รัฐสภาหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนที่นำเสนอผ่านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ผู้แทนผู้เสนอร่างระบุหากรับหลักการก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อนำข้อขัดแย้งบนท้องถนนมาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการภายใต้กฎกติกา หากไม่รับหลักการ สมาชิกรัฐสภาต้องมีคำอธิบายกับประชาชนที่เสนอมากมากกว่าแสนคน
17 พ.ย. 2563 ที่รัฐสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw ในฐานผู้แทนผู้เสนอร่างกฎหมาย อภิปรายเหตุผลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า โดยยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับของ iLaw แต่เป็นร่างฯ ของประชาชนกว่า 1 แสนคนที่มาร่วมกันลงชื่อภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน โดยได้รับการรับรองทั้งหมด 98,824 รายชื่อ
เหตุผลที่คนจำนวนมากจึงกระตือรือล้นมาลงชื่อเสนอร่างฯ ฉบับนี้ ซึ่งมาจากการปรึกษาหารือในหมู่ประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเห็นปัญหาของรัฐธรรมนญในปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ คือ ออกแบบเพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอำนาจอยู่แม้มีการเลือกตั้ง ส.ส.หลังจาก คสช.ถืออำนาจมากว่า 5 ปี
แม้ว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาจะเขียนเหมือนกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนขาวไทย แต่เป็นการโกหกน่าจะถือเป็นโมฆะ เพราะความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ประชาชนมีสิทธิเลือกแค่ ส.ส.แต่ไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนเป็นคนกำหนด
นายจอน กล่าวว่า ในครั้งแรกต้องการรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัดสินใจว่าจะช่วยกันร่างแก้ไขรัฐธรรนญให้เป็นประชาธิปไตย ถอนพิษระบบเผด็จการออกก่อน แล้วเปิดโอากสให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ผ่านมาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่รอไม่ได้ อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว จึงตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อร่วมกัน
ดังนั้น จึงหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้การตอบรับร่างฯ ของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรจะต้องให้โอกาสแก่ข้อดีของร่างฯ ฉบับนี้ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิจารณาพร้อมกับร่างฯ ฉบับอื่น ๆ เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤติและมีพัฒนาเท่าเทียมอารยะประเทศ เพราะเราจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไทยอย่างเร็วที่สุด และเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภารู้ดีว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญนี้จึงได้มีเสนอร่างแก้ไขฯ มามากมายในสภาฯนี้
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ในฐานผู้แทนผู้เสนอร่างกฎหมาย อภิปรายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 100% และต้องมีอำนาจหยิบทุกปัญหาทุกประเด็นในสังคมที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาปัญหาที่ทำให้ประชาชนอึดอัดในจนต้องลงถนน ต้องสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดได้เพื่อให้มีกติกาใหม่
"สิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สังคมควรมี เรียกร้องให้แก้ไขความผิดปกติของระบอบการเมืองมาเป็นระบอบการเมืองธรรมดา หลักการข้อเสนอเหล่านี้โดยเนื้อหาไม่สามารถหาข้ออ้างมาปฏิเสธได้ หากรับหลักการ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อนำข้อขัดแย้งบนท้องถนนมาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการภายใต้กฎกติกา หากไม่รับหลักการ สมาชิกรัฐสภาต้องมีคำอธิบายกับประชาชนที่เสนอมากมากกว่าแสนคน"นายยิ่งชีพ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ