ศธ.ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ครู ช่วยคิดวิธีปลดหนี้ แล้วออกเป็นข้อกำหนดร่วมกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 2189 ครั้ง

ศธ.ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ครู ช่วยคิดวิธีปลดหนี้ แล้วออกเป็นข้อกำหนดร่วมกัน

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขาฯ รมว.ศธ.) เผยภายหลังประชุมคณะกรรมแก้ไขปัญหาหนี้ครู มีข้อสรุปร่วมกันว่าให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งไปจัดทำมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ออกมาเป็นทิศทางในการแก้ปัญหารูปแบบเดียวกันเพื่อลดการผ่อนชำระหนี้ของครู | ที่มาภาพประกอบ: Mortgage Finance Gazette

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2563 ว่านายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขาฯ รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมแก้ไขปัญหาหนี้ครู ว่าตนได้หารือร่วมผู้แทนจากธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งไปจัดทำมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ออกมาเป็นทิศทางในการแก้ปัญหารูปแบบเดียวกัน เพื่อลดการผ่อนชำระหนี้ของครู ทั้งนี้ในวันที่ 17 ก.พ. 2563 จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้ง ว่า จะมีมาตรการใดบ้างที่จะยึดใช้แก้ปัญหาต่อไป ส่วนประเด็นคำสั่งศาลปกครองกลางพิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการครู เพื่อชำระหนี้ว่าเงินเดือนสุทธิหลังจากการหักชำระหนี้แล้วต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นั้น ที่ประชุมพบว่าแต่ละธนาคารไม่รู้ว่าครูแต่ละคนมีหนี้อยู่ที่ไหน และเท่าไรบ้าง ส่งผลให้การจะหักเงินให้อยู่กรอบไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูลแหล่งเงินของกู้ครูทั้งหมด เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา

นายอนุชา กล่าวต่อว่านอกจากนี้ตนยังได้มอบหมายให้นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการดำเนินการหักเงินเดือนร้อยละ 70 ของเงินเดือนครู เนื่องจากขณะนี้ มีสถาบันการเงินหลายแห่งทำหนังสือให้ผู้กู้ยินยอมให้มีการหักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้เกินร้อยละ 70 ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการจัดลำดับความสำคัญ โดยจะเลือกแก้ปัญหาให้กับกลุ่มครูที่เป็นหนี้วิกฤตในระยะแรกก่อน ส่วนระยะสองที่จะมาวางแนวทางแก้ปัญหาหนี้ทั่วไปของครู ขณะเดียวกันตนยังได้มองถึงการวางมาตรการป้องกันการก่อหนี้ในอนาคต เช่น การนำเงินโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และ โครงการสวัสดิการกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาใช้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ซึ่งตนคิดว่าควรจะมีการทบทวนโครงการนี้ใหม่ด้วยเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: