ราวๆ ต้นปี 2500 ประเทศไทยเริ่มประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อสร้างสังคมเศรษฐกิจให้ทันสมัยครบเครื่องและสร้างคนให้เหมือนกันมากขึ้น โดยใช้หลักคิดทุนนิยมในการขับเคลื่อนการพัฒนา ตามมาด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาถาโถมประเทศไทยอย่างรวดเร็วและกระจายมายังท้องถิ่นแถวพื้นที่ห่างไกลอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ด้วยกระแสเหล่านี้ เท่าที่สังเกต มันกลับทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อท้องถิ่น คือ การสร้างอัตลักษณ์มลายูผ่านศาสนา ฉะนั้น จะบอกได้ว่ากระแสความทันสมัยและโลกาภิวัตน์เป็นเครื่องเร่งให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นต่างหาก
ประการแรก การสร้างอัตลักษณ์มลายูผ่านการสอนศาสนา กล่าวคือในช่วง 60 ปีที่ผ่านมากลุ่มมลายูมุสลิมต้องเผชิญกับแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาและความทันสมัย ทำให้ชาวมลายูต้องตกอยู่ในภาวะของความระส่ำระสายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและศาสนา เนื่องจากกระแสดังกล่าวมีความพยายามดึงและเปลี่ยนแปลงผู้คนเหล่านั้นไปสู่อัตลักษณ์ใหม่
ผลกระทบเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดแรงดันเป็นปฏิกิริยาจากพื้นที่ให้กระทำการยืนหยัดเพื่อรักษาสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ผลที่ตามมาคือ การสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้และหล่อหลอมอัตลักษณ์ทางศาสนาขึ้นมากระจายตามชุมชนมลายูมุสลิม เช่น การเกิดขึ้นของโรงเรียนตาดีกาประจำมัสยิด เป็นพื้นที่การอบรมศาสนาให้กับเด็ก ๆ เยาวชนในชุมชน หรือผู้ปกครองต่างส่งเสริมให้บุตรหลานเข้าศึกษาต่อในสถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนา จนมีผลกระทบอย่างมากต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมบรรยายธรรมประจำมัสยิด มีการจัดบรรยายศาสนา “จราเมาะห์อากามา” ระดับใหญ่ที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากมาฟังการบรรยายศาสนาของผู้นำศาสนา สิ่งเหล่านี้คือปฏิกิริยาของผู้คนในพื้นที่ต่อกระบวนการสร้างชาติไทย ที่มีผลให้เกิดการตื่นตัวทางศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประการที่สอง เชื่อมกับข้อแรก คือกลายเป็นการเผยแพร่ศาสนาระลอกใหม่และทำให้เป็นอิสลามานุวัตร กล่าวคือกระแสวัฒนธรรมไทยและความทันสมัยจากตะวันตกเข้ามาถาโถมเข้า กระแสดังกล่าวนี้ในทัศนะของชาวมลายูแล้ว เสมือนสายลมที่เข้ามาชักชวนให้คล้อยตาม และเชื่อว่าหากไม่มีศรัทธาต่อศาสนาแล้วจะทำให้ชาวมลายูหลงเข้าไปในวงจรของกระแสดังกล่าวได้
กระแสอิสลามตอบโต้อย่างรวดเร็วหลังจากปฏิวัติอิสลามในอิหร่านและคู่แข่งอย่างซาอุดีอาราเบียเริ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาต่อโลกมุสลิมด้วย การแข่งขันในกลุ่มอิสลามที่รุนแรงจึงมีผลต่อพื้นที่มุสลิมกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยด้วย ผลคือ บทบาทของสถาบันศาสนาและการศึกษา ในฐานะการเคลื่อนไหวทางศาสนารูปแบบหนึ่ง โดยมีจุดเน้นคือ การเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปสู่สังคมเป็นหลัก นอกจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่สอนวิชาศาสนาหลายวิชาต่อวันแล้ว การบรรยายในที่สาธารณะ เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ซีดี หรือในรอบ 10 ปี พัฒนามาสู่การใช้สื่อมีเดีย Facebook และ YouTube ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่มีอยู่เดิมในสถาบันปอเนาะ มาสู่การสอนศาสนาในระดับพื้นที่สาธารณะ
จะสังเกตได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญให้เกิดการรวมกลุ่ม มีฐานแฟนคลับ ถ่ายทอดบ่มเพาะความเป็นอิสลาม เกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน และเป็นทำความเข้าใจ ถกเถียงศาสนาในบริบทใหม่ๆ ไปด้วย สังเกตว่า ความเป็น Local มันไม่หายแต่กลับถูกพัฒนารับสิ่งใหม่ๆ จากความรู้และเทคโนโลยีไปด้วย
นอกจากการแพร่กระจายของอุดมการณ์ศาสนาแล้ว การตีความศาสนากับสิ่งใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ โดยตั้งอยู่บนแนวคิดให้สิ่งเหล่านั้นเข้าเป็นอิสลามหรือให้เกิดสอดคล้องกับอิสลามแล้ว ในช่วงกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เราพบว่า อิสลามเข้ามีบทบาทเป็นตัวกำหนดกรอบชีวิตมุสลิมมากขึ้นกว่าก่อนมาก เช่น กระแสแนวคิด “ฮาลาล (อนุมัติ)/ฮาราม(ไม่อนุมัติ)” เป็นกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติที่มุสลิมใช้ในชีวิตและความสัมพันธ์ในสังคม หล่อหลอมพฤติกรรมความเป็นมุสลิมมากขึ้น จึงเห็นถึงความเข้มข้นใน ข้อห้ามวัตรปฏิบัติทางศาสนาที่เคร่งครัดในชีวิตประจำวันมากขึ้นเช่น เรื่องการแต่งตัว การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมหรือกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย
ดังนั้นผู้เขียนจึงสรุปได้ว่า ในยุคโลกาภิวัตน์กลับสร้างให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มมุสลิมไทยมลายูที่สร้างกรอบความแตกต่างไปจากกลุ่มคนอื่น ๆ อย่างชัดเจนนี้ ผมคิดว่า คนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับข้อท้าทายใหม่ ๆ ไปด้วย จากเดิมที่ถูกมองเชิงอคติอยู่แล้วอาจกลับถูกมองที่แรงกว่าเดิมก็เป็นได้ แล้วรัฐจะมีความเข้าใจต่อคนกลุ่มนี้มากกว่าเดิมหรือไม่ ใครจะเป็นคนนำเสนอจุดร่วมที่เป็นพหุวัฒนธรรมร่วมกัน และจะทำได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างเป็นสุข
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ