ชวนอ่านคู่มือ 'เพศวิถีศึกษาสำหรับเยาวชน' จาก UNESCO

ทีมข่าว TCIJ | 17 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 43199 ครั้ง

เปิดคู่มือ 'แนวปฏิบัติสากลทางวิชาการ เรื่องเพศวิถีศึกษา โดยใช้แนวทางที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน (ฉบับปรับปรุง)' ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อส่งเสริมแบบแผนการเรียนรู้เกี่ยวกับเพศและความสัมพันธ์ในเชิงบวก คำนึงถึงประโยชน์ของเยาวชนเป็นสำคัญ หวังเป็นเกราะป้องกันเด็กและเยาวชนเปราะบางจากการถูกแสวงหาประโยชน์และจากผลเสียอื่น TCIJ ชวนอ่านในประเด็นเพศวิถีศึกษาคืออะไร, สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กและเยาวชน, ความจำเป็นเฉพาะเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และประเด็นอื่น ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นประชากรกลุ่มย่อย | ที่มาภาพประกอบ: Brenna Owen/CBC

ปัจจุบันในหลายพื้นที่ของโลก พบว่ายังมีเยาวชนอีกจำนวนมากที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือถูกตัดสินคุณค่า โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องเพศ วิถีศึกษาซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม และอารมณ์ การไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนเปราะบางมากขึ้นต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และต่อผลเสียอื่น แล้ว ยังสะท้อนถึง ความล้มเหลวของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสังคมที่มีต่อเยาวชนทั้งหมดอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้เผยแพร่ 'แนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา' (International technical guidance on sexuality education: an evidence-informed approach) ซึ่งเป็นคู่มือวิชาการที่นำเสนอหลักฐานและเหตุผลเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา (CSE) ให้เด็กและเยาวชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คู่มือฉบับนี้อธิบายถึงลักษณะ การเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่มีประสิทธิภาพ แนะนำหัวข้อและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่จำเป็นต้องมีในหลักสูตร เพศวิถีศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกระดับ และกำหนดแนวทางสำหรับการวางแผนการสอน และการติดตามผลของหลักสูตร คู่มือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้พัฒนาหลักสูตรและหัวหน้าหลักสูตรให้สามารถพัฒนาและปรับใช้หลักสูตรเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับบริบท ด้วยการเรียนการสอนและมาตรการติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการผลักดันนโยบาย ด้านสุขภาพและสุขภาวะของเด็กและเยาวชน คู่มือนี้พัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการที่มุ่งเน้นคุณภาพ การยอมรับ และการมีส่วนร่วม โดยได้รับแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตลอดจนข้อมูลจากเยาวชนในภูมิภาคต่าง ทั่วโลก คู่มือนี้สอดคล้องกับหลักฐานและแนวปฏิบัติสากลที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ตามความสมัครใจโดยไม่มีการบังคับ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับบริบทการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่หลากหลายในแต่ละประเทศ

TCIJ ขอนำเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนจากคู่มือ ได้แก่หัวข้อ เพศวิถีศึกษาคืออะไร, สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กและเยาวชน และความจำเป็นเฉพาะ เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และประเด็นอื่น ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นประชากรกลุ่มย่อยมานำเสนอดังต่อไปนี้

เพศวิถีศึกษาคืออะไร

การสอนเพศวิถีศึกษาที่ดีนั้น จะช่วยต่อยอดและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรวมถึงสิทธิของเด็กและเยาวชนและสิทธิของมนุษย์ทุกคนในการมีสุขภาพ การได้รับการศึกษา และการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ | ที่มาภาพประกอบ: The Bronx Ink

เพศวิถีศึกษาคือการเรียนการสอนหลักสูตรเพศวิถีศึกษา ทั้งในแง่ความนึกคิด อารมณ์ กายภาพ และสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ สุขภาวะ และศักดิ์ศรีอย่างสมบูรณ์ พัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมและความสัมพันธ์ทางเพศที่เคารพซึ่งกันและกัน คำนึงถึงผลกระทบจากการตัดสินใจของตนต่อสุขภาวะของตนเองและผู้อื่น อีกทั้งเข้าใจและสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต

เพศวิถีศึกษาคือ การเรียนการสอนทั้งในรูปแบบการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์: เนื้อหาของเพศวิถีศึกษามาจากข้อเท็จจริงและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เพศวิถี และพฤติกรรมของมนุษย์

ค่อยเป็นค่อยไป: เพศวิถีศึกษา เป็นกระบวนการศึกษาต่อเนื่องที่เริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วค่อย เสริมข้อมูลใหม่ต่อยอดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วตามแนวการจัดหลักสูตรแบบเกลียว (spiral curriculum)

เหมาะกับวัยและพัฒนาการ: เนื้อหาของเพศวิถีศึกษาตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นและศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่เปลี่ยนไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบไปด้วยหัวข้อที่สอดคล้องกับพัฒนาการและเหมาะกับสุขภาพและสุขภาวะของผู้เรียนมากที่สุด ครอบคลุมพัฒนาการที่หลากหลาย สามารถปรับเนื้อหาได้ในกรณีที่พัฒนาการด้านความนึกคิดและอารมณ์ล่าช้า และนำเสนอในช่วงเวลาที่ผู้เรียนซึมซับความรู้เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และความสัมพันธ์ได้ดีที่สุด

อยู่ในรูปแบบหลักสูตร: เพศวิถีศึกษาในรูปแบบหลักสูตรที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นแนวทางสำหรับผู้สอนในการเสริมสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนตัวหลักสูตรประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์การเรียนรู้ การพัฒนาวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การนำเสนอแนวคิด และการนำเสนอเนื้อหาสำคัญอย่างชัดเจนเป็นระบบ โดยอาจเป็นการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนหรือนอกระบบโรงเรียนก็ได้

ครอบคลุมรอบด้าน: เพศวิถีศึกษาช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเพศวิถีที่รอบด้าน ถูกต้อง มีหลักฐานสนับสนุน และเหมาะกับวัย โดยครอบคลุมประเด็นสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงกายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบเพศและระบบสืบพันธุ์ การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การมีประจำเดือน การเจริญพันธุ์ การคุมกำเนิดแบบใหม่ การตั้งครรภ์และคลอดบุตร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น เพศวิถีศึกษามีความครอบคลุมหัวข้อต่าง ที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนเนื้อหาที่อาจมีความท้าทายในบางบริบทสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ เพศวิถีศึกษายังส่งเสริมการสร้างพลังความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เรียน ด้วยการเพิ่มทักษะการวิเคราะห์ สื่อสาร และทักษะชีวิตอื่น เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะเกี่ยวกับประเด็นต่าง เช่น เพศวิถี สิทธิมนุษยชน ชีวิตครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีและเคารพซึ่งกันและกัน ค่านิยมร่วมและค่านิยมส่วนตัว บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติพฤติกรรมทางเพศ ความรุนแรงและความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะความยินยอมและสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศและการปฏิบัติที่เป็นโทษ เช่น การแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อายุน้อย หรือถูกบังคับแต่งงาน และการขลิบหรือตัดอวัยวะเพศหญิง เป็นต้น คำว่าครอบคลุมรอบด้านในที่นี้ ยังหมายถึงความกว้างและความลึกของทั้งหัวข้อและเนื้อหาที่สอนตลอดช่วงการศึกษา ไม่ใช่แค่บทเรียนหรือการหยิบยกมาพูดครั้งเดียวจบ

ยึดหลักสิทธิมนุษยชน: เพศวิถีศึกษาช่วยต่อยอดและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งรวมถึงสิทธิของเด็กและเยาวชนและสิทธิของมนุษย์ทุกคนในการมีสุขภาพ การได้รับการศึกษา และการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น การสอนเพศวิถีศึกษาตามแนวทางสิทธิมนุษยชนจึงช่วยเพิ่มความตระหนักให้เยาวชนได้รู้จักสิทธิของตน ยอมรับและเคารพสิทธิของผู้อื่น และปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิด้วย การทำให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงเพศวิถีศึกษาอย่างเท่าเทียมนี้นับว่าเป็นการให้ความเคารพต่อสิทธิของเยาวชนในการมีสุขภาพในมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะบรรลุได้รวมถึงความสามารถในการตัดสินใจเรื่องเพศอย่างปลอดภัย รับผิดชอบและเคารพผู้อื่น โดยปราศจากการบังคับและความรุนแรง รวมถึงสิทธิของเยาวชนในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดูแลตนเอง

ยึดหลักความเท่าเทียมทางเพศ: เพศวิถีศึกษาครอบคลุมบรรทัดฐานทางเพศสภาวะที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสุขภาวะ การป้องกันเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะของเด็กและเยาวชน เพศวิถีศึกษายังสนับสนุน ความเท่าเทียมทางเพศด้วยการทำให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญและความหลากหลายของเพศสภาวะของมนุษย์ โดยการพิจารณาถึงบรรทัดฐานทางเพศสภาวะที่หล่อหลอมโดยวัฒนธรรม สังคม และชีววิทยาทั้งที่แตกต่างและคล้ายกันและการส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและเคารพ เห็นอกเห็นใจและเข้าใจกัน ด้วยเหตุนี้ การบูรณาการมุมมองด้านเพศสภาวะเข้าไปในหลักสูตรเพศวิถีศึกษานี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนเพศวิถีศึกษามีประสิทธิภาพ

เหมาะสมกับวัฒนธรรมและบริบทในพื้นที่: เพศวิถีศึกษาช่วยให้ผู้เรียนมีความสัมพันธ์ด้วยความเคารพและความรับผิดชอบ โดยการพิจารณาทำความเข้าใจ และท้าทายผลกระทบของโครงสร้าง บรรทัดฐาน และพฤติกรรมทางวัฒนธรรมต่อทางเลือกและความสัมพันธ์ของมนุษย์ในบริบทเฉพาะอีกด้วย

สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี: เพศวิถีศึกษามุ่งสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเอื้ออาทร ด้วยการเสริมสร้างพลังให้กับผู้เรียนและชุมชนสนับสนุนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทำให้เยาวชนรู้สึกมีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนสำรวจและบ่มเพาะค่านิยมและทัศนคติเชิงบวกต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และพัฒนาคุณค่าในตนเองและความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ยิ่งไปกว่านั้น เพศวิถีศึกษายังช่วยให้เยาวชนรู้จักรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของตนเองและผลที่อาจส่งถึงผู้อื่น อีกทั้งสร้างทักษะและทัศนคติที่ช่วยให้เยาวชนปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพการยอมรับ อดกลั้นต่อความแตกต่าง และเห็นอกเห็นใจ โดยไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สถานะทางสังคม เศรษฐกิจหรือการเข้าเมือง ศาสนา ความพิการ วิถีทางเพศ อัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศ หรือลักษณะเพศทางกายภาพอีกด้วย

สามารถพัฒนาทักษะชีวิตที่ส่งเสริมการตัดสินใจที่ดี: ในที่นี้รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล สื่อสารและเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพและยืนยันความคิดของตน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กและเยาวชนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีความเคารพต่อทั้งสมาชิกครอบครัว เพื่อนฝูง และคู่รักหรือคู่นอนได้

สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กและเยาวชน

แม้ว่าอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี จำนวนมากที่เริ่มมีบุตรในช่วงอายุนี้ ข้อมูลในปี 2015 ชี้ว่าอัตราการคลอดบุตรเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 49 ครั้งต่อเด็กผู้หญิง 1,000 คน | ที่มาภาพประกอบ: Association for Free Research and International Cooperation

สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ครอบคลุมสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีทั้งในมิติทางกายภาพ อารมณ์ จิตใจ และทางสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การป้องกันเพื่อให้ปราศจากโรคหรือความผิดปกติต่าง เท่านั้น แม้ว่าสุขนิสัยและความเข้าใจวิธีการรักษาสุขภาพที่ดีนั้นเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ช่วงวัยรุ่นก็เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเสริมสุขนิสัยและวิถีชีวิตที่ดีในด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เพราะเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอารมณ์และสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่เยาวชนจำนวนมากเริ่มค้นหาเพศวิถีของตนและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นประเด็นสำคัญด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ส่งผลต่อเยาวชน ได้แก่

การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์: การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ดี สำหรับเด็กผู้ชาย การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มักเชื่อมโยงกับ ความรู้สึกทางเพศในแง่บวกอย่างชัดเจนกว่า ในขณะที่สำหรับเด็กผู้หญิงแล้ว การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มักเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับข้อมูลที่ขัดแย้งเกี่ยวกับเพศวิถี พรหมจรรย์การเจริญพันธุ์ และความเป็นผู้หญิง

สำหรับเด็กผู้หญิงจำนวนมาก การมีประจำเดือนถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในบางประเทศถึงกับมีข้อห้ามและการตีตราทางวัฒนธรรมที่บังคับให้เด็กผู้หญิงต้องนอนหรือรับประทานอาหารแยกจากครอบครัวหรือหยุดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือน อีกทั้งโรงเรียนในหลายประเทศไม่มีห้องน้ำที่มีความเป็นส่วนตัว สะอาด หรือมีวิธีกำจัดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนที่เหมาะสม เนื่องจากการมีประจำเดือนมักเป็นประเด็นที่มักถูกละเลยอยู่เสมอเด็กผู้หญิงจำนวนมากในหลายประเทศจึงไม่มีความรู้และมีความเชื่อผิด เกี่ยวกับประจำเดือน นำไปสู่ความหวาดกลัว วิตกกังวล และไม่พร้อมต่อการมีประจำเดือนครั้งแรก ในทางตรงข้าม การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์สำหรับเด็กผู้ชายมักถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกทางเพศและอำนาจทางเพศที่สามารถใช้เพื่อหาความสุข แม้การแข็งตัวของอวัยวะเพศและการฝันเปียกอาจทำให้เกิดความรู้สึกอาย แต่มักไม่ถูกมองว่าน่าอับอายเหมือนการมีประจำเดือนของเด็กผู้หญิง การเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาส่วนใหญ่มักไม่พูดถึงเรื่องความเป็นชาย เพราะความเป็นชายมักไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา ด้วยเหตุนี้ เด็กผู้ชายจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกว่าเพศวิถีของตนไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอ

การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจที่มาพร้อมกันนี้ยังอาจเป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับวัยรุ่นที่มีภาวะเพศกำกวม (intersex) หรือวัยรุ่นที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศของตนอีกด้วย

การตั้งครรภ์: แม้ว่าอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี จำนวนมากที่เริ่มมีบุตรในช่วงอายุนี้ด้วยอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ข้อมูลสถิติสุขภาพโลก (World Health Statistics) 2015 (.. 2558) ชี้ว่าอัตราการคลอดบุตรเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 49 ครั้งต่อเด็กผู้หญิง 1,000 คนโดยมีช่วงอัตราการคลอดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ 1 ถึง 299 ครั้งต่อเด็กผู้หญิง 1,000 คน

การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการคลอดบุตรในช่วงวัยรุ่น โดยประมาณ 90% ของการคลอดโดยแม่วัยรุ่นในประเทศกำลังพัฒนามาจาก การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งนี้การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลทางสุขภาพและสังคมที่ร้ายแรง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 19 ปี นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอดก่อนกำหนดเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอันดับต้น ของการเสียชีวิตของเด็กวัยรุ่นหญิง เนื่องจากเด็กวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์อาจไปรับบริการฝากครรภ์ช้ากว่าผู้ใหญ่ เพราะไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อน หรือเพราะมีข้อจำกัดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าถึงหรือใช้บริการด้านการแพทย์ (เช่น ถูกครอบครัวสามีขัดขวาง หรือมีกฎหมายและนโยบายที่จำกัดอายุขั้นต่ำในการยินยอมมีเพศสัมพันธ์หรือรับบริการทางการแพทย์) ยิ่งไปกว่านั้น เด็กวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสในการทำงานและโอกาสอื่น ในอนาคต

การเข้าถึงการคุมกำเนิดที่ทันสมัย: แม้ว่าทั้งเยาวชนชายและหญิงต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการคุมกำเนิด แต่การไม่ได้รับบริการที่จำเป็นในการคุมกำเนิดมักเกิดขึ้นกับเยาวชนหญิงมากกว่า และแม้สัดส่วนผู้หญิงทั้งหมดที่ไม่ได้รับบริการคุมกำเนิดที่จำเป็นจะเป็นผู้หญิงโสดเพียงไม่ถึงครึ่ง แต่ตัวเลขนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้หญิงโสดในสังคมอนุรักษ์นิยมมักไม่ยอมรับว่าตนเองมีเพศสัมพันธ์ นอกจากเหตุผลด้านสุขภาพและข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการคุมกำเนิดแล้ว เด็กวัยรุ่นหญิงจำนวนหนึ่งยังประสบกับปัญหาด้านการเข้าถึงการคุมกำเนิดเพราะอุปสรรคด้านกฎหมายและปัญหาการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดอื่น เด็กผู้หญิงโดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชียยังขาดข้อมูลว่าจะหาอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ทันสมัย เช่น ถุงยางอนามัย และยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้จากที่ไหนและใช้อย่างไร และสถานที่ที่สามารถไปรับบริการตรวจการตั้งครรภ์และเอชไอวีได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความจำเป็นในการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและเอชไอวี/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น

การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย: ในแต่ละปี เด็กผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ประมาณสามล้านคนทั่วโลกทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย เนื่องจากในหลายภูมิภาคทั่วโลกมีกฎหมายจำกัดการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ทำให้เด็กวัยรุ่นหญิงต้องรับบริการที่ไม่ปลอดภัยจากผู้ขาดทักษะในปัจจุบัน มีเด็กวัยรุ่นหญิงเสียชีวิตและพิการจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป เนื่องจากวัยรุ่นมักรู้สึกตัวว่าตั้งครรภ์ช้ากว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นวัยรุ่นที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จึงมักได้รับการทำแท้งเมื่ออายุครรภ์แก่กว่า นอกจากนี้ ในบางกรณี เด็กวัยรุ่นหญิงยังพยายามทำแท้งด้วยตนเองหรือเข้ารับบริการจากผู้ไม่มีความรู้ทางการแพทย์เนื่องจากการตีตราเลือกปฏิบัติหรือปัจจัยยุ่งยากอื่น ยิ่งไปกว่านั้นเด็กผู้หญิงยังมีความรู้น้อยกว่าผู้ใหญ่ในเรื่องสิทธิของตนเองเกี่ยวกับการทำแท้งและการดูแลรักษาหลังการทำแท้งอีกด้วย

ความรุนแรงรวมถึงความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะ: ตัวเลขประมาณการในระดับโลกชี้ว่า ในตลอดชีวิตของผู้หญิง มีผู้หญิงประมาณหนึ่งในสาม (35%) จากทั่วโลกที่ประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศจากคู่ครองหรือผู้อื่น ทั้งนี้ความรุนแรงถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและยังทำให้ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และประชากรที่มีภาวะเปราะบางอยู่แล้วมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเอชไอวีและการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม รวมไปถึงปัญหาอื่น ทางสุขภาพและสังคมอีกด้วย โดยความรุนแรงที่พบบ่อยที่สุดคือความรุนแรงจากคู่ครอง ระดับของความรุนแรงต่อเด็กและความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะเห็นได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้เด็กผู้หญิงประมาณ 120 ล้านคนทั่วโลก (หรือมากกว่า 1 ใน 10)

เคยถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หรือพฤติกรรมทางเพศอื่น หรือประสบความรุนแรงจากคู่ครองในรูปแบบต่าง การล่วงละเมิดทางเพศต่อทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย มีงานวิจัยระดับนานาชาติเปิดเผยว่า ผู้หญิงประมาณ 20% และผู้ชายประมาณ 5-10% เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศเมื่อตอนเป็นเด็ก

ความรุนแรงระหว่างเยาวชนด้วยกันรวมถึงความรุนแรงระหว่างการออกเดทเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างน้อย 200 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันใน 30 ประเทศทั่วโลก เคยถูกขลิบหรือตัดอวัยวะเพศ โดยส่วนใหญ่ถูกกระทำตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ขวบ การบังคับเด็กแต่งงาน/อยู่กินกับเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็ก ทำให้เด็กผู้หญิงอยู่ในภาวะเปราะบางเนื่องจากความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจระหว่างเด็กผู้หญิงกับสามี ทั้งนี้การบังคับเด็กแต่งงานมีอัตราสูงสุดในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (โดยมีเด็กผู้หญิงประมาณ 4 ใน 10 คน ที่แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และประมาณ 1 ใน 8 คนที่แต่งงานหรือมีคู่ก่อนอายุ 15 ปี) ตามมาด้วยภูมิภาคละตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน (24% ของผู้หญิงอายุ 20-24 ปี แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก) และภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ (18% ของผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก)

ทุก ปี เด็กประมาณ 246 ล้านคนต้องเผชิญกับความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะ รวมถึงการถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย การรังแก ทำร้ายจิตใจ และคุกคามทางเพศที่โรงเรียนหรือระหว่างไปโรงเรียน โดย 25% ของเด็กเคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ 36% เคยประสบกับความรุนแรงด้านอารมณ์ นักเรียนที่ถูกมองว่าไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางเพศหรือเพศสภาวะ เช่น นักเรียนที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ หรือคนข้ามเพศ มีภาวะเปราะบางต่อความรุนแรงในโรงเรียนมากกว่านักเรียนคนอื่น ทั้งนี้ความรุนแรงด้วยสาเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์/การแสดงออกทางเพศสภาวะ หรือที่เรียกว่าความรุนแรงเพราะความเกลียดชังต่อการรักเพศเดียวกันและข้ามเพศถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะในโรงเรียน ความรุนแรงทางเพศจากครูหรือเพื่อนนักเรียนอาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือโดยไม่พร้อม นำไปสู่ความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะเพราะการตั้งครรภ์ในโรงเรียนโดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนและครู เช่น การรังแกและล้อเลียนเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และแม่วัยรุ่น เป็นต้น

เอชไอวี/เอดส์: ปัจจุบันแม้ว่าวิทยาการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี จะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่อัตราการติดเชื้อก็ยังลดลงไม่เร็วพอต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ในระหว่างปี 2010-2016 (..2553-2559) อัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกลุ่มเยาวชนชายและหญิงอายุ 15-24 ปี ลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 12% อีกทั้งเอชไอวี/เอดส์ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีทั่วโลกในปี 2015 (.. 2558) นอกจากนี้ เอชไอวี/เอดส์ยังส่งผลกระทบอย่างมากในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า ในทวีปแอฟริกาเด็กวัยรุ่นหญิงและเยาวชนหญิงอายุ 15-24 ปี มีภาวะเปราะบางต่อเอชไอวี/เอดส์สูงกว่าประชากรอื่น ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มประชากรหลักที่อายุยังน้อยในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงเยาวชนชายรักชายและเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น และเยาวชนข้ามเพศมีสัดส่วนของภาระโรคจากเอชไอวีมากกว่ากลุ่มอื่น ข้อมูลจาก 37 ประเทศระหว่างปี 2010-2016 (.. 2553-2559) ชี้ว่าแม้ระดับความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีจะสูงขึ้น แต่มีเพียงแค่ 36% ของเยาวชนชาย และ 30% ของเยาวชนหญิง (อายุ 15-24 ปี) ที่มีความรู้รอบด้านและถูกต้องเกี่ยวกับวิธีป้องกันเอชไอวี ซึ่งสะท้อนว่าความรู้เกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงบางประการ (เช่น การถ่ายทอดเชื้อผ่านเครือข่ายเพศสัมพันธ์ หรือความเสี่ยงจากเพศสัมพันธ์ระหว่างคนวัยต่างกันและเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก) รวมถึงวิธีการป้องกันทางชีวการแพทย์ใหม่ (เช่น ยา PrEP) และความเชื่อมโยงระหว่างเอชไอวีกับความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะ ก็น่าจะยิ่งต่ำกว่านั้น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: ในแต่ละปี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประมาณ 333 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยมีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มอายุ 20-24 ปี และกลุ่มอายุ 15-19 ปีตามลำดับ โดยเชื่อว่ามีเยาวชนหนึ่งในยี่สิบคนติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกปี ซึ่งยังไม่รวมถึงเอชไอวีและเชื้อไวรัสอื่น แต่มีวัยรุ่นส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีมาตรฐานและราคาถูกได้ อย่างไรก็ดีข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังมีอยู่จำกัดและไม่สอดคล้องกันทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะข้อมูลที่แยกอายุและเพศทำให้ไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับภาระโรคที่แท้จริง และไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาในระดับโลก

ความจำเป็นเฉพาะและประเด็นอื่น ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นประชากรกลุ่มย่อย

ปัจจุบันพบว่าหลายที่ในโลกการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาก็มักจะละเว้นเนื้อหาที่เหมาะสมต่อประชากร LGBTI เช่น ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางเพศและความแตกต่างทางกายภาพที่มีความสำคัญโดยตรงต่อเด็กและเยาวชนที่มีภาวะเพศกำกวม นอกจากนี้ เยาวชน LGBTI ในโรงเรียนมักประสบกับการถูกทำร้ายและเลือกปฏิบัติ | ที่มาภาพประกอบ: Star Observer

เยาวชนไม่ใช่กลุ่มประชากรที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด เพราะมีปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลต่อเยาวชนในด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงการศึกษาและโอกาสอื่น ในชีวิต รวมถึงสุขภาวะโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านครอบครัว สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจเพศ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สถานะเอชไอวี ถิ่นที่อยู่ตามภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น

เยาวชนจำนวนมากเป็นประชากรชายขอบที่มีภาวะเปราะบาง และประสบกับการตีตราและเลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมไปถึงเยาวชนที่อยู่ในเรือนจำหรือสถานพินิจ เยาวชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง และเยาวชนที่เข้าไม่ถึงเพศวิถีศึกษา สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และบริการสุขภาพอื่น เป็นต้น เยาวชนที่เป็นผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และลูกของแรงงานข้ามชาติยังมีภาวะเปราะบางต่อเรื่องอื่น อีกมากมาย ซึ่งรวมถึงการถูกบังคับแต่งงาน ความรุนแรงและการค้ามนุษย์ เป็นต้น ประชากรเหล่านี้มีความจำเป็นในการได้รับเพศวิถีศึกษาที่แตกต่างกัน และคู่มือนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรเพศวิถีศึกษาที่เหมาะกับสถานการณ์ในชีวิตจริงของเยาวชนประชากรกลุ่มย่อยเหล่านี้ได้ตัวอย่างของประชากรกลุ่มนี้ ได้แก่

เยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (YPLHIV): การเรียนการสอนเพศวิถีในปัจจุบันเน้นไปที่การป้องกันเอชไอวี แต่มักไม่พูดถึงความต้องการจำเป็นของเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งมักมีวินัยในการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาต่ำ ดังนั้นโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ให้เข้าถึงบริการต่าง มีวินัยในการดูแลรักษา รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อซ้ำหรือการถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่น การมีชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวีและมีสุขภาพดี และการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ เป็นต้น

เยาวชนยากจน: ความยากจนเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อพัฒนาการและสุขภาวะของเยาวชน เยาวชนที่อยู่ในครอบครัวยากจนในชนบทมีความเสียเปรียบทางวัตถุ ถูกกีดกันทางสังคม และต้องประสบกับทุพโภชนาการและที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนยากจนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นในการประสบกับความรุนแรง และ/หรือเป็นผู้กระทำความรุนแรง และมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สนใจเรียน ใช้สารเสพติดมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีเพศสัมพันธ์ต่างตอบแทนหรือค้าประเวณี และมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นวัยรุ่นและเยาวชนหญิงจากครัวเรือนที่ยากจนแร้นแค้นยังมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และคลอดบุตรก่อนอายุ 18 ปี มากกว่าผู้ที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะดีกว่า

เยาวชนที่มีความพิการ: ที่ผ่านมาผู้มีความพิการมักถูกมองว่าไม่มีเพศหรือไม่มีอารมณ์ทางเพศ และไม่จำเป็นต้องได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาเพราะถูกมองว่าอาจเป็นโทษได้ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่เริ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเยาวชนที่มีความพิการตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ งานวิจัยต่าง ชี้ให้เห็นว่าผู้มีความพิการจำนวนไม่น้อยได้รับผลจากความรุนแรงทางเพศและอาจมีภาวะเปราะบางต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนอื่นการศึกษาสำหรับเยาวชนที่มีความพิการที่มีอยู่ในปัจจุบันมักสะท้อนว่าเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งอันตราย ซึ่งสะท้อนความคิดในอดีตที่มองเพศวิถีของผู้มีความพิการเป็นปัญหา แต่แท้จริงแล้วเยาวชนที่มีความพิการทางด้านจิตใจ ร่างกาย หรืออารมณ์ก็เป็นมนุษย์ที่มีเพศวิถีเช่นกัน และยังมีสิทธิที่จะมีความสุขทางเพศวิถีภายใต้มาตรฐานสุขภาพสูงสุดที่จะพึงมีได้ รวมถึงประสบการณ์ทางเพศที่ปลอดภัยและมีความสุขโดยไม่มีการ บังคับหรือใช้ความรุนแรง ตลอดจนสิทธิในการเข้าถึงเพศวิถีศึกษาและบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพอีกด้วย

กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI): หลายประเทศมีข้อจำกัดและการกำหนดโทษรุนแรงต่อ LGBTI ตั้งแต่การมุ่งร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำเนินคดี การไม่คุ้มครองบุคคลจากการถูกคุกคาม ตีตรา เลือกปฏิบัติ อันตรายที่มีสาเหตุจากวิถีทางเพศ อัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศ ไปจนถึงการไม่คุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีภาวะเพศกำกวมจากการถูกบังคับให้รับการผ่าตัดหรือกระบวนการอื่น ที่ไม่จำเป็นซึ่งอาจทำให้เป็นหมันถาวร เจ็บปวด สูญเสียความสามารถในการกลั้นปัสสาวะ สูญเสียความรู้สึกสัมผัสทางเพศทุกข์ทรมานจิตใจไปชั่วชีวิต และการเข้าไม่ถึงกลไกการเยียวยาความเสียหาย เป็นต้น

ปัจจุบัน ยังมีงานวิจัยไม่เพียงพอเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของเยาวชน LGBTI ในด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ส่วนการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาก็มักจะละเว้นเนื้อหาที่เหมาะสมต่อประชากร LGBTI เช่น ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางเพศและความแตกต่างทางกายภาพที่มีความสำคัญโดยตรงต่อเด็กและเยาวชนที่มีภาวะเพศกำกวม นอกจากนี้ เยาวชน LGBTI ในโรงเรียนมักประสบกับการถูกทำร้ายและเลือกปฏิบัติ ซึ่งงานวิจัยต่าง พบว่า ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศในโรงเรียนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และเป็นรากฐานที่นำไปสู่การรังแกที่อาฆาตและรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม: ปัจจุบันมีเด็กวัยประถมศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 28.5 ล้านคนที่ไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากอยู่ในประเทศที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งหรือวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วโลกที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีความตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับความจำเป็นของการเรียนการสอนสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในสถานการณ์ที่มีวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม แต่งานวิจัยระดับโลกกลับพบว่ายังมีช่องว่างอยู่มากในทางปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ด้วย

 

--

อ่านคู่มือ 'แนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา' (International technical guidance on sexuality education: an evidence-informed approach) ของ UNESCO ได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: