เปิด 3 ฉากทัศน์ COVID-19 ในไทยหลังผ่อนปรนถึง ก.ย. 2563 นี้ หากยังคุมฉุกเฉิน ปิดกิจการ คาดป่วยรายใหม่วันละ 15 คน เจอรายงานวันละ 3 คน ผ่อนปรนเปิดกิจการบ้าง ป่วยใหม่ 144 รายต่อวัน เจอเคสรายงาน 24 คนต่อวัน ป่วยวิกฤต 105 คน รพ.ยังพอรับไหว แต่หากผ่อนคลายสุด เปิดทุกกิจการ คาดติดเชื้อใหม่ 398 คนต่อวัน เจอเคสรายงาน 65 คนต่อวัน วิกฤต 289 คน ย้ำขอความร่วมมือใช้รถไฟฟ้า อย่าให้แออัด ช่วยกันป้องกันความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่าในการประชุม ศบค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำเสนอการรายงานการคาดการณ์รูปแบบการระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉากทัศน์ ซึ่งประมาณการถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 พบว่า
1. การใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการควบคุมโดย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้มีการปิดกิจการหลายๆ อย่าง ประมาณการถึง ก.ย. คาดว่า จะมีผู้ป่วยรายใหม่ 15 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 คนต่อวัน ผู้ป่วยวิกฤต 15 คน ที่ต้องเข้า รพ. ทำให้ รพ.สามารถยังรับได้ไหว
2. มีการผ่อนปรนบ้าง ซึ่งการผ่อนปรนขึ้นมามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่ โดยประมาณการว่า จะมีการติดใหม่ประมาณ 144 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ 24 คนต่อวัน ผู้ป่วยวิกฤต 105 คน ปริมาณยังพอรับไหว
3. ถ้าผ่อนมากๆ ปล่อยให้คลายมากๆ เปิดทุกกิจการกิจกรรม จะเกิดติดเชื้อรายใหม่มากขึ้น 398 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ป่วย 65 คนต่อวัน คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาการวิกฤต 289 คน
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าการจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยไม่สูง คือ จะต้องลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนมากกว่า 70% ขึ้นไป โดยบทเรียนจำลองสถานการณ์การระบาดวิทยาในระดับประเทศ ประสิทธิผลของมาตรการเข้มข้นระยะสั้น ต้องลดอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนลงให้เป็น 77% ของอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนในระยะก่อน ตรงนี้ช่วยให้ไทยหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการควบคุมโรคในระยะผ่อนคลาย ต้องมีประสิทธิผลจึงจะไม่เกิดการระบาดใหม่ซ้ำ ต้องติดตามให้การแพร่กระจายเชื้อในชุมชนต่ำกว่า 50% ของอัตราการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนในระยะก่อนมีมาตรการระยะสั้น จะช่วยให้ประเทศไทยเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมี 3T คือ trace การค้นหา test การทดสอบ และ treat การรักษา
เมื่อถามถึงความแออัดของรถไฟฟ้า นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำความสะอาด และอย่าให้แออัด เป็นมาตรการหลักสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องนำไปใช้ ส่วนในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องไปดำเนินการ อย่างภาพที่เห็นมีการจัดเว้นระยะห่างที่สถานี แต่พอเข้าไปในรถไฟฟ้าไม่มีการเว้นระยะห่าง ก็แน่นอนว่าต้องขอความร่วมมือต้องคิดเข้าไปอีกหลายๆ ชั้น เพื่อให้ปลอดภัยปลอดโรค หรืออย่างน้อยต้องมีหน้ากากอนามัยถ้าอยู่ในระยะใกล้กันมาก หรือไม่พูดจาในรถ โอกาสแพร่กระจายก็จะน้อยลง เป็นรายละเอียดที่ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการต้องร่วมมือกันอย่างดีมากๆ แต่ถ้าเรายอมที่จะมาสู่มาตรการผ่อนปรน ก็คือ ความเสี่ยง เพราะมาตรการผ่อนปรนมาพร้อมความเสี่ยง คนออกจากบ้านต้องยอมรับว่าตัวเองมีความเสี่ยง ถ้าไม่อยากมีความเสี่ยงก็อยู่ที่้บ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกมาก็ต้องปกป้องตนเองและคนอื่น คำตอบคือขอความร่วมมือเช่นเดิม
ที่มา: Thai PBS | ผู้จัดการออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ