ธนารักษ์สั่งคุมอาคารเก่า ผู้เช่าที่ต้องเข้มตามกฏหมาย-ระเบียบอนุรักษ์ก่อนซ่อม-รื้อถอน

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2129 ครั้ง

ธนารักษ์สั่งคุมอาคารเก่า ผู้เช่าที่ต้องเข้มตามกฏหมาย-ระเบียบอนุรักษ์ก่อนซ่อม-รื้อถอน

กรมธนารักษ์ คุมเข้มอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เบื้องต้น มี 66 หลัง ผู้เช่าที่ต้องเข้มตามกฏหมาย-ระเบียบอนุรักษ์ก่อนซ่อม-รื้อถอน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 ว่านายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ซึ่งกรมฯได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญของอาคารราชพัสดุดังกล่าว จึงกำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เป็นโครงการสำคัญของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

นายยุทธนา กล่าวต่อว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวผ่านทางสื่อต่างๆ กรณีที่มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร เร่งรัดดำเนินการสำรวจตรวจสอบ จัดทำฐานข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563 จากการที่กรมธนารักษ์ได้ดูแลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จำนวน 66 หลัง เช่น บ้านขุนพิทักษ์บริหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และบ้านหลุยส์ จ.ลำปาง เป็นต้น

“กรมธนารักษ์จะแจ้งให้หน่วยงานผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุร่วม สำรวจ ตรวจสอบอาคาร เพื่อตระหนักในคุณค่าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยก่อนการรื้อถอนซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการอื่นใดกับอาคารให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด” นายยุทธนากล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: