ข้อมูล ณ 12 เม.ย. 2563 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 สำหรับใน กทม.และปริมณฑล มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งโรงพยาบาลรัฐ 30 แห่ง และเอกชน 75 แห่ง รวมเป็น 105 แห่ง มีทั้งหมด 1,978 เตียง แบ่งประเภทเตียงเป็นเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก AIIR-ICU จำนวน 120 เตียง และ Modified AIIR จำนวน 108 เตียง ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยไม่หนักมากทั้ง Isolate room จำนวน 1,056 เตียง และ Cohort ward อยู่ที่ 694 เตียง | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย
Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ว่านพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 สำหรับใน กทม.และปริมณฑล มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งโรงพยาบาลรัฐ 30 แห่ง และเอกชน 75 แห่ง รวมเป็น 105 แห่ง
จำนวนเตียง (ข้อมูล 12 เม.ย.63) มีทั้งหมด 1,978 เตียง แบ่งประเภทเตียงเป็นเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก AIIR-ICU จำนวน 120 เตียง และ Modified AIIR จำนวน 108 เตียง ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยไม่หนักมากทั้ง Isolate room จำนวน 1,056 เตียง และ Cohort ward อยู่ที่ 694 เตียง
ส่วนหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ ขณะนี้มีของ รพ.ราชวิถี ซึ่งใช้เป็นโรงแรมคิงส์ตัน และมี รพ.สนามธรรมศาสตร์ และ รพ.จุฬาลงกรณ์ รวมแล้ว 603 เตียง
ส่วนสถิติเตียงรับผู้ป่วยรายวัน ของวันที่ 12 เม.ย. เวลา 20.00 น. จะพบว่า มีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 59 เตียง และเตียงอื่นๆ อีกกว่า 1,200 เตียง ขณะที่สถิตผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้อง AIIR นั้น ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังสามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ได้อยู่
นพ.ณรงค์ ระบุว่า ผู้ป่วยสะสมที่ดูแลใน กทม. มีเกือบ 2,000 คน แต่ที่อยู่ในห้อง ICU หรือเป็นผู้ป่วยหนักมีประมาณ 40 คน หากสถานการณ์ของไทยยังไม่มีผู้ป่วยหนักมาก อย่างกรณีสนามมวย มั่นใจว่าจำนวนเตียงจะเพียงพอ และปลายเดือน เม.ย.นี้ จะมีการขยายเป็น 187 เตียง และคาดว่าปลายเดือนเดือน พ.ค.จะมีเตียงถึง 292 เตียง
ขณะที่ในต่างจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด ได้เตรียมห้องต่างๆ ในลักษณะเดียวกันกับในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจ เพื่อบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยในอนาคตเช่นกัน
“ข้อมูลผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,000 กว่าๆ อยู่ใน กทม.ประมาณ 1,800 คน ณ วันนี้ ผู้ป่วยใหม่ลดลง และมีคนกลับบ้านมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลจริงๆ มีประมาณ 600 คน”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ