ประเมิน 'กองทัพไทย' ครอบครองปืน 1.05 ล้านกระบอก รั้งอันดับ 3 อาเซียน

ทีมข่าว TCIJ | 16 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 9760 ครั้ง

รายงานจาก Small Arms Survey ใช้ข้อมูลประเมินเมื่อปี 2018 ประมาณการว่า ‘กองทัพไทย’ ครอบครอง ‘ปืน’ มากถึง 1,052,815 กระบอก สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจาก ‘เวียดนาม-อินโดนีเซีย’ ระหว่างปี 2014-2016 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธเล็ก (Small Arms) ที่มีมูลค่ารวมสูงสุดอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย | ที่มาภาพประกอบ: opinioncorp.com

จากรายงาน TRADE UPDATE 2019 Transfers, Transparency, and South-east Asia Spotlight โดย Small Arms Survey ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2019 ระบุว่าจากฐานข้อมูลสถิติการค้าของสหประชาชาติ (UN Comtrade) พบว่าการค้า ‘อาวุธเล็ก’ (small arms) ระหว่างประเทศมีมูลค่าอย่างน้อย 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2015 ทั้งนี้เครื่องกระสุนอาวุธเล็ก (Small arms ammunition) เป็นหมวดสินค้าที่มีปริมาณการค้าสูงที่สุด 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016

'อาวุธเล็ก' (small arms) และ 'อาวุธเบา' (light weapons) 

อาวุธเล็ก (small arms) คือ อาวุธที่ออกแบบเพื่อการใช้งานได้โดยบุคคลเดียว เช่น  ปืนพกลูกโม่และปืนพกแบบกึ่งอัตโนมัติ (revolvers and self-loading pistols) ปืนยาวและปืนสั้น (rifles and carbines) ปืนกลมือ (sub-machine guns) ปืนยาวจู่โจม (assault rifles) ปืนกลเบา (light machine guns) เป็นต้น

อาวุธเบา (light weapons) คือ อาวุธที่สามารถใช้งานได้โดยบุคคล 2 หรือ 3 คน ช่วยกัน แม้ว่าอาวุธบางชนิดอาจสามารถถือและใช้งานได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว เช่น ปืนกลหนัก (heavy machine guns) เครื่องยิงระเบิดมือแบบติดตั้งและพกพาด้วยมือ (hand-held under-barrel and mounted grenade launchers) | ปืนต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ (portable anti-aircraft guns) ปืนต่อต้านยานเกราะแบบพกพาได้ (portable anti-tank guns) ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (recoilless rifles) เครื่องปล่อยระบบขีปนาวุธและจรวดต่อต้าน ยานเกราะแบบพกพาได้ (portable launchers of anti-tank missile and rocket systems) | เครื่องปล่อยระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ (portable launchers of anti-aircraft missile systems) และปืนครกที่เส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องเล็กกว่า 75 หรือ 100 มิลลิเมตร (mortars of calibres less than 75 or 100 mm) เป็นต้น

ที่มา: กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

 

ประเทศในอาเซียนที่สามารถผลิตอาวุธเล็ก อาวุธเบา และเครื่องกระสุนได้ | ที่มาภาพ: TRADE UPDATE 2019 Transfers, Transparency, and South-east Asia Spotlight (Michael Picard, Paul Holtom, and Fiona Mangan, Small Arms Survey, December 2019)

เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (จากฐานข้อมูลอัพเดทในปี 2019) พบว่ามีอย่างน้อย 7 ประเทศ ที่มีการผลิตอาวุธเล็กและเครื่องกระสุน โดยผู้ส่งออกสำคัญในช่วงปี 2014-2016 ได้แก่ ฟิลิปปินส์, ไทย และสิงคโปร์ ทั้งนี้มูลค่ารวมของการส่งออกจากอาเซียนในปี 2014-2016 มีประมาณ 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่า 1% ของมูลค่าการส่งออกทั่วโลก

ประเทศในอาเซียนที่สามารถผลิตอาวุธเล็ก อาวุธเบา และเครื่องกระสุนได้ ก็ประกอบไปด้วย พม่า (หน่วยงานของรัฐ), ไทย (หน่วยงานของรัฐ), เวียดนาม (หน่วยงานของรัฐ), ฟิลิปปินส์ (หน่วยงานของรัฐ), มาเลเซีย (รัฐวิสาหกิจ), สิงคโปร์ (รัฐวิสาหกิจ) และอินโดนีเซีย (รัฐวิสาหกิจ)

ประเทศผู้ส่งออกอาวุธเล็กที่สำคัญของอาเซียน | ที่มาภาพ: TRADE UPDATE 2019 Transfers, Transparency, and South-east Asia Spotlight (Michael Picard, Paul Holtom, and Fiona Mangan, Small Arms Survey, December 2019)

โดยระหว่างปี 2014-2016 นั้น ประเทศที่ส่งออกอาวุธเล็กมูลค่าสูงสุดคือ ฟิลิปปินส์ มีมูลค่าส่งออกรวม 94.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สิงคโปร์ 33.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ไทย 25.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศอาเซียนอื่นๆ มีมูลค่าส่งออกรวมแค่ 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในด้านการนำเข้าระหว่างปี 2014-2016 นั้นประเทศในกลุ่มอาเซียน มีสัดส่วนการนำเข้าอาวุธเล็กอย่างน้อยถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 19% ของมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธเล็กที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2016 มีมูลค่าการนำเข้าถึง 281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศผู้นำเข้าอาวุธเล็กที่สำคัญของอาเซียน | ที่มาภาพ: TRADE UPDATE 2019 Transfers, Transparency, and South-east Asia Spotlight (Michael Picard, Paul Holtom, and Fiona Mangan, Small Arms Survey, December 2019)

แต่ถ้ารวมมูลค่าการนำเข้าระหว่างปี 2014-2016 พบว่าอินโดนีเซียนำเข้าอาวุธเล็กมูลค่ารวมถึง 791.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยไทย 216.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์ 153.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สิงคโปร์ 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, มาเลเซีย 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่เหลือในอาเซียนรวมกัน 15.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยประเทศผู้ส่งออกอาวุธเล็กสู่กลุ่มประเทศอาเซียน รายใหญ่ๆ ได้แก่ประเทศบราซิล, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, จีน, อิสราเอล และรัสเซีย

ประเมิน 'กองทัพไทย' ครอบครองปืน 1.05 ล้านกระบอก รั้งอันดับ 3 อาเซียน

ในรายงานของ Small Arms Survey ยังได้ประมาณการ 'กำลังพล' และ 'อาวุธปืน' ของกองทัพ 5 ประเทศในอาเซียน (ปี 2018) ไว้ดังนี้ อันดับ 1 เวียดนาม กำลังพลประจำการ 482,000 คน (กำลังสำรอง 5,000,000 คน, กองกำลังกึ่งทหาร 40,000 คน) | ประมาณการอาวุธปืน 3,829,200 กระบอก อันดับ 2 อินโดนีเซีย กำลังพลประจำการ 395,500 คน (กำลังสำรอง 400,000 คน) | ประมาณการอาวุธปืน 1,711,450 กระบอก

อันดับ 3 ไทย กำลังพลประจำการ 360,850 คน (กำลังสำรอง 200,000 คน, กองกำลังกึ่งทหาร 93,700 คน) | ประมาณการอาวุธปืน 1,052,815 กระบอก อันดับ 4 พม่า กำลังพลประจำการ 406,000 คน (กองกำลังกึ่งทหาร 107,250 คน) | ประมาณการอาวุธปืน 788,900 กระบอก และ อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ กำลังพลประจำการ 125,000 คน (กำลังสำรอง 131,000 คน, กองกำลังกึ่งทหาร 40,500 คน) | ประมาณการอาวุธปืน 454,700 กระบอก

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ประเทศที่กองทัพครอบครองปืนสูงสุด
พลเรือนทั่วโลกครอบครองปืน 857 ล้านกระบอก ไทยติดอันดับ 13 และซื้อขาย ‘โปร่งใสน้อย’
องค์กรต่างประเทศเผยไทยติดกลุ่ม ‘ซื้อขายอาวุธ’ ที่มี ‘ความโปร่งใสน้อย’
จับตา: ราคาปืน ‘อาก้า’ ในที่ต่าง ๆ ของโลก
'ปืน' เป็นเหตุคร่าชีวิตมากสุด ไทยติดอันดับโลกนำเข้า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: