จับตา: ปี 2561 คนไทยมีค่าจ้างรายอาชีพเฉลี่ย 10,710 บาทต่อเดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 2258 ครั้ง


สถิติของกรมการจัดหางาน พบปี 2561 คนไทยมีค่าจ้างรายอาชีพเฉลี่ยที่ 10,710 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 280 บาท จากปี 2560 - ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ที่ 'กทม.' ต่ำสุดอยู่ที่ 'ภาคเหนือ' - ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดทั่วประเทศยังอยู่ที่ 7,800 บาท/เดือน มาหลายปีแล้ว | ที่มาภาพประกอบ: ILO/Thierry (CC BY-NC-ND 2.0)

จากรายงาน 'ค่าจ้างรายอาชีพ ปี 2561' ของกรมการจัดหางาน ระบุว่าการศึกษาค่าจ้างรายอาชีพปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาอัตราค่าจ้างของแต่ละอาชีพที่สถานประกอบการแจ้งความต้องการผ่านบริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน 2) ศึกษาอัตราค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และเฉลี่ย ในแต่ละอาชีพของปี 2561 โดยจำแนกตามหมวดอาชีพ ภาคการผลิต (เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ) และภูมิภาค 3) เป็นฐานข้อมูลที่จะน่าไปใช้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานในอนาคต โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลตำแหน่งงานที่รับแจ้งจากสถานประกอบการทั่วประเทศผ่านบริการจัดหางานของกรมการจัดหางานที่แจ้งภายในปี 2561 มีทั้งสิ้น 7,802 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.88 จากสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ 414,8341 แห่ง ทั้งนี้สถานประกอบกิจการที่มาใช้บริการจัดหางานในประเทศ จำแนกเป็นภาคเกษตรกรรม 107 แห่ง ภาคอุตสาหกรรม 2,075 แห่ง และภาคบริการ 5,620 แห่ง โดยเป็นสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1-49 คน จำนวน 7,062 แห่ง สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 50-99 คน จ่านวน 479 แห่ง และเป็นสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จ่านวน 261 แห่ง และมีข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทจัดหางานบางส่วน

สรุปผลการศึกษา 10 ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้

1. ค่าจ้างในภาพรวมทั่วประเทศ ต่อเดือนสูงสุดอยู่ที่ 80,000 บาท ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิต/ฝ่ายปฏิบัติการด้านการผลิต (อุตสาหกรรมผลิตต่างๆ เหมืองแร่, ไฟฟ้า, ก๊าซและประปา) ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างต่อเดือนเฉลี่ยเท่ากับ 10,710 บาท (เพิ่มขึ้น 280 บาท จากปี 2560 ที่ค่าจ้างต่อเดือนเฉลี่ยเท่ากับ 10,430 บาท)

2. ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด อยู่ในภาคใต้ (ภูเก็ต) 80,000 บาท รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร 71,444 บาท ภาคกลาง (ประจวบคีรีขันธ์) 65,000 บาท จังหวัดในปริมณฑล (สมุทรปราการ) 63,000 บาท ภาคเหนือ (เชียงใหม่) 40,256 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดรธานี) 40,000 บาท

3. ค่าจ้างต่อเดือนต่่าสุดเท่ากันทุกภาค 7,800 บาท (เท่าที่ประชาไทเก็บข้อมูลไว้ ค่าจ้างต่ำสุดที่ 7,800 บาท นี้อย่างน้อยก็ย้อนไปถึงปี 2558)

4.ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด อยู่ที่กรุงเทพมหานคร 12,479 บาท รองลงมาคือ จังหวัดใน ปริมณฑล 10,982 บาท ภาคกลาง 10,045 บาท ภาคใต้ 9,942 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9,268 บาท และภาคเหนือ 9,211 บาท

5. ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคบริการ 80,000 บาท รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม 70,000 บาท และภาคเกษตรกรรม 35,000 บาท

6. ค่าจ้างต่อเดือนต่่าสุด 7,800 บาท เป็นอัตราเดียวกันในทุกภาคการผลิต

7. ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคบริการ 10,822 บาท รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 10,513 บาท และภาคเกษตรกรรม 9,992 บาท

8. ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 20,270 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 14,640 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 11,921 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 11,074 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ 10,250 บาท ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 10,107 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 9,892 บาท ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง 8,901 บาทและอาชีพงานพื้นฐาน 8,797 บาท

9. อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ (1) วิศวกรการบินและอากาศยาน 42,500 บาท (2) นักบิน 41,250 บาท (3) ผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 32,773 บาท (4) วิศวกรปิโตรเลียม 31,250 บาท (5) ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมงานโฆษณา และวิศวกรเหมืองแร่ 30,000 บาท

10. กิจการที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) กิจกรรมหลังการถ่ายทำภาพยนตร์วิดีทัศน์และรายการโทรทัศน์อื่นๆ 26,250 บาท (2) การขายส่งพืชน้ำมันที่ใช้ในการผลิตน้ำมันพืช 23,000 บาท (3) การผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค 20,384 บาท (4) กิจกรรมการให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์19,057 บาท (5) การขนส่งทางระบบท่อล่าเลียง 18,924 บาท

อัตราค่าจ้างรายอาชีพคืออะไร?

ข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพ เป็นข้อมูลตลาดแรงงานที่มีประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ นายจ้างอาจใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดอัตราค่าจ้างของตำแหน่งงานต่าง ๆ ผู้สมัครงานอาจใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาสมัครงาน ครูอาจารย์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวการศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานสามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวอาชีพแก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการจัดหางาน

สำหรับประเทศไทย กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้ทำการวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลอัตราค่าจ้างแรกเข้ารายอาชีพ มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพในตลาดแรงงาน แต่ก็มีจำนวนที่มากและมีความหลากหลายพอสมควร ทั้งนี้การจัดทำข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างแรกเข้าในตลาดแรงงานได้อีกด้วย

อนึ่งข้อมูลค่าจ้างรายอาชีพ ปี 2561 นี้ ศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานของกรมการจัดหางานเท่านั้น จึงทำให้บางสาขาอาชีพอาจจะไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ และการคำนวณอัตราค่าจ้างคิดมาจากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น โดยนำข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศที่มีการรับแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2561 ซึ่งข้อมูลค่าจ้างมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ ค่าจ้างรายชั่วโมง รายวันและรายเดือน มาประมวลผลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ดังนี้ 1.ค่าจ้างรายชั่วโมง กำหนดให้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เดือนละ 26 วัน และ 2.ค่าจ้างรายวัน กำหนดให้ทำงานเดือนละ 26 วัน 

โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณหาอัตราค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ยในแต่ละอาชีพของแต่ละภูมิภาค ซึ่งการหาค่าเฉลี่ยของค่าจ้างจะคำนวณจากยอดรวมของค่าจ้างของตำแหน่ง แล้วหารด้วยจำนวนรวมตำแหน่งนั้นๆ และนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบตาราง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: