วงเสวนา '“ข่มขืน” ใต้วงจรแห่งอำนาจและทางออกจากวังวนปัญหา' 'ทิชา ณ นคร' กระตุกสามัญสำนึกวิชาชีพ เด็กมืดครูต้องสว่างดึงออกมาไม่ใช่ทำร้าย เผยนักเรียนเตรียมเข้าสู่การดูแลทีมคุ้มครองสิทธิ์ 'องค์กรสตรี' ระบุ รอบ 4 ปี (พ.ศ.2556-2560) พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครู บุคลากรทางการศึกษา 53 ราย ชี้วัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศฝังรากลึกในสังคมไทย เสนอโรงเรียนต้องมีหลักสูตรเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้เด็กรู้ว่าอะไรคือการคุกคามทางเพศ จะปกป้องตัวเองอย่างไร | ที่มาภาพประกอบ: DianaERios (Pixabay License)
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่ามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา จัดเสวนาผ่านช่องทางไลฟ์สด หัวข้อ “ข่มขืน” ใต้วงจรแห่งอำนาจและทางออกจากวังวนปัญหา โดยยกกรณีครูและศิษย์เก่า รวม 7 คน ข่มขืนนักเรียนหญิงชั้น ม.2 และ ม.4 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร เพื่อวิเคราะห์ปัญหา สะท้อนมุมมองหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ก่อนเริ่มเสวนา ได้นำจดหมายของเด็กหญิงเหยื่อรุมโทรมกรณีเกาะแรด พังงา ที่เขียนถึงเพื่อนนักเรียนมุกดาหารที่ถูกกระทำ ส่งกำลังใจและปลุกพลังให้เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง ลุกขึ้นสู้เพื่อความยุติธรรมสู่ชีวิตใหม่
นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า หลังจากที่ทางตนและทีมงานได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดมุกดาหาร สิ่งแรกที่พวกเราได้ทำคือ การโอบกอด ได้ขอโทษและขอบคุณในความกล้าหาญของเด็กทั้งสองคนที่กล้าออกมาพูดความจริง ลูกหลานของเราทั้งสองถูกล่วงละเมิดทางเพศมาอย่างยาวนาน เสมือนบ้านเมืองไร้กฎหมาย ไม่มีผู้ใหญ่นำทางที่พึ่งพิงได้ ยิ่งไปกว่านั้นพบว่า ครูมีความพยายามที่จะเจรจายอมจ่ายเงินผ่านทางคนที่เด็กควรจะพึ่งได้ ในเบื้องต้นเด็กทั้งสองได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัว และกำลังจะเข้าสู่การคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อความปลอดภัย การต่อสู้ในครั้งนี้จะมีเวลาทำกระบวนการเสริมพลังใจ กอบกู้คุณค่าและศักดิ์ศรีของเด็ก และต้องเอาคนผิดมาลงโทษ นั่นคือภารกิจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องที่เด็กและครอบครัวต้องแบกรับตามลำพัง รวมถึงคนนอกวงการอย่างพวกเราพร้อมเสมอ เมื่อเด็กๆ เด็ดเดี่ยว เด็กๆ ต้องไม่โดดเดี่ยว
“ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าโรงเรียนไม่ใช่ซ่อง คุณคือครู เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมาย หากคุณรู้ว่าเด็กเดินหลงทาง ต้องช่วยเขาออกมาจากเส้นทางสายมืดนั้น เด็กยิ่งมืด ครูยิ่งต้องสว่าง ครูจะเล่นกับด้านมืดของเด็กไม่ได้โดยเด็ดขาด ต่อให้เด็กหลงทางสู่การขายบริการทางเพศ หน้าที่ครูคือ ต้องดึงเด็กออกจากมุมมืด ไม่ใช่ทำร้ายเด็ก หรืออาศัยอำนาจที่เหนือกว่าหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ครูต้องมีสำนึกมากกว่าคนสอนหนังสือ” นางทิชา กล่าว
นางทิชา กล่าวว่า การต่อสู้ในครั้งนี้เราต้องเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ด้วยการช่วยกันชี้เป้า ช่วยกันสื่อสารปัญหาคู่ขนาน ไปกับการจัดการกับพฤติกรรมเชิงปัจเจกที่หลุดโผล่ ออกมา แบบทุ่มเท อย่างเต็มที่ ไม่ออมมือ ต้องจัดการครู 5 คน รุ่นพี่ 2 คน ที่หลุดออกมาให้ไม่มีที่ยืน แต่ภายใต้โครงสร้าง ระบบ อำนาจนิยมที่แข็งแรง เดือนหน้า ปีหน้า พฤติกรรมเชิงปัจเจกแบบครู 5 คน ก็จะโผล่มาอีก ถ้าปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ยังไม่ถูกขับเคลื่อน
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2556-2560) พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครู บุคลากรทางการศึกษา 53 ราย นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้เก็บข้อมูลปี 2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่า มีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี กว่า 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าว ที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำ มี 13 ข่าว
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หากวิเคราะห์สาเหตุการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน พบว่า 1.เกิดจากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษา เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหนือ กำหนด ออกคำสั่ง ใช้อำนาจบังคับหรือหลอกล่อ 2.ระบบอุปถัมภ์ ต่างตอบแทน ครูมักจะช่วยเหลือกัน อีกทั้งครูเป็นผู้ที่เคารพนับถือจากคนในชุมชน มีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นักการเมือง ตำรวจ 3.ระบบคิดชายเป็นใหญ่ ถูกปลูกฝังจนขาดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งมาพร้อมกับค่านิยม “กินเหล้า เคล้านารี” 4.มายาคติ กล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ตีตรา เช่น เป็นเด็กเกเร แต่งตัวโป๊ ทำตัวไม่เหมาะสม ต้องการเงิน และ 5.กระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดเหตุมักจะถูกไกล่เกลี่ยยอมความ อีกทั้งทัศนคติผู้ปฏิบัติงานยังขาดความเข้าใจประเด็นทางเพศ และขาดความละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากฝากเป็นข้อเสนอ คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้างกลไกคุ้มครองและเยียวยาเด็ก มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร มีกลไกตรวจสอบจริยธรรมครู โดยการประเมินผลจากผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม และต้องกระจายอำนาจในการบริหารจัดการโรงเรียนไปสู่ท้องถิ่น โรงเรียนต้องมีหลักสูตรเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้เด็กรู้ว่าอะไรคือการคุกคามทางเพศ จะปกป้องตัวเองอย่างไร และเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมต้องตระหนักว่าคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นไกล่เกลี่ยไม่ได้” นายจะเด็จ กล่าว
ด้านนางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า เหตุการณ์ครูข่มขืนนักเรียน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ประกอบกับการที่มีครูบางคนออกมาแสดงความเห็นในทำนองให้กำลังใจครูผู้ต้องหาและกล่าวโทษนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อ สะท้อนว่าวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาของไทย ขณะเดียวกัน ครูจำนวนมากไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาให้เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน มีการฉ้อฉลใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อแสวงหาประโยชน์และกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนก็ย่อหย่อนในสำนึกและหน้าที่ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ จะออกมาให้ข่าวว่าจะจัดการกรณีนี้อย่างเด็ดขาด แต่ก็ยังเป็นแค่งานเชิงตั้งรับ คือรอให้เกิดเหตุแล้วจึงจะมาตามแก้ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุรากเหง้า ข้อสำคัญตอนนี้เด็กในโรงเรียนและครูคนอื่นๆ เสียขวัญ การลงพื้นที่เพื่อยืนยันในการเอาผิดอย่างจริงจังและปลุกขวัญเด็กๆ ผู้ปกครอง และครูน้ำดีของเจ้ากระทรวงเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ
“เด็กยังไงก็คือเด็ก ยิ่งเด็กที่มีความเปราะบางทางสังคม กระทรวงศึกษาฯ และโรงเรียนยิ่งต้องปกป้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคลของครูที่กระทำผิดบางคน แต่เป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ ถ้าจะแก้ปัญหาที่รากเหง้า กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีนโยบายและมาตรการเชิงรุก โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันที่ผลิตและรับรองวิทยฐานะของครูต้องเข้มงวด ปลูกฝังจิตสำนึกการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน และสำนึกในหน้าที่ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ขณะเดียวกัน กระทรวงต้องมีนโยบายและแนวทางที่จะประกันว่าโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาในฐานะหน่วยงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กต้องร่วมเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดการให้เด็กได้รับการเยียวยาทางจิตใจและครูที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงต้องถูกลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด รวมถึงการถอนใบประกอบวิชาชีพครู ต้องไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด เพื่อลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำ โดยเครือข่ายมีแผนในการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาในสัปดาห์หน้า เพื่อยื่นข้อเสนออย่างเป็นระบบ” นางสาววราภรณ์ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ