าหมายร้อยละ 5 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 5.7 8.9 และ 5.9 ตามลำดับ

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2563 ว่า นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพบุคลากร ChOPA & ChiPA Coach” ณ โรงแรม เอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กไทยในฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กอ้วนสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือไม่เกินร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2561-2563 จากร้อยละ 11.8, 13.6 และ 12.78 ตามลำดับ และเด็กเตี้ย พบสูงกว่าค่าเป้าหมาย ร้อยละ 5 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 5.7 8.9 และ 5.9 ตามลำดับ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สู่การขับเคลื่อนระบบการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคและภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ให้มีความฉลาดรู้ทางการเคลื่อนไหว (Physical Literacy) และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้เด็กเพิ่มกิจกรรมทางกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ และนอนหลับอย่างเพียงพอ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยหลักสูตร ChOPA & ChiPA Coach

“ปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมอนามัยจะเร่งรัดส่งเสริมกิจกรรมทางกายสู่การจัดการโรคอ้วน เตี้ย ในเด็กไทยยุควิถีชีวิตใหม่ ภายใต้โครงการ “กระโดด โลดเต้น เล่นเปลี่ยนร่าง” มุ่งเน้นให้เด็ก “กระโดด โลดเต้น และเล่น ด้วยความสนุกสนาน” ในหลากหลายบริบท ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน จนรู้สึกเหนื่อยหรือ หอบอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน โดยกิจกรรมที่ทำนอกจากเป็นกิจกรรมแบบแอโรบิกทั่วไปแล้ว ควรเป็นกิจกรรมที่มีแรงกระแทกต่อข้อต่อร่วมอยู่ด้วย รวมทั้งควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วย อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และยืดกล้ามเนื้อทุกวัน “การกระโดด โลดเต้น เล่นสนุก” เพื่อการเจริญเติบโต ต้องทำให้หนักพอที่จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเพลียหรือล้า แต่ต้องไม่มากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้โปรตีน และฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต (Human Growth Hormone : HGH) ถูกดึงไปใช้สำหรับ การซ่อมแซมแทนที่จะนำมาใช้สำหรับการเจริญเติบโต” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: