สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 มิ.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1563 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 มิ.ย. 2563

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 มิ.ย. 2563

16 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุย   วิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. ....
                    2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [กำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562]
                    3.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    4.       เรื่อง     ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบ           บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....
                    5.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน รวม 6 ฉบับ
                    6.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือ พ.ศ. ....
                    7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานข้อบังคับสำหรับการป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ....
                    8.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้งผลิต นำเข้า
ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตผลิต                                       นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                    9.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 พ.ศ. ....
                    10.      เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน พ.ศ. .... 
 

เศรษฐกิจ - สังคม

                    11.      เรื่อง     การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)” สำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance)
                    12.      เรื่อง     ขออนุมัติค่าปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อนให้เป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภา ค่าก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมราชบัณฑิตยสภา และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
                    13.      เรื่อง     มติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563
                    14.      เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563
                    15.      เรื่อง     ผลการดำเนินงานโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2
                    16.      เรื่อง     รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2563
                    17.      เรื่อง     เพลงสำคัญของแผ่นดิน
                    18.      เรื่อง     รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2562
                    19.      เรื่อง     กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                    20.      เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม  ครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
                    21.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 5
                    22.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
 

ต่างประเทศ

                    23.      เรื่อง     ร่างข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งออสเตรเลีย ประกอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลีย
                    24.      เรื่อง     ร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ฉบับใหม่
                    25.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit  Scheme: IMSAS)
                    26.      เรื่อง     การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว  (The Temporary Data Collection Center) ของทางการเมียนมา
                    27.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Ministers on COVID-19) (กก.)
                    28.      เรื่อง     ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
                    29.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (Joint Ministerial Statement       of the Twenty Third ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC)   Council)
                    30.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-  รัสเซีย สมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

แต่งตั้ง

 
                    31.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                    32.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                    33.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    34.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร 
 
 

 
*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
 

   

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 
                   1. กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ และสาขาวิชาศึกษาศาสตร์
                    2. กำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 
                   3. กำหนดลักษณะของเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 
                   4. กำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยประจำตำแหน่ง และสีประจำคณะของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 
                   เรื่องเดิมและข้อเท็จจริง  
                   ได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความแห่งพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 
                   ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติให้การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะใช้อักษรย่อสำหรับปริญญานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มาตรา 72 วรรคสอง บัญญัติให้การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกอบมาตรา 95 บัญญัติให้ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กก.โดยมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... ขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา รวมทั้งกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง และกำหนดสีประจำคณะของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ  
                   ในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมพิจารณาแล้วได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... 
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [กำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562]
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการทางปกครองแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  
                   ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอว่า 
                   1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 63/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่มีการบังคับให้ชำระเงินและคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว หากหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินประสงค์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดีดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ให้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น โดยระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองยังมิได้ชำระตามคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้บังคับทางปกครองหรือได้ดำเนินการบังคับทางปกครองแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระเงิน หรือได้รับชำระเงินไม่ครบถ้วน และมาตรา 63/15 วรรคหก บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรานี้ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 
                   2. โดยที่สำนักงาน กสทช. มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 สำนักงาน กสทช. จึงมิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ประกอบกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 บัญญัติให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และในกรณีที่ต้องกำกับดูแลและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย มีอำนาจในการปรับทางปกครอง โดยจะมีคำสั่งทางปกครองกำหนดให้ชำระเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินแล้วไม่มีการชำระเงินโดยถูกต้องครบถ้วน จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน แต่เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ไม่มีบุคลากรที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในด้านการบังคับทางปกครอง ส่งผลให้ไม่สามารถบังคับตามคำสั่งของศาลปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
                   3. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินของสำนักงาน กสทช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
  
3. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   สลน. เสนอว่า
                   1. โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยบุคคลผู้ที่จะเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้อง “ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “ไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 98 และมาตรา 101 ประกอบกับมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยร่างระเบียบในเรื่องนี้ได้จัดทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  
                   2. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 
จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ 
                   กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
4. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นการปรับปรุงจากร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2562) เพื่อให้เป็นประกาศกลางในการกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ออกร่วมกันโดยรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งจะทำให้บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรูปแบบเดียวกัน และสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไปและผู้ว่าราชการจังหวัด
                   2. กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งนอกเหนือจากข้อ 1.
                   3. กำหนดให้บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกบัตร เว้นแต่กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวันบัตรหมดอายุ ให้ถือว่าบัตรนั้นหมดอายุก่อนวันหมดอายุที่กำหนดในบัตรนั้น และให้คืนบัตรดังกล่าวแก่ผู้มีอำนาจออกบัตร 
                   4. กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศกำหนดวิธีการในการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร
 
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน รวม 6 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน รวม 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร พ.ศ. .... 2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเขื่อน ตำบลยางน้อย และตำบลยางท่าแจ้ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. .... 3. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท พ.ศ. .... 4. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. .... 5. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. .... 6. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พ.ศ. ....  ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้  
                    ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 6 ฉบับที่ กษ. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ  (มติคณะรัฐมนตรี 9 พฤษภาคม 2560, 30 พฤษภาคม 2560, 18 กรกฎาคม 2560, 22 สิงหาคม 2560 และ3 มกราคม 2561) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ในท้องที่ตำบลเขื่อน ตำบลยางน้อย และตำบลยาง ท่าแจ้ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในท้องที่ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ในท้องที่ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ในท้องที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี และในท้องที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดทำเป็นโครงการจัดรูปที่ดิน อันจะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางได้เห็นชอบด้วยแล้ว
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้หนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือ ได้แก่ หนังสือคนประจำเรือและหนังสือคนประจำเรือประมง โดยหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือต้องมีรายการหนังสือแสดงตนคนประจำเรือ (Seafarers’ identity document) เพื่อแสดงรายการข้อมูลบุคคลที่ระบุตัวตนของผู้ถือหนังสือคนประจำเรือ ในกรณีที่ออกให้แก่ผู้มีสัญชาติไทย ให้แสดงเลขประจำตัวคนประจำเรือไทยด้วย แต่หนังสือคนประจำเรือและหนังสือคนประจำเรือประมงจะใช้แทนกันไม่ได้  
                   2. กำหนดให้ผู้ซึ่งจะขอรับหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้  
                             2.1 กรณีหนังสือคนประจำเรือ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าว อายุไม่ต่ำกว่าสิบหกปี เป็นผู้ได้รับการรับรองจากแพทย์ว่ามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานในเรือได้ และมีคุณสมบัติอื่นตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด  
                             2.2 กรณีหนังสือคนประจำเรือประมง ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี เป็นผู้ได้รับการรับรองจากแพทย์ว่ามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานในเรือประมงได้ และมีคุณสมบัติอื่นตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด  
                   3. กำหนดให้ผู้ซึ่งจะขอรับหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือยื่นคำขอต่อเจ้าท่า ตามแบบคำขอที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด ณ กองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือกรณีคนต่างด้าวให้ใช้หนังสือเดินทางพร้อมด้วยสำเนาหลักฐานแสดงการเข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย รูปถ่าย ใบรับรองแพทย์ หนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือเล่มเดิม (ถ้ามี) และกรณีคนต่างด้าวให้ยื่นหนังสือรับรองการจ้างให้ทำการในเรือไทยจากเจ้าของเรือ  
                   4. กำหนดให้หนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือมีอายุไม่เกินห้าปี  
                   5. กำหนดให้เจ้าท่าอาจเพิกถอนหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือและเรียกคืนหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือเมื่อปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ผู้ถือหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อ 2. และหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือถูกใช้โดยบุคคลอื่น เป็นต้น
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานข้อบังคับสำหรับการป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานข้อบังคับสำหรับการป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   คค. เสนอว่า
                   1. ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับป้องกันเรือโดนกันระหว่างประเทศ ค.ศ. 1972 (The International Regulation for Preventing Collisions at Sea 1972; COLERG 1972) ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และออกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 เพื่อรองรับพันธกรณีและข้อกำหนดของอนุสัญญาดังกล่าวซึ่งพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าวได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว แต่อนุสัญญา COLERG 1972 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งในปี 2530 ปี 2532 ปี 2536 ปี 2544 และปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเพียงครั้งเดียวในปี 2533 โดยออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522
                   2. คค. พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานข้อบังคับสำหรับการป้องกันเรือโดนกันของประเทศไทยสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงเพื่อรองรับการตรวจประเมินขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization; IMO) ตามโครงการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO Member State Audit Scheme; IMSAS) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานข้อบังคับสำหรับการป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
                   แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับป้องกันเรือโดนกันระหว่างประเทศ ค.ศ. 1972 ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงในปี พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2550 ตามลำดับ ในเรื่องดังต่อไปนี้
                   1. กำหนดให้เรือที่ไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎกระทรวงนี้ได้ครบถ้วน จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นซึ่งรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีผลบังคับต่อเรือนั้นได้ใกล้เคียงกับกฎกระทรวงนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนที่ติดตั้ง ระยะหรือขอบทัศนวิสัยของแสงไฟ หรือทุ่นเครื่องหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนที่ติดตั้งและคุณสมบัติของเครื่องทำสัญญาณเสียง
                   2. แก้ไขเพิ่มเติมนิยาม ดังนี้
                       2.1 คำว่า “เรือ” ให้หมายความถึง ยานบินเบาะอากาศ
                       2.2 คำว่า “เรือที่บังคับยากเพราะอัตรากินน้ำลึกของเรือ” ให้หมายความรวมถึง เรือกลที่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตรากินน้ำลึกของเรือกับความลึกของน้ำและความกว้างของร่องน้ำที่เรือนั้นกำลังเดินอยู่
                       2.3 เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ยานบินเบาะอากาศ” หมายความว่า ยานพาหนะต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งในโหมดปฏิบัติการหลักจะบินเข้าใกล้กับพื้นผิวโดยอาศัยการกระทำจากอิทธิพลของพื้นผิว
                   3. เพิ่มเติมการกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกันโดยให้เรือจะต้องกระทำแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่กีดขวางทางเดินหรือทางเดินอันปลอดภัยของเรือลำอื่น เพื่อให้ทะเลกว้างพอสำหรับทางเดินอันปลอดภัยของเรือลำอื่น และมีความรับผิดชอบที่จะต้องกระทำเช่นนั้นอยู่ตลอด
                   4. เพิ่มเติมการกำหนดเกี่ยวกับแผนแบ่งแนวจราจร โดยให้เรืออาจใช้เขตจราจรชายฝั่งทะเลเมื่ออยู่ระหว่างเส้นทางไปหรือมาจากท่าเรือ สิ่งติดตั้งหรือโครงสร้างนอกฝั่งสถานีนำร่อง หรือสถานที่อื่นใดที่อยู่ภายในเขตจราจรชายฝั่งทะเล หรือเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยกะทันหัน
                   5. เพิ่มเติมการกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดชอบระหว่างเรือต่อเรือโดยกำหนดให้ยานบินเบาะอากาศ ขณะบินขึ้น ลงจอด และบินใกล้ผิวน้ำ ต้องหลีกทางให้พ้นเรืออื่น และต้องหลีกเลี่ยงการกีดขวางการเดินเรือ ส่วนยานบินเบาะอากาศที่ปฏิบัติงานบนผิวน้ำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติเช่นเดียวกับเรือกล
                   6. เพิ่มเติมการกำหนดเกี่ยวกับเรือกลกำลังเดิน โดยให้ยานบินเบาะอากาศต้องเปิดโคมไฟวับมองเห็นได้รอบทิศสีแดงที่มีความเข้มสูง เฉพาะเวลาขณะบินขึ้น ลงจอด และบินใกล้ผิวน้ำ
                   7. แก้ไขถ้อยคำและข้อบังคับต่างๆ ในรายละเอียด ให้สอดคล้องกับการแก้ไขอนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศสำหรับป้องกันเรือโดนกันระหว่างประเทศ ค.ศ. 1972
                  
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้งผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้งผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำกับดูแล เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 เช่น กลุ่มแบคทีเรีย Abiotrophia balaena กลุ่มไวรัส Coronavirus กลุ่มที่ 3 เช่น ไวรัส Middle East respiratory syndrome (MERS) coronavirus หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 เช่น คางคกบ้าน กิ้งก่าลูกปัด กิ้งกือ กลุ่มที่ 2 เช่น งูเห่า งูทับสมิงคลา งูสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมายพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

ร่างกฎกระทรวง สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงการแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้งผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 พ.ศ. ....   กำหนดให้ “หนังสือรับรองการแจ้ง” หมายความว่า หนังสือรับรองการแจ้งผลิตนำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1
  กำหนดให้การยื่นคำขอ การออกใบรับแจ้ง และการออกหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ให้ยื่นคำขอทางไปรษณีย์หรือให้ยื่นคำขอ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
 - กำหนดให้ใบรับแจ้ง หนังสือรับรองการแจ้ง หนังสือแจ้งกรณีเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์มีระดับความรุนแรงสูงขึ้น หนังสือแจ้งเลิกดำเนินการและคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด
 - กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอรับหนังสือรับรองการแจ้งผลิต นำเข้า ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานตามที่กำหนด กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบการยื่นขอรับหนังสือรับรองดังกล่าว และกำหนดให้หนังสือรับรองการแจ้งให้มีอายุ 1 ปีนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองการแจ้ง
 - กำหนดให้ในกรณีที่การดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองในเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 ปรากฏว่าเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ดังกล่าวมีระดับความรุนแรงสูงขึ้นกว่าระดับที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ผู้รับหนังสือรับรองการแจ้งต้องหยุดดำเนินการ และแจ้งให้อธิบดีทราบภายใน 3 วัน พร้อมด้วยข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย และการป้องกันอันตรายต่อบุคคล เป็นต้น
 - กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอต่ออายุหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีภายใน 90 วัน ก่อนหนังสือรับรองการแจ้งสิ้นอายุ
 - กำหนดให้ผู้ประสงค์จะเลิกผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 2 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 1 ให้แจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีล่วงหน้าก่อนวันที่ประสงค์จะเลิกดำเนินการดังกล่าว และให้ถือว่าหนังสือรับรองการแจ้งสิ้นอายุนับแต่วันที่ประสงค์จะเลิกดำเนินการนั้น ในกรณีได้แจ้งเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์แล้ว ให้ผู้รับหนังสือรับรองการแจ้งทำลายหรือส่งมอบเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ที่เหลืออยู่ และให้แจ้งผลการดำเนินการให้อธิบดีทราบโดยเร็ว และนำหนังสือรับรองการแจ้งส่งคืนต่ออธิบดีเพื่อประทับตรายกเลิกต่อไป 
2. ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 พ.ศ. ....  - กำหนดบทนิยาม “ใบอนุญาต” หมายความว่าใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2
 - กำหนดให้การยื่นคำขอและการอนุญาต ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์             ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ให้ยื่นคำขอโดยวิธีการทางไปรษณีย์หรือให้ยื่นคำขอ                   ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
 - กำหนดให้ใบรับคำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต หนังสือแจ้งกรณีเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์มีระดับความรุนแรงสูงขึ้น หนังสือแจ้งเลิกดำเนินการและคำขอตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
 - กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมด้วยข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานตามที่กำหนด กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาตดังกล่าวและกำหนดให้ใบอนุญาตให้มีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต
 - กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฏในระหว่างการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 ว่าเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ดังกล่าวมีระดับความรุนแรงสูงขึ้นกว่าระดับที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติต้องหยุดการดำเนินการและแจ้งให้อธิบดีทราบภายใน 3 วัน พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์และวิธีการเพื่อความปลอดภัย และการป้องกันอันตรายต่อบุคคล เป็นต้น
 - กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขอต่อใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีภายใน 90 วัน ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
 - กำหนดให้ผู้ประสงค์จะเลิกผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 3 หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 2 ให้แจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีล่วงหน้าก่อนวันที่ประสงค์จะเลิกดำเนินการดังกล่าวและให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุนับแต่วันที่ประสงค์จะเลิกดำเนินการนั้น ในกรณีที่ได้แจ้งเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตทำลายหรือส่งมอบเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ที่เหลืออยู่และให้แจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้อธิบดีทราบโดยเร็ว และนำใบอนุญาตส่งคืนต่ออธิบดีเพื่อประทับตรายกเลิกต่อไป   

  
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   พณ. เสนอว่า
                   1. กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน (พน.) ขอให้ พณ. ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีเหตุผลว่า
                             1.1 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวได้กำหนดนิยามคำว่า “ผู้ค้าน้ำมัน” หมายถึง ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกแล้ว ประกอบกับปัจจุบันพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ที่ใช้บังคับอยู่ไม่มีบทนิยามคำดังกล่าว
                             1.2  พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และประกาศกรมธุรกิจพลังงานที่ออกตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงการควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดที่จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นกฎหมายที่เพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามา ณ เมืองท่าส่งออก และ ณ คลังนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวอีก
                             1.3 ประกอบกับการพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ โดยไม่ได้คำนึงถึงการตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวแต่อย่างใด
                   2. โดยที่ปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงาน พน. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยได้รับโอนภารกิจและอำนาจหน้าที่ในส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เฉพาะที่เกี่ยวกับสำนักน้ำมันเชื้อเพลิง ตามความในมาตรา 86 แห่งพราะราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545 และตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2562 กรมธุรกิจพลังงาน พน. ได้ออกประกาศของกรมธุรกิจพลังงานภายใต้พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 จำนวน 25 ฉบับ โดยกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดที่จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นการเฉพาะแล้ว
                   3. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ พิจารณาแล้วจึงได้จัดทำ “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 พ.ศ. ....” และได้รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) ระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ไม่มีผู้แสดงความคิดเห็น และกรมการค้าต่างประเทศได้มีหนังสือถึงผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวม 134 ราย โดยมีผู้แจ้งความเห็นรวม 6 ราย ซึ่งทั้งหมดเห็นชอบด้วยกับร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว
จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2539
 
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน พ.ศ. .... 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   กค. เสนอว่า 
                   1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-2019) ได้แพร่ระบาดในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้ประเทศไทยต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศในภาพรวม และเป็นเหตุให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่สามารถนำของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไป               นอกราชอาณาจักรได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบใน ด้านการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับการนำของเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-2019) จึงสมควรกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  
                   2. โดยที่มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกเว้นให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวง 
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 
                   1. กำหนดนิยามคำว่า “พฤติการณ์พิเศษ” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-2019) จนเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถส่งของนำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้  
                   2. กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ในกรณีดังต่อไปนี้  
                             2.1 กรณีที่การนำของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรที่กำหนดให้กระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 102 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 
                             2.2 กรณีที่ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำไม่นำของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามมาตรา 102 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือขอเปลี่ยนการผ่านพิธีการศุลกากรเป็นการนำเข้าและได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ แต่ไม่เสียอากรหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ของนั้นตกเป็นของแผ่นดิน 
                             2.3 กำหนดให้ผู้นำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลาเพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 พร้อมแสดงเหตุผลแห่งพฤติการณ์พิเศษ และเอกสารหลักฐานประกอบ ต่อกรมศุลกากร โดยกำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรขยายระยะเวลาการนำของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรได้ตามความจำเป็น 
                   3. กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
 

เศรษฐกิจ - สังคม

11. เรื่อง การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)” สำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)” สำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส. 2/2563 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ) ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีทางเลือก ที่หลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                    1. ผลการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ณ วันที่ 13 เมษายน 2563 ธอส. มียอดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย (Post Finance) จำนวน 25,930 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 18,429.11 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท จำนวน 21,495 ราย เป็นจำนวนเงิน 15,271.17 ล้านบาท และ 2) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท จำนวน 4,435 ราย เป็นเงินจำนวน 3,157.94 ล้านบาท [ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ธอส. มียอดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย จำนวน 27,614 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 19,632.12 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท จำนวน 22,862 ราย เป็นจำนวนเงิน 16,265.38 ล้านบาท และ (2) กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท จำนวน 4,752 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,366.74 ล้านบาท]
                    2. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดให้กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ กรณีที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริมตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ต้องจำหน่ายราคาต่อหน่วยไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) และกรณีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นต้องจำหน่ายราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะต้องจำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง เพิ่มทางเลือกในด้านทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมของชุมชน และระดับราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการบ้านล้านหลัง
                   3. เพื่อให้การกำหนดราคาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านล้านหลังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนของกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่ตรงตามความต้องการเป็นของตนเอง รวมถึงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ (ตามข้อ 2) ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทำให้มีที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของผู้จองสิทธิโครงการบ้านล้านหลังที่ยังไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต้องการได้ ธอส. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการบ้านล้านหลังสำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้
                       3.1 ปรับปรุงการกำหนดราคาซื้อขายหลักประกัน จากเดิม “กำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน  1 ล้านบาทต่อหน่วย” เป็น “กำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย
                       3.2 ปรับปรุงการกำหนดวงเงินกู้ จากเดิม “กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1 ล้านบาท” เป็น “กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายได้ต่อหลักประกันไม่เกิน 1.2 ล้านบาท
                   4. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อภาระการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการบ้านล้านหลังของรัฐบาลซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 และวันที่ 12 มีนาคม 2562 เนื่องจากกรอบวงเงินและอัตราดอกเบี้ยของลูกค้าแต่ละกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง จึงไม่ต้องปรับปรุงรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ
พ.ศ. 2561
 
12. เรื่อง ขออนุมัติค่าปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อนให้เป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภา ค่าก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมราชบัณฑิตยสภา และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) ดำเนินการปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อนให้เป็นหอประวัติศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา และก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมราชบัณฑิตยสภาและอื่น ๆ ภายในกรอบวงเงิน 354,350,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2567) อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นโบราณสถาน ประกอบกับเงื่อนไขการเช่าอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน มีผลทำให้การดำเนินการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายในการควบคุมดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนของกฎหมายหรือเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมถึงการจัดทำประมาณราคา แบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง และรายละเอียดครุภัณฑ์ ทั้งนี้ เมื่อ รภ. ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รภ. รายงานว่า
                   1. ปัจจุบัน รภ. มีที่ทำการอยู่สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีภารกิจในการจัดประชุมสมาชิกราชบัณฑิตยสภาเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ (Royal Society Forum) เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี และจัดการประชุมอื่น ๆ ของราชบัณฑิตยสภาเป็นประจำ แต่โดยที่พื้นที่ห้องประชุมมีขนาดเล็กเพียง 168 ตารางเมตร ไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมตามกรอบอัตราของสมาชิกราชบัณฑิตยสภาตามข้อบังคับราชบัณฑิตยสภาว่าด้วยการกำหนดจำนวนภาคีสมาชิกและจำนวนราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2559 ได้ ดังนั้น รภ. จึงมีแผนคืนพื้นที่เดิม ณ สนามเสือป่า ให้แก่สำนักพระราชวัง (พว.) เพื่อย้ายไปยังศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โซน c ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2567 จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่เพื่อรองรับการประชุมราชบัณฑิตยสภาในอนาคต
                   2. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 รภ. ได้ทำสัญญาเช่าอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5 ริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต เนื้อที่ 1,765.94 ตารางวา กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเวลา 30 ปี (1 ธันวาคม 2564 – 30 พฤศจิกายน 2594) เพื่อเตรียมปรับปรุงเป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภาและอาคารศูนย์ประชุมราชบัณฑิตยสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์และการอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์ของราชบัณฑิตยสภา เนื่องจากเป็นองค์กรที่สำคัญของประเทศที่ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2569 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และใช้เป็นศูนย์การประชุมระดับชาติเพื่อรองรับการประชุมของราชบัณฑิตยสภา การประชุมร่วมกันระหว่างราชบัณฑิตยสภากับองค์การปราชญ์จากต่างประเทศ และการประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยกรมศิลปากรได้อนุญาตให้ รภ. ดำเนินการบูรณะอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อนได้ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
                   3. รายละเอียดงานปรับปรุงอาคารฯ ประกอบด้วย 5 รายการ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2563 – 2567) วงเงินรวม 354.35 ล้านบาท ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

รายการ วงเงิน
1. งานจ้างออกแบบอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน อาคารศูนย์ประชุม
ราชบัณฑิตยสภา และงานปรับปรุงบริเวณภายนอก
16.71
2. งานปรับปรุงอาคารเรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน 97.98
3. งานก่อสร้างศูนย์ประชุมราชบัณฑิตยสภา 178.75
4. งานปรับปรุงบริเวณภายนอก 42.10
5. งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 18.81
รวม 354.35

                   ทั้งนี้ ในการปรับปรุงอาคารฯ กรมศิลปากรได้อนุญาตให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาดำเนินการบูรณะอาคารฯ ได้ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากรแล้ว
 
13. เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเสนอ  ซึ่งมีมติในเรื่องสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 
                    1. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (พ.ศ. 2563) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
                    2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐ  เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. .... กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศดังกล่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป
                    3. แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ  ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6) จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม และให้นำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
                    4. (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดขอบเขตและแนวปฏิบัติ เช่น เป็นการดำเนินกิจการอวกาศในราชอาณาจักร การดำเนินกิจการอวกาศนอกราชอาณาจักรหรือในอวกาศโดยบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย หรือได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย  และดำเนินการจดแจ้งวัตถุอวกาศหลังจากที่ได้ปล่อยวัตถุอวกาศขึ้นสู่อวกาศแล้ว โดยส่งข้อมูลในรูปแบบที่สำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติกำหนด
 
14. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 มาตรา 11 (3) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม] ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   1. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ  ที่สำคัญ เช่น การจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (เน็ตประชารัฐ)  โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) การแก้ไขปัญหาองค์กรของบริษัท ทีโอที  จำกัด และบริษัท กสม โทรคมนาคม จำกัด (บมจ. กสท โทรคมนาคม) การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล  (Digital Park Thailand) โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center And Cloud Service : GDCC)  และ (ร่าง) นโยบายและแผนเฉพาะด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (แผนปฏิบัติการ)
                    2. ผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5G สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ได้เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz   ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการประมูลเพียง 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz มีผลรวมเงินประมูลทุกย่านความถี่จำนวน 107,557,660,221.39 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เปิดการประมูลมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ กสทช. พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการนำคลื่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์กับภาครัฐในด้านการศึกษาและการคมนาคม
                    3. ผลกระทบและแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับ Disruptive Technology  ของประเทศไทย  จากการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) พบว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใน 2 รูปแบบ คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ  และภาคเกษตรกรรม และ 2) การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบแพลตฟอร์มที่เข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม ทั้งนี้  จะมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานรายสาขาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของประเทศไทยต่อไป
                    4. หลักเกณฑ์การใช้จ่ายของเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามมาตรา 26 (6) แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
                              4.1 วงเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกัน ช่วยเหลือเยียวยา หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบ่งเป็นสองส่วน คือ (1) วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ด้านดิจิทัลที่สนับสนุนช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพของประชาชน และ (2) วงเงินจำนวน 400 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟู หรือเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ COVID-19
                             4.2 วงเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ขอรับทุนที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตามมาตรา 26 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560
                    5. แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ  คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ บจม. กสท โทรคมนาคม บริหารจัดการทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจนสิ้นอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม และให้ ดศ. ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    6. โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Services : GDCC)  คณะกรรมการฯ ได้กำหนดกรอบงบประมาณโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ  ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 – 2565 จำนวน 3,275.96 ล้านบาท และจากงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 797.973 ล้านบาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,073.069 ล้านบาท จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
                    7. (ร่าง) นโยบายและแผนเฉพาะด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (แผนปฏิบัติการ) คณะกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ ภายใต้กรอบมิติการขับเคลื่อนดิจิทัล ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยได้กำหนดเป้าหมาย 15 ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจชุมชนและฐานกราก  ด้านการแพทย์ครบวงจร ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ด้านการท่องเที่ยวและบริการด้านเศรษฐกิจชีวภาพ  ด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านความมั่นคงและปลอดภัย  และด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม
          8. การพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลสู่การเป็น ASEAN Digital Startup Hub คณะกรรมการฯ  ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล (Thailand Digital Startup) โดยมีประเด็นข้อเสนอในการพัฒนา เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อส่งเสริม Digital  Startup การแก้ไข และปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการปรับตัวและอยู่รอดของผู้ประกอบการค้าปลีก
 
15. เรื่อง ผลการดำเนินงานโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
                   1. รับทราบสถานะการดำเนินโครงการ และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (โครงการเงินกู้ฯ) ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
                   2. ให้กระทรวงต้นสังกัดเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จที่ประสงค์จะดำเนินการต่อโดยใช้เงินจากแหล่งอื่น ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และเบิกจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินงานตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการอย่างเคร่งครัด และขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าของงาน แผนการใช้จ่ายเงิน และผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากแหล่งอื่นให้ กค. [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] ทราบภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป จนกว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จ
                   3. ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ส่งคืนเงินคงเหลือจากการดำเนินโครงการในกรณีเบิกเงินจากคลังไปแล้ว แต่ไม่ได้จ่าย หรือจ่ายไม่หมดหรือได้รับเงินคืน เข้าบัญชีเงินฝาก กค. ชื่อบัญชี “เงินฝากเงินกู้สำหรับโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน” ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการส่งคืนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวให้ กค. (สบน.) ด้วย เพื่อให้ กค. นำเงินที่เหลือในบัญชีส่งคืนคลังและดำเนินการปิดบัญชีดังกล่าวตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่สามารถส่งคืนเงินคงเหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำเงินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเองตามระเบียบการนำเงินส่งคลังที่เกี่ยวข้อง และรายงาน กค. (สบน.) ทราบต่อไป
                   4. ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เร่งดำเนินการส่งคืนกรอบวงเงินเหลือจ่ายจากการจัดสรรไปที่สำนักงบประมาณ (สงป.) และแจ้งผลการส่งคืนเงินเหลือจ่ายที่เสร็จสิ้นแล้วให้ กค. (สบน.) ทราบภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ด้วย
                   5. ให้กรมทรัพยากรน้ำที่มีโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการพัสดุ รวมถึงกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยเร็ว และเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีต้นสังกัดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ต่อไป ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเงินคงเหลือของโครงการ ขอให้ส่งคืนเข้าบัญชีเงินฝาก กค. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558 ข้อ 20 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการส่งคืนเงินนั้นให้ กค. (สบน.) ทราบด้วย และหากไม่สามารถส่งคืนเงินคงเหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กรมทรัพยากรน้ำนำเงินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเองตามระเบียบการนำเงินส่งคลังที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   ทั้งนี้ ให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ ดังนี้
                   1. สถานการณ์ดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 โดยมีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการทั้งสิ้น 4,014 โครงการ 16 หน่วยงาน หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จำนวน 3,973 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จำนวน 20 โครงการ และยกเลิกโครงการ จำนวน 21 โครงการ มีผลการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558) ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 รวม 72,121.3496 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.26 ของวงเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรร
หน่วย : ล้านบาท

รายการ ผลการเบิกจ่าย
กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 78,294.8445
กรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรร 77,333.5246
ผลการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่เริ่มต้นโครงการถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 72,121.3496
(ร้อยละ 93.26  ของวงเงิน
ที่สำนักงบประมาณจัดสรร)
1. แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม) 32,688.2929
2. แผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน 38,319.5933
3. โครงการพัฒนาระบบ CCTV และเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมเพื่อการควบคุมทางศุลกากรรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของกรมศุลกากร 1,113.4634

                    2. การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แบ่งเป็น (1) โครงการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ดำเนินการและเบิกจ่ายไม่ทัน ในวันที่ 30 กันยายน 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 และหน่วยงานเจ้าของโครงการประสงค์จะดำเนินโครงการต่อ จำนวน 3 หน่วยงาน (กรมชลประทาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมทรัพยากรน้ำ) จำนวน 20 โครงการ วงเงินจัดสรร 3,024.3221 ล้านบาท โดยจะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานเองหรือแหล่งเงินอื่นดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงต้นสังกัดเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และเบิกจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินงานตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการอย่างเคร่งครัด และขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าของงาน แผนการใช้จ่ายเงิน และผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากแหล่งอื่นให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ทราบภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จ และ                  (2) กรมทรัพยากรน้ำมีความประสงค์จะขอยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองสมอ ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และโครงการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบแหล่งน้ำและทางน้ำธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังขอให้กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการพัสดุ รวมถึงกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยเร็ว และเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีต้นสังกัดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ต่อไป ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเงินคงเหลือของโครงการ ขอให้ส่งคืนเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง ชื่อบัญชี “เงินฝากเงินกู้สำหรับโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน” ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการส่งคืนเงินนั้นให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ทราบด้วย และหากไม่สามารถส่งคืนเงินคงเหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กรมทรัพยากรน้ำนำเงินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเองตามระเบียบการนำเงินส่งคลังที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   โดยที่หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินโครงการและเบิกเงินกู้เสร็จสิ้นแล้วในเดือนกันยายน 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตาม มี 2 หน่วยงานที่แจ้งผลการคืนเงินเหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังฯ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทราบ จำนวน 65.1476 ล้านบาท ได้แก่ กรมทางหลวง และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำหรับที่เหลือจำนวน 13 หน่วยงาน (ไม่รวมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ไม่มีผลเบิกจ่ายเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ยกเลิกโครงการทั้งหมดภายใต้ความรับผิดชอบแล้ว) ขอให้ส่งคืนเงินคงเหลือจากการดำเนินโครงการในกรณีเบิกเงินจากคลังไปแล้ว แต่ไม่ได้จ่าย หรือจ่ายไม่หมด หรือได้รับคืน เข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังฯ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการส่งคืนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ด้วย เพื่อให้กระทรวงการคลังนำเงินที่เหลือในบัญชีส่งคืนคลังและดำเนินการปิดบัญชีดังกล่าวตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่สามารถส่งคืนเงินคงเหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด               ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำเงินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเองตามระเบียบการนำเงินส่งคลังที่เกี่ยวข้อง และรายงานกระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ทราบต่อไป
                   นอกจากนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องส่งคืนกรอบวงเงินเหลือจ่ายจากการจัดสรร (วงเงินจัดสรร – วงเงินเบิกจ่าย) ในระบบ GFMIS ของกรมบัญชีกลาง ให้สำนักงบประมาณดึงเงินกลับ จำนวนทั้งสิ้น 5,212.1750 ล้านบาท โดยปัจจุบันหน่วยงานเจ้าของโครงการได้แจ้งผลให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทราบเมื่อส่งคืนกรอบวงเงินเหลือจ่ายเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1,118.2522 ล้านบาท (6 หน่วยงาน) และคงเหลือที่ยังไม่แจ้งผล จำนวน 4,093.9228 ล้านบาท (10 หน่วยงาน) ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งดำเนินการส่งคืนกรอบวงเงินเหลือจ่ายจากการจัดสรรไปที่สำนักงบประมาณและแจ้งผลการส่งคืนเงินเหลือจ่ายที่เสร็จสิ้นแล้วให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ทราบ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ด้วย
                   สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการของหน่วยงานที่ดำเนินการภายใต้โครงการเงินกู้ฯ ให้สามารถตอบวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
 
16. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้  
                   สาระสำคัญ
                   1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2563
                   การส่งออกเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.12 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 4.03 ตามความต้องการสินค้าอาหารของตลาดโลกในช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะข้าวกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.10 อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.33 นอกจากนี้ อาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร ยังขยายตัวดีในระดับที่น่าพอใจ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.05 จากการส่งออกทองคำ อากาศยาน แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก
                   มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2563 การส่งออกมีมูลค่า 18,948  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 17.13 โดยการค้าเกินดุล 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.19 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.72 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                   มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนเมษายน 2563 การส่งออกมีมูลค่า 613,979 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 541,019 ล้านบาท  หดตัวร้อยละ 14.61 โดยการค้าเกินดุล 72,960 ล้านบาท ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 2,517,136 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.07 ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 2,349,710 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.06 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 167,426 ล้านบาท
                        มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวที่ร้อยละ 23.1 (ขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฮ่องกง แอฟริกาใต้ และจีน) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย) ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 9.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวที่ร้อยละ 34.3 (ขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวที่ร้อยละ 18.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 20.7 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ตุรกี บราซิล เยอรมนี และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวดีในตลาดเกาหลีใต้ และเวียดนาม) น้ำตาลทราย หดตัวที่ร้อยละ 8.3           (หดตัวในตลาดไต้หวัน จีน เมียนมา แทนซาเนีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวดีในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 6.7 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ แต่ยังขยายตัวดีในญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม) เครื่องดื่ม หดตัวที่ร้อยละ 14.4 (หดตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวดีในตลาดจีน สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) รวม 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 1.4 (YoY)
                   มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 1,102.8 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 1,423.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม เมียนมา ญี่ปุ่น และเนปาล) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 584.7 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวที่ร้อยละ 56.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 53.8 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น และจีน) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวที่ร้อยละ 31.3 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่ยังขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 49.3 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเยอรมนี) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 2.1 (หดตัวในตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ จีน และสิงคโปร์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 30.2 (หดตัวในตลาดเวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์) รวม 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 (YoY)
                   ตลาดส่งออกสำคัญ
                   การส่งออกไปยังตลาดสำคัญหลายตลาดขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ และอาเซียน (5) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปตลาดที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดในระดับสูง เช่น สหภาพยุโรป (15) ตะวันออกกลาง (15) และเอเชียใต้ ปรับตัวลดลง รายละเอียดมีดังนี้ 1) การส่งออกไปตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.7 ตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 34.6 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ขณะที่สหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 28.7 2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเอเชียใต้ ร้อยละ 31.0 และ 56.1 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีน และอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 9.0 และร้อยละ 13.0 ตามลำดับ และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 28.5 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) กลับมาหดตัวร้อยละ 29.5 ส่วนการส่งออกไปตะวันออกกลาง (15) ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 25.3 ร้อยละ 33.7 ร้อยละ 33.5 และร้อยละ 31.8 ตามลำดับ
                   2. แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
                   ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้า
ที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ และคาดว่าจะเติบโตดีต่อเนื่อง 1 
– 2 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย ด้านสินค้าที่มีการขนส่งทางบก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่ประสบปัญหาการปิดด่าน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานการเจรจากับประเทศคู่ค้า อาทิ สปป.ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย โดยสามารถเจรจาลดอุปสรรคการส่งออกสินค้าตามแนวชายแดน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก รวมถึงสินค้าผักและผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนตอนใต้โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านด้วย
                   แนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ผ่านมาเผชิญอุปสรรคสำคัญด้านการขนส่งบริเวณท่าเรือที่แออัด และการขนส่งทางอากาศที่หยุดชะงัก ส่งผลให้สินค้ามูลค่าสูงที่ขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว อาทิ จีน เยอรมนี อิตาลี และนิวซีแลนด์ กำลังกลับมาเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และในที่สุดจะทำให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าเหล่านี้กลับมาขยายตัว เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังวิกฤติ
                   สำหรับการส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจากับประเทศญี่ปุ่น ขอให้สนับสนุนผลไม้ไทย 9 ชนิด ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดต่างๆ โดยเฉพาะการขายตรงทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้ง่าย นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูง รวมทั้ง การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเป็นช่องทางระบายสินค้าด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรรวมทั้งผู้ผลิตแปรรูปและผู้ส่งออกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถขยายการส่งออกได้ในอนาคต
 
17. เรื่อง เพลงสำคัญของแผ่นดิน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทย เป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน เพิ่มเติม (จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ธันวาคม 2546) ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เสนอ 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ รายงานว่า 
                   1. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำเพลงสดุดีจอมราชา แต่งทำนองและเรียบเรียงโดย นายวิรัช อยู่ถาวร และประพันธ์เนื้อร้องโดย นายวิเชียร ตันติพิมลพันธ์ เพื่อใช้เป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้มอบหมายให้ สปน. นำเสนอบทเพลงดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ได้รับฟังเพื่อจะใช้เพลงดังกล่าวในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 โดยต่อมาได้มีการแก้ไขเนื้อร้องเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จาก “ถวายพระพรจอมราชัน ธ อนันต์ ปรีชาชาญ” เป็น “ถวายพระพรองค์ราชินี คู่บารมีองค์ราชัน” และ “งามตระการสมขัตติยะไทย” เป็น “งามตระการเคียงขัตติยะไทย” และ “มหาวชิราลงกรณมิ่งขวัญปวงชนชาวไทย” เป็น “มหาราชาราชินี มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย”
                   2. คณะอนุกรรมการจัดทำเพลงสำคัญของชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้ขอความร่วมมือ วธ. ดำเนินการจัดทำเพลงเพื่อใช้ในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2562 และเพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสสำคัญต่าง ๆ 
                   3. วธ. ได้จัดทำเพลงสดุดีพระแม่ไทย ประพันธ์คำร้องโดย นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร และประพันธ์ทำนองโดย นายวิรัช อยู่ถาวร ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้มอบหมายให้ สปน. นำเสนอบทเพลงดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562  ได้รับฟังเพื่อจะใช้เพลงดังกล่าวในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2562 รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่  ขับร้องเพลงสดุดีพระแม่ไทยในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 
                   4. คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอเพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทยเป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน เพิ่มเติม ซึ่งมีความมุ่งหมายในการถวายความเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดเพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทย เป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน เพิ่มเติม ซึ่ง วธ. ได้มีการเผยแพร่เนื้อเพลง โน้ตเพลง และเพลงดังกล่าว ในเว็บไซต์ของ วธ. แล้ว 
                   ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เห็นชอบให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ใช้เพลงสำคัญของแผ่นดิน (ได้แก่ เพลงชาติไทย เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาชัย  เพลงมหาฤกษ์ เพลงสดุดีมหาราชา และเพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา) ที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจัดทำขึ้นใหม่เป็นต้นฉบับในโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป สำหรับภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป ก็ให้ขอความร่วมมือดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน และให้สำนักนายกรัฐมนตรี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการเผยแพร่เพลงสำคัญของแผ่นดินไปยังส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน
 
18. เรื่อง รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้ส่งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.  เพื่อพิจารณาต่อไป ดังนี้
                   1. รับทราบผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และรายงานสรุปผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุง พัฒนาและยกระดับ ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                   2. รับทราบรายชื่อหน่วยงานที่ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด
                   3. ให้ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเตรียมพร้อมในการประเมินอย่างต่อเนื่องและให้ข้อมูลประกอบการประเมินที่เกิดจากการดำเนินงานหรือที่เกิดจากการให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงนำผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน
                   4. ให้ทุกกระทรวงพิจารณากำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง หรือกลุ่มส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ได้มีบทบาทในการเตรียมความพร้อมและยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
                   5. ให้องค์กรสื่อของรัฐ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศรับทราบและเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ซึ่งจะช่วยให้ผลการประเมินสามารถสะท้อนการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ดียิ่งขึ้น
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
                   1. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เป็นการดำเนินการตามตัวชี้วัด 10 ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน รวมทั้งสิ้น 8,299 หน่วยงาน ดังนี้

หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน จำนวน
องค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน
องค์กรศาล 3 หน่วยงาน
องค์กรอัยการ 1 หน่วยงาน
หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา 3 หน่วยงาน
ส่วนราชการระดับกรม 144 หน่วยงาน
องค์การมหาชน 40 หน่วยงาน
รัฐวิสาหกิจ 54 หน่วยงาน
หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ 28 หน่วยงาน
กองทุน 8 หน่วยงาน
สถาบันอุดมศึกษา 83 หน่วยงาน
จังหวัด 76 หน่วยงาน
หน่วยงานรัฐขอเข้าร่วม 2 หน่วยงาน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) 7,852 หน่วยงาน

                   2. ผลการประเมินในภาพรวมของประเทศ ในปี 2562 หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน 8,299 หน่วยงานนั้น มีผลการประเมิน ITA ในภาพรวมของประเทศไทยที่ 66.73 คะแนน จัดอยู่ในระดับ C โดยจำแนกออกเป็น 7 ระดับตามช่วงค่าคะแนน โดยสรุปผลในภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด สรุปได้ ดังนี้

ระดับผลการประเมิน ITA จำนวนหน่วยงาน ร้อยละ
AA 34 0.41
A 936 11.28
B 1,671 20.13
C 1,522 18.34
D 1,860 22.41
E 997 12.01
F 1,038 12.51
ดำเนินการไม่ครบขั้นตอน (N/A) 241 2.90

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนการประเมินคุณธรรม ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีจำนวน 241 หน่วยงาน
(หมายเหตุ : การประมวลผลค่าเฉลี่ยของคะแนนจะนับเฉพาะหน่วยงานที่ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนด)
                   3. ผลการประเมินรายตัวชี้วัดการประเมิน การประเมิน ITA ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้รับการพัฒนาโดยมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้านซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณธรรม ความโปร่งใส และการทุจริต ทั้งที่มีลักษณะการทุจริตทางตรงและการทุจริตทางอ้อม รวมไปถึงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในการนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐและส่งผลต่อการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยในระยะยาวได้ โดยจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด มีผลการประเมิน ดังนี้
                             1) การปฏิบัติหน้าที่ 88.72 คะแนน
                             2) การใช้งบประมาณ 79.91 คะแนน
                             3) การใช้อำนาจ 82.66 คะแนน
                             4) การใช้ทรัพย์สินราชการ 78.21 คะแนน
                             5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 79.24 คะแนน
                             6) คุณภาพการดำเนินงาน 79.60 คะแนน
                             7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร 77.74 คะแนน
                             8) การปรับปรุงการทำงาน 74.72 คะแนน
                             9) การเปิดเผยข้อมูล 52.69 คะแนน
                             10) การป้องกันการทุจริต 42.34 คะแนน
                             ผลการประเมินตามตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัวชี้วัดแสดงให้เห็นว่าตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ และตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต เมื่อพิจารณาผลการประเมินในทุกมิติแล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีการพัฒนาและยกระดับผลการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ประจำปี 2561 ที่ประเทศไทยได้รับคะแนนการประเมิน 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 99 จากประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 180 ประเทศ
                   4. ผลการประเมินตามประเภทของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกได้เป็นประเภทหน่วยงานตามลักษณะทางกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน มีผลการประเมินของหน่วยงานภาครัฐแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้
                             4.1 ประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการ หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ตามลำดับ ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ
                             4.2 ประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการ หน่วยงานในสังกัดของรัฐสภา กรมหรือเทียบเท่า และองค์การมหาชน ตามลำดับ  ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ
 
19. เรื่อง กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม  ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ 
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่า
                    1. โดยที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 19 เมษายน 2563 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลมีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายเงินกู้ในแผนงานหรือโครงการ ดังนี้
หน่วย:ล้านบาท

แผนงาน/โครงการ งบประมาณ
1) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 45,000
2) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา   และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 555,000
3) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 400,000
รวม 1,000,000

                    2. องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ออกแถลงการณ์ขอให้ประเทศสมาชิก OECD มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ทุกประเทศมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในไทยนั้น ปรากฏข่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่โปร่งใส  สำนักงาน ป.ป.ท. จึงร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ซึ่งพบข้อสังเกตเบื้องต้นว่า อปท. บางแห่งยังมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไรตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ และส่อไปในการกระทำที่เป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ
                    3. สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะกลไกของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  และในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม ภาคเอกชน  และประชาชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรี  จึงได้เสนอกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้าน ดังนี้
                   

ด้าน การดำเนินการ
1. การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส - กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
- ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือปัญหาความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณตามแผนงาน/โครงการ
- เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสการทุจริตของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางหรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐของ สพร. โดยให้ ศอตช. เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงาน
2. การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต - ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นกลไกกำกับและขับเคลื่อน
- ให้ ศอตช. ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
- ให้ ศอตช. เผยแพร่ข้อมูลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส
3. การตรวจสอบ - ให้  ศอตช. ทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเรื่องร้องเรียน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานหรือข้อมูลว่ามีเหตุแห่งการทุจริตหรือไม่ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ
- เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง พร้อมข้อมูลให้ ศอตช.
4. การดำเนินมาตรการทางปกครอง           วินัย และอาญา - เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
- ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563) การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และรายงานต่อ ศอตช. เพื่อดำเนินการต่อไป

 
20. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ  ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2563 และครั้งที่ 6/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้  ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 ของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามพระราชกำหนด  เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8(1)  และ 8(2) แห่งพระราชกำหนด ดังนี้
                    1. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง  โดยจ่ายเงินเยียวยาผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 1,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน (เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการใด ๆ ของภาครัฐในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,164,222 คน รวมเป็นเงิน 3,000 บาทต่อคน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,492,666,000 บาท
                    2. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  รับไปพิจารณากำหนดจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ของภาครัฐ จากข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ตกหล่นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ของภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมในคราวเดียวกัน  พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลคุณลักษณะของกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ภายใน 1 เดือน
                    3. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้รวมถึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสและยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 ราย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินและจำนวนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายรวมไม่เกิน 10 ล้านราย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563
                    4. เห็นชอบในหลักการของการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ดำเนินการลงทะเบียนเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จำนวนประมาณ 120,000 และเร่งตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลางและระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม  รวมทั้ง มาตรการอื่นใดของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะกรรมการฯ ให้แล้วเสร็จก่อนเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
                    5. อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวง  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ  เยียวยา  และชดเชย  ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจ่ายเงินเยียวยาโดยตรงรายละ 1,000 บาทต่อเดือน  เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด  เพิ่มเติมจากเบี้ยความพิการ  และเพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  เป็นเวลา 3 เดือน  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 รวมทั้งหมด 6,781,881 คน ประกอบด้วย (1) เด็กจากครัวเรือนยากจน (0-6 ปี) จำนวน1,394,756 คน (2) สูงอายุจำนวน 4,056,596 คน และ (3) ผู้พิการจำนวน 1,330,529 คน กรอบวงเงินไม่เกิน 20,345,643,000 บาท
                    6. เห็นชอบในหลักการของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็วตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2563 รวม 4 เดือน กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการสร้างความชัดเจนของการดำเนินงานตามประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการฯ และนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายใน 2 สัปดาห์
                    7. มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการจากภาคประชาชนและประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐที่เหมาะสมตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป
 
21. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 5
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 5 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                       1.1 ส่วนราชการร้อยละ 90 (132 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 43 (64 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 66 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 45) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 16 (23 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 21 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 14) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ วันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
                   1.2 ส่วนราชการร้อยละ 10 (14 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 8 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 6) โดยส่วนราชการที่เริ่มมอบหมายให้ทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กรมพลศึกษา กรมการข้าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมบังคับคดี กรมศิลปากร และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
                   2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                       2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น.
                       2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานป้องกันและรักษาความมั่นคงภายในประเทศ งานด้านสื่อสารมวลชน งานจัดเก็บภาษี และงานสนับสนุนอื่น ๆ
                   3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                       3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวัน ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google From
                       3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 66 Microsoft Team ร้อยละ 33 Cisco Webex ร้อยละ 26 ตามลำดับ
                   4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
                   5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ ควรจัดให้มีอุปกรณ์รองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และอาจนำแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งไปใช้ในอนาคตเพื่อลดปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของส่วนราชการ
 
22. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่าง 1 – 5 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 46 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การยางแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การยาสูบแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,481 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 42,746 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจ 34 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น. ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2563) 2 แห่ง
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน

 

ต่างประเทศ

23. เรื่อง ร่างข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งออสเตรเลีย ประกอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลีย
                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม (กห.) จัดทำข้อตกลงระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทย กับ กห. แห่งออสเตรเลีย ประกอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลีย  โดยให้เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างข้อตกลง ตามที่ กห. เสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างข้อตกลงฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างข้อตกลงฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม   ทั้งนี้ มีกำหนดลงนามในร่างข้อตกลงฯ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลาย
                   สาระสำคัญของร่างข้อตกลง
                   วัตถุประสงค์  เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงตามที่ระบุในร่างข้อตกลงฯ ระหว่าง กห. ของทั้งสองประเทศ
                   ขอบเขตของงาน  จัดให้มีการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงในการซ้อมรบ การฝึกการวางกำลังการปฏิบัติการร่วม/ผสม และการดำเนินการในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ รวมทั้งในสถานการณ์อื่น ๆ หรือภาวะฉุกเฉิน ด้วยการสนับสนุนยุทธภัณฑ์ทางทหารที่มิได้ใช้เพื่อการสังหาร และการบริการประเภทต่าง ๆ เช่น อาหาร ที่พัก เชื้อเพลิง การบริการติดต่อสื่อสาร การบริการทางการแพทย์ การก่อสร้าง การใช้อาคารสถานที่ การขนส่ง การใช้ยานพาหนะ เป็นต้น โดยไม่ขัดต่อกฎหมายหรือกฎระเบียบของแต่ละฝ่าย
                   ขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนให้จัดทำข้อตกลงในการปฏิบัติตามขั้นตอน (Procedural Arrangement) หรือใช้ใบสั่ง (Order) ตามแบบฟอร์มการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงระหว่างกันที่กำหนด ซึ่งผู้เข้าร่วมฝ่ายให้การสนับสนุนจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการให้การสนับสนุนผู้เข้าร่วมฝ่ายขอรับการสนับสนุนตามที่ร้องขอ
                   ข้อตกลงฉบับนี้ จะมีผล ณ วันที่มีการลงนามครั้งสุดท้าย และยังคงมีผลไปจนกว่าจะมีการยกเลิก 
            
24. เรื่อง ร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ฉบับใหม่
                   คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ฉบับใหม่  กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย   และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในกรอบความตกลงฯ ฉบับใหม่ในนามอาเซียน โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงฯ ฉบับใหม่ในนามประเทศไทยไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับยูนิเซฟมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับสิทธิตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเด็นที่เกี่ยวกับเด็ก  โดยมีประเด็นความร่วมมือ ดังนี้
                   (1) สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 17 ข้อ ด้วยความเสมอภาค เช่น การเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาแบบถ้วนหน้า การลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของมารดา การยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ เป็นต้น
                   (2) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือทางวิชาการด้านสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการพัฒนา เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กที่มุ่งเน้นความเท่าเทียม การเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอย่างเท่าเทียม การดูแลและพัฒนาการเด็กปฐมวัยและการเฝ้าระวังทางด้านโภชนาการและน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย เป็นต้น
                   (3) การพัฒนามาตรฐานและคู่มือแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพของนโยบายทางสังคมที่เกี่ยวกับเด็กและบริการทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น การให้ความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานในระดับประเทศ (เช่น การจดทะเบียน การออกใบอนุญาต) สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก การป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน เป็นต้น
                   (4) การเพิ่มพูนขีดความสามารถและสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนในการส่งเสริมและการปกป้องสิทธิเด็กในภูมิภาค
                   (5) การระบุถึงสถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในระดับภูมิภาค เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง และการเพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านการลดความเสี่ยง ซึ่งมีชุมชน เป็นฐานและมีเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยมีการปรึกษาหารือกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง
                   (6) การสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งการพัฒนาระบบการสนับสนุนแบบบูรณาการภายในประเทศสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งครอบครัวต่าง ๆ จะได้รับทรัพยากรและการสนับสนุนที่เอื้อต่อการเติบโตและพัฒนาการสูงสุดของเด็ก
                   กิจกรรม ได้แก่ การปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยน และการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ด้านเด็ก   การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ร่วมกันดำเนินการ หรือร่วมกันสนับสนุนการช่วยเหลือด้านวิชาการ   งานวิจัยและการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ร่วมกันที่รวบรวมข้อมูลบทเรียนการปฏิบัติงานที่ดี การแลกเปลี่ยนความรู้ และการส่งเสริมการระดมความคิดเห็นในเรื่องสิทธิเด็กต่างๆ การรณรงค์พิทักษ์สิทธิและการสร้างความตระหนักรู้ และ การเข้าร่วมการประชุม การประชุมวิชาการ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นความร่วมมือที่ได้ระบุไว้
                   ทั้งนี้ กรอบข้อตกลงนี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน และอาจมีการต่ออายุระยะเวลาอีก 5 ปี โดยความยินยอมร่วมกันทั้งสองฝ่าย  โดยกรอบข้อตกลงนี้อาจจะยุติเมื่อใดก็ได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้เวลาอีกฝ่ายล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน  การยุติกรอบข้อตกลงความร่วมมือจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่ให้สำเร็จตามที่ตกลงกันไว้ทั้งสองฝ่าย
 
25. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme: IMSAS)
                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) ดังนี้

  1. ร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (Memorandum of Cooperation between the Kingdom of Thailand and the International Maritime Organization concerning Participation in the IMO Member State Audit Scheme : IMSAS)  โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขข้อความในร่างบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญและการแก้ไขนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย  ให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าสามารถดำเนินการได้ โดยประสานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
  2. อนุมัติให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฝ่ายไทย และมอบหมายให้ กต. ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าวต่อไป
  3.  อนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMSAS) ตามกำหนดการของ IMO และดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศของ IMO ตลอดจนร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการตามที่คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อประสานงานกับ IMO กำหนด โดยให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยประสานการปฏิบัติ

(ยังไม่มีกำหนดวันลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ IMO ได้กำหนดการตรวจสอบประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564)
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (Memorandum of Cooperation between the Kingdom of Thailand and the International Maritime Organization concerning Participation in the IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกโดยสมัครใจ ที่ประเทศไทยได้เคยลงนามและได้รับการตรวจสอบจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศตามบันทึกความร่วมมือดังกล่าวในปี 2550 โดยปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นส่วนใหญ่ที่เคยมีปัญหาแล้ว เช่น กรมเจ้าท่าได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการกำกับดูแลองค์กรที่ได้รับการยอมรับ และจัดทำความตกลงกับองค์กรที่ได้รับการยอมรับ 7 ราย แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ จัดทำแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล และการตรวจเรือ ทั้งนี้ การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นการให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่คณะผู้ตรวจสอบในการเข้ามาตรวจประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาและพิธีสารที่สำคัญขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ โดยผลการตรวจสอบมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการลงโทษ แต่จะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเลขาธิการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศได้กำหนดการตรวจสอบประเทศไทยภายใต้โครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMSAS) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564   ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกตามนโยบายของรัฐบาล
 
26. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Center) ของทางการเมียนมา
                   คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงาน   เมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Center) ของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ออกไปอีก 1 ปี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

  1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงแรงงาน (รง.) (กรมการจัดหางาน) จังหวัดสมุทรสาคร โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับทางการเมียนมาให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรื่องรัฐบาลเมียนมาขอขยายเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวที่จังหวัดสมุทรสาคร
  2.  จังหวัดสมุทรสาคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานที่พิจารณากำหนด วัน เวลา ในการเริ่มเปิดดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงแรงงาน (รง.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Center) ของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินการเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี และขอให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รง. (กรมการจัดการงาน) และจังหวัดสมุทรสาคร (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดและสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับทางการเมียนมาให้ดำเนินการตามผลประชุมร่วมระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครพิจารณากำหนด วัน เวลา ในการเปิดดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการดำเนินการของศูนย์ดังกล่าวยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562
                   การดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทาง กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานเมียนมา   ระยะเวลาการดำเนินงาน  ดำเนินการชั่วคราวของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี  เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน  เจ้าหน้าที่จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 13 คน (ไม่มีการขอเอกสิทธิ์คุ้มครองการทางการทูต)  สถานที่ตั้ง  ตลาดทะเลไทย ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ยกเว้นเมื่อไปรับหนังสือเดินทาง ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 1,050 บาท)   สถานที่สำหรับรับหนังสือเดินทาง 1. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาแห่งประเทศไทย 2. ศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน 3 แห่ง ได้แก่ ฝั่งท่าขี้เหล็ก ฝั่งเมียวดี และฝั่งเกาะสอง
 
27. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Ministers on COVID-19) (กก.)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Ministers on COVID-19) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   1. การดำเนินมาตรการของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเพื่อลดผลกระทบของ COVID-19 และช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สรุปได้ ดังนี้
                             (1) การให้การสนับสนุนทางการเงิน
                                      สนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) เช่น การลดภาษีธุรกิจ การผ่อนผันการชำระเงินสมทบของลูกจ้างเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ การกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
                             (2) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
                                      แก้ไขปัญหาและสร้างความมั่นใจแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ COVID-19 และการพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 ที่ทราบ ผลรวดเร็วและแม่นยำ
                             (3) การเสริมสร้างขีดความสามารถและทักษะของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
                                      สนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้ทันต่อสถานการณ์และพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดภายหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                             (4) การประสานงานระหว่างหน่วยงาน
                                      กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การการท่องเที่ยวโลก โดยประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษหรือคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับมือ COVID-19 โดยเฉพาะ
                             (5) การจัดกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์
                                      ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในการสนับสนุนรัฐบาลในการควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19
                             (6) การเตรียมแผนการฟื้นฟู
                                      อยู่ระหว่างจัดเตรียมแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการตอบสนองเชิงนโยบายจะมีความเหมาะสม และคาดการณ์ว่าจะมีการดำเนินแผนการฟื้นฟูทั้งระยะสั้น (6 เดือนถึง 1 ปี) และระยะยาว (มากกว่า 1 ปี)
                   ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีมาตรการในการบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกประกอบด้วย มาตรการด้านการเงินการคลัง และมาตรการด้านการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนมาตรการระยะที่สองประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ มาตรการเสริมสร้างและการรักษาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว มาตรการสร้างรายได้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขอนามัย การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
                   2. ถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษ ซึ่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนได้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ การแสดงความห่วงใยและยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลง ทั้งนี้ เอกสารถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างจากร่างเอกสารที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563
 
28. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
                   สาระสำคัญร่างถ้อยแถลงฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมที่จะร่วมมือกันในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                   1. ตระหนักถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลก บนพื้นฐานของความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทและการดำเนินการของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกในการควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
                   2. แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ดังนี้
                             (1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การให้การสนับสนุนด้านสุขภาพและการบริการที่จำเป็นแก่ประชาชนของประเทศตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม รวมทั้งผู้ที่ทำงานภายใต้โครงการสายแถบและเส้นทาง ตลอดจนการสนับสนุนกลไกระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
                             (2) การกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยง โดยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน บนพื้นฐานของการเปิดกว้าง ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสนับสนุนการเปิดเส้นทางคมนาคมเพื่อส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการเดินทางของนักธุรกิจ
                             (3) การส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนการเปิดตลาด ระบบการค้าพหุภาคี การรักษาห่วงโซ่การผลิตโลกเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการบริการทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
                             (4) การส่งเสริมความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริง โดยการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง การสานต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจ และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มีความยั่งยืน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงินและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินการตามหลักการและฉันทามติของการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 2
 
29. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (Joint Ministerial Statement of the Twenty Third ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council)
                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 มีสาระสำคัญ ดังนี้
                   1) สนับสนุน การเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามภายใต้แนวคิดหลัก   “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” และแผนงานสำคัญสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของเวียดนามซึ่งรวมถึง ก) ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ความแน่นแฟ้น และการแสวงหาผลประโยชน์จากโอกาส ข) การส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนและความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ค) การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในด้านสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน และ ง) การเพิ่มพูนขีดความสามารถและประสิทธิภาพทางสถาบันของอาเซียน
                   2) รับรอง “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน” ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36
                   3) ต้อนรับปี 2563 ในฐานะปีแห่งอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งจะส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในหมู่ประชาชน และผสานความพยายามร่วมกันในการสร้างประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน
                   4) สนับสนุนข้อเสนอการมีส่วนร่วมของคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการพบปะหารือระหว่างเยาวชนและผู้นำอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี
                   5) รับทราบความก้าวหน้าในการอนุวัติการแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และส่งเสริมการประเมินผลครึ่งแผนของแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ในวันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2563 นี้
                            
30. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
                   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองและออกถ้อยแถลงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัส            โคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่ กต. เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ร่างถ้อยแถลงของของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมย์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และรักษา ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การดูแลและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของคนชาติประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซียที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นในการรับมือกับผลกระทบในด้านต่าง ๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจตลอดจนยินดีต่อการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนการเงินความเป็นหุ้นส่วนคู่เจรจา อาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Dialogue Partnership Financial Fund) เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขร่วมกัน  
ทั้งนี้ การประชุมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563

 

แต่งตั้ง

 
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ   (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุพรชัย  กาญจนวาสี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ  (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์               ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ   (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 
                   1. นางสาวกรรณิกา ชูเกียรติมั่น ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตกรรม) สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2562
                   2. นางสาวประไพ วงศ์สินคงมั่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานและคุณภาพของสมุนไพร (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เคมี) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 
                   3. นางสิริภากร แสงกิจพร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพันธุกรรมทางคลินิก (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มพันธุกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563  
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ กงสุลใหญ่ (นักบริหารการทูต ระดับต้น) สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
 
34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ)  ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้ง พลตำรวจโท ประหยัชว์ บุญศรี เป็นกรรมการภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร แทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  16 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 

..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: