ธปท.ขยายบริการทดสอบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานภายใต้ Regulatory Sandbox

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4821 ครั้ง

ธปท.ขยายบริการทดสอบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานภายใต้ Regulatory Sandbox

ธปท.ขยายบริการทดสอบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. จากการให้บริการในภาคธนาคารพาณิชย์ไปสู่บริการในภาคตลาดทุน ประกันภัย และการขอข้อมูลเครดิต

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 ว่า น.ส.วสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์ได้เข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. สำหรับบริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบริการแรกตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2563 เพื่อรองรับการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในวันนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารทหารไทย (TMB) ขยายขอบเขตการทดสอบให้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับลูกค้าที่ขอใช้บริการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และขอข้อมูลเครดิตจาก NCB โดยในระยะแรกมีบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ พร้อมทดสอบให้บริการรวม 17 แห่ง

ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สนับสนุนการขยายการทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์ม เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. จากการให้บริการในภาคธนาคารพาณิชย์ไปสู่บริการในภาคตลาดทุน ประกันภัย และการขอข้อมูลเครดิต ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และขอข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau หรือ NCB) ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น เว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยเปิดบัญชีเงินฝาก และถ่ายรูปโดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน และปลอดภัยในการใช้บริการ โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาแสดงตัวตนที่สาขาหรือสถานที่ทำการของผู้ให้บริการ

"ธปท. จะมีการประเมินผลการให้บริการอย่างใกล้ชิด และหารือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน คปภ. และ สพธอ. เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ให้บริการก่อนเปิดให้ใช้บริการในวงกว้างต่อไป" น.ส.สิริธิดากล่าว

ในการใช้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานนั้น ลูกค้าที่จะใช้บริการต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่ให้บริการ มีโมบายแอปพลิเคชันของธนาคารดังกล่าว และได้มีการปรับปรุงข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับธนาคารให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีการยืนยันตัวตนผ่านการถ่ายรูปใบหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดขั้นตอนการใช้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของธนาคาร และผู้ให้บริการที่ร่วมการทดสอบ หรือทางเว็บไซต์ http://www.ndid.co.th/publication.html

สำหรับแพลตฟอร์ม NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีข้อมูล โดยในระยะแรกเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าระหว่างกันผ่านช่องทางดิจิทัล โดยลูกค้าที่ใช้บริการต้องให้ความยินยอมในการใช้บริการ ซึ่งแพลตฟอร์ม NDID มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำธุรกรรมหรือสมัครใช้บริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งบริการทางการเงิน และบริการของภาคธุรกิจและภาครัฐสามารถดำเนินการข้ามหน่วยงานด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่เข้าร่วมทดสอบ จะให้บริการตามช่วงเวลาและช่องทางของแต่ละผู้ให้บริการ ทั้งนี้ ธปท. ส่งเสริมให้ขยายการใช้งานไปสู่บริการทางการเงินอื่น และในภาคอุตสาหกรรมอื่น เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: