เสนอปรับแผน AEDP เพิ่มรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2224 ครั้ง

เสนอปรับแผน AEDP เพิ่มรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอกระทรวงพลังงานให้ปรับแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ใหม่ โดยเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ในแผนมีปริมาณรับซื้อ 900 เมกะวัตต์ หวังให้สามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้น 27 ล้านตันต่อปีได้ทั้งหมด ในขณะที่เลขาธิการสำนักงาน กกพ.ชี้การนำขยะผลิตไฟฟ้าควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนโดยรวม ควรเน้นแนวทางการคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธีเป็นอันดับแรก | ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดสัมมนาเป็นการภายใน เรื่อง “ข้อเสนอ AEDP ภาคประชาชน” และเตรียมจัดทำสมุดปกขาวเพื่อยื่นข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยหวังสะท้อนให้ภาครัฐเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานหมุนเวียนในระดับนโยบายต่อไป

ทั้งนี้นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาฯ ว่า ส.อ.ท.ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP ใหม่ โดยให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ จากตามแผนเดิมที่ใช้ในปัจจุบันเปิดรับซื้อรวมประมาณ 900 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 และอีก 400 เมกะวัตต์ ตามแผน AEDP 2018) ทั้งนี้เพื่อช่วยกำจัดขยะที่เกิดขึ้นประมาณ 27 ล้านตันต่อปี

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า การที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.เสนอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น 27 ล้านตันต่อปีนั้น มองว่าการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและยังส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แพงขึ้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะ รัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระดังกล่าว

ดังนั้นจึงอยากให้ภาคอุตสาหกรรมตั้งต้นที่การกำจัดขยะก่อน ทั้งการทิ้งให้ถูกที่แยกประเภทขยะและการรีไซเคิล โดยพื้นที่ใดมีปริมาณขยะมากควรสอบถามประชาชนว่าต้องการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนอย่างไร หากต้องการใช้วิธีเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าจึงค่อยมากำหนดที่ตั้งโรงไฟฟ้าและหาผู้ประกอบการดำเนินการต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: