คดีน้องชมพู่ ตอนนี้รอเพียงตำรวจแถลงปิดคดีเป็นทางการ แต่สิ่งที่ทิ้งไว้คือร่องรอยความฉิบหายของชุมชน อันเกิดจาก "สื่อ"
ตอนนี้เท่าที่ทราบคนในชุมชนแทบมองหน้ากันไม่ติด นอกจากความสงสัยกันเอง ก็ยังแบ่งฝ่ายกันชัดเจนระหว่าง "ลุงพล" กับ "พ่อแม่น้องชมพู่" ทั้งที่มันเกิดจากการขยายข้อสงสัยแบบไร้ความรับผิดชอบของสื่อ
ข้อสงสัยของพ่อแม่กับญาติๆ ของน้องชุมพู่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอละไว้ในฐานะมนุษย์ที่สูญเสีย การฟาดงวงฟาดงาด้วยความทุกข์พอจะเข้าใจได้ แต่มันถูกขยายแบบ "ล้ำเส้น" ไปไกล เพราะ "สื่อ" ที่มองเห็นว่าคดีนี้มีเงื่อนงำ จะกลายเป็นหนังม้วนยาว หากเกาะติดจะได้เรตติ้งแน่นอน จึงเข้าไปจับประเด็นแบบ "สืบสวนสอบสวนเทียมๆ" คือตั้งประเด็นจากความสงสัยของครอบครัว ของตัวเอง จับแพะชนแกะไปเรื่อยเปื่อย และชงประเด็นข้อสงสัยรายวัน กดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากมายมหาศาล ทั้งที่เงื่อนปมแรก คือ "ผลผ่าพิสูจน์ของนิติเวช" ที่ระบุชัดว่า "ไม่พบร่องรอยข่มขืน-ฆาตกรรม-ทำร้ายร่างกาย กระเพาะไม่มีอาหาร คาดหลงป่าขาดอาหารจนตาย สมอง และ ปอดไม่พบความผิดปกติ ที่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย มีเพียงการเน่า กะโหลกศีรษะไม่พบการแตกร้าว คอไม่หัก ไม่มีรอยฟกช้ำ"
"ขณะที่กระเพาะอาหารไม่มีอาหารหลงเหลืออยู่เลย มีเพียงของเหลว 10 มิลลิลิตร เท่านั้น ที่สำคัญ อวัยวะเพศไม่พบร่องรอยที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิด เยื่อพรหมจารียังอยู่ครบสมบูรณ์"
สรุปสั้นๆ จากหลักฐานของนิติเวชคือน้องน่าจะหลงป่าประมาณ 3 วันจนอดอาหารตาย แทนที่สื่อจะยึดประเด็นนี้ตามต่อ กลับไปเอาข้อสงสัยที่ไม่มีมูลของคนในครอบครัวมาขยาย จนกลายเป็นลักษณะขายข่าวรายวัน เอานักข่าวไปจำลองเหตุการณ์เอง ถือวิสาสะสอบสวนผู้ต้องสงสัยเอง โยนข้อสงสัยตั้งไว้เรียกความสนใจผู้ชม แต่เอาตัวรอดไปหลบอยู่หลังคำว่า "ไม่ได้ฟันธง" และ "โปรดใช้วิจารณญาณ"
คดีนี้ นพ.ศักดิ์สิทธิ์ บุญลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ผู้ผ่าชันสูตรศพน้องชมพู่คนแรกไม่ได้ด่าสื่อ แต่ติติงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มองว่าสืบสวนคดีแบบตั้งธง ไม่อิงหลักฐานของนิติเวช แต่ในมุมของตำรวจ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.พูดชัดหลายครั้งว่า คดีน้องชมพู่ตำรวจทำงานยาก เพราะสื่อเข้าไปเสี้ยมความขัดแย้งในชุมชนจนวุ่นวายไปหมด แถมถามหาแต่หมายจับๆ ซึ่งตำรวจก็ออกมั่วซั่วไม่ได้ พยานหลักฐานแทบไม่มีพอจะออกหมายจับใครได้เลย
และจากข่าวรายวันล่าสุด เราเห็นกันแม้กระทั่งข้อสรุปที่บ่งบอกทางตันของสื่อ คือการชงประเด็นมาสู่ความสงสัยเรื่องลุงพล เรื่องคนในครอบครัว พ่อแท้ๆ ของน้องหรือเปล่า จนต้องงัดสูติบัตรขึ้นมาโชว์ แถมไล่งับประเด็นที่มีใครก็ไม่รู้ปล่อยข้อมูลในโลกโซเชียลว่าคนในครอบครัวทำร้ายเพราะน้องทำหนูนาที่เลี้ยงไว้ตาย ซึ่งมันขัดแย้งกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
คดีน้องชมพู่ทำให้นึกถึงคดี "แม้ดดี้" แมเดอลีน แมคคานน์ ลูกสาววัย 3 ขวบของครอบครัวหมอจากเมืองเลสเตอร์ในประเทศอังกฤษที่หายตัวไปในประเทศโปรตุเกสเมื่อกว่า 13 ปีก่อน ขณะครอบครัวไปพักร้อนพร้อมกับผองเพื่อน น้องแม้ดดี้หายตัวปริศนาไปจากห้องพักของรีสอร์ทขณะที่กำลังนอนหลับ ส่วนพ่อกับแม่กำลังนั่งทานดินเนอร์กับเพื่อนๆ ในล็อบบี้ใกล้ๆ คดีนี้โด่งดังมาก ตำรวจอังกฤษกับตำรวจโปรตุเกสแทบจะพลิกแผ่นดินหา สื่ออังกฤษเข้าไปรุมไขคดีกันอย่างเมามัน ผ่านไปเป็นปีก็ไม่มีแม้แต่วี่แววเพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ให้สืบต่อได้
ผลสุดท้ายสื่อที่เริ่มตัน และจนแต้มที่จะขายข่าวต่อได้ ก็ไปตั้งประเด็นว่าอาจเป็นฝีมือของคนในครอบครัวเสียเองที่วางแผนฆาตกรรมน้องแม้ดดี้ ทั้งทีมีพยานยืนยันชัดเจนว่าขณะหนูน้อยหายตัวคนในครอบครัวนั่งทานดินเนอร์อยู่กับเพื่อน แต่สื่อไปผูกโยงเล่าเรื่องเป็นฉากๆ ว่าทั้งคู่เป็นหมอจึงรู้วิธีวางแผนฆ่าและทำลายศพโดยไม่ทิ้งหลักฐาน คดีนี้แม่กับพ่อซึ่งทุกข์อยู่แล้ว ได้รับผลกระทบจากการนั่งเทียนของสื่อจนแทบเป็นบ้า
ผ่านมา 13 ปีตำรวจเยอรมันประสานกับตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ดบอกว่ามีผู้ต้องสงสัยอุ้มน้องแม้ดดี้ ชื่อนายคริสเตียน บรุคเนอร์ เป็นชายเยอรมันที่มีแนวโน้มเป็นจิตเวช Paedophile คือโรคคลั่งเด็กๆ มีคดีลักเล็กขโมยน้อย อนาจารและข่มขืนยาวเป็นพรวน สุดท้ายก็ถูกจับกุมในคดีอื่น นายคนนี้จำน้องไม่ได้แต่จำได้ว่าเคยปีนเข้าไปขโมยของในรีสอร์ทแห่งหนึ่งในโปรตุเกส พบเด็กหลับอยู่ จึงเอาเด็กออกมาด้วย และตำรวจเยอรมันสรุปว่าเด็กเสียชีวิตไปแล้ว
สื่ออังกฤษที่เคยปั้นน้ำเป็นตัว นั่งเทียนเขียนโยงมั่วซั่วทำลายชีวิตครอบครัวถูกผู้อ่านเข้าไปประณามจนแทบหมดสิ้นความน่าเชื่อถือ แถมยังเสียเงินอีกหลายแสนปอนด์เพราะแพ้คดีฟ้องร้องให้กับครอบครัว
ถามว่าสื่อไทยจะโดนถึงขั้นนี้ไหม คงยาก ซึ่งถ้าตำรวจแถลงปิดคดีเสร็จก็รอเปิดประเด็นดราม่าใหม่ๆ ล่อผู้ชมเท่านั้นเอง
ผมคงไม่ต้องระบุว่ามีสื่อไหนบ้าง คนอ่านคงรู้กันดีว่าเจ้าใดนำเสนออย่างไร และบทเรียนคงไม่ต้องถอดกันแล้ว เพราะมีกรณีศึกษาเยอะแยะให้อ้างอิงเกณฑ์ทางจริยธรรม ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคสื่อ ว่าจะเรียกร้องความรับผิดชอบของสื่อเหล่านี้ยังไง ส่วน กสทช.หรือองค์กรวิชาชีพสื่อจะมีแอ็คชั่นใดๆ กับกรณีสื่อ "ขายข่าว" กับประเด็นสังคม-อาชญากรรมเหล่านี้ไหม เพราะมันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ผมคงไม่คาดหวัง เพราะไม่มีเบื้องหลังทางการเมืองที่พวกเขาถนัด.
*เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊ก Nattharavut Kunishe Muangsuk
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ