ประธานชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุมีการโยนบาปให้ อปท. กรณีจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการล่าช้า มีการดำเนินการไม่เรียบร้อยกับโยนผิดมา อปท. ยืนยันก่อนหน้านี้ อปท.จ่ายเงินเองไม่เคยมีปัญหา เพราะมีแผนรองรับหลายขั้นตอนเพื่อไม่ให้การโอนเงินติดขัด
โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม e-Social Welfare
#เงินทดรองราชการ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ไปไหน
#กรมบัญชีกลางโอนเงินเกินเวลาตามที่ระเบียบกำหนดผิดกฎหมายหรือไม่
#ทำไมต้องโยนความผิดมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเมื่อทุกเดือนก็โอนได้
พวกเราในนามของผู้ปฏิบัติงานเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล) ซึ่งปัจจุบันรับงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ในนามของชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นองค์กรของคนทำงานสวัสดิการสังคม งานพัฒนาชุมชน และงานสังคมสงเคราะห์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
#ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ของบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรง
พวกเราในฐานะคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการชาวบ้านเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ ขอชี้แจงว่า พวกเรา ทำงานกันมา ตั้งแต่นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๒ มาถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ (ไม่นับรวมถึงทำงานมาตั้งแต่ภารกิจถ่ายโอน) โดยมีการทำงานระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ แต่อย่างใด เนื่องจากกระบวนการทำงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกระบวนการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองเงินจ่ายไปก่อนแล้ว แล้วรายงานของบประมาณที่ขาด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่ขาดจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตอนปลายปีงบประมาณ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรช้าหรือเร็วอยู่ที่ กระบวนการรายงานและกระบวนการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องของระบบราชการ ซึ่งจะไม่เอาคำว่าสิทธิประชาชน มาเป็นข้ออ้างในการที่ไม่จ่ายให้กับประชาชน ตั้งปีงบประมาณ ๒๕๕๒-๒๕๕๙ (เป็นเงินนอกงบประมาณ) หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือได้มาไม่เพียงพอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการยืมเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อน โดยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามจำนวนผู้มีสิทธิ ที่จะได้รับทุกคนทุกรายการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ เป็นต้นมา (เป็นเงินในงบประมาณในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ) หากงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีหรือยังไม่ได้รับการจัดสรร หรือจัดสรรมาช้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยืมเงินสะสมมาจ่ายก่อนได้ และในไตรมาสที่ ๒ หากงบประมาณยังไม่ได้จัดสรร ก็สามารถใช้งบประมาณประจำปีที่มีใช้จ่ายไปก่อนได้ และถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ไม่มีเงินเพียงพอ ก็ขอทำการตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการใช้เงินสะสมได้ หรือหากมีเงินสะสมไม่เพียงเพียง ก็สามารถใช้เงินทุนสำรองสะสมมาใช้ก่อนได้อีก แต่โดยปกติกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล่วงหน้าอย่างน้อยสามเดือน หรือหากงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ประกาศใช้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะรีบทำการตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้เงินจ่ายให้กับผู้สูงอายุและคนพิการได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจ่ายเงินให้กับประชาชนได้อย่างไม่มีข้อติดขัดและมีปัญหาใดๆ
ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เป็นต้นมา กรมบัญชีกลางได้เข้ามามีหน้าที่โอนงบประมาณ แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายรัฐ ซึ่งก็มีกระบวนการทำงานที่มีการแก้ไขระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระเบียบเบี้ยความพิการ และระเบียบการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดำเนินการจ่ายเงินได้
ซึ่ง วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ กรมบัญชีกลางได้เชิญผู้แทนชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๕ คน ประกอบด้วย ๑) นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ๒) นายเวชยันต์ ทิศรี รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคอีสาน) ๓) นางนงนุช เครือเอม รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคกลาง) ๔) นายนครินทร์ กลิ่นซ้อน รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคเหนือ) ๕) นางอรุณทิพย์ สนิบากอ รองประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (ประธานภาคใต้) และ ผู้แทนจากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
เข้าร่วมประชุมที่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากต้องมีการนำร่อง ๙ จังหวัด (น่าน อุทัยธานี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม จันทบุรี นครราชสีมา มุกดาหาร พังงา และสงขลา) แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดขัดเรื่องระบบการรับลงทะเบียนและระบบจ่ายเงิน จึงต้องมีการเลื่อนการนำร่อง ๙ จังหวัดนำร่องไปก่อน และในวันนั้นประธานชมรมฯ ได้มีการซักถามเรื่องการทำงาน เสนอปัญหาต่างๆ ประเด็นที่เราเป็นห่วง คือ หากงบประมาณไม่เพียงพอ กรมบัญชีกลางจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในที่ประชุมกรมบัญชีกลางได้ ตอบมาว่า #กรมบัญชีกลางมีเงินทดรองราชการ จำนวน ๑,๕๐๐ ล้าน ในการสำรองให้ก่อนแล้วจะไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง
ซึ่งเป็นคำตอบที่พวกเราในฐานะผู้แทนได้ยินได้ฟังแล้ว พวกเรารู้สึกอุ่นใจว่าหากมีการเปลี่ยนผ่านกระบวนการจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิโดยกรมบัญชีกลางแล้ว กรมบัญชีกลางมีเงินทดรองราชการที่จะสามารถสำรองแทนก่อนได้ คล้ายๆกับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองมาก่อน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ กรมบัญชีกลางได้มีการจัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี โดยได้เชิญนายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมประชุม และในที่ประชุมกรมบัญชีกลางได้พูดชัดเจนและในที่ประชุมได้สอบถามและได้คำตอบว่า #หากงบประมาณมีไม่เพียงพอ กรมบัญชีกลางมีงบประมาณเงินทดรองราชการ ๑,๕๐๐ ล้านบาท สำรองให้ก่อน โดยเริ่มนำร่อง ที่จังหวัดสิงห์บุรีเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา โดยในจังหวัดสิงห์บุรีมี จำนวน ๔๑ แห่ง มีความพร้อม ๓๘ แห่ง และตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด สิงห์บุรีอีก ๓ แห่ง ก็เข้าร่วม โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม e-Social Welfare พร้อมกัน โดยมีหลักการว่า ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณไปที่บัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๕๕๘/๕๕๙) โดยไม่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงแล้ว และหลักการที่สำคัญคือกรมบัญชีกลางจะโอนให้เฉพาะคนที่มีชื่อในระบบ ของปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ของ ระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( http://welfare.dla.go.th/) เท่านั้น ถ้าไม่มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรงบประมาณมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานไปแล้วภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ตามหนังสือวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โดยโอนเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดือนละ ๑ ครั้ง
กรณีมีข่าวบอกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้เงินสะสมได้ พวกเราขอบอกไว้ก่อนเลยว่า การรับเงินมี ๒ วิธีหลักๆคือ ๑. เงินสด ๒.โอนเข้าบัญชี ในการจ่ายเงินเดือนกันยายน ๒๕๖๓ กรมบัญชีกลาง ใช้ยอดผู้มีสิทธิ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ เป็นฐานในการโอนงบประมาณประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งหากใครจ่ายเงินสด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีงบประมาณประจำปีเพียงพอ หรือถ้าไม่มี หากจะใช้เงินสะสมหรือเงินทุนสำรองสะสมก็ต้องทำตามระเบียบของทางราชการ ก็สามารถเบิกจ่ายก่อนได้ และถึงเวลากรมบัญชีกลางก็จะโอนงบประมาณมาคืนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในส่วนการโอนเข้าบัญชีชาวบ้านโดย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้เงิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายไปก่อนได้หรือนำเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองสะสมจ่ายไปก่อนได้ เนื่องจากในระบบได้บันทึกเป็นการโอนเข้าบัญชีไปแล้ว ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการโอนงบประมาณไปก่อน ถึงเวลากรมบัญชีกลางก็จะโอนไปซ้ำซ้อนเข้าบัญชีชาวบ้านอีก ๑ รอบ (ดังนั้น ถ้าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายไปก่อน ท่านต้องทำหนังสือแจ้งมาว่าเดือนกันยายนของทุกปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรองจ่ายไปก่อน แล้วท่านจะโอนเงินมาเข้าบัญชี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด
ดังนั้นกรณีงบประมาณไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เป็นผู้จ่าย หากใช้เงินทดรองราชการจ่ายไปก่อน แล้วมาเรียกคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็คงไม่มีปัญหา แน่นอน
ดังนั้น พวกเราในนามของชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย จึงขอฝากไปถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่า อย่าเอาชาวบ้านมาเป็นตัวประกันในการทำงาน ตอนจะทำงานพูดสวยหรูว่าจะสำรองให้ แต่ถึงเวลาจริงๆไม่สำรองให้ เพราะว่าว่าอะไร ก็ต้องชี้แจงมาให้พวกเราได้รับทราบว่าเพราะอะไร ทำไมใช้เงินทดรองราชการไม่ได้ ติดขัดอะไรตรงไหน ไม่มีความพร้อมหรือไม่ ก็ส่งคืนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจ่ายเหมือนเดิม เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวังอยู่แล้ว การเขียนข้อความนี้เป็นการแจ้งบอกกล่าวคร่าวเท่านั้น
และขอแจ้งสื่อมวลชนทุกหน่วยงานว่า
#องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ถังแตก กรุณาให้ทราบด้วย เวลาเขียนข่าว กรุณาหาข่าวก่อนว่า
อปท. แปลว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สถ. แปลว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
บก. แปลว่า กรมบัญชีกลาง
มท. แปลว่า กระทรวงมหาดไทย
จะหมายถึงใคร กรุณาใช้คำพูดเต็มๆ ถ้าพูดคำว่า ท้องถิ่น มันจะหมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ก ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ