'อนาคตใหม่' เปิดตัว 'ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า' หวังทลายทุนผูกขาด เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3614 ครั้ง

'อนาคตใหม่' เปิดตัว 'ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า' หวังทลายทุนผูกขาด เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้าน

'พรรคอนาคตใหม่' แถลงข่าวเปิดร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ปลดล็อกทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้าน โดยคาดจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในปลายเดือน ก.พ. 2563 นี้ | ที่มาภาพประกอบ: pxfuel (CC0)

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 ว่าที่พรรคอนาคตใหม่ นายเท่าภิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, และนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ปลดล็อกทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย โดยคาดจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในปลายเดือน ก.พ. 2563 นี้

นายเท่าภิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ กล่าวถึงอุปสรรคของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในวงการสุราประเทศไทย ในฐานะอดีตผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ ว่า อุปสรรคแรกคืออุปสรรคทางความคิด ทุกคนต่างคิดว่าเราคงต้องเป็นบริษัทใหญ่ถึงจะทำสุราขายได้ ตนก็เคยคิดแบบนั้น แต่วันหนึ่งได้มีโอกาสชิมรสชาติเบียร์ยี่ห้อหนึ่งจากต่างประเทศ เสมือนเป็นการเปิดโลกให้เห็นถึงความหลากหลายของเครื่องดื่มชนิดนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลงมือผลิตเบียร์ยี่ห้อของตนเอง โดยหวังสร้างให้เป็นธุรกิจด้วย

“แต่ในที่สุดความฝันสร้างธุรกิจคราฟต์เบียร์ก็ต้องยุติ เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกเข้าจับ ถึงได้รู้ว่าธุกิจที่คิดสร้างนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมายที่กำหนดว่า ผู้ผลิตเบียร์ต้องมีกำลังผลิตถึง 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนธรรมดา สิ่งนี้นำไปสู่คำถามในสังคมเช่นกัน ว่าเราจำเป็นต้องมีการปลดล็อกเพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้ามาทำได้ด้วยหรือไม่”

นายเท่าภิภพ กล่าวต่อว่า จากการได้ลงพื้นที่มากมายเมื่อมาทำงานการเมือง ตนได้พบกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสุราชุมชน สุราพื้นบ้านในประเทศไทย ผู้ผลิตเบียร์คราฟต์ที่ต้องระหกระเหินไปทำที่เมืองนอก เมื่อได้พูดคุยกัน พบว่าคนจำนวนมากมีปัญหาใกล้เคียงกัน และเห็นด้วยในเรื่องความไม่เท่าเทียมของกฎหมายที่มีอยู่ แน่นอนว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยมักจะยกข้อกังวลถึงเรื่องศาสนา สุขภาพ และอุบัติเหตุ ซึ่งตนเห็นด้วย แต่ตนมองว่านี่เป็นคนละเรื่องกันกับการปลดล็อกให้คนรายย่อยมาทำธุรกิจได้ และมองว่าการส่งเสริมให้ดื่มอย่างปลอดภัย หรือการศึกษาให้คนดื่มอย่างปลอดภัย ประกอบกับการใช้กฎหมายที่ดีและเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

“การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมสุรารายย่อยจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงผลผลิตเหลือๆ ของทางการเกษตรให้มาอยู่ในขวด เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยทำให้ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น และที่สำคัญคือ จะเป็นการเปลี่ยนประเทศนี้ไปโดยสิ้นเชิง เป็นการทำลายกำแพงอุปสรรคทางความคิดและกฎหมาย เพราะสุราไม่ใช่เรื่องเดียวที่คนไทยถูกปิดกั้นและผูกขาด” นายเท่าภิภพกล่าว

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายปลดล็อกสุรา ในฐานะของการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร และการสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยระบุว่า ตนเห็นโอกาสการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรไทย คือตอนที่เดินทางไปโอกินาวาและพบกับเหล้า “อาวาโมริ” ซึ่งตนมีโอกาสอภิปรายในสภาว่าเหล้าอาวาโมริ เกิดขึ้นเมื่อ 600 ปีที่แล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาเอาข้าวจากประเทศไทยไปทำเหล้าของเขา ข้าวที่ใช้คือข้าวอินดิก้า คือข้าวยาวที่ประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก

“40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวอินดิก้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด 2 แสนตัน กิโลกรัมละ 10-20 บาทแล้วแต่ช่วงเวลา แต่ญี่ปุ่นส่งออกเหล้าอาวาโมริกลับมาขายให้เรา ลิตรละ 2,500 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มถึง 170 เท่า นี่คือผลผลิตที่มาจากวัตถุดิบไทยที่คนไทยมองข้าม แต่คนต่างชาติเห็นมูลค่าของมันมานานกว่า 600 ปี จากการเดินทางของผมในช่วงที่มาเป็นนักการเมืองนั้น ได้พบกับความหลากหลายของเหล้าพื้นบ้านในทุกภาคทั่วประเทศ ขนาดมีการปิดกั้น ยังมีเหล้ากลั่นอยู่ประมาณ 2,000 โรง คราฟต์เบียร์ 70 ยี่ห้อ นี่คือสิ่งที่ป็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยที่กำลังรอการปลดปล่อยอยู่”

นายพิธา กล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นน้ำเมา แต่คือเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ สูตรและความลับทางการค้า คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ ที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำในประเทศไทยได้ และคือเรื่องของเครื่องหมายทางการค้าและภาษีที่ประเทศไทยจะได้รับ คราฟต์เบียร์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 122-180 ล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของมูลค่าตลาดเบียร์ทั้งหมดในประเทศ ส่วนสุราชุมชน มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,800-3,200 ล้านบาท เก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตจากสุราชุมชนได้ประมาณปีละ 1 พันล้านบาท ถ้าเราปลดล็อกเรื่องของเบียร์แล้วให้คราฟต์เบียร์เป็นเพียง 1% ของส่วนแบ่งในตลาดที่ทุนใหญ่ครองอยู่ทุกวันนี้ ก็เท่ากับคราฟต์เบียร์มีโอกาสที่จะโตได้ขึ้นถึง 11 เท่าเป็นอย่างน้อย

“เมื่อนำมูลค่าเหล่านี้มาบวกเพิ่มกับภาษีสรรพสามิตที่เคยอยู่นอกระบบ บวกกับการลงทุน การจ้างงาน เราจะได้มูลค่าทั้งหมดอย่างต่ำ 1.5 หมื่นล้านบาท อย่างกลาง 1.8 หมื่นล้านบาท และอย่างสูง 2 หมื่นกว่าล้านบาทที่จะป้อนเข้าสู่เศรษฐกิจไทย ถ้ามีการปลดล็อกตรงนี้ ให้สิทธิชุมชนและภูมิปัญญาของชาวบ้านได้กลับมา ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจะเพิ่มให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่ในตอนนี้ได้”

นายพิธา กล่าวต่อว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ยังมีงานต้องทำอีกมากมาย ทั้งการเผยแพร่ความรู้ การศึกษา การรับฟังความคิดเห็น ตนมีแผนงาน จะเดินทางไปดูสุราพื้นบ้านที่อีสานและภาคเหนือในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 และหวังว่าจะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาได้ก่อนการปิดสมัยประชุมนี้

ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า มีการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าสู่ตลาดได้ โดยสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมา ตั้งแต่การกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี ของสุรา 3 หมื่นลิตรต่อวัน กำหนดให้เบียร์ต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือการกำหนดเกณฑ์สำหรับการผลิตสุราชุมชน ที่ให้ไม่เกิน 5 แรงม้า ใช้คนงานไม่เกิน 7 คน มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากกฎหมายลักษณะนี้กำลังกำหนดว่าสุราชุมชนขนาดเล็กไม่มีวันและไม่มีโอกาสที่จะเติบโตแข่งขันกับผู้เผลิตที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นกลุ่มทุนพันล้านได้เลย นั่นคือที่มาว่าทำไมเราจึงเสนอยกร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

“ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีสาระสำคัญสามประเด็น ประกอบไปด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ห้ามกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาผลิตสุรา ห้ามจำกัดกำลังการผลิต กำลังการผลิตของเครื่องจักร และจำนวนคนงาน 2.การทำโครงสร้างภาษีขั้นบันไดตามขนาดกำลังการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถทำธุรกิจแข่งขันภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่และต่างประเทศได้ 3.ปลดล็อกการปรุงแต่งสุรา จากการแต่งกลิ่นแต่งสี และหมักสมุนไพรต่างๆ ได้ นี่คือโอกาสที่เราจะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตรในประเทศไทย” นายวรภพ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: