จับตา: เปิดร่างสัญญาเงินกู้ ADB แก้ปัญหา COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3986 ครั้ง


เปิดรายละเอียดร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ ครม. เห็นชอบ และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ (48,000 ล้านบาท) ด้านอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ประเมินการกู้เงินธนาคาร ADB ชี้ควรเป็นเพียงการเตรียมการ หากกู้ในประเทศไม่เพียงพอ ถ้าจะกู้ดอกเบี้ยควรต่ำกว่านี้ ยืดระยะเวลาคืนเงินต้นไม่ให้เป็นขีดจำกัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ 3-5 ปีข้างหน้า | ที่มาภาพประกอบ: SuperCryptoNews

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทยจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับ 48,000 ล้านบาท) เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และกระทรวงการคลังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเงินกู้ฯ ฉบับดังกล่าว มีกำหนดลงนามกับ ADB ภายในเดือน ส.ค. 2563 นี้

ความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังคาดว่า ในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศของไทยจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ

สำหรับสาระสำคัญของร่างสัญญาเงินกู้ฯ มีดังนี้

1.ผู้กู้คือกระทรวงการคลัง ผู้ให้กู้คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

2.วงเงินกู้รวม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

3.อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่างร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 ก.พ. และวันที่ 15 ส.ค.

4.ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ อัตราร้อยละ 0.15 ต่อปี ภายหลัง 60 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินการกู้เงิน ADB ชี้ดอกเบี้ยควรต่ำกว่านี้

ต่อมาในวันที่ 9 ส.ค. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าการก่อหนี้สาธารณะด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจะส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อมีไหลเข้าจากการกู้เงิน ความจำเป็นในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอาจมีขึ้นในอนาคตแต่ไม่ใช่ในระยะนี้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังสูงและเรามีความเสี่ยงปัญหาเรื่องกับดักสภาพคล่องมากกว่า สภาพคล่องในระบบมีเพียงพอ ความจำเป็นเฉพาะหน้าระยะสั้นในการกู้เงินจากต่างประเทศจึงยังไม่มี

ขณะนี้แม้นรัฐบาลเร่งรัดการลงทุนก็ยังไม่พบปัญหา Crowding Out Effect หรือ ทำให้สภาพคล่องลดลงและไปแย่งเม็ดเงินเอกชน ดันอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแต่ประการใด เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังคงติดลบหรือหดตัวไปอีกอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย การใช้นโยบายการเงินเชิงรุกควบคู่การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐก็เพียงพอแล้ว เพิ่มปริมาณเงินให้เพียงพอ กดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ ยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินต่างประเทศตอนนี้ การกู้เงินต่างประเทศจะทำให้เป็นภาระทางการคลังแม้นดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะไม่สูงก็ตาม หนี้รัฐบาล ในส่วนของสกุลเงินต่างประเทศของประเทศแม้นยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การกู้เงินต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาและสถานการณ์ในอนาคตค่าเงินดอลลาร์จะมีความผันผวนสูงมาก และ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หนี้ต่างประเทศเทียบหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่ถึง 3% จึงไม่ใช่ประเด็น ประชาชนผู้เสียภาษีและรัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องไปเสียดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินต่างชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มสภาพคล่องในระบบเพราะเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอต่อการหนุนหลังค่าเงินสำหรับปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น

หากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ในนามของรัฐบาลไทยจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 48,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ควรเป็นเพียงการเตรียมการเอาไว้ใช้ในคราวจำเป็นหากไม่สามารถกู้ในประเทศได้เพียงพอ หากจะเดินหน้ากู้เงินจากต่างประเทศ ขอให้ต่อรองอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงื่อนไขการชำระเงินกู้ใหม่ ดอกเบี้ยควรต่ำกว่านี้ ต้องยืดระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นออกไปเพื่อไม่เป็นขีดจำกัดในการใช้จ่ายภาครัฐและงบประมาณในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า งบประมาณของประเทศควรกำหนดสัดส่วนการชำระหนี้คืนเงินต้นไว้ต่ำจนกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นสู่ภาวะปรกติจึงค่อยผ่อนชำระในสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคต

จากงานวิจัย “การวิเคราะห์ผลกระทบหนี้สาธารณะต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการถดถอยแบบควอนไทล์” (ผลงาน กัญญ์สุดา นิ่มอนุสรรณ์กุลและทีมงาน ลงในวารสารวิชาการ CMU Journal of Economcis) พบว่า “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชีย (Developing Asia) พบว่า อัตราการเจริญเติบโตของ อัตราส่วนระหว่างหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (DEBTG) มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDPG) ในทิศทางตรงกันข้าม เฉพาะที่ระดับควอนไทล์ 0.25 และจากวิธี conditional mean เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDPG) ได้แก่ อัตราการเจริญเติบโตของอัตราส่วนระหว่างการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (INVG) เฉพาะที่ระดับควอนไทล์ 0.5 และ 0.75 โดยมีผลกระทบทางบวก และผลกระทบเพิ่มขึ้นเมื่อระดับควอนไทล์เพิ่มขึ้นด้วย และพบว่า อัตราการเจริญเติบโตของอัตราการเปิดประเทศ (OPENG) มีผลกระทบทางบวกต่ออัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDPG) จากวิธี conditional mean และมีผลกระทบทุกระดับควอนไทล์ โดยผลกระทบจะมีเพิ่มขึ้นมากขึ้นจากระดับ ควอนไทล์ 0.25 จนถึงระดับ ควอนไทล์ 0.5 แล้วผลกระทบลดลงจนถึงระดับควอนไทล์ 0.75 หากทำ การเปรียบเทียบ ความแตกต่างของผลกระทบของหนี้สาธารณะต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะที่แตกต่างกัน พบว่า ทุกกลุ่มประเทศ อัตราการเจริญเติบโตของอัตราส่วนระหว่างหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (DEBTG) มีผลกระทบทางลบต่อ อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDPG)”

นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากต้องการกู้ต่างประเทศจริง ๆ โปรดระมัดระวังการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี และอย่าให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 60-65% รวมทั้ง ต้องใช้เงินกู้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นไปตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์งบประมาณที่กำหนดเอาไว้อย่างแท้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: