วงเสวนาชี้นโยบายรัฐคุมโควิด-19 กระทบแรงงานข้ามชาติรุนแรง คาดตกงานทะลุ 7 แสนราย

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 6454 ครั้ง

วงเสวนาชี้นโยบายรัฐคุมโควิด-19 กระทบแรงงานข้ามชาติรุนแรง คาดตกงานทะลุ 7 แสนราย

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดเสวนา 'แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง' เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2563 (International Migrants Day 2020) ชี้นโยบายรัฐคุมโควิด-19 กระทบแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรง คาดตกงานทะลุ 7 แสนราย -ไร้เงิน-ไม่มีที่อยู่-กลับประเทศต้นทางไม่ได้ ซ้ำร้าย เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ-กองทุนประกันสังคม ห่วง สถานการณ์ระบาดหนักในเมียนมาล่าสุด ทำระบบ “นายหน้า” พาเข้าประเทศผิดกฎหมาย ฟื้นคืนชีพ จี้ เร่ง เปิดทาง แรงงานที่ตกค้างในไทยเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง หลังวีซ่าหมด-นายจ้างไม่ให้ใบออกจากงาน เชื่อ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงานในภาคอุตสาหกรรมได้ | ที่มาภาพ: Migrant Working Group

16 ธ.ค. 2563 เพจ Migrant Working Group รายงานว่าที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) จัดแถลงข่าว “แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2563 (International Migrants Day 2020)

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19และการข้ามแดน ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลไทย ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง รวมถึงการปิดการเดินทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน ส่งผลให้ช่วงเดือนมีนาคม- เมษายนที่ผ่านมา เฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณทล เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี พังงา ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ระยอง ชลบุรี แรงงานข้ามชาติไม่มีงานทำถึง 345,072คน แบ่งเป็นรายกิจกาค ค่อ ก่อสร้าง 77,354 คน , โรงงานอุตสาหกรรม (ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตอาหาร ฯลฯ) 83,532 คน ,งานบริการ 42,647 คน , ด้านการท่องเที่ยว การโรงแรมและงานต่อเนื่อง 57,325 คน ,ร้านอาหาร 44,393 คน ,เกษตรและต่อเนื่องเกษตร 32,436 คน และอื่น ๆ 7,385 คน โดยคาดว่าตัวเลขนี้มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาจริง ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 7 แสนคน

นายอดิศร ระบุว่า มาตรการในการดำเนินการของรัฐได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติดังนี้ 1. แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง และบางส่วนนายจ้างไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ นอกจากนี้หลายกิจการไม่มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น 2. แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้าง หรือถูกสั่งให้แรงงานข้ามชาติพักงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการจ่ายชดเชยหรือค่าจ้าง รวมทั้งการเข้าถึงกลไกคุ้มครองและเยียวยายังเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องตามช่องทางปกติ ที่ต้องยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลายพื้นที่มีการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในมาตรการทำงานจากบ้าน ขณะที่การยื่นคำร้องในระบบออนไลน์ทำได้ยากเนื่องจากเวบไซต์ที่ใช้ยื่นมีเพียงภาษาไทย (มีภาษาอังกฤษในบางส่วน) และมีเงื่อนไขเรื่องเอกสารและหลักฐานการยื่นอื่น ๆ ค่อนข้างมาก

3. นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติมีความตึงตัว ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจ้างแรงงานปัจจุบันได้ แรงงานข้ามชาติหลายคนเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถย้ายนายจ้างได้โดยง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติจะต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นความผิดของนายจ้างเดิม หรือชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม และจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในช่วงการระบาดของโควิด-16 ซึ่งการยึดกฎหมายเป็นหลักโดยไม่ผ่อนปรนในกรณีนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหลุดจากการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วยังพบนายจ้างจำนวนหนึ่งที่เลิกจ้างโดยใช้วิธีการไม่ต่อใบอนุญาตทำงานที่กำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และ4. รัฐบาลยังขาดความชัดเจนในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่รอเข้าประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมาตรการการผ่อนคลาย ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนที่รอเดินทางเข้าประเทศ ทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา ประมาณ 69,235 คน และแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (Demand Letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว และนายจ้างยังต้องการนำเข้ามา แต่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ประมาณ 42,168 คน

"แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ดำเนินการขอนำเข้าตาม MoU ที่รอการดำเนินการได้มีการกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ ดอกเบี้ยเงินกู้และภาระหนี้สินก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การขาดแนวทางที่ชัดเจนและปลอดภัยในการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย" ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติระบุ

แฉนายจ้างลอยแพ ไม่ทำให้ออกงาน-ไม่ชดเชย หวังเรียกกลับหลังโควิด-19ซา ทำแรงงาน เคว้ง ไร้เงินกิน

ด้านน.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า นโยบายรัฐที่สั่งปิด ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ไม่ได้มีผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะภาคบริการเท่านั้น แต่ปัญหาลงลึกไปถึงภาคการผลิต ที่ผลิตสินค้าส่งห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมตัดเย็บ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคนกลุ่มคนเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐ รวมถึงผลกระทบทางกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม ที่เยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ เพราะนายจ้างไม่ยอมออกใบออกจากงานให้ เนื่องจากคิดว่าเมื่อโควิด-19 หายไป จะเรียกคนงานเหล่านี้กลับคืนมา

“ไม่แจ้งออก แต่ก็ไม่รับผิดชอบในการจ่ายเงินตอนหยุดชั่วคราว ไม่มีค่าชดเชยถ้าให้ออก โดยอ้างว่าโควิด-19มา ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ถือเป็นการฉกฉวยโอกาสในพริบตาเดียว มีเงื่อนไขกับแรงงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากรัฐได้ทั้งที่เขามีสิทธิได้รับ โดยจากการลงพื้นที่ 23 โรงงานมี แค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่แรงงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย”น.ส.สุธาสินีระบุ

น.ส.สุธาสินี กล่าวว่าเมื่อแรงงานเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตในไทยได้ จึงต้องกลับบ้านเกิด แต่รัฐก็ออกมาตรการขอให้แรงงานข้ามชาติพำนักอยู่ในไทยไปพลางๆก่อน แต่อยู่แบบที่รัฐเองก็ไม่ได้เยียวยาอะไร ทำให้คนงานลำบากมาก บางคนไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเช่าห้อง อย่าง แรงงานชื่อ วาววา เป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ท้อง แต่ถูกเลิกจ้าง และเธอมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก ส่วนสามีเพิ่งกลับประเทศต้นทางตอนที่พาสปอร์ตหมดอายุ และเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วาววา ต้องอยู่คนเดียว โดยที่ไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว ตอนนั้นเราจึงส่งเสียงถึงสถานเอกอัครราชทูตและรัฐบาลไทย ให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาที่ให้แรงงานข้ามชาติทยอยกลับประเทศได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแต่จนถึงปัจจุบันนี้ปัญหาเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ แรงงานบางคนยังไม่ได้กลับประเทศต้นทาง บางคนอยากทำงานต่อ แต่ไม่สามารถหางานใหม่ได้ เพราะไม่มีใบออกจากงานจากนายจ้างรายเดิม ทำให้ไม่สามารถไปสมัครงานกับนายจ้างใหม่ได้ อีกทั้งวีซ่าหมดอายุ ทำให้แรงงาน บางคนกลับไปพึ่งพาระบบนายหน้า ก็ถูกหลอกเงินไปอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวแรงงานเท่านั้น แต่นายจ้างก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดแรงงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆด้วย

ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในเมียนมาซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่าแสนราย ว่า สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาแบบในอดีต คือการลักลอบเข้ามาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คนที่หิวโหยอดยาก ในประเทศต้นทางไม่มีงานทำเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแรง เขาก็อยากมาหางานทำ หาเงินจุนเจือครอบครัว วิกฤตของเขาถือเป็นโอกาสของนายหน้า ซึ่งปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นี้รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก โดยต้องเริ่มต้นจากแรงงานที่ยังตกค้างอยู่ในไทยก่อน ต้องตระหนักว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย แต่มาผิดในประเทศไทย ซึ่งสาเหตุมาจากการเกิดโรคระบาด ดังนั้นรัฐจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องทั้งหมด หลังจากนั้นให้เขามีงานทำ คนงานจะได้ไม่ต้องลักลอบเข้ามา ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย

พิษโควิด ทำแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบ 6.3 แสนราย กระทบการรับบริการสุขภาพ - ซื้อประกันสุขภาพใหม่ไม่ได้

ขณะที่นายชูวงศ์ แสนคง คณะทำงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบระหว่าง สิงหาคม 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับเดือนสิงหาคมปีนี้ พบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่หลุดจากระบบไปถึง 632,833 คน และแม้ว่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิดฯ แต่สามารถดึงแรงงานข้ามชาติกลับสู่ระบบได้ไม่มากเท่าที่ควร เพราะในเดือนตุลาคม 2563 หลังจากมีนโยบายการแก้ไขปัญหาการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด พบว่ามีสัดส่วนแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเพียง 40,383 คนเท่านั้น ขณะที่กลุ่มแรงงาน MoU พบว่าจำนวนแรงงานในเดือนสิงหาคม 2562 กับเดือนตุลาคม 2563 มีแรงงานในกลุ่มนี้ลดลงถึง 130,400 คน

นอกจากนี้โควิด-19 ยังทำให้แรงงานข้ามชาติถูกทิ้งออกจากระบบสุขภาพ โดยได้รับผลกระทบดังนี้ 1.แรงงานที่หลักประกันสุขภาพหมดอายุ ในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถซื้อหลักประกันสุขภาพใหม่ได้เพราะยุ่งยากในการเดินทางไปดำเนินการตามขั้นตอน สถานบริการสุขภาพที่เคยขายบัตรสุขภาพหยุดขาย ความไม่ชัดเจนในเรื่องการขายบัตรสุขภาพ 2.การเดินทางไปรับบริการด้านสุขภาพมีปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เพราะมีการระงับการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ทำให้แรงงานฯไม่สามารถเดินทางจากตำบลที่อยู่อาศัยไปรับยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องจากสถานบริการสุขภาพที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีกตำบลหนึ่งได้ 3.มีความไม่ชัดเจน เรื่องสถานที่กักตัว ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการกักตัว ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ ค่าใช้จ่ายในการรักษาในกรณีติดเชื้อ ส่งผลให้การดำเนินการควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นไปด้วยความยากลำบาก

4.ขาดแคลน อุปกรณ์ใช้สำหรับการป้องกันเช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ (ได้รับการสนับสนุนจาก ภาคประชาสังคม สภากาชาดไทย) และ5.ขาดการสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลมีแผนเฉพาะพื้นที่นำร่อง กรณีนอกจังหวัดนำร่อง จะยุ่งยากในการทำงาน เช่นเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพกับแรงงานได้

นายชูวงศ์ ยังได้เสนอแนะด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรปิดกั้น และควรสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมของแรงงานข้ามชาติ เพื่อค่อยเชื่อมประสานกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสวัสดิภาพของประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างชาติ (อสต.) และรัฐบาลควรมีช่องทาง หรือระเบียบเป็นกรณีในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ใช่คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่นการใช้งบประมาณ การอนุญาตให้ภาคประชาสังคมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ชี้ขาดแรงงานกิจการประมงอย่างหนัก เผย แรงงานไทย ก็ได้รับผลกระทบด้วย กลับประเทศไม่ได้ ถูกนายจ้างกดขี่

น.ส.เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล เจ้าหน้าที่กฎหมายและนโยบาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่าในเดือนมกราคม ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวนแรงงานข้ามชาตินำเข้าตาม MOU ในกิจการประมง มี 7,598 คน กิจการต่อเนื่องประมงทะเล 21,498 คน ส่วนในเดือนตุลาคมหลังการแพร่ระบาด แรงงานในกิจการประมง มี 7,184 คน กิจการต่อเนื่องประมงทะเล 10,868 คน ซึ่งทำให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา ทั้งขาดแคลนแรงงานประมง ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในอนาคตในการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ปัญหาการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ เพราะจากตัวเลขของแรงงานที่น้อยลงอาจจะส่งผลให้แรงงานที่มีอยู่ทำงานหนักขึ้น หรือมีการลักลอบเข้าเมืองมาของแรงงานอย่างผิดกฎหมายนำมาซึ่งการบังคับใช้แรงงาน

ดังนั้นสถานการณ์ด้านแรงงานประมงนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายของหน่วยงานของรัฐจะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.ภาครัฐควรมีมติเร่งด่วนโดยประสานกับทางประเทศต้นทางในการให้ความช่วยแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย 2. ภาครัฐจะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงอุปสรรคในการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU และควรลดรูปแบบกระบวนการนำเข้าต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับคืนสิทธิในการทำงานต่อไป 3.ภาครัฐที่จะต้องมีความชัดเจนและจริงจังในการจัดการแรงงานไทยเพื่อทำงานในเรือประมง โดยเฉพาะการบูรณการร่วมกันในหลายหน่วยงาน เช่น กรมการจัดหางาน กรมประมง 4.ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานบนเรือประมงในแต่ละประเภทอีกทั้งให้แรงงานประมงสามารถเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานประมงเข้าใจในสิทธิของตัวเองมากขึ้น และ5.ภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวทั้งภาพลักษณ์และการทำงานของภาคประมงให้แรงงานเกิดความสนใจหรือสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานเข้ามาทำงานในภาคประมง เพื่อลดความปัญหาความขาดแคลนของแรงงาน

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่านอกจากแรงงานต่างชาติแล้ว ลูกเรือไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศต้องเผชิญกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย เช่นแรงงานประมงไทยที่เดินทางไปทำประมงที่ประเทศโซมาเลีย ถูกนายจ้างแสวงหาประโยชน์จากการทำงานด้วยวิธีการไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายไม่ครบตามที่ตกลงไว้ ซึ่งแรงงานต้องฝืนใจทำงานต่อเนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ นอกจากนี้แรงงานไทยบางส่วนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับที่สูงมาก ประมาณคนละกว่า100,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้ควรมีการพัฒนาวิธีปฏิบัติหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงานในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการนำคนไปทำงานต่างประเทศ ให้มีการจดแจ้งเรื่องการออกไปทำงานในต่างประเทศอย่างชัดเจน เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

“ในสถานการณ์ช่วง โควิด-19 รัฐบาลไม่ได้ทิ้งแรงงานประมงไว้ข้างหลัง แต่พวกเขาอยู่ข้างหลังแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานประมงให้ผ่านพ้นไปแค่ในช่วงโควิด-19 แต่ควรที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ”น.ส.เพ็ญพิชชา ระบุ

พบเด็กข้ามชาติในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เหตุพ่อแม่ที่เป็นแรงงานขามชาติตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาภายนอก มูลนิธิการศึกษาเพื่อเยาวชนชนบท และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)กล่าวถึงการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ความท้าทายของไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่า เด็กข้ามชาติแบ่งเป็น 5 กลุ่มตามการเกิดและบันทึกสถานะในประเทศไทย กลุ่มที่ 1 คือเด็กที่ติดตามพ่อแม่มาจากประเทศต้นทาง และไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม ไม่มีการบันทึกสถานะใด ๆ จากประเทศไทย ซึ่งเราน่าจะมีเด็กกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก เช่น เด็กในไซต์งานก่อสร้าง กลุ่มที่ 2 คือเด็กที่ติดตามพ่อแม่มา ได้รับการสำรวจ มีจำนวนไม่มาก มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายกลุ่มที่ 3 เกิดในประเทศไทยและได้จดทะเบียนการเกิด มีสถานะตามกฎหมายที่ชัดเจนและมีเลขประจำตัว 13 หลัก กลุ่มที่ 4 เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้แจ้งเกิดครบวงจร เช่น เกิดที่โรงพยาบาล ได้รับหนังสือรับรองการเกิด แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด ทำให้เด็กไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน และกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มเด็กที่อยู่ตามลำพัง ช่วงแรกอาจจะมาพร้อมกับพ่อแม่ ต่อมาพ่อแม่อาจจะเสียชีวิตหรือเอาเด็กไปฝากเลี้ยงไว้ แล้วก็หายไปเลย หรืออาจจะเป็นเด็กที่ย้ายถิ่นมาเอง ซึ่งพบจำนวนพอสมควรในพื้นที่ชายแดน

ซึ่งจำนวนตัวเลขของเด็กข้ามชาติไม่มีการบันทึกทะเบียนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งระบบทำให้เด็กไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ ทำให้หาข้อสรุปตัวเลขไม่ได้ เพียงแต่มีการประมาณการณ์ว่ามีเด็กข้ามชาติประมาณ 300,000 คน และมีประมาณ 97,145 ที่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ (ตัวเลขปี 2561) ซึ่งเด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งอยู่ในศูนย์การเรียนที่ไม่มั่นคงทางการศึกษา ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ตั้งโดยชุมชนแรงงานข้ามชาติ และไม่สามารถจดทะเบียนได้กับกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเงื่อนไขการขอจดทะเบียนศูนย์การเรียนไม่เอื้อ เช่น ผู้ขอจดทะเบียนต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคตั้งแต่ต้นของกฎกระทรวงฉบับนี้ เงื่อนไขเรื่องหลักสูตร เป็นต้น เด็กที่จบการศึกษาจากศูนย์เหล่านี้ไม่ได้สามารถออกเอกสารทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ หรือการรับรองจากรัฐให้เด็กได้ ซึ่งไปต่อยอดทางการศึกษาหรือการทำงานไม่ได้ เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย

ขณะที่ศูนย์การเรียนฯ ก็เสี่ยงต่อการถูกปิด พอศูนย์การเรียนไม่ถูกต้อง ครูไม่ถูกต้อง จึงมีความเสี่ยง การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ ไม่มีอะไรรับรองเลยว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนว่าจะทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนสามารถอยู่รอดได้ ทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนเป็นทางเลือกในการจัดการศึกษาในอนาคตได้

ซึ่งในสถานการณ์โควิดเด็กในพื้นที่ชายแดนที่เดินทางแบบมาเช้าเย็นกลับได้รับผลกระทบทันที หรือบางส่วนเดินทางกลับบ้านไปในช่วงปิดเทอม และไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ เนื่องการมาโรงเรียนในไทยจะต้องกัก 14 วัน ซึ่งเด็กไม่มีเงิน ส่งผลให้โรงเรียนไทยกลับไปมองเด็กข้ามชาติในประเด็นเดิม ๆ ว่ามักมีปัญหาเพื่อเมื่อรับเข้าเรียนแล้วก็เข้าออกบ่อย ไม่สามารถเรียนได้ต่อเนื่อง เลยไม่อยากรับอีก และเด็กส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ติดตามบิดามารดาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อมีการหยุดงานทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ตกงาน

เมื่อเด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างยากลำบาก ศูนย์การเรียนยังไม่ได้รับรับรอง พ่อแม่สูญเสียงาน การช่วยเหลือดูแลเด็กของรัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง และมักไม่ครอบคลุมเด็กต่างชาติ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดเห็นชัด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้ออกจากโรงเรียนและกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายต่อไปอีก ดังนั้นแนวทางทีรัฐจะต้องช่วยเหลือเด็กข้ามชาติในประเทศไทยคือ

1. ความช่วยเหลือของรัฐต้องครอบคลุมถึงคนต่างชาติที่อยู่อาศัยภายในประเทศทุกคน ที่ผ่านความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจ และนโยบายแจกอุปกรณ์ป้องกันโควิดจำกัดอยู่เฉพาะคนไทย

2. ควรออกแบบเครื่องมือและเนื้อหาการเรียนออนไลน์ที่เน้นกระบวนการเรียนให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถตอบโต้กันได้ และกระบวนกาเรียนการสอนที่เด็กสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการสอนได้

3. เร่งนำหลักการสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน และอาเซียนมาปรับใชเพื่อสร้างวามร่วมมือให้เกิดการเชื่อมโยง 2 ประเทศ เพื่อให้เด็กกลับไปเทียบเรียนในประเทศต้นทาง รวมถึงการจัดการศึกษาของรัฐควรเป็นทวิหรือพหุภาษา และปรับหลักสูตรแกนกลางให้มีความยืดหยุน และสอดคล้องกับพื้นฐานความต้องการของผู้เรียนหรือชุมชน

4. เร่งการดำเนินการการพัฒนาสถานะบุคคลเด็กต่างชาติในประเทศ

แรงงานเมียนมา ตัดพ้อ เข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข ไร้เงินหาหมอ บางส่วนไม่กล้าไป รพ. เพราะสื่อสารภาษาไทยไม่ได้

ด้านนายคายง์ มิน หลุ่ย แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา กล่าวว่า ในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ลงพื้นที่สำรวจแรงงานข้ามชาติในชุมชนหลายในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีแรงงานเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจำนวนหลายพันคน ที่รอความช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งที่ทางเครือช่ายให้ความช่วยเหลือไปนั้น คือ ถุงยังชีพ ที่มาจากการบริจาคส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสภาการชาดไทย ตามโครงการรวมใจต้านโควิดในแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการบริการด้านสาธารณสุข

"ระบบจ้างการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้แรงงานบางส่วนไม่มีเงินที่จะไปหาหมอ อีกทั้งปัญหาทางการสื่อสาร ที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานหลายคนกลัวและเมื่อเจ็บป่วยก็เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งในการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือการไม่รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตนหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้องให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล"

นายคายง์ระบุ เรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข หันมาให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ โดยเรื่องเร่งด่วน คือ ให้มีล่ามแปลภาษาประจำไว้ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แรงงานสามาารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ นอกจากนี้ควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาษาพม่าด้วย รวมถึงรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้และสามารถช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวได้

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เสนอแนวทางบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 หกข้อที่มีต่อรัฐไทย

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ได้อ่านข้อเสนอในเรื่องการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 หกข้อที่มีต่อรัฐไทยซึ่งมีรายละเอียดังนี้

1. รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการ และแผนการในการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในแต่ละระยะ (สั้น กลาง ยาว) ให้ชัดเจน ที่รับรองว่าแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าถึงสิทธิและบริการตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ

2. รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศหลุดจากระบบการจ้างงาน เช่น เงื่อนไขในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเด็นไทย ควบคู่ไปกลับมาตรการป้องกันโรค

3. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เอกสารประจำตัวกำลังจะหมดอายุซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และรัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการรองรับเร่งด่วนโดยผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการด้านการต่อเอกสารประจำตัวได้ทัน ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอการดำเนินการ รวมถึงมีมาตรการร่วมกันในการเดินทางข้ามแดนในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

4. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงาน และการได้รับสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านภาษา เอกสารแสดงตน สถานะทางกฎหมาย เช่น การจัดทำระบบการรับคำร้องหรือยื่นคำร้องทางออนไลน์ที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคลงเป็นต้น

5. รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่รองรับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ คนข้ามชาติ และทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงการมีหลักประกันทางสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อ เช่น การเปิดขายประกันสุขภาพ หรือการกำหนดให้ทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล การตรวจโรคได้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

6. รัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กข้ามชาติ สามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: