สัปดาห์สมัชชาสุขภาพฯ เวที “กินอยู่ รู้ทันโรคเรื้อรัง” ปลุกประชาชนบอกลาพฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่ปรึกษา สปสช. แนะ เดินวันละ 5,000 ก้าว สู้โรคหลอดเลือด-ความดัน-เบาหวาน-มะเร็ง-ปอดอุดกั้น ด้านรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้ NCDs นับเป็นโรคติดต่อทางสังคม ส่งผ่านสู่ลูกได้โดยพ่อแม่
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายขับเคลื่อนผู้ป่วยเรื้อรัง Healthy Forum จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คนรุ่นใหม่ กินอยู่ รู้ทันโรคเรื้อรัง” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้สัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา สปสช. กล่าวว่า โรค NCDs (Non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 4 แสนราย หรือประมาณ 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลกเกือบ 50% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใน 2 ด้าน คือการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย
นพ.กฤช กล่าวว่า ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่ผู้คนเว้นระยะห่างด้วยการอยู่บ้านและนำไปสู่พฤติกรรมเนือยนิ่ง วิถีนี้ส่งเสริมให้เกิดการสะสมไขมัน พลังงาน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น สุดท้าย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน หรือการรับประทานอาหารอย่างลืมตัวจนเกินความต้องการของร่างกาย สุดท้ายพลังงานนั้นก็จะสะสมและกลายมาเป็นปัญหา ดังนั้นจำเป็นต้องรณรงค์ให้คนกลับมามีวิถีที่กระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้น
นพ.กฤช กล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังมากขึ้น เช่น เดินอย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว หรือ 3 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคได้เป็นอย่างมาก และล่าสุดมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า หากผู้ป่วยเบาหวานเดินเป็นเวลา 15 นาทีหลังอาหาร จะช่วยเรื่องการใช้น้ำตาลในร่างกายได้เป็นอย่างดี
ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้ว่าโรค NCDs จะถูกเรียกเป็นโรคไม่ติดต่อ คือ ไม่มีเชื้อโรค ไม่มีแบคทีเรีย หรือไวรัสที่แพร่กระจายได้ หากแต่โรคนี้กลับเป็นโรคที่ติดต่อกันทางสังคม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของพฤติกรรม เช่น ครอบครัวใดชอบกินเค็ม หรือครอบครัวใดดื่มเหล้าสูบบุหรี่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะติดต่อไปยังเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวนั้น ที่จะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมเสี่ยงตามไปด้วย
นพ.ปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับโรคโควิด-19 ทำให้ควบคุมดูแลได้ดี โดยพบผู้เสียชีวิตเพียง 60 คน ในช่วง 6 เดือน แต่เรากลับรู้สึกเฉยๆ กับโรค NCDs ทั้งที่มีอัตราการเสียชีวิตปีละกว่า 4 แสนคน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน ฉะนั้นหากโควิด-19 คือวิกฤตทางสุขภาพ NCDs ก็เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงในแบบที่เราไม่รู้ตัว จึงเป็นสิ่งที่จะนิ่งนอนใจไม่ได้
ขณะที่ น.ส.ธิดารัตน์ จันทรา หัวหน้ากลุ่มงานโภชนาศาสตร์ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า 90% ของปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค NCDs คือ อาหาร แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วย NCDs จะไม่เสียชีวิตโดยทันที แต่โรคนี้ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างได้ ฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ การลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร
“การมีสุขภาพที่ดีได้ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญว่าตัวเราคือหมอรักษาตัวเอง และบ้านก็คือโรงพยาบาล ส่วนอาหารคือยา ดังนั้นหากไม่อยากกินยาเป็นอาหารก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาลดหวาน มัน เค็ม อย่างจริงจัง” น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว
น.ส.ศิริพร เจริญโภคราช ผู้ป่วยโรคไตวาย กล่าวว่า เดิมเป็นคนที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างมักง่าย ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อหิวก็รับประทานอาหารโดยไม่สนใจเวลา เมื่อง่วงก็นอน คิดแต่เพียงว่าจะหาเงินให้ได้มากๆ แต่มาวันนี้รู้แล้วว่าวิถีชีวิตเช่นนั้นไม่คุ้มค่า โรคไตและโรคหัวใจทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลตัวเองและคิดบวกให้ได้มากที่สุด
น.ส.สุรีภรณ์ เป่าป่า ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการดูแลผู้ป่วย คือค่าใช้จ่ายที่ต้องหาเงินมาเพื่อให้การรักษา ขณะเดียวกันก็ต้องลางานหลายครั้ง สุดท้ายก็จะเกิดเป็นความเครียดต่อตัวผู้ดูแล ฉะนั้น NCDs ไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะกับตัวของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อคนที่อยู่ใกล้ชิดด้วย ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเอง ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ