กรมเจ้าท่าเปิดตัวแพต้นแบบ 'แพพระยาวิสูตรสาคร' กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย หนุนการท่องเที่ยว เผยล่าสุดยื่นขออนุญาต 3,330 ลำ ผ่านเกณฑ์ 746 ลำ ที่เหลือกำลังแก้ไข | ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2563 ว่านายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยภายหลังรับมอบเรือนแพพระยาวิสูตรสาคร แพต้นแบบที่ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า จากนายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำว่า แพพระยาวิสูตรสาคร “ชื่อวิสูตรสาคร” หรือรู้จักกันในนามกัปตันจอห์น บุช โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ว่าจ้างให้มาทำหน้าที่พัฒนากิจการเจ้าท่า ตำแหน่ง “เจ้าท่า” หรือ “หับประมาสะแตน” หรือ “Habous Master” เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินเรือ การท่าเรือ การนำร่องปฏิบัติภารกิจอำนวยการในด้านการท่า และการนำร่องเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยในการสัญจรไปมาในเขตน่านน้ำไทย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
กัปตันจอห์น บุช ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “พระวิสูตรสาครดิฐ” นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญที่ได้วางรากฐานงานเจ้าท่าในประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน กรมเจ้าท่าจึงนำชื่อ “พระยาวิสูตรสาคร” มาตั้งเป็นชื่อเรือนแพเพื่อเป็นเกียรติแก่อธิบดีกรมเจ้าท่าคนแรก ถือเป็นผู้บุกเบิกงานด้านเจ้าท่าให้มีรากฐานมั่นคง ให้มีประสิทธิภาพมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ แพพระยาวิสูตรสาครมีขนาดกว้าง 7.5 ยาว 14.35 เมตร กรมเจ้าท่าจัดทำขึ้นเพื่อนำมาเป็นแพต้นแบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ โครงสร้างของแพมีมาตรฐานแข็งแรง เป็นไปตามระเบียบที่กรมเจ้าท่ากำหนด
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับแพในประเทศไทยที่ผ่านมา คือ แพไม่มีความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด กรมฯ ได้มีประกาศกรมเจ้าท่า ฉบับที่ 227/2559 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองความปลอดภัยของแพ โดยหนังสือรับรองความปลอดภัยของแพจะออกโดยสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ หรือผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ต้องมีการกำหนดแบบให้เป็นมาตรฐาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบต่อประชาชน และป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ
เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวแพได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนแพอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบแพที่หลากหลายมากขึ้น นำไปสู่มาตรฐานความปลอดภัยของแพ และมาตรการควบคุมและรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ รวมทั้งกำหนดพื้นที่จอดให้เหมาะสม
อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า ล่าสุดมีแพที่มายื่นขออนุญาต 3,330 ลำ อนุญาตไปแล้ว 746 ลำ ยังไม่อนุญาตและสั่งแก้ไข 2,584 ลำ และคาดว่ายังมีที่ไม่นำมายื่นขออนุญาตอีกประมาณ 3,000 ถึง 4,000 ลำ
สำหรับแพทั่วประเทศในเขื่อนหลักๆ เช่น เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมแล้วกว่า 5,000 ลำ โดยแพพระยาวิสูตรสาคร กรมเจ้าท่าตั้งเป้าหมายเป็นตัวอย่างของแพที่จะช่วยสร้างมาตรฐานแพท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวภายในปี 2563-2564 นี้ ให้เป็นต้นแบบแพมาตรฐานที่มีโครงสร้างความปลอดภัย แข็งแรง และเป็นไปตามระเบียบกรมเจ้าท่าต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ