แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุม

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3497 ครั้ง

แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุม

รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกควบคุมตัวจะต้องสามารถติดต่อทนายความได้

15 ต.ค. 2563 สืบเนื่องจากข่าวที่ว่าทางการไทยสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่ “อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว” มิงยู ฮา รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“คำสั่งที่คลุมเครือและรุนแรงเช่นนี้ จะยิ่งนำไปสู่การจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้น

“คาดว่าจะมีการชุมนุมอีกครั้งในวันนี้ เราจึงเรียกร้องทางการไทยให้หาทางเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

“การจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมากเมื่อเช้านี้ เป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เพราะการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การดำเนินงานของรัฐเช่นนี้มีเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง ทำให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม เราขอเรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกควบคุมตัวจะต้องสามารถติดต่อทนายความได้

“การจับกุมครั้งนี้และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างฉับพลันในยามวิกาล เป็นการเพิ่มมาตรการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของไทยครั้งล่าสุด

“แทนที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทางการไทยควรเปลี่ยนแนวทาง โดยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่จะเคารพสิทธิของบุคคลทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดียและการชุมนุมบนท้องถนน”

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ทางการไทยสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในกรุงเทพฯ โดยไม่มีเวลากำหนด คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยุติการชุมนุมที่บานปลาย คำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลาสี่นาฬิกา ทั้งยังเป็นคำสั่งห้ามการตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความออนไลน์ซึ่ง “อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว” ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม

ตามรายงานข่าว มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คนช่วงเช้ามืด ในข้อหาละเมิดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในตอนนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องไม่ให้ทางการไทยใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: