‘สายบุญ’วางแผนท่องเที่ยวปลายปี 63 มากที่สุด แม้เศรษฐกิจซบ COVID-19 ระบาด

ทีมข่าว TCIJ | 15 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 8816 ครั้ง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำรวจพบคนไทยยังเดินทางไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม แม้เศรษฐกิจจะซบเซาและมีปัญหา COVID-19 โดยส่วนใหญ่ขอขวัญกำลังใจ โชคลาภ เงินทอง การงาน และธุรกิจ 44.72% มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100-200 บาท สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 10,800 ล้านบาท หรือ 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทยในปี 2562 - พบคนไทย 60.9% มีแผนเที่ยวไทยช่วงปลายปี มากสุดคือสายบุญ 22.1% - การบินไทยออกแพคเกจ 'บินรับมงคลบนฟากฟ้า ผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย' | ภาพประกอบ: ไอโกะ ฮามาซากิ

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าจากการที่ความเชื่อและศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาหรือเครียด คนไทยก็มักจะหันหน้าเข้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนาของตนเพื่อขอพรและโชคลาภ ดังที่เราเห็นข่าวเรื่องการบนขอหวยและการแก้บนเพิ่มขึ้นมากในสื่อต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีเงินสะพัดในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากในหลายจังหวัด สนค. จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความเห็นของผู้บริโภคทั่วประเทศว่า มีการใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง และใช้จ่ายในเรื่องใด โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหา COVID-19 แพร่กระจายอยู่

ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 สนค. จึงได้ทำการสำรวจการพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า ในการเดินทางไปทำบุญ-ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่า เท่าเดิม ร้อยละ 44.98 รองลงมา คือ ลดลง ร้อยละ 43.95 และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11.07 เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว สำหรับวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต (ร้อยละ 42.42) ขอโชคลาภ/เงินทอง (ร้อยละ 29.64) ขอเรื่องการงาน – ธุรกิจ (ร้อยละ 10.95) จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

สำหรับผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.72 มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100 - 200 บาท รองลงมา คือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 24.57 ดังนั้นประชาชนกว่าร้อยละ 70 ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน/นักศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ โดยการใช้จ่ายทำบุญส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึงร้อยละ 47.58 รองลงมา คือ การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46 นอกจากนั้น ยังได้สำรวจกิจกรรมความเชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยม พบว่ากิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูชะตาราศี (เช่น วัน เดือน ปีเกิด) ร้อยละ 54.13 ดูลายมือ ร้อยละ 20.94 และดูไพ่ยิปซี ร้อยละ 12.23 

จากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่าการเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทย (ปี 2562) ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดมาตรการ/นโยบายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ [1]

พบคนไทย 60.9% มีแผนเที่ยวไทยช่วงปลายปี มากสุดคือสายบุญ 22.1%

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ 60.9% มีแผนไปท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงปลายปี โดยอยากไปท่องเที่ยวทำบุญมากที่สุด 22.1% | ภาพประกอบ: ไอโกะ ฮามาซากิ

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนไทยกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภาครัฐ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,226 คน พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 60.9 มีแผนไปท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงปลายปี โดยอยากไปท่องเที่ยวทำบุญมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 22.1

รองลงมาคือ อยากไปดอยภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 21.1 และอยากไปเกาะ ไปทะเลสวย ๆ คิดเป็นร้อยละ 17.0 ขณะที่ร้อยละ 39.1 ไม่มีแผนท่องเที่ยว

เมื่อถามถึงเรื่องที่กังวลมากที่สุด หากต้องเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวคือ กลัวนักท่องเที่ยวการ์ดตก ไม่สวมผ้าปิดปาก กลัวติด COVID – 19 คิดเป็นร้อยละ 43.4 รองลงมาคือ ความแออัดของคนในสถานที่เที่ยวคิดเป็นร้อยละ 40.9 และอุบัติเหตุ รถชน  รถติด บนท้องถนนคิดเป็นร้อยละ 25.6

ส่วนมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของรัฐที่คาดว่าจะได้ใช้ในช่วงเที่ยวปลายปีพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5  ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการใดเลย ส่วนร้อยละ 19.7 ใช้มาตรการคนละครึ่ง รองลงมาร้อยละ 8.1 ใช้มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และร้อยละ 5.8 ใช้มาตรการช้อปดีมีคืน

เมื่อถามว่า “มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐบางมาตรการ ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ท่านพร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้ในการใช้หรือไม่”   ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 พร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้ ขณะที่ร้อยละ 49.5 ไม่พร้อมที่จะปรับตัว โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ยุ่งยาก สะดวกใช้เงินสดมากกว่า  คิดเป็นร้อยละ 77.9 รองลงมาร้อยละ 27.4 ไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้สมาร์ทโฟนไม่เป็น และร้อยละ 15.9 กลัวโดนขโมยข้อมูล เงินในบัญชี

สุดท้ายเมื่อถามความเห็นต่อภาพรวมมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของรัฐ จะช่วยทำให้คนออกมาใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.0 คิดว่าจะช่วยทำให้คนออกมาใช้จ่ายได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 45.0 คิดว่าช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด [2]

การบินไทยออกแพคเกจ 'บินรับมงคลบนฟากฟ้า ผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย'

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563 นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายของรัฐบาล และเปิดประสบการณ์การเดินทางในรูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการ THAI Magical Flying Experience แคมเปญ “มงคลบนฟากฟ้า”

โดยการเดินทางด้วยเครื่องบิน บินวนไม่ลงจอด พร้อมสวดมนต์รับพลังบวกบนฟ้า รวมทั้งเป็นการต่อยอดแคมเปญ “เที่ยวไทยรับพลังบวก” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท การบินไทยฯ จัดเที่ยวบินพิเศษ “บินรับมงคลบนฟากฟ้า ผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย” นำนักท่องเที่ยวเดินทาง พร้อมสวดมนต์ภาวนาบนเครื่องบินของการบินไทย เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต โดยอาจารย์คฑา ชินบัญชร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม

โดยจัดเที่ยวบินพิเศษ เที่ยวบินที่ ทีจี 8999 ในวันที่ 30 พ.ย.2563 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 13.30 น. บินผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 99 แห่ง ใน 31 จังหวัดของประเทศไทย เช่น กรุงเทพ ชลบุรี ระยอง สุราษฏร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม สุพรรณบุรี อยุธยา พิษณุโลก สุโขทัย ชัยภูมิ นครราชสีมา และบินกลับมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 16.30 น. วันเดียวกัน โดยใช้เวลาบินประมาณ 3 ชั่วโมง ราคาบัตรโดยสาร ชั้นประหยัด เริ่มต้นที่ 5,999 บาท ชั้นธุรกิจ เริ่มต้นที่ 9,999 บาท [3] เที่ยวบินพิเศษนี้เปิดให้ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง และออกบัตรโดยสารตั้งแต่วันที่ 2–25 พ.ย. 2563 โดยมีรายงานข่าวว่าเพียงวันเดียวของการเปิดจอง (ณ วันที่ 3 พ.ย. 2563) บัตรโดยสารชั้นธุรกิจราคา 9,999 บาท มีผู้จองเต็มแล้วจำนวน 32 ที่นั่ง ขณะที่ที่นั่งชั้นประหยัดมีจำนวน 289 ที่นั่ง วันแรกมียอดจองแล้ว 100 ที่นั่ง [4]

ทั้งนี้พบว่าสายการบินทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาจาก COVID-19 โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าการเดินทางในปี 2563 ต่ำกว่าปี 2562 ถึงร้อยละ 66 ส่งผลให้สายการบินทั่วโลกจะสูญรายรับกว่า 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาฯ 2.3 ล้านล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลัง การขยับตัวของการบินไทย ในการออกแคมเปญบินรับมงคลบนฟากฟ้า บินวนไม่ลงจอด 99 วัด เป็นไปในทิศเช่นเดียวกับสายการบินทั่วโลก หลายแห่งเปิดเที่ยวพิเศษอย่างพร้อมเพรียง

เริ่มตั้งแต่สายการบิน อีวีเอ แอร์ ของไต้หวัน เปิดเที่ยวบินที่ไร้จุดหมายปลายทาง ขึ้นบินจากท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน กรุงไทเป และวนลงกลับมาที่เดิม ขึ้นบินในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ดึงดูดให้ผู้ที่รักการเดินทางบินชมคืนพระจันทร์เต็มดวงบนน่านฟ้า หรือ สายการบินแควนตัส ของออสเตรเลีย เปิดเที่ยวบินพิเศษแบบไร้จุดหมายปลายทาง ใช้เวลาบนน่านฟ้าเป็นเวลา 7 ชั่วโมง บินผ่านวิวสวยงามของชายฝั่ง ออสเตรเลีย อาทิ เกรท แบริเออร์ รีฟ, ไบรอน เบย์ และอ่าวซิดนีย์ ซึ่งเที่ยวบินนี้ ขายตั๋วได้หมดภายใน 10 นาที นอกจากนั้นยังมีหลายสายการบินหันมาให้บริการเที่ยวบินไร้จุดหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นการบินขึ้นบนน่านฟ้าก่อนที่จะกลับมาลงที่สนามบินต้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่กระแสตอบค่อนข้างดี [5]

 

ที่มาข้อมูล
[1] พาณิชย์เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์, 11 พ.ย. 2563)
[2] คนไทยกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภาครัฐ (กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, 24 ต.ค. 2563)
[3] การบินไทยจัดสวดมนต์บนฟ้า บินผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (Thai PBS, 3 พ.ย. 2563)
[4] "บิซิเนส" เต็มบินรับมงคล "บินไทย" อ.คฑาชี้ไม่ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เดลีนิวส์, 3 พ.ย. 2563)
[5] การบินไทยดิ้น! ผุดแคมเปญสะท้านฟ้า ทัวร์บุญบินวน 99 วัด มิติใหม่สายบุญ (ผู้จัดการออนไลน์, 7 พ.ย. 2563)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: