สมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิเตรียมสนับสนุนองค์ความรู้และจัดเวทีผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของสมัชชาสุขภาพฯ เชิญทุกฝ่ายร่วมสร้างมาตรการ ‘พาลูกหลานไปโรงเรียนอย่างไร ปลอดภัยจากโควิด-19’ หารูปแบบและแนวทางที่เหมาะกับบริบทของแต่ละโรงเรียน วางเป้าเริ่มนำร่อง 4-5 แห่ง
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นทุกขณะ จากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ถึงตอนนี้เริ่มมีการคลายล็อคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายยังต้องให้ความใส่ใจคือการ์ดจะต้องไม่ตก เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสอง
จุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษต่อจากนี้หนีไม่พ้นสถานศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอม การพาลูกหลานไปโรงเรียนอย่างปลอดภัยจากโควิด-19 ย่อมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนคำนึงถึง นพ.เฉิดพันธุ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวระเหว และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายคลื่นความคิด FM 96.5 ในประเด็นนี้ว่า
สมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มองเห็นความสำคัญของสถานการณ์ จึงร่วมระดมหารือกันว่าจะพาลูกหลานไปโรงเรียนอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยใช้หลักสมัชชาสุขภาพ คือ การร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว นพ.เฉิดพันธุ์ ขยายความว่า
“เราจะพาลูกหลานไปโรงเรียนอย่างไร เป็นเรื่องของชุมชนต้องคิดร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ถ้าเชื้อจากนอกพื้นที่มาที่บ้าน จากบ้านไปโรงเรียน ชุมชนจะทำอย่างไร จากโรงเรียนไปบ้านจะทำอย่างไร โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมออกแบบ สร้างข้อตกลงร่วมกัน ให้ลูกหลานปลอดภัย ทางสมัชชาจะใช้กลไกนี้หารูปแบบและข้อตกลงร่วมกัน ผนวกกับมาตรการของราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ต้องขึ้นกับบริบทพื้นที่ด้วย อย่างที่อำเภอหนองบัวระเหวเป็นพื้นที่อุทยานหกสิบถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ มีทั้งโรงเรียนเล็กและใหญ่ จำเป็นต้องหามาตรการ หาโมเดล หารูปแบบ ในแต่ละโรงเรียน”
ในส่วนการเรียนผ่านออนไลน์ นพ.เฉิดพันธุ์ แสดงความเห็นว่า ในฐานะที่ทำงานสมัชชาสุขภาพและยังเป็นผู้ปกครอง ตนเชื่อว่า สุดท้าย เด็กต้องไปโรงเรียน เพราะไม่ใช่เพียงเรื่องความรู้อย่างเดียว แต่ยังมีมิติทางสังคมที่เด็กจะได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
เหตุนี้ ทางสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิจึงวางหลักการว่าต้องพยายามพาลูกหลานไปโรงเรียนให้ได้ก่อน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การไปโรงเรียนได้ประโยชน์มากกว่าการเรียนออนไลน์ ซึ่งอาจจะเหมาะกับเด็กโตและเหมาะกับบางวิชา ส่วนการเรียนผ่านออนไลน์จะใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นและต้องร่วมหามาตรการ
“เราคงให้เด็กเล็กสวมหน้ากากตลอดเวลาไม่ได้ เพราะธรรมชาติของเด็กที่ต้องเล่นกัน สัมผัสตัวกัน แต่โรงเรียนอาจมีมาตรการ เช่น การสอนล้างมือบ่อยๆ จัดที่ล้างมือให้ ให้ความรู้กับเด็กว่าการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัส การล้างมือจะช่วยลดการติดเชื้อได้ ถ้าป่วยหรือมาจากต่างจังหวัดก็ให้หยุดอยู่บ้าน หรือประเด็นรถรับส่งนักเรียนที่ต้องนั่งเบียดกันมา ถ้าใช้รถเพิ่ม ผู้ปกครองก็อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ที่เป็นไปได้อาจให้ใส่หน้ากากตลอดการเดินทางดีหรือไม่ ล้างมือ ตรวจอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ ซึ่งต้องคุยกันในหมู่ผู้ประกอบการรถตู้”
นพ.เฉิดพันธุ์ เผยอีกว่าขณะนี้ทางสมัชชาสุขภาพฯ กำลังวางแผนเปิดพื้นที่สำหรับสร้างกติการ่วมกัน โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องในส่วนของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าในโรงเรียน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า นักเรียน มาระดมความคิดเห็นภายใต้องค์ความรู้ ซึ่งจะทำในจังหวัดก่อน เลือกโรงเรียนนำร่อง 4-5 แห่ง ตั้งแต่โรงเรียนมัธยมที่มีเด็กจำนวนมาก วิทยาลัยเทคนิคที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุมากหน่อย โรงเรียนประถม โรงเรียนเอกชน รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้ชุมชนร่วมกันออกแบบ เรียนรู้การสร้างมาตรการในการส่งลูกหลานไปโรงเรียนอย่างปลอดภัยทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง
“สุดท้าย คำตอบอยู่ที่โรงเรียนและชุมชนที่จะสร้างมาตรการเอง เราคาดหวังให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละโรงเรียนว่าเหมาะสมกับมาตรการแบบไหน ทุกคนจะมีบทบาทช่วยกันลดความเสี่ยง เช่น ผู้ปกครอง ถ้าเด็กกลับบ้านจะทำอย่างไร โรงเรียนจะทำอย่างไร ชุมชนจะทำอย่างไร และเรายังคาดหวังให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันด้วย
ทางสมัชชาสุขภาพฯ จะสนับสนุนด้านวิชาการ เพราะการพาลูกหลานไปโรงเรียนให้ปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันคิดบนพื้นฐานของความรู้ โดยไม่โทษกัน แต่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เรียนรู้ไปด้วยกัน ตามหลักการการมีส่วนร่วม” นพ.เฉิดพันธุ์ กล่าวสรุป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ