นักเศรษฐศาสตร์ประเมินมาตรการเศรษฐกิจรับมือผลกระทบ COVID-19 และเศรษฐกิจถดถอย

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1945 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินมาตรการเศรษฐกิจรับมือผลกระทบ COVID-19 และเศรษฐกิจถดถอย

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินมาตรการเศรษฐกิจรับมือผลกระทบ COVID-19 และเศรษฐกิจถดถอย ชี้รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย และการเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความปลอดภัย ปัญหา COVID-19 ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2563 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะพัฒนาไปอย่างไรและมีลักษณะผลกระทบแบบปลายเปิด จากการประเมินล่าสุดยังไม่สามารถชี้ชัดว่าจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับโลกหรือวิกฤตการณ์ในไทยหรือไม่ แต่แน่นอนมีความเสี่ยงที่จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ จึงยังไม่ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ในขณะที่ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วที่ระดับ 1.8% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคค่อนข้างแน่นอน ส่วนจะถึงขึ้นเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกับวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบเกือบ -3% ในปี 2540 และหดตัว -7.6 % ในปี พ.ศ. 2541 (คำนวณจีดีพีแบบปริมาณลูกโซ่) และฟื้นตัวเป็นบวกได้ในปี พ.ศ. 2542 นั้นต้องรอประเมินอีกครั้งในเดือนเมษายนซึ่งจะได้เห็นปัจจัยและตัวแปรต่างๆชัดเจนขึ้นและบอกเราได้ว่า เศรษฐกิจจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจทั้งปีติดลบหรือไม่และต่อเนื่องกันกี่ปี ตอนนี้ที่คาดการณ์ได้คือติดลบอย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน แต่วิกฤตการณ์คราวนี้หากเกิดขึ้นจะแตกต่างจากปี 2540 คราวนี้จะเกิดจะเป็นวิกฤติของเศรษฐกิจฐานรากและคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นวิกฤติของภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการผลิตภาคท่องเที่ยว ไม่เหมือนวิกฤติปี 40 ที่ใจกลางของวิกฤติอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป มีการลงทุนเกินตัวจนเกิดฟองสบู่และปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงิน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม. รังสิต กล่าวอีกว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้คาดว่าน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบแน่ในไตรมาสแรก และอาจจะติดลบต่อเนื่องในไตรมาสสองติดต่อกัน โดยคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกอาจหดตัวเกือบ 2% การลดลงของภาคการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ และการนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจำนวน 4 ครั้งในปี 2540-41 (เกิดวิกฤตการณ์การเงินด้วย), ปี 2551-52, ปี 2556 และ ปี 2557 โดยในปี พ.ศ. 2540-2541 เกิดภาวะถดถอยรุนแรงสุดจนถึงขั้นเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจติดลบสี่ไตรมาสติดต่อกัน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 จะช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชนและสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กได้บ้าง แต่การใช้วิธีแจกเงินอยู่เรื่อยๆเช่นนี้ เราต้องตระหนักว่าฐานะทางการคลังของไทยไม่ดีเท่ากับสิงคโปร์หรือฮ่องกงซึ่งรัฐบาลมีการเกินดุลงบประมาณมากโดยตลอด สองประเทศนั้นแจกเงินรับมือกับผลกระทบ COVID-19 ได้โดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลังในอนาคต ส่วนมาตรการแจกเงิน 2,000 บาทต้องมีแนวทางชัดเจนเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ โดยใช้ฐานของผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบวกกับกลุ่มอาชีพอิสระที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลก็ต้องดึงให้มาอยู่ในฐานข้อมูลเพื่อจะได้ช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติด้วย

มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลยังเป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นหลัก บรรเทาปัญหามากกว่า เป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนทางการเงิน อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 0.015-0.030% ซึ่งเป็นการเพียงช่วยไม่ให้การทรุดตัวหรือติดลบเกิน 2% การแจกเงินไปที่กลุ่มผู้รายได้น้อยโดยตรงอาจมีความจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก แต่ให้ระวังฐานะการเงินการคลังหากใช้มาตรการแบบนี้บ่อยและประชาชนจะเสพติดประชานิยม ไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่อย่างใด เป็นการช่วยแบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้สร้างระบบหลักประกันทางสังคม ผมจึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง หากต้องการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการควรเลือกใช้แนวทางอื่น เพราะการลดการจ่ายสมทบจะทำให้สถานะทางการเงินของระบบประกันสังคมอ่อนแอลงในระยะต่อไป

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่ามาตรการหรือแนวทางที่สำคัญในช่วงนี้ คือ รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย และการเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความปลอดภัย หากทำให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่นเช่นนั้น ปัญหา COVID-19 ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง รัฐบาลต้องโปร่งใสและไม่ปิดบังข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพ ทำให้เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเกิดการหนุมเวียนหลายรอบ ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจจะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อมีความเชื่อมั่น นอกจากนี้ต้องทำให้เกิด Rule of Law และประชาธิปไตยในประเทศนี้จะทำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: