16 มี.ค. 2563 สธ.แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เพิ่ม 33 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมในไทย 147 คน แถลงมาตรการรับมือสรุปไทยยังไม่ประกาศเข้าสู่การระบาดระยะ 3 แต่อยู่ระหว่างเตรียมการช่วยชีวิตคนไทยพ้นโรค เตรียมโรงพยาบาล-ระดมแพทย์ ลั่นยังไม่ปิดเมือง-ปิดประเทศ แต่เพิ่มความเข้มข้นตรวจคัดกรองคนเข้าออกทุกช่องทาง ชง ครม.งดสงกรานต์
16 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวแถลงสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรอบโลกทั้ง 154 ประเทศ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 39 รักษาหายแล้ว 36 คน กำลังรักษา 108 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มเชื้อทั้งหมด 33 ราย รวมทั้งหมดเป็น 147 ราย
สำหรับพบผู้ป่วยใหม่ อีก 33 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีประวิตสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน สามารถสืบที่ไปที่มาได้อย่างชัด 16 ราย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และมีการสัมผัสกับผุ้ป่วยยืนยัน
2. ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่อีก 17 ราย เช่น ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ, ทำงานร่วมกับกับต่างชาติ หรือต่างชาติในกลุ่มที่มีการระบาดอย่างกลุ่มก้อน
ทั้งนี้ นายแพทย์รุ่งเรือง ชี้แจงระบุว่า หากแบ่งตามเกณฑ์ทางการแพทย์ ยืนยันประเทศไทยยังอยู่ในการเฝ้าระวังระยะที่สอง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการมาตรการต่าง ๆ ไว้ ด้วยการเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด เฝ้าติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันทุกราย มีระบบทางการแพทย์อย่างดี มีแพทย์ ยา อุปกรณ์การแพทย์ พร้อมหมด มีมาตรการการสื่อสาร และมาตรการทางสังคม ที่เปลี่ยนความกลัวที่มีความรู้อย่างถูกต้อง ร่วมรับผิดชอบ และมีพฤติกรรมที่ดี โรคนี้ป้องกันได้รักษาได้ มียาสามารถผ่านสาการณ์นี้ไปได้
อีกทั้ง นายแพทย์รุ่งเรือง ได้กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนต้องการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ค่าตรวจมีราคาสูง ว่า 1.หากเป็นมีอาการ ป่วย รวมถึงมีประวัติเสี่ยง ให้ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย แล้วไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิ์ประกันสังคม ประกันหลักสุขภาพ เมื่อไปถึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หาพบว่ามีการเรียกเงินให้แจ้งยังกระทรวงสาธารณสุข ทางสาธารณสุขจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด 2. หากมีประวัติเคยเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ทางแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเอง และ 3. แพทย์ไม่แนะนำให้เดินทางไปตรวจทั้งที่ไม่มีอาการใด ๆ นอกจากจะมีการเสียเงินแล้ว ยังทำให้มีการวิตกกงวลไปอีก 1-2 วัน
แถลงมาตรการรับมือสรุปไทยยังไม่ประกาศเข้าสู่การระบาดระยะ 3 แต่อยู่ระหว่างเตรียมการช่วยชีวิตคนไทยพ้นโรค
Thai PBS รายงานว่า เวลา 15.45 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมรองรับการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากการประชุมคณะทำงานนานกว่า 5 ชั่วโมง ที่มีตัวแทนจากระดับรัฐมนตรี นักวิชาการ และทีมแพทย์ ซึ่งได้ฟังเหตุผลในแต่ละประเด็น เพราะบางเรื่องใหญ่ในระดับชาติที่ทุกคนต้องเตรียมตัว รวมทั้งประเด็นอยู่ในอำนาจของ รมว.สธ. และบางเรื่องต้องศึกษาก่อนแต่บางเรื่องจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) โดยย้ำว่าที่ประชุมสรุปตรงกันว่าแม้จะมีการเตือนมาเป็นระยะเรื่องการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ตอนนี้ยังอยู่การระบาดขั้นที่ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยมีเหตุผลตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์และนิยามของไทยเพื่อให้บริหารจัดการง่าย
“รัฐจะประกาศขั้นที่ 3 ด้วยเหตุผล 3 ข้อคือ 1.เมื่อมีประชาชนชาวไทยรับเชื้อ และติดต่อกันเอง ไม่ปรากฎว่ามาจากที่ไหนชัดเจน 2.ต้องมีการติดต่อแพร่เชื้อจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ 2-3 คน และนิยามที่ 3 ต้องปรากฎหลายพื้นที่จนไม่สามารถควบคุมได้”
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า แต่ก็ยังต้องเตรียมการเพื่อเข้าสู่ระยะ 3 โดยในด้านสาธารณสุข จะมีรายงานต่อ ครม.ว่ามีการเตรียมสถานพยาบาลของรัฐ-เอกชน ของท้องถิ่น เช่น ของกทม.และสถานพยาบาลในมหาวิทยาลัย ทหาร รวมทั้งหมอ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะระดมแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ มาช่วย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันรับมือคนที่ไม่เจ็บป่วย และย้ำว่าเรายังไม่ประกาศไทยเข้าสู่โควิด-19 ระยะ 3 แต่อยู่ระยะเตรียมการ ที่จะมีมาตรการเข้มงวดกับการเดินทางเข้าไทย ซึ่งเริ่มจากการยกเลิกฟรีวีซาในประเทศเสี่ยง และยังไม่ประกาศเพิ่มในประกาศอื่นๆ แต่ยกระดับมาตรการในประเทศ อื่นๆด้วย เช่น ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 3 วัน และมีใบประกันสุขภาพโควิด-19 และต้องอนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิชันทุกคนที่เดินทางเข้ามา โดยจะประกาศระเบียบคำสั่งนี้
ส่วนข้อเสนอเรื่องวันหยุดเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเดิมมีวันหยุดยาว 5 วันตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย.นี้ แต่จากความเห็นของคณะแพทย์ ห่วงว่าคน กทม.ที่อาจจะติดโรคไปไม่รู้ตัวอาจจะนำไปแพร่ในท้องถิ่นที่ตัวเองกลับไปได้ ทั้งความเสี่ยงในพื้นที่แออัด เช่น รถสาธารณะ สถานที่พบปะคน ถ้าไปแพร่ระบาดในจะควบคุมยาก ดังนั้น และงดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย.นี้ ไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ
ข้อเสนอให้ปิด-หรือหยุดบางสถานที่ในที่ชุมนุมชน ที่มีคนเยอะที่ต้องส่งเสียงเชียร์ และมีสารคัดหลั่งจากเหงื่อ โดยกำหนด 2 เกณฑ์ที่ขอให้พิจารณาปิดชั่วคราวและมีทางเลี่ยง 1.มีผู้คนชุมนุมคราวละมากๆ และเป็นกิจวัตรประจำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันกวดวิชา ถ้ารับเงินไปแล้วให้ผ่อนผันคืนหรือเลื่อนไปกวดวิชาในช่วงเวลาอื่น โดยเริ่มวันที่ 18 มี.ค.นี้
เกณฑ์ข้อที่ 2. สถานที่ชุมชนคราวละๆมาก แต่มีการทำเพื่อกู่ก้องร้องตะโกน สัมผัสและมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อทางมือ สารคัดหลั่ง เหงื่อ คือสนามมวย สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล รวมทั้งโรงหนังที่กำลังจะพิจารณาเพิ่มเติม ส่วนร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังเปิดได้ตามปกติแต่ต้องมีการป้องกันให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ ในส่วนกระทรวงต่างๆ จะให้จัดการเหลื่อมเวลาเข้างาน เพื่อลดการเดินทาง รวมทั้งการเหลื่อมพักกินข้าวกลางวัน ซึ่งจะลดความแออัดเพื่อจัดห้องอาหารให้ประมาณ 1 เมตร และจะเสนอใน ครม.กำชับให้ 20 กระทรวง 140 กรม และรัฐวิสาหกิจ เตรียมพิจารณาให้ทำงานที่บ้าน รวมถึงมาตรการอื่นๆเช่น ให้ตลาดหลักทรัพย์ เลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นจากเดือน เม.ย.นี้ออกไปก่อน เพราะมีคนจำนวนมาก โดยขอให้ยึดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 2557 ให้มีการประชุมทางไกลได้
“การป้องกันและดูแลรักษา COVID-19 ลำดับ 1 ของประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ขาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาเป็นอันดับ 2 ต้องเอาชีวิตคนรอดก่อน เพราะไม่รู้ว่าศึกนี้จะยาวไกลแค่ไหน และจากนั้นจะกลับมาเยียวยาฟื้นฟูได้”
นอกจากนี้นายวิษณุ ยังย้ำว่ายังไทยยังไม่มีมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ เพราะมีมาตรการออกมาแล้วกับคนที่จะเดินทางเข้าไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี กำชับทั้งการเดินทางบก ทางอากาศ ทางเรือ โดยเฉพาะทางบก ทางตม.ต้องดูว่าเดินทางมาจากประเทศไหนเช่น มาจากประเทศ ก.แต่ต้องย้อนต้นทางที่ก่อนจะมาถึงไทย และต้องตรวจอย่างเข้มข้นด้วย
“ไม่มีมาตรการปิดเมืองปิดประเทศ แต่ใช้มาตรการเข้มงวดในการเข้าเมืองเข้าประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ไม่มีความพลั้งเผลอในทุกด่าน”
ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องกักตุนอาหาร โดยขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ และปฏิบัติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์แนะนำ หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่ชุมชน และมีคนจำนวนมาก ให้หลีกเลี่ยงในการสัมผัส โดยให้พยายามใช้เจลล้างมือ หรือสบู่ล้างมือ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสได้ระดับหนึ่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ